9 ม.ค. 2024 เวลา 13:57 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ถอดนโยบายต่างชาติ กระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทย

แม้ว่าปีนี้การเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้น แต่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วโลกยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิด-19 ที่ผ่านมาเราจึงเห็นหลายประเทศออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ สถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยก็ไม่ต่างกัน จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังฟื้นตัวช้า ส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยยังฟื้นตัวได้ไม่เท่าก่อนโควิด-19 แม้ว่าจำนวนจะกลับมาใกล้เคียงเดิมแล้ว ทำให้ภาคท่องเที่ยวไทยยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่และทั่วถึง
ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงขอเล่าตัวอย่างมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศของต่างประเทศที่คล้ายกับไทย และบางประเทศมีรายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศฟื้นตัวใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว เพื่อเป็นทางเลือกเชิงนโยบายเพิ่มเติมที่ไทยอาจนำมาปรับใช้ได้ และช่วยให้การท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวต่อไปได้ในวันที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังกลับมาไม่เหมือนเดิม
2
ญี่ปุ่นมีมาตรการช่วยออกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวภายใต้ชื่อโครงการ Nationwide Travel Discount จุดเด่นของโครงการนี้ คือ สามารถใช้สิทธิได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งและชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่นก็สามารถใช้สิทธินี้ได้ โดยรัฐบาลจะช่วยออกค่าใช้จ่าย 20% ของค่าโรงแรมหรือค่าเดินทาง (ไม่เกิน 5,000 เยน สำหรับทริปค้างคืน หรือไม่เกิน 3,000 เยนสำหรับทริปไปเช้าเย็นกลับ) ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถลงทะเบียนขอรับสิทธิเมื่อซื้อแพคเกจท่องเที่ยวผ่านบริษัททัวร์หรือติดต่อกับโรงแรมโดยตรง
4
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังได้รับคูปองมูลค่าสูงสุดไม่เกิน 2,000 เยน สำหรับใช้ที่ร้านค้าและร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการ (หากเที่ยวช่วงวันเสาร์-อาทิตย์จะได้รับคูปองไม่เกิน 1,000 เยน)[1] รวมถึงรัฐบาลท้องถิ่นสามารถออกมาตรการเพิ่มเติมจากมาตรการของส่วนกลางได้และอาจมีระยะเวลาของโครงการไม่เท่ากันได้
เกาหลีมีทั้งการเพิ่มวันหยุด สนับสนุนค่าใช้จ่ายการท่องเที่ยว และมาตรการด้านภาษี โดยนอกจากรัฐบาลจะประกาศเพิ่มวันหยุดและสนับสนุนให้ทั้งหน่วยงานราชการและภาคเอกชนใช้วันหยุดพักผ่อนมากขึ้นแล้ว ยังให้เงินสนับสนุนค่าที่พัก 30,000 วอน จำนวน 1.3 ล้านคน และอีก 100,000 วอน ให้กับพนักงานที่ทำงานในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จำนวน 190,000 คน ลดค่าตั๋วรถไฟความเร็วสูงที่ใช้เดินทางระหว่างเมือง (KTX) ลง 30%-50%
และร่วมมือกับรัฐบาลและภาคธุรกิจท้องถิ่นแจกคูปองส่วนลดสำหรับการเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวหลักในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ รัฐบาลยังเพิ่มอัตราการลดหย่อนด้านภาษีในปีนี้ชั่วคราวสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวและกิจกรรมที่ส่งเสริมวัฒนธรรมและกิจกรรมนันทนาการ [2]
1
จีนมีแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศในปี 2566 – 2568[3] และให้ความสำคัญกับการเติบโตทั้งระบบนิเวศของการท่องเที่ยว โดยกระตุ้นอุปสงค์ผ่าน (1) การประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น เช่น มี city tour ตามฤดูกาล รวมถึงส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวระหว่างมณฑลมากขึ้น และจีนยังประกาศให้วันที่ 19 พ.ค. ของทุกปีเป็นวันท่องเที่ยว
และ (2) มาตรการสนับสนุนทางการเงินร่วมกับธนาคารในท้องถิ่นและแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น การจัดแคมเปญให้ส่วนลดค่าใช้จ่ายหรือสะสมแต้มแลกส่วนลด ส่วนด้านอุปทาน รัฐบาลจีนผลักดันให้เพิ่มสถานที่และรูปแบบการท่องเที่ยวให้หลากหลายมากขึ้น โดยหาจุดเด่นของแต่ละพื้นที่และยกระดับให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับ world class เช่น ท่องเที่ยวชมธรรมชาติ ตามรอยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม รวมถึงพ่วงการท่องเที่ยวไปกับกิจกรรมอื่นอย่างกีฬา เป็นต้น
ส่งผลให้เกิดการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนจากอัตลักษณ์ของท้องถิ่นในเมืองรองมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยให้รัฐบาลท้องถิ่นพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทั้งระบบขนส่ง ห้องน้ำ และการให้บริการด้านข้อมูลท่องเที่ยว นอกจากนี้ จีนยังให้ความสำคัญกับด้านอื่น ๆ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจบริการการท่องเที่ยว การกำกับดูแลธุรกิจท่องเที่ยว การพัฒนาบุคลากร รวมถึงการสนับสนุนด้านสินเชื่อ เป็นต้น เพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่จะเติบโตในอนาคต
หากพิจารณามาตรการของต่างประเทศแล้ว มีสิ่งที่ไทยสามารถนำมาปรับใช้หรือต่อยอดจากมาตรการเดิมได้อีกหลายด้าน เช่น (1) ควรมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วง low season (2) มีมาตรการเพิ่มเติมสำหรับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่มกำลังซื้อสูง ควรมีสถานที่ท่องเที่ยวระดับ world class ที่แข่งได้กับสถานที่ท่องเที่ยวต่างประเทศ และมีแรงจูงใจจากการนำค่าใช้จ่ายไปหักภาษีได้ กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีเวลาและมีกำลังซื้อ อาจส่งเสริมการเที่ยวช่วงวันทำงานที่มีคนเที่ยวน้อย หรือการเที่ยวแบบไปเช้า-เย็นกลับ
(3) จูงใจให้ทั้งภาครัฐและเอกชนจัดประชุมสัมมนา โดยนำมาลดหย่อนภาษีได้ (4) สร้างอัตลักษณ์และเรื่องราวของแต่ละท้องถิ่น ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวสายมู เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองรองมากขึ้น
แม้รายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศของไทยจะยังไม่สามารถชดเชยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ [4] แต่เชื่อว่าการมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้กิจกรรมการท่องเที่ยวโดยรวมเติบโตและกระจายตัวอย่างทั่วถึงมากขึ้น ขณะเดียวกันหากมีแผนระยะยาวและพัฒนาในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวคล้ายจีน ก็จะยิ่งช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนค่ะ
** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **
ผู้เขียน :
ดร. กิ่งกาญจน์ เกษศิริ
พรวลี พิลาวรรณ
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค
ธนาคารแห่งประเทศไทย
คอลัมน์ “ร่วมด้วยช่วยคิด” นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 18 – 20 ธันวาคม 2566
1
[1] Go To Travel explained - Nationwide Travel Discount https://www.japan-guide.com/news/0053.html
1
[2] Press Release: Government announces measures to spur domestic consumption, March 29, 2023 โดยกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของเกาหลีใต้
[3] กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของจีนประกาศแผน “Domestic Tourism Improvement Plan (2023-2025)” วันที่ 13 พ.ย. 66
[4] บทความแจงสี่เบี้ย No.9/2023 เรื่อง การท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวอย่างไรในเชิงพื้นที่ วันที่ 13 มิถุนายน 2566
โฆษณา