Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เมืองไทยไดอารี่ by Supawan
•
ติดตาม
9 ม.ค. 2024 เวลา 11:36 • ท่องเที่ยว
One fine day at MOCA, Bangkok.
พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย MOCA BANGKOK
พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (Museum 0f Contemporary Arts หรือ MOCA ) .. ตั้งอยู่ริมถนนวิภาวดีรังสิต เกิดจากความชื่นชอบ หลงใหล และใจรักในงานศิลปะของคุณบุญชัย เบญจรงคกุล ที่ได้สะสมชิ้นงานมาแล้วกว่า 35 ปี
Photo : Internet
คุณบุญชัย ได้สร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้นเพื่อรวบรวมเอาคอลเลกชันงานศิลปะระดับครูของศิลปินไทยและต่างชาติมากกว่า 800 ชิ้น หลากหลาย มารวมไว้ที่นี่ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความงดงามของศิลปะที่สร้างขึ้นโดยคนไทย และความสามารถและอัจฉริยะของศิลปินไทย
แต่เหตุผลหลักที่ทำให้คุณบุญชัยฯ เปิดพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัยอย่างเป็นทางการ คือ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงมีพระอัจฉริยภาพอย่างสูงทางด้านศิลปะ และเพื่อเชิดชูเกียรติของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ประติมากรชาวอิตาลีสัญชาติไทย ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย และเป็นปูชนียบุคคลของมหาวิทยาลัยศิลปากร
คุณบุญชัย เคยเล่าถึงที่มาของการจัดทำพิพิธภัณฑ์เอาไว้ว่า ..
“เริ่มต้นก็คิดแค่ว่า อยากมีงานศิลปะมาประดับบ้าน ประดับออฟฟิศก่อน กระทั่งมีเก็บเป็นคอลเลกชันส่วนตัว และเพิ่มมากขึ้นมาเรื่อยๆ
ที่ผ่านมา ผมมีความหงุดหงิดเหมือนนักสะสมทุกคน ที่เวลาอยากจะดูงานศิลปะคนนั้น คนนี้ หรือ อยากจะดูผลงานของศิลปินชื่อดัง ตอนที่ราคาผลงานของเขายังไม่แพงมาก แต่ไม่มีที่ให้เราได้ไปดู นอกจากต้องรอให้ศิลปินแสดงงาน
และผมคิดว่าคนในสังคมไทยหงุดหงิดเหมือนกันหมด ที่ประเทศเราไม่มีพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่แสดงผลงานอย่างถาวร หอศิลป์เรามีเยอะแยะ เปิดมาแล้วก็ดับไป และเป็นการแสดงแบบหมุนเวียน
จากจุดนั้นก็เลยคิดว่าวันหนึ่ง เราจะมีพิพิธภัณฑ์ของเราเล็กๆ ซักที่หนึ่ง เพื่อเอาไว้แบ่งปันกับผู้คน และน่าจะทำให้สังคมเรามีความงดงามมากขึ้น”
“เวลาเดินทางไปต่างประเทศ ก็พยายามหาโอกาสไปดูทั้งของยุโรปและของเอเชีย ส่วนของอเมริกาก็เคยได้ไปดูอยู่บ่อยๆ เพราะผมเคยเรียนไปหนังสือที่นั่นอยู่แล้ว และเลือกเรียนวิชาโท ทางด้านศิลปะด้วย(ยิ้ม)
มีช่วงเวลาเยอะแยะที่เราได้ไปนู่นไปนี่ ไปหอศิลป์เจ้าฟ้า ผู้จัดการหอศิลป์ฯ ซึ่งเวลานี้เปลี่ยนมาหลายคนแล้ว เคยเล่าให้ฟังว่า บางทีคิดค่าเข้าชมแค่ 25 บาท ฝรั่งขึ้นไปดูแล้วลงมา บอกว่า ขอเงินคืนทำให้ผมคิดว่า ผู้ชมเอาอะไรเป็นมาตรวัดว่าสิ่งที่ชมคุ้มกับราคาของค่าตั๋ว ช่วง 10 ปี หลัง ผมจึงเริ่มออกทัวร์มากขึ้น และพูดกับหมู่คณะ พูดกับคนในแวดวงศิลปะว่าผมอยากจะเป็นคนริเริ่มก่อน”
นั่นคือ ริเริ่มทำพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ที่มีมาตรฐานทัดเทียมนานาชาติ จนอาณาจักรแห่งความฝันมาจบลงที่ไซส์ขนาดใหญ่อย่างที่เห็น ณ ปัจจุบัน
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มุ่งเน้นไปที่ “ศิลปะไทยร่วมสมัย” .. ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้สร้างพิพิธภัณฑ์มีความคุ้นเคยกับศิลปะไทยร่วมสมัย มากกว่าศิลปะไทยประเพณี
.. อีกทั้งเป็นความตั้งใจ ที่อยากให้คนมาดูงานศิลปะรู้สึกดื่มด่ำ แทนที่จะดูแล้วเริ่มเบื่อ
ลักษณะเด่นของงานศิลปะใน MOCA จึงเป็นชิ้นงานศิลปะไทยร่วมสมัย ที่อาจจะมีหลากหลายรูปแบบ รวมถึงที่ว่าด้วยความไทยหรือพุทธคติ แต่แปรรูปให้เข้าถึงง่ายมากขึ้นสำหรับคนรุ่นใหม่ สร้างกระแสให้คนสนใจเยอะขึ้น เป็นเทรนด์การเข้ามาของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่มิวเซียม
ตัวอาคารซึ่งมีลักษณะเป็น 3 เหลี่ยม มีพื้นที่ทางด้านทิศใต้กับทิศเหนือของตัวอาคาร ไม่เท่ากัน มีความสูงเท่ากับตึก 10 ชั้น แต่ถูกแบ่งเป็น 5 ชั้นๆ ละ 6 เมตร .. สกัดหินเป็น “ลายก้านมะลิ” โปรยลงบนผนังด้านนอกของอาคารบางจุด กลายเป็นลายฉลุ เพื่อให้มีแสงจากทิศตะวันออกและทิศตะวันตก พาดผ่านไปมา จนเกิดเป็นการแสดงของแสงภายในตัวอาคาร และเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาต่างๆ ก่อให้เกิดความรู้สึกที่แตกต่างกันไปด้วย
วันสบายๆ ใน Museum of Contemporary Art (MOCA)
พวกเราชอบงานศิลปะในระดับหนึ่ง แม้จะไม่เชี่ยวชาญ แต่ก็ชอบมาเดินดูเท่าที่โอกาสจะอำนวย .. รู้เรื่องอย่างดีบ้าง รู้เพียงผิวเผนบ้าง แต่นั่นไม่ได้ลดทอนความรู้สึกรื่นรมย์ในการมาเดินกับเพื่อนๆที่รู้ใจให้น้อยลงแต่อย่างใด
MOCA เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงผลงานของศิลปินไทยชั้นแนวหน้า ที่มีหลากรูปแบบ หลากเนื้อหา .. ตั้งแต่แนวเหมือนจริง เหนือจริง และนามธรรม
.. แต่มีสิ่งหนึ่งร่วมกัน คือ ความสามารถอันวิจิตรและประณีตของศิลปินไทย
ซึ่งการจัดแสดงผลงานทั้งหมดนี้ คุณบุญชัย ตั้งใจร้อยเรียงเรื่องราวเหตุการณ์ร่วมสมัยในบ้านเมืองของเราในช่วงเวลาต่างๆ รวมถึงเรื่องราวเกี่ยวกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ และความเป็นอยู่ของสังคมไทย โดยผสานเทคนิคที่ได้รับอิทธิพลจากฝั่งตะวันตก และเน้นงานในลักษณะแนวความคิดฝันและจินตนาการ
ไม่ว่าจะเป็น การปะทะกันของเส้นสายที่ดุดันอย่างงานของ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ที่สื่อความฉับไวของการลากพู่กันอย่างฉับพลัน .. ช่างแตกต่างจากคอลเลคชันของ คุณเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่แสนอ่อนหวาน
การออกแบบสถาปัตยกรรม พื้นที่จัดแสดงด้านใน รวมถึงการให้แสงที่มีคุณภาพทั้งแสงไฟและแสงธรรมชาติ .. ทำได้ดีมากๆ ส่งให้งานศิลปะโดดเด่น ซึ่งเราประทับใจมากมาย
เราหลีกเร้นจากความวุ่นวายของสภาพเมืองใหญ่ของกรุงเทพมหานคร มาสู่ด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ … ซึ่งตอนรับเราด้วยความสดใสจากโบกี้ของรถไฟที่ได้รับการดัดแปลงให้อยู่ในรูปแบบของงานศิลป์ที่น่าสนุกสนาน
ประติมากรรม Karma .. หน้าประตูทางเข้าหลักของพิพิธภัณฑ์
Space ของโถงต้อนรับภายใน .. สภาพการรับรู้จากความวุ่นวายของเมือง ค่อยๆปรับเป็นมารับพลังจากงานศิลปะ อย่างเช่น ประติมากรรมงานหล่อเคลือบสีทอง ของ “นกเงือก” ที่ยืนอยู่ด้านหน้าของป้ายชื่อของพิพิธภัณฑ์
แสงที่ลอดผ่านช่องแสงขนาดเล็กเพื่อความเข้มของตัวมันเอง ปริมาณของแสงที่ลอดผ่านช่องที่เป็นลวดลายก้านมะลิที่สถาปนิกเลือกจะใช้เป็นสัญญะลักษณ์ของความร่วมสมัยในงานศิลปะนั้น มีไม่มากเมื่อเทียบกับเสกลของอาคาร
.. ความนิ่มนวลของแสงที่ลงมายัง transition space ที่สถาปนิกวางให้เป็นส่วนทางสัญจรแนวดิ่งหลักของอาคาร ทั้งที่เป็นบันไดเลื่อน บันไดหลัก และลิฟท์
ประติมากรรม “อาจารย์ ศิลป์ พีระศรี” .. ได้รับการจัดแสดงภายในโถงสูง 38 เมตร ดูขลัง และเปี่ยมพลัง ราวกับจะบ่งบอกถึงต้นธารกำเนิดของศิลปะไทยร่วมสมัยที่มีการวางรากฐานจาก อาจารย์ศิลป์ พีระศรี
ซึ่งภายใต้การเข้าและออกจาก MOCA จะต้องผ่านวลีคลาสสิคของชาวหน้าพระลานทั้งเป็นคำละตินและคำไทยว่า “Ars longa,vita brevis” “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” เพื่อช่วยตอกย้ำถึงต้นกำเนิดศิลปะไทยร่วมสมัยภายใต้คำนี้นั่นเอง
ก่อนจะขึ้นไปยังส่วนจัดแสดงด้านบน เราแวะมาดูภาพวาดของศิลปินที่มีผลงานจัดแสดงที่นี่ .. ศิลปินทุกท่านอยู่ในระดับปรมาจารย์แนวหน้า และหลายท่านมีชื่อเสียงเป็นศิลปินแห่งชาติด้วย
ความรื่นรมย์ในการได้นั่งในอารมณ์สบายๆ ในขณะที่ส่งสายตาไปยังประติมากรรม “พุ่มดอกบัวปิติสุข” ในสระน้ำด้านหน้าของอาคาร
ชั้นล่างเราจะพบกับห้องนิทรรศการของอาจารย์ ชลูด นิ่มเสมอ กับ อาจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์
ชั้น 2 & 3 .. จะพบความหลากหลายของคอลเลคชั่นของศิลปินหลายท่าน
ชั้น 4 .. ได้รับการออกแบบให้เป็นพื้นที่สำคัญ และแสดงรสนิยมของนักสะสม กับห้องแสดงงานเฉพาะของถวัลย์ ดัชนี จำนวน 4 ห้องใหญ่ ซึ่งมีการออกแบบให้พิเศษด้วยผนังสีแดงและดำ อันสะท้อนมาจากแนวทางจิตรกรรมของถวัลย์เอง
ภาพนางสงกรานต์ .. ซึ่งโด่งดัง จนอาจจะเรียกได้ว่า เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของ MOCA Bangkok ใครๆก็ต้องนึกถึง 7 ภาพนี้ เมื่อเอ่ยชื่อ MOCA
ในชั้นเดียวกันนี่เอง เราจะพบกับทางเข้าแคบเล็ก แลสลัวไปจนมืดเพื่อการปรับสภาวะการรับรู้จากแกลเลอรีอื่น เพื่อมาพบกับจุดสำคัญสุดของต้นกำเนิดศิลปะคือ’สะพานจักรวาล’ ..
สะพานนี้จะพาเรามาพบกับโถงสูงกว่า11 เมตร อันเป็นผลมาจากการรองรับภาพวาดจากสามศิลปินทั้ง สมภพ บุตราช, ปัญญา วิจินธนสาร และประทีป คชบัว ที่มีขนาดภาพสูงกว่า 7 เมตร
.. พื้นที่ส่วนพิเศษนี้ เกิดจากการอุปมาอุปมัยถึง “ไตรภูมิ” อันเป็นต้นกำเนิดของสรรพชีวิตทั้งสามโลก และเป็นจุดกำเนิดของแรงบันดาลใจในงานจำนวนมากของศิลปะไทยจากอดีตจนปัจจุบัน
ชั้น 5 ... เป็นแกลเลอรีรวมงานศิลปะตะวันตกใน ห้อง “Richard Green” ที่ได้รับตกแต่งเป็นพิเศษ เพื่อแสดงถึงความพิเศษของคอลเลคชันที่ถูกนำมาเสนอที่นี่
.. ชั้นนี้ยังรวมไปด้วยงานศิลปะนานาชาติที่คุณบุญชัยสะสมไว้ด้วยเช่นกัน
เมื่อเรามาชมงานศิลปะทั้ง 5 ชั้นแล้ว .. นับว่าเป็นจุดสิ้นสุดการอ่านสารของนักสะสมงานศิลปะ ในรูปแบบที่เขาต้องการบอกถึงความสำคัญของศิลปะที่เขารวบรวมไว้ และอยากให้ผู้คนที่เข้าชมได้ร่วมเข้าใจ
บันทึก
4
1
2
4
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย