[ All Nippon Airways - เจ้าเวหาญี่ปุ่นบินฝ่าทศวรรษที่สาบสูญ ]
ในช่วงเทศกาลที่ผ่านมา หลายๆคนก็คงได้ท่องเที่ยวสัมผัสอากาศหนาวที่ประเทศญี่ปุ่น และในตอนที่กดจองตั๋วเครื่องบิน ชื่อสายการบิน All Nippon Airways หรือย่อสั้นๆว่า ANA ก็คงขึ้นมาผ่านตาให้เห็นกันบ้าง ปัจจุบัน ANA เป็นสายการบินอันดับต้นๆของผู้ที่อยากจะเดินทางไปญี่ปุ่น แต่ก็เหมือนกับที่ทุกเที่ยวบินซึ่งมักจะสั่นไหวเวลาบินผ่านหลุมอากาศ สายการบิน ANA เองก็เคยมีช่วงที่พวกเขาต้องสั่นคลอนจากอุปสรรคต่างๆที่พัดเข้ามาเป็นเวลาถึงหนึ่งทศวรรษ
ในปี 1991 All Nippon Airways ที่มีอายุได้เกือบครบ 4 ทศวรรษ กำลังครอบครองน่านฟ้าญี่ปุ่นในฐานะสายการบินที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ พวกเขาถือครองครึ่งหนึ่งของตลาดเที่ยวบินภายในประเทศ ในขณะที่เที่ยวบินระหว่างประเทศซึ่งเริ่มดำเนินการในปี 1986 ก็กำลังขยับขยายไปยังปลายทางสำคัญๆทั่วโลก แถมพวกเขาก็เพิ่งได้รับเลือกเป็นสายการบินแห่งปีจากนิตยสารระดับโลก Air Transport World จากมาตรฐานการบริการอันยอดเยี่ยม
ทศวรรษ 1990s เริ่มต้นได้อย่างราบรื่นสำหรับ ANA พวกเขาเปิด World Air Network สายการบินเช่าเหมาลำจากญี่ปุ่นไปยังปลายทางต่างๆในทวีปเอเชีย ทำให้พวกเขาสามารถเจาะตลาดการเดินทางระหว่างประเทศในลูกค้ากลุ่มใหม่ได้เพิ่ม ตามมาด้วยการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนกับแฟรงก์เฟิร์ต เพื่อเพิ่มทุนสำหรับการขยายเส้นทางการบินนอกประเทศ จึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจที่ผลสำรวจในตอนนั้นพบว่า ANA คือบริษัทยอดนิยมอันดับหนึ่งในหมู่นักศึกษาจบใหม่
ฟองสบู่ในตลาดญี่ปุ่นแตกช่วงท้ายปี 1991 ทำให้เศรษฐกิจดินแดนอาทิตย์อุทัยหยุดชะงัก ผู้บริโภคต้องรัดเข็มขัดเพื่อจ่ายหนี้จนเกิดภาวะเงินฝืด ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยสินค้าฟุ่มเฟือยลดลงอย่างเห็นได้ชัด รวมไปถึงบริการเที่ยวบินสายการบิน ANA
ปี 1993 สองยักษ์ใหญ่แห่งธุกิจการบินไม่สามารถต้านภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองไหว Japan Airlines (JAL) ขาดทุนประมาณ 4,400 ล้านเยน ในขณะที่ ANA ยังสามารถทำกำไรได้อยู่ แต่กำไรของพวกเขานั้นเกิดจากการขายอากาศยานทิ้ง ซึ่งทุกคนก็รู้ดีว่านั่นไม่ใช่วิธีหารายได้ที่ทำซ้ำได้อีก สองคู่แข่งจำเป็นต้องช่วยกันประคองเอาตัวรอด และพวกเขาก็ตกลงใช้อะไหล่ของเครื่องบินชุดใหม่ด้วยกันเพื่อลดรายจ่าย
อีกวิธีหนึ่งที่สามารถลดรายจ่ายได้คือการลดจำนวนบุคคลากร แต่มันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับ ANA เพราะวัฒนธรรมของญี่ปุ่นในตอนนั้นนิยมการเซ็นสัญญาตลอดชีพ ทำให้ ANA ไม่สามารถเลิกจ้างบุคคลากรจำนวนมากภายในเวลาสั้นๆได้ และสิ่งที่พวกเขาทำได้คือการลดรายจ่ายส่วนนี้ลงไปเรื่อยๆทีละนิด ซึ่งการลดขนาดองค์กรของสายการบินยักษ์ใหญ่นี้ดำเนินต่อเนื่องไปจนจบ “ทศวรรษที่สาบสูญ”
ปี 1994 ANA ขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 27 ปี โดยขาดทุนไปถึง 2,900 ล้านเยน ANA เล็งเห็นว่าพวกเขาสามารถพลิกสถานการณ์ได้ด้วยเที่ยวบินระหว่างประเทศ (ซึ่งทำรายได้ 1,000 ล้านเยนในปีนั้น) ทำให้การเพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญ และ ANA ก็เช่าเครื่องบินเพิ่มเป็นจำนวนมาก พร้อมเปิดเส้นทางบินใหม่ทั่วโลก
แต่ระหว่างที่ ANA หันไปจดจ่อกับธุรกิจนอกประเทศ ธุรกิจในบ้านของพวกเขากลับกำลังโดนรุกคืบจากคู่แข่งหน้าเก่าและหน้าใหม่
เพราะระหว่างนั้น คู่แข่งสำคัญของพวกเขาอย่าง JAL กลับใช้โอกาสนี้เจาะตลาดเที่ยวบินภายในประเทศที่ถูกครองมากกว่าครึ่งโดย ANA ทำให้ ANA ต้องตอบโต้ด้วยการเปิดตัวตั๋ว Hayawari หรือตั๋วล่วงหน้าที่มีราคาถูกยิ่งกว่าค่ารถไฟความเร็วสูง
แต่เมื่อธุรกิจภายในประเทศที่เป็นรายได้หลักลดลง ANA จึงจำเป็นต้องหาทางลดรายจ่ายส่วนอื่นออก ทำให้สายการบินเช่าเหมาลำของพวกเขาอย่าง World Air Network ถูกปิดตัวลงในปี 1995 ทั้งๆที่เพิ่งเริ่มดำเนินการได้แค่ 5 ปี แถมในช่วงปลายทศวรรษ สายการบินน้องใหม่ทั้งสองได้แก่ Skymark กับ Hokkaido International Airlines ยังแย่งส่วนแบ่งตลาดเที่ยวบินภายในประเทศได้อีก ทำให้ ANA ต้องยกเลิกเส้นทางการบินบางส่วนกับลดจำนวนอากาศยาน และเงินเดือนบุคคลากรยังถูกลดลงมากถึง 25 เปอร์เซ็นต์อีกด้วย
ปลายปี 1999 กลยุทธ์ขยายเที่ยวบินระหว่างประเทศของ ANA ก็พิสูจน์ตัวเองว่ามันไม่ใช่ความคิดที่ผิด พวกเขาได้เข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรสายการบิน Star Alliance ทำให้การดำเนินการนอกประเทศของพวกเขาลื่นไหลและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ANA จึงสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในบางส่วนได้ และยังได้เพิ่มฐานลูกค้าจากการเข้าร่วมกลุ่มพัธมิตรนี้
เมื่อธุรกิจนอกเกาะเป็นไปได้ด้วยดี ANA จึงกลับมาทวงคืนส่วนแบ่งตลาดภายในประเทศได้ และยังสามารถชุบชีวิตกิจการบางส่วนที่ต้องเลิกไปก่อนหน้านี้ รวมไปถึงสายการบินเช่าเหมาลำ World Air Network ที่กลับมาดำเนินการใหม่ภายใต้ชื่อ Air Japan
ถึงแม้ว่าในทศวรรษต่อๆมา ANA ก็ยังคงต้องเจอกับอุปสรรคอื่นๆ เช่นการระบาดของโรคซาร์สกับไวรัสโคโรนา แต่ “ทศวรรษที่สาบสูญ” ได้มอบบทเรียนต่างๆให้กับสายการบินนี้ จนพวกเขาแข็งแกร่งพอที่จะปรับตัวต่างๆเพื่อรักษาคุณภาพของตัวเองได้เสมอ
Anshin (น่าเชื่อถือ) Attaka (อบอุ่นหัวใจ) Akaruku-Genki! (เปี่ยมด้วยพลังงาน) คือคำสัญญาที่ ANA ตั้งใจจะยึคมั่นไว้ไม่ว่าการเดินทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไงต่อ
ปัจจุบัน ANA มีอายุถึง 7 ทศวรรษแล้ว ซึ่งพวกเขาก็ยังยึคครองอันดับหนึ่งในน่านฟ้าญี่ปุ่นได้อย่างเหนียวแน่น และเป็นหนึ่งในสายการบินลำดับต้นๆของโลก ทั้งในแง่ของขนาดองค์กรและคุณภาพของบริการ ในครั้งหน้าที่คุณกดจองตั๋วเที่ยวบินไปดินแดนอาทิตย์อุทัย ANA คงปรากฏขึ้นมาเป็นตัวเลือกให้เห็นอีก และเจ้าเวหารายนี้จะพาเหล่าผู้โดยสารไปสู่จุดหมายอย่างสะดวกสบายที่สุด ไม่ว่าจะต้องบินฝ่าอุปสรรคน้อยใหญ่ขนาดไหนก็ตาม