10 ม.ค. เวลา 12:00 • กีฬา

#MainStand : ดาการ์ แรลลี่ มีการแข่งขันอะไรบ้าง ?

ถือเป็นการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตรายการแรกและต้อนรับช่วงเทศกาลปีใหม่อย่างแท้จริงสำหรับการแข่งขันรถยนต์ทางฝุ่นสุดโหดอย่าง ดาการ์ แรลลี่ (Dakar Rally) ซึ่งในการแข่งขันปี 2024 นี้ได้เริ่มต้นความมันอย่างเป็นทางการแล้ว
การแข่งขัน ดาการ์ แรลลี่ ครั้งที่ 46 หรือในปี 2024 ยังคงยืนพื้นจัดขึ้นที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน โดยในปีนี้จะแข่งขันในช่วงระหว่างวันที่ 5-19 มกราคม
เนื่องด้วยเป็นหนึ่งในการแข่งขันรายการใหญ่ทำให้ ดาการ์ แรลลี่ มีรถเข้าร่วมการแข่งขันจำนวนมากและยังจำแนกประเภทรถหลากหลายคลาส ซึ่งจุดนี้ถือเป็นเรื่องราวสุดแสนคาใจว่า ดาการ์ แรลลี่ นั้นมีรถประเภทใดแข่งขันบ้าง และข้อมูลด้านล่างนี้คือประเภทรถแข่งยอดนิยมที่เข้าร่วมแข่งขันกลางทะเลทราย
[Bike]
เริ่มต้นกันที่ จักรยานยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์ เป็นประเภทที่ได้รับความนิยามมากที่สุดในการแข่งขัน ดาการ์ แรลลี่ เพราะใช้นักแข่งแค่คนเดียวต่อคัน และมีตั้งแต่การแข่งขันครั้งแรกเมื่อปี 1979
กฎข้อบังคับปัจจุบันในรุ่นนี้ ก็คือความจุของเครื่องยนต์ โดยจำกัดไว้ที่ 450 ซีซี ซึ่งรูปลักษณ์ภายนอกนั้นไม่ต่างอะไรกับมอเตอร์ไซค์เอ็นดูโร่มากนัก แต่ก็มีการโมดิฟายเพื่อให้สามารถลุยได้อย่างตลอดรอดฝั่ง
[Quad]
ควอดไบค์ หรือ มอเตอร์ไซค์ 4 ล้อ หรือหลายคนอาจเรียกว่า ATV (All-Terrain Vehicle) เดิมทีแล้วถูกรวมอยู่ในการแข่งขันรถจักรยานยนต์ ก่อนถูกแยกออกมาเป็นรุ่นเฉพาะเมื่อปี 2009 เป็นต้นมา ใช้นักแข่งแค่คนเดียวต่อคันเช่นกัน อันที่จริงกติกานั้นมี 2 รุ่นย่อย ได้แก่ ความจุเครื่องยนต์ไม่เกิน 750 ซีซี ขับเคลื่อนสองล้อ และ ความจุเครื่องยนต์ไม่เกิน 900 ซีซี ขับเคลื่อนสี่ล้อ แต่ใน ดาการ์ แรลลี่ รุ่นที่ได้รับความนิยมคือ ความจุเครื่องยนต์ไม่เกิน 750 ซีซี ขับเคลื่อนสองล้อ
[Car]
รถยนต์ คืออีกประเภทที่มีการแข่งขันมาตั้งแต่ ดาการ์ แรลลี่ ครั้งแรก โดยมีนักแข่ง 2 คนต่อคัน ประกอบด้วย นักขับ กับ ผู้นำทาง (ที่บางครั้งก็สลับมาขับให้เวลาอยู่นอกช่วงทดสอบพิเศษ) และนี่คือรุ่นที่มีการเปลี่ยนชื่อเรียกรุ่นย่อยชนิดที่ชวนให้ปวดหัวมากที่สุด
ย้อนกลับไปในช่วงปี 1990-2003 มีการแบ่งประเภทรถยนต์เป็น 3 รุ่นย่อย ประกอบด้วย T1 รถที่มีการผลิตจำหน่ายจริง ดัดแปลงได้เล็กน้อย, T2 เหมือนกับ T1 แต่เปิดให้โมดิฟายได้อิสระมากขึ้น และ T3 รถโปรโตไทป์ สร้างเพื่อการแข่งเท่านั้น
ทว่าในปัจจุบัน T1 กลายเป็นรุ่นท็อปของ ดาการ์ แรลลี่ ในประเภทรถยนต์ โดยเป็นรถโปรโตไทป์ อิงจากรถที่มีการจำหน่ายจริง หรือสร้างเพื่อการแข่งขันโดยเฉพาะก็ได้ ซึ่งก็มีการแตกรุ่นย่อยออกไปอีก
ประกอบด้วย T1.U เครื่องยนต์ไฮบริด หรือ มอเตอร์ไฟฟ้า ขับเคลื่อนสี่ล้อ, T1.1 เครื่องยนต์เบนซิน ขับเคลื่อนสี่ล้อ, T1.2 เครื่องยนต์ดีเซล ขับเคลื่อนสี่ล้อ, T1.3 เครื่องยนต์เบนซิน ขับเคลื่อนสองล้อ และ T1+ เครื่องยนต์เบนซิน ขับเคลื่อนสี่ล้อ แต่เปิดกว้างในการโมดิฟายมากกว่า T1.1 โดยสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ หรือ FIA เพิ่งเปลี่ยนชื่อรุ่น T1 ให้ดูแกรนด์ยิ่งขึ้น เป็น Ultimate ในปี 2024 นี้เอง
ส่วนรุ่น T2 ในปัจจุบัน ก็จะมีความคล้ายคลึงกับรุ่น T1 กับ T2 ในช่วงปี 1990-2003 โดยรถแข่งนั้นจะต้องเป็นรถจากโรงงานที่มีการผลิตเพื่อจำหน่าย นำมาดัดแปลงให้เหมาะกับการแข่งขันด้วยกฎความปลอดภัยที่เข้มงวด อาทิ ติดตั้งโรลเคจ บัคเกตซีต ถังเชื้อเพลิง และ FIA ก็เพิ่งเปลี่ยนชื่อรุ่น T2 มาเป็น Stock (ที่จะว่าไปก็ไม่ Stock จริงสักเท่าไหร่) ในปี 2024 ด้วยเช่นกัน
[Lightweight Vehicle]
ยานพาหนะน้ำหนักเบา หรือ ยานพาหนะเอนกประสงค์ ที่หลายคนอาจเรียกว่า UTV (Utility Task Vehicle) คือประเภทล่าสุดที่ถูกเพิ่มเข้ามาใน ดาการ์ แรลลี่ โดยมีการแข่งเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2017 นี้เอง มีนักแข่ง 2 คนต่อคันเช่นเดียวกับประเภทรถยนต์
ปัจจุบัน Lightweight Vehicles ถูกแบ่งเป็น 2 รุ่นย่อย ประกอบด้วย T3 ซึ่ง FIA เพิ่งเปลี่ยนชื่อให้ในปี 2024 เป็น Challenger เป็นยานพาหนะที่ถูกสร้างเพื่อการแข่งขันโดยเฉพาะ คล้าย ๆ กับประเภทรถยนต์ในรุ่น T1 หรือ Ultimate แต่สิ่งที่แตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ก็คือ โครงสร้างไม่จำเป็นต้องอิงจากรถยนต์ตามท้องตลาด ไม่มีการติดตั้งกระจก ส่งผลให้รถประเภทนี้มีน้ำหนักเบา
ส่วนรุ่น T4 ซึ่ง FIA เพิ่งเปลี่ยนชื่อให้ในปี 2024 เป็น SSV นั้น จะมีความคล้ายคลึงกับรุ่น T3 หรือ Challenger แต่จะต้องมีพื้นฐานจากรถที่มีการผลิตเพื่อจำหน่ายจริง ซึ่งเรียกกันในชื่อ SSV (Side-by-Side Vehicle) นั่นเอง
[Truck]
ประเภทสุดท้าย คือ รถบรรทุก ซึ่งเป็นอีกประเภทที่ที่มีการแข่งขันมาตั้งแต่ ดาการ์ แรลลี่ ครั้งแรก ในอดีตประเภทนี้ถูกเรียกว่ารุ่น T4 แต่ปัจจุบันถูกเรียกเป็นรุ่น T5 (จากการเกิดขึ้นของรุ่น T4 หรือ SSV นั่นเอง) โดยเป็นประเภทเดียวที่มีนักแข่ง 3 คนต่อคัน เพราะนอกจากนักแข่งและผู้นำทางแล้ว ประเภทนี้จะมีช่างเทคนิคประจำรถติดไปด้วย
แม้รถบรรทุกจะมีความแข็งแรงอยู่แล้ว แต่ด้วยเส้นทางสุดหฤโหด ก็ยังต้องมีการโมดิฟายเพิ่มอีก โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ไม่เน้นการโมดิฟายเครื่องแต่อย่างใด โดยมี 3 รุ่นย่อย T5.1 รถบรรทุกซึ่งมีพื้นฐานจากรถที่ผลิตเพื่อจำหน่ายจริง, T5.2 รถบรรทุกโปรโตไทป์ และ T5.3 รถบรรทุกสนับสนุนรถแข่งในประเภทอื่น ที่ไหน ๆ ก็มาแล้ว แข่งด้วยเลยไม่ให้เสียเที่ยว ซึ่ง FIA เพิ่งเปลี่ยนชื่อรุ่น T5 มาเป็น Truck เพื่อความเข้าใจง่ายในปี 2024 ด้วยเช่นกัน
โฆษณา