11 ม.ค. เวลา 04:16 • กีฬา

ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ : แดร์ ไกเซอร์ ผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการฟุตบอลเยอรมนี

“เราเสียใจอย่างยิ่งที่ต้องแจ้งให้ทราบว่า พ่อและสามีอันเป็นที่รักของพวกเราเสียชีวิตอย่างสงบในขณะที่เขาหลับเมื่อวันอาทิตย์ เราขอให้คุณไว้อาลัยกันด้วยความสงบ และงดเว้นจากการถามคำถามใด ๆ”
จากแถลงการณ์ของครอบครัว ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ บ่งบอกให้โลกได้รับรู้โดยทั่วกันว่าในช่วงต้นปี 2024 วงการลูกหนังได้สูญเสียบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ไปอีกราย เมื่อตำนานนักเตะและกุนซือชาวเยอรมัน เสียชีวิตลงอย่างสงบในวัย 78 ปี
การสูญเสียในครั้งนี้ ทำเอาบรรดาบุคคลน้อยใหญ่ในแวดวงฟุตบอล ตลอดจนองค์กรลูกหนังทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ ต่างออกแถลงการณ์แสดงความอาลัยต่อสตาร์ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “แดร์ ไกเซอร์” หรือจักพรรดิลูกหนัง แห่งเยอรมนี
เพื่อระลึกถึงความสุดยอดของ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ ไม่ว่าจะทั้งสมัยค้าแข้งหรือก้าวขึ้นมาเป็นโค้ช Main Stand ขอชวนคอฟุตบอลทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่มาติดตามเรื่องราวของไกเซอร์ฟรานซ์ไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้
ความยิ่งใหญ่เริ่มต้นที่เสือใต้
ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ เกิดเมื่อวันที่ 11 กันยายน 1945 ในเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี โดยช่วงเวลาที่เจ้าตัวเกิดและเติบโตขึ้นมา ชาติบ้านเกิดของเขากำลังอยู่ภายใต้ซากปรักหักพังหลังสงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งจะสิ้นสุดลงได้ไม่นาน
เบคเคนบาวเออร์ มีความผูกพันและเชื่อมโยงกับกีฬาฟุตบอลตั้งแต่วัยเยาว์ โดยเริ่มจากการเตะลูกบอลกับกำแพงอิฐ ฟรานซ์ในวัยเด็กทำแบบนี้อยู่เรื่อย ๆ จนพาตัวเองเข้าสู่สารบบฟุตบอลได้ กับการก้าวขึ้นมาเป็นนักเตะเยาวชนของ เอสเซ 1906 มิวนิค (SC 1906 München) เมื่อตอน 9 ขวบ พร้อมกับถูกวางตัวในอนาคตแล้วว่า 1860 มิวนิค ทีมแกร่งในเมืองเกิด คือสถานีต่อไปบนถนนลูกหนัง แถมตัวฟรานซ์เองก็เป็นแฟนบอลทีมนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วมันกลับไม่เป็นเช่นนั้น สถานีต่อจากการเป็นแข้งเยาวชนของ เอสเซ 1906 มิวนิค กลับเป็น บาเยิร์น มิวนิค แทน ว่ากันว่าสาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากครั้งหนึ่ง ฟรานซ์ในวัย 12 ปี ลงแข่งกับทีม 1860 มิวนิค โดยในระหว่างที่เล่นเกมดังกล่าว เขามักจะโดนคู่แข่งทำฟาวล์แบบไม่หยุดหย่อน
แต่ด้วยสภาพจิตใจที่แข็งแกร่งมาแต่เด็ก กอปรกับชีวิตของสังคมเยอรมันในภาวะหลังแพ้สงคราม มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้ทุกคนต้องต่อสู้เพื่อตัวเอง เบคเคนบาวเออร์บ่นคู่แข่งฉาดใหญ่จนโดนนักเตะกองหลังของ 1860 มิวนิค ตบเข้าไปที่หน้า
ที่สุดแล้วการตบนั้นได้เปลี่ยนแปลงชีวิตฟุตบอลของเขาไปตลอดกาล เมื่อ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ ตัดสินใจเลือกเข้าไปเป็นเด็กในคาถาของทีมเสือใต้แทน
การอยู่ร่วมชายคา บาเยิร์น มิวนิค ในระดับเยาวชนมาตั้งแต่ปี 1959 กระทั่งช่วง 6 ปีต่อจากนั้น ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ ก็กลายเป็นนักเตะชุดใหญ่ของทีมจนได้ เมื่อนโยบายของทีมในตอนนั้น เลือกมาใช้เยาวชนอนาคตไกลเป็นหัวใจ และช่วงเวลาต่อจากนั้นคือ ประวัติศาสตร์
“สถานะทางการเงินที่ย่ำแย่ ... บังคับให้สโมสรต้องเลิกใช้สตาร์ราคาแพง หนทางที่เหมาะสมก็คือดึงนักเตะจากทีมเยาวชน เช่นเดียวกับนักฟุตบอลที่มีพรสวรรค์ในแคว้นบาวาเรีย” เว็บไซต์บาเยิร์นกล่าว
สถานะของทีมเสือใต้ในเวลานั้น ต้องยอมรับว่ายังไม่ใช่ทีมที่ผูกขาดแชมป์ลีกแบบในปัจจุบัน แถมช่วงที่ฟรานซ์ก้าวขึ้นมาเป็นแข้งชุดใหญ่ ก็อยู่ในช่วงที่ บาเยิร์น มิวนิค ทำอันดับลุ้นเลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดด้วยซ้ำไป
และหากจะบอกว่าการเข้ามาของ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ ได้แปรเปลี่ยนสถานะของเสือใต้แห่งแคว้นบาวาเรียมาเป็นทีมหัวตารางลีก มีลุ้นแชมป์ กลายเป็นทีมยักษ์ใหญ่ ก็ย่อมได้เช่นกัน
เพราะตลอดช่วงเวลา 14 ฤดูกาล นับแต่ 1963-64 ไปจนถึง 1976-77 บาเยิร์น มิวนิค เถลิงแชมป์ลีกได้ถึง 4 สมัย (1968-69, 1971-72, 1972-73 และ 1973-74) ได้แชมป์ฟุตบอลถ้วยเดเอฟเบ โพคาล อีก 4 สมัย (1965-66, 1966-67, 1968-69 และ 1970-71)
รวมถึงแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ หรือยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ในปัจจุบัน อีก 3 สมัย (1973-74, 1974-75 และ 1975-76) โดยผนึกกำลังกับดาวเด่นชาติในเวลานั้น ทั้ง เซปป์ ไมเออร์ นายประตูมือฉมัง และดาวยิงระดับตำนาน แกร์ด มุลเลอร์ นำพาเสือใต้สู่ยุคทองอย่างแท้จริง
ความสำเร็จระดับบุคคลก็ปรากฏให้เห็นเช่นกัน โดย ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ กวาดรางวัลบัลลงดอร์ได้ถึงสองสมัย ในปี 1972 และ 1976 เช่นเดียวกับการผงาดรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีของเยอรมนีถึง 4 ปี (1966, 1968, 1974 และ 1976) ซึ่งที่ว่ามานี้ก็ยังไม่นับรวมรางวัลยิบย่อยและการถูกจารึกความสำเร็จด้านอื่น ๆ ที่มาประดับตัวเขาอีกเกินกว่า 10 รางวัล
มากไปกว่านั้น ยุคสมัยที่ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ อยู่เป็นฟันเฟืองกวาดความสำเร็จให้กับทั้งบาเยิร์น มิวนิคและตัวเอง เขายังยิ่งใหญ่สุด ๆ ร่วมกับทีมชาติเยอรมนีตะวันตกด้วยอีกทางหนึ่ง
ในสมัยที่เยอรมนีตะวันตกคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกในปี 1974 คนที่นำเพื่อนร่วมทีมชูความสำเร็จเป็นคนแรกก็คือฟรานซ์ ในฐานะกัปตันทีมชาติ นอกจากนี้แล้ว เขายังอยู่เป็นส่วนหนึ่งร่วมกับอินทรีเหล็กยุคเข้ารอบลึกฟุตบอลโลก ทั้งรองแชมป์และอันดับสาม ในปี 1966 และ 1970 ตามลำดับ เช่นเดียวกับความสำเร็จผ่านแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือยูโร 1972 ด้วย
โดยรวมแล้ว ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ ลงเล่นให้ทีมชาติเยอรมันตะวันตกไปทั้งสิ้น 103 นัด แม้สถิติดังกล่าวจะไม่ได้มากติดอันดับท็อปเทนในสมัยปัจจุบัน
ทว่าสถิติลงเล่นให้ทีมชาติแบบ “ติดต่อกัน” มากที่สุดของเขา ที่ 60 นัด ตั้งแต่ 9 กันยายน 1970 ไปจนถึง 23 กุมภาพันธ์ 1977 ยังคงเป็นสถิติที่ไม่ว่าจะแข้งรุ่นน้อง รุ่นลูก หรือรุ่นหลานยังไม่อาจโค่นลงได้
ภาพจำตำนานลิเบโร
ปี 1964 หรือช่วงขวบปีแรกที่ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ ได้โอกาสลงประเดิมสนามให้กับ บาเยิร์น มิวนิค ในเกมเพลย์ออฟเลื่อนชั้นสู่บุนเดสลีก้า ดวลกับ ซังต์ เพาลี เขาลงสนามในตำแหน่งตัวรุก (ปีกซ้าย) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ยืนพื้นลงเล่นมาตั้งแต่สมัยอยู่ทีมเยาวชน โดยเอาชนะคู่แข่งไป 4-0 และฟรานซ์ยิงประตูได้ด้วย
จากนั้นก็เริ่มขยับบทบาทลงเล่นในตำแหน่งกองกลาง ปักหลักพื้นที่แดนกลางไปด้วย โดยบทบาทนี้ถูกบันทึกให้เห็นภาพชัดในฟุตบอลโลก 1966 อย่างนัดชิงชนะเลิศ เมื่อ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ ถูกจับยืนเล่นในตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวกลางของเยอรมนีตะวันตก ได้ลงห้ำหั่นกับมิดฟิลด์คู่แข่งอย่าง (เซอร์) บ็อบบี้ ชาร์ลตัน หรือคอยตัดเกม โรเจอร์ ฮันต์ กับ เจฟฟ์ เฮิร์สต์
อย่างไรก็ดี ที่สุดแล้ว ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ ก็มาตระหนักได้ว่าตำแหน่งการเล่นที่เขาชื่นชอบและตั้งใจจะเป็นมากที่สุด ก็คือการเล่นเป็นกองหลัง และด้วยอายุอานามที่มากขึ้น ฟรานซ์ค่อย ๆ ถอยตัวเองจากปีก กองกลาง มาเป็นผู้เล่นเกมรับ จนกลายเป็นผู้เล่นในตำแหน่ง “ลิเบโร” ที่ว่ากันว่าริเริ่มมาจากฟุตบอลประเทศอิตาลีตั้งแต่ช่วงยุคทศวรรษที่ 60
ลิเบโร เป็นตำแหน่งเกมรับที่ยืนอยู่เป็นคนสุดท้ายก่อนถึงผู้รักษาประตู คอยทำหน้าที่อ่านเกม ปัดกวาด เก็บตกลูกบอลเป็นคนสุดท้าย แถมยังสามารถพลิกผันเปลี่ยนสถานการณ์ทีมจากเกมรับเป็นเกมรุกได้แบบทันควัน
ไม่น่าเชื่อว่า ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ เอามาประยุกต์ใช้ในแบบฉบับของตัวเองจนกลายเป็นการเล่นที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น ลิเบโรสมัยใหม่
“ถ้าคุณจ่ายบอลอย่างเหมาะสม คุณจะได้มันกลับมาอย่างเหมาะสม โดยไม่จำเป็นต้องวิ่ง” ฟรานซ์ นิยามตำแหน่งและสไตล์ของตัวเองในเวลานั้น
“ด้วยความนิ่ง ความสง่างาม และภาพรวมของเขา เขาได้สร้างมาตรฐานในสนาม” เบิร์น นอยน์ดอร์ฟ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลเยอรมัน ชื่นชม
“สำหรับผม ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ เป็นนักฟุตบอลที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์เยอรมัน การตีความบทบาทของลิเบโร [สวีปเปอร์] คอยเปลี่ยนเกม ด้วยบทบาทนี้และแนวทางการเล่นของเขายามที่อยู่กับลูกบอลทำให้เขาเป็นอิสระมาก ๆ” ยูเลี่ยน นาเกลมันส์ ยกย่องความสามารถของฟรานซ์
ที่สุดแล้วการประยุกต์ตัวเองให้กลายมาเป็นผู้เล่นตำแหน่งดังกล่าวของฟรานซ์ โดดเด่นจนกลายเป็นภาพจำไปทั่วมุมโลกว่าตำแหน่งนี้เกิดขึ้นจากไอเดียของเขาไปเลยทีเดียว
กุนซือน้อยดีกรีที่พาชาติเถลิงแชมป์โลก
“หยิบจับอะไรก็สำเร็จ” คำกล่าวนี้ไม่เกินจริงสำหรับ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ เพราะภายหลังที่ปิดฉากเส้นทางนักฟุตบอลอาชีพ ซึ่งเขาลงเล่นไปกว่า 754 นัด รวมทั้งสมัยที่อยู่กับ บาเยิร์น มิวนิค, นิวยอร์ก คอสมอส รวมถึง ฮัมบูร์ก เบคเคนบาวเออร์ ซึ่งไม่มีดีกรีหรือไลเซนส์ใด ๆ ในฐานะโค้ชฟุตบอล แต่กลับได้งานโค้ชฟุตบอลระดับเมเจอร์ในช่วงไม่กี่ปีภายหลังแขวนสตั๊ด กับบทบาท “ทีมเชฟ” แห่งเยอรมนีตะวันตก
หลังความล้มเหลวของอินทรีเหล็ก ในฟุตบอลยูโร 1984 ที่ตกตั้งแต่รอบแรกของการแข่งขัน ทำเอาสหพันธ์ลูกหนังชาติอย่างเดเอฟเบ ประกาศปลด จุปป์ แดรวัลล์ พ้นตำแหน่ง กาลต่อมาคือเดเอฟเบ ลิสต์ชื่อกุนซือที่มีดีกรีที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี เพราะหลาย ๆ คนที่อยู่ในโผ ยังมีพันธะผูกพันอยู่กับสโมสรสังกัด อย่าง เฮลมุต เบนเฮาส์ ของสตุ๊ตการ์ต ที่เพิ่งคว้าแชมป์บุนเดสลีกาในฤดูกาลคาบเกี่ยว ขณะที่ตัวของฟรานซ์ ไม่ได้มีบทบาทเป็นโค้ชให้ทีมใด อีกทั้งยังไม่มีไลเซนต์โค้ชด้วยซ้ำ
แต่สิ่งที่ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ มีติดตัว นั่นคือบารมีของการเป็นสุดยอดนักเตะในประเทศ ที่ใคร ๆ ต่างก็ยอมรับ จนเป็นเหตุให้องค์กรลูกหนังแม่ในประเทศตัดสินใจแต่งตั้งเข้ามาคุมทีมชาติในปี 1984 โดยเป็นสัญญาระยะสั้นให้คุมทีมลุยฟุตบอลโลก 1986 เป็นอย่างน้อย
ด้วยการที่ฟุตบอลเยอรมันในตอนนั้น มีการอบรมหลักสูตรโค้ชให้ได้ไลเซนส์ของทั้งสหพันธ์ฟุตบอลยุโรปรวมถึงสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ ทว่าการเข้ามาแบบฉุกละหุกของฟรานซ์ ไม่ทันได้ไปอบรมโค้ชหรือได้ดีกรีใด ๆ มา และด้วยความเป็นระบบระเบียบของฟุตบอลเยอรมันที่แข็งแกร่งเป็นทุนเดิม แน่นอนว่าการจะเข้ามาเป็นโค้ชทีมชาติชุดใหญ่ก็จำเป็นต้องมีไลเซนส์
เพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้น ทางเดเอฟเบจึงแต่งตั้งให้ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ ทำหน้าที่เป็น “ทีมเชฟ” ไม่ได้ใช้คำเชิงผู้จัดการทีมชาติโดยตรง ถือเป็นการอะลุ่มอล่วยไปก่อน
กระนั้น “แดร์ ไกเซอร์” กลับทำผลงานเกินเป้าหมาย เมื่อเขานำลูกทีมไปไกลถึงตำแหน่งรองแชมป์ฟุตบอลโลก 1986 โดยนัดชิงชนะเลิศพ่ายต่อทีมชาติอาร์เจนตินา ที่มีตัวชูโรงอย่าง ดิเอโก้ มาราโดน่า ด้วยสกอร์ 2-3
ยังไม่นับเรื่องความเด็ดขาดด้านการจัดการทีมที่เห็นผลดีมากมายตลอดทัวร์นาเมนต์ อาทิ การเน้นย้ำถึงความสำคัญของระเบียบวินัย การแก้ปัญหาแบบตรงไปตรงมา ให้คุยกันเป็นการภายใน หลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์สื่อโดยมากที่สุด เพื่อไม่ให้สมาธิหลุดออกไปสู่สาธารณชน
ตลอดจนการใช้แท็คติกการเล่นแบบใหม่ ๆ ที่เขาคิดค้นขึ้นมา อย่างการนำระบบ ลิเบโร ที่ถูกจารึกในสมัยเป็นนักเตะมาสู่ทีมชาติ โดยเฉพาะยามที่ทีมเล่นเกมรับ 5-3-2 เช่นเดียวกับการใช้งานผู้เล่นผสมผสานระหว่างนักเตะประสบการณ์สูงและดาวรุ่งอนาคตไกลรวมกันอยู่เป็นทีมเดียวกัน
ผลลัพธ์ที่ผลิดอกให้เห็นตั้งแต่เวทีเวิลด์คัพสมัยแรก ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ กลายเป็นทีมเชฟของชาติแบบเต็มตัว ผลงานต่อจากนั้นก็มีทั้งการไปถึงรอบรองชนะเลิศในฟุตบอลยูโร 1988 (พ่ายต่อเนเธอร์แลนด์ยุคสามทหารเสือ อย่าง รุด กุลลิต, แฟร้งค์ ไรจ์การ์ด และ มาร์โก้ ฟาน บาสเท่น)
แต่เวลาต่อจากนั้น ทีมชาติเยอรมนี ในนามขณะนั้น เยอรมนีตะวันตก เริ่มเป็นชาติที่น่าจับตามองมากที่สุดชาติหนึ่งในสารบบฟุตบอลโลก เพราะพวกเขาอุดมไปด้วยนักเตะเก๋าผสมสดที่เฉิดฉายขึ้นมาในวงการ มีทั้ง อันเดรียส เบรห์เม่ (29 ปี), กีโด้ บุควัลด์ (29 ปี), โลธาร์ มัทเธอุส กัปตันทีม (29 ปี), ปิแอร์ ลิททบาร์สกี้ (31 ปี) รวมถึง รูดี้ โฟลเลอร์ (30 ปี)
2
ผนึกกำลังกับแข้งอายุอานามช่วงพีค อาทิ เยอร์เก้น คลินน์มันส์ (25 ปี) และ เยอร์เก้น โคห์เลอร์ (24 ปี)
ที่สุดแล้วทีมชุดนี้ก็มาเถลิงแชมป์โลกเป็นสมัยที่สามในประวัติศาสตร์ชาติ แถมยังเป็นการล้างแค้นคู่ปรับเมื่อสี่ปีก่อนอย่างอาร์เจนติน่าเสียด้วย (เยอรมันตะวันตกชนะ 1-0) และสำหรับ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ แล้ว เขาได้แชมป์ฟุตบอลโลก ทั้งในสมัยที่เป็นนักเตะ (ปี 1974) และในฐานะโค้ช (ปี 1990) เป็นคนฟุตบอลคนที่สองในเวลานั้นที่ทำเช่นนี้ได้ ต่อจาก มาริโอ ซากัลโล่ ของบราซิล (คนที่สามคือ ดิดิเยร์ เดส์ชองส์ ของฝรั่งเศส)
“ผมได้เรียนรู้อะไรมากมาย ในปี 1990 ผมมุ่งเน้นไปยังเรื่องที่สำคัญเพียงอย่างเดียว นั่นก็คือทีม” เขาบอกกับ Der Spiegel
“แต่สิ่งที่ชี้ขาดที่แน่นอนเลยก็คือทีมที่มีการเติบโตในทางที่ดีขึ้น มีส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างแข้งมากประสบการณ์และแข้งอายุน้อย เช่นเดียวกับผู้ชายที่สามารถวิ่งได้ตลอดเกม และนักเตะที่มีความแข็งแกร่งเป็นทุนเดิม มันเป็นหน่วยเดียวกัน”
จากนั้น ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ ลองมาชิมลางเป็นกุนซือระดับสโมสรบ้าง เริ่มจาก โอลิมปิก มาร์กเซย ในเวทีลีกสูงสุดของฝรั่งเศส ซึ่งเขาก็พาทีมเป็นแชมป์ลีกหนึ่งสมัย ในปี 1990-91 ไกเซอร์ฟรานซ์อยู่โอแอมหนึ่งปีเศษ เขากลับมาอยู่บ้านหลังเก่าอย่าง บาเยิร์น มิวนิค อีกครั้งในฐานะหัวหน้าผู้ฝึกสอนแบบชั่วคราว
คราวนี้ก็ยังเฉิดฉายไม่เสื่อมคลาย กับการพาทีมเป็นทั้งแชมป์ลีกและแชมป์ยูฟ่า คัพ โดยรวมคุมเสือใต้ไป 19 นัด ชนะถึง 12 นัด
ขยับสู่บทบาทผู้บริหาร
อนึ่ง ในระหว่างที่คุมทีมชั่วคราวช่วงที่ได้แชมป์ยูฟ่า คัพ ปี 1995-96 ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ ขยับบทบาทตัวเองขึ้นมาจับงานบริหารไปแล้ว ในปี 1994 ในฐานะประธานสโมสร และดำรงตำแหน่งดังกล่าวยาวไปจนถึงปี 2009
แน่นอนว่าในยุคของ แดร์ ไกเซอร์ บาเยิร์นกวาดความสำเร็จมากมายโดยเฉพาะผลงานในระดับประเทศ เช่นเดียวกับการปลุกปั้นแข้งในคาถาขึ้นมาประดับวงการฟุตบอลเยอรมันได้มากมาย เช่น ฟิลลิป ลาห์ม และ บาสเตียน ชไวน์สไตเกอร์
มากกว่านั้น ด้วยบารมีที่มีในตัว ฟรานซ์ยังเคยดำรงตำแหน่งเป็นถึงรองประธานสหพันธ์ฟุตบอลเยอรมัน (DFB) ตั้งแต่ปี 1998 ถึง 2010 ทั้งยังเป็นประธานฝ่ายจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 ซึ่งส่งให้เยอรมนีกลายเป็นเจ้าภาพในปีดังกล่าว
และแม้จะเคยโดนข้อครหาเชื่อมโยงกับการคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวกับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของเยอรมนี กับเรื่องการจ่ายเงิน 6.7 ล้านยูโรให้ทางฟีฟ่าในปี 2005 เพื่อให้เยอรมันได้รับหน้าเสื่อจัดการแข่งขัน จนถึงขั้นถูกดำเนินคดีทางกฏหมาย แต่ภายหลังก็ยืนกรานปฏิเสธ จนกระทั่งเรื่องนี้ถูกปัดตกไป ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลมันอาจทำให้ภาพลักษณ์ของฟรานซ์เสื่อมเสียไปบ้างในเวลาดังกล่าว
อย่างไรก็แล้วแต่ เพราะคุณงามความดีที่เขาจารึกไว้ในแวดวงลูกหนังเมืองเบียร์ตลอดมา นี่ถือเป็นภาพจำของคนทั่วไปในวงการที่มีถึงตัวเขามากกว่า จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
1
แด่แดร์ ไกเซอร์ ผู้ยิ่งใหญ่
การจากไปของ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของวงการฟุตบอลอย่างแท้จริง
หากพูดถึงตำนานลูกหนังในแต่ละประเทศ ยกตัวอย่างบราซิลมี เปเล่ เป็นชื่อแรก, อาร์เจนตินามี ดิเอโก้ มาราโดน่า เป็นชื่อแรก, เนเธอร์แลนด์มีชื่อของ โยฮัน ครัฟฟ์ เป็นชื่อเบอร์ต้น หรืออย่างอังกฤษที่ใครหลายคนนึกถึง เซอร์ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน
เช่นเดียวกัน ชื่อของ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ ก็คือชื่อแรก ๆ ที่นึกถึงในนามตำนานเยอรมนี
นั่นจึงเป็นเหตุให้ทั้งคนในวงการฟุตบอลเยอรมนีเอง รวมถึงคนฟุตบอลจากทั่วมุมโลก ต่างพร้อมใจกันแสดงความเสียใจหลังการจากไปของ แดร์ ไกเซอร์ ผู้นี้ ซึ่งคาดกันว่าสาเหตุของการเสียชีวิตมาจากปัญหาโรครุมเร้า ทั้งโรคพาร์กินสัน สมองเสื่อม ปัญหาหัวใจ รวมถึงดวงตา เช่นเดียวกับสุขภาพจิตที่แย่ลงหลังสูญเสียลูกชายไปก่อนหน้านี้
“เราจะคิดถึงเขา ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ คือหนึ่งในนักฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเยอรมนี เขาเป็นแรงบันดาลใจให้วงการฟุตบอลเยอรมันมาตลอดชั่วอายุคน” นายกรัฐมนตรีเยอรมัน โอลาฟ ชอลซ์ กล่าวสดุดี
“เขาเป็นผู้เล่นที่ยอดเยี่ยม คิดบวก รวดเร็วและอันตรายเสมอ เขาเป็นผู้เล่นที่อันตรายที่สุดที่พวกเขา (เยอรมนี) เคยมี เขาสามารถทำอะไรพิเศษหลาย ๆ ด้วยความเร็วที่มีในตัส รวมถึงการควบคุม และความสามารถของเขาเอง” เซอร์ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน ตำนานทีมชาติอังกฤษและ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ล่วงลับก่อนหน้าไม่นาน เคยกล่าวถึง ฟรานซ์ เบ็คเค่นบาวเออร์ อดีตคู่แข่งที่ยิ่งใหญ่ ที่ภายหลังกลายเป็นเพื่อนที่ดีระหว่างกัน
11 กันยายน 1945 - 7 มกราคม 2024 สดุดีตำนานผู้ยิ่งใหญ่ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์
บทความโดย พชรพล เกตุจินากูล
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา