11 ม.ค. เวลา 10:14 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

พบตะกั่วในหม้อก๋วยเตี๋ยว เคยได้ยินเรื่องนี้กันบ้างไหมครับ ?

หากเคยได้ยิน แน่นอนคุณคงอายุไม่น้อยแล้ว เพราะเรื่องนี้บ้านเราตื่นตัวกันเมื่อ 17-18 ปีก่อน
และโครงการหม้อก๋วยเตี๋ยวอนามัยเป็นโครงการแรก ๆ ที่ผมทำ เมื่อตอนเริ่มทำงาน
ตะกั่ว อยู่ตรงไหนของหม้อก๋วยเตี๋ยว ?
หม้อก๋วยเตี๋ยวบ้านเรา เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ผ่านการคิดค้นมาอย่างดี
สามารถลวกเส้น ต้มน้ำซุป 1 ต้มน้ำซุป 2 ได้พร้อม ๆ กัน ซึ่งเป็นนวัตรกรรมที่ทึ่งมาก
และควรผลักดันให้เป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกเป็นฮาร์ดพาวเวอร์และซอฟท์พาวเวอร์ของไทย
แต่ข้อเสียที่สำคัญของหม้อก๋วยเตี๋ยวบ้านเราคือตะกั่วที่อยู่ในแนวบัดกรี
เนื่องจากหม้อก๋วยเตี๋ยวแม้จะผลิตจากเหล็กกล้าไร้สนิมเกรด 304 ที่ปลอดภัยสำหรับการทำอาหาร
แต่กระบวนการผลิตหม้อก๋วยเตี๋ยวจะเริ่มจากการม้วนแผ่นสเตนเลสเป็นรูปทรงกระบอก
บริเวณรอยต่อจะถูกพับให้เป็นตะเข็บซ้อนกัน และใช้หมุดทองแดง/ทองเหลืองช่วยยึดเพื่อเพิ่มความแข็งแรง
จากนั้นจึงทำการบัดกรีด้วยโลหะผสมดีบุก-ตะกั่ว ที่มีส่วนผสมดีบุกต่อตะกั่ว ประมาณ 60-40 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก
ซึ่งเป็นช่วงโลหะผสมที่มีอุณหภูมิหลอมเหลวต่ำ ประมาณ 200 องศาเซลเซียส เพื่อไม่ให้เกิดรอยรั่วซึม
ตะกั่ว ออกมาละลายอยู่ในหม้อก๋วยเตี๋ยวได้ยังไง ?
หม้อก๋วยเตี๋ยวผลิตจากสเตนเลสเกรด 304 ซึ่งเป็นปลอดภัยสำหรับการทำอาหาร
และในสเตนเลสเกรดนี้ ไม่มีการเติมตะกั่วลงไปในส่วนผสมของเหล็ก
และตะกั่วไม่ใช่ธาตุที่จะเติมลงไปในสเตนเลสเกรดที่ใช้เป็นภาชนะสำหรับอาหาร
รวมถึงเกรดทั่วไปตะกั่วก็ไม่ได้การเติมลงไป
จะมีเติมอยู่บ้างก็เพียงเกรดที่ต้องการสมบัติการกลึง ไส ตัด เจาะ เป็นพิเศษ ซึ่งเราไม่ค่อยได้พบในชีวิตประจำวัน
ดังนั้นตะกั่วที่ออกมาเจือปนในอาหารจึงไม่ได้มาจากส่วนผสมของสเตนเลส
จุดที่ทำให้ตะกั่วเจือปนในอาหารคือแนวบัดกรีดที่ใช้ในการประสานและอุดไม่ให้หม้อก๋วยเตี๋ยวเกิดการรั่วซึม
และการเจือปนของตะกั่วลงสู่อาหาร ไม่ได้เกิดจากการที่หม้อก๋วยเตี่ยวได้รับความร้อนสูงจนตะกั่วละลายออกเป็นของเหลว
เพราะความร้อนในหม้อก๋วยเตี๋ยว ต่อให้น้ำเดือดก็ไม่ได้สูงกว่าจุดหลอมเหลวของโลหะบัดกรี ดีบุก-ตะกั่ว
แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องของปฏิกิริยาเคมีไฟฟ้าที่เรียกว่าการกัดกร่อน
โลหะผสมดีบุก-ตะกั่ว เมื่อแช่อยู่ในน้ำก๋วยเตี๋ยวที่มีความเค็มและมีอุณหภูมิสูง
สามารถเกิดปฏิกิริยาการกัดกร่อน ได้ง่าย
และยิ่งเกิดการกัดกร่อนได้รุนแรงยิ่งขึ้นเนื่องจากเมื่อโลหะผสมดีบุก-ตะกั่ว
มาเชื่อมต่อกับสเตนเลสที่มีสมบัติความต้านทานการกัดกร่อนที่สูงกว่า
จะทำให้เกิดปฏิกิริยาการกัดกร่อนแบบกัลวานิก (Galvanic Corrosion) ซึ่งจะส่งผลให้รอยบัดกรีเกิดการกัดกร่อนรุนแรงกว่าเดิม
ในปฏิกิริยาการกัดกร่อนแบบกัลวานิก
โลหะผสมดีบุก-ตะกั่ว ที่มีศักย์ไฟฟ้าการกัดกร่อนต่ำและมีความต้านทานการกัดกร่อนต่ำ
จะทำหน้าที่เป็น อาโนด (Anode) หรือ ผู้ให้อิเล็กตรอน
และสเตนเลส ที่มีศักย์ไฟฟ้าการกัดกร่อนสูงและความต้านทานการกัดกร่อนสูง
จะทำหน้าที่เป็น คาโธด (Cathode) หรือ ผู้รับอิเล็กตรอน
โดยหลังจากโลหะ ดีบุก - ตะกั่ว สูญเสียอิเล็กตรอนจะอยู่ในสภาพอิออนและละลายลงสู่น้ำซุปก๋วยเตี๋ยว
ซึ่งในกรณีของดีบุกที่ละลายออกมา ความอันตรายยังไม่มาก
เนื่องจากร่างกายเราสามารถรับดีบุกได้ในปริมาณหนึ่ง รวมถึงสามารถขับออกได้
ดีบุกจึงถูกใช้ในการเคลือบผิวเหล็กและใช้ในการผลิตกระป๋อง เพื่อป้องกันไม่ให้กระป๋องเกิดสนิมเหล็ก
และยังทำให้เงาะกระป๋องที่เรากินมีรสชาติอร่อยเพิ่มขึ้นเนื่องจาก
อิออนบวกของดีบุกที่ละลายลงไปช่วยเพิ่มรสอูมามิให้กับอาหาร
แต่ตะกั่วร่างกายเรารับได้น้อยแต่ขับออกได้ยากและส่งผลต่อระบบประสาทและสมอง
ในหลายงานวิจัยยังระบุว่า หากเด็ก ๆได้รับตะกั่วในปริมาณสูงกว่าร่างกายรับได้ จะส่งผลกระทบถึงระดับไอคิวที่ลดต่ำลง
และทั้งหมดก็เป็นเหตุผลว่าทำไมสมัยก่อนหม้อก๋วยเตี๋ยวถึงมีตะกั่ว
#เรื่องเล่าข้างหม้อ
จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ เริ่มจากกลุ่มสนทนาเล็ก ๆ บนโต๊ะอาหาร ของ กลุ่มวิจัยการกัดกร่อนและการเชื่อม
ของ ศ. ดร. กอบบุญ หล่อทองคำ ศาสตราจารย์ ประจำภาควิชา วิศวกรรมโลหการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรื่องเล่าบนโต๊ะอาหารเรื่องหนึ่งที่เราคุยกันคือ
ตะกั่วในหม้อก๋วยเตี๋ยวที่รุ่นพี่ผมท่านหนึ่งเปิดเป็นหัวข้อสนทนา
รุ่นพี่ท่านนี้ เห็นรอยบัดกรีในการบัดกรีหม้อก๋วยเตี๋ยว
จึงเข้าไปชวนเจ้าของร้านคุยและถามว่าหม้อก๋วยเตี๋ยวใช้ทนไหม ?
ซึ่งคำตอบที่ได้คือ ไม่ทน ต้องปะเดือนละครั้ง (ส่วนของผมแอบไปสำรวจมาได้ประมาณ 3-6 เดือน อายุน่าจะ ขึ้นอยู่กับปริมาณการขาย)
ด้วยเหตุนี้ รุ่นพี่ท่านนี้จึงพยายามโทรแจ้งหน่วยงานของรัฐ หลายหน่วยงาน ถึงพิษของตะกั่ว
แต่ตอนนั้นไม่มีใครตอบกลับ
อาจเป็นเพราะ พิษของตะกั่วมันไม่เห็นผลโดยทันที
และพิษของมันถูกซุกซ่อนไว้ ด้วย เวลา เราจึงไม่ได้ให้ค่ากับมัน
และเป็นไปได้ว่าหลายคนไม่เข้าใจว่าตะกั่วนั้นสามารถละลายลงสู่ในหม้อก๋วยเตี๋ยวได้จากกลไกการกัดกร่อน
หลายหน่วยงานจึงอาจเมินเฉยกับข้อมูลที่รุ่นพี่ผมแจ้งไป
แม้การแจ้งหน่วยงานต่าง ๆ ไม่เป็นผล
แต่โชคดีหลังจากนั้นนานพอสมควร มีข่าวการปนเปื้อนของตะกั่วในตู้น้ำดื่มในโรงเรียน
ผมกับรุ่นพี่อีกท่านซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็นหัวหน้าของผมอีกที เราทำงานอยู่ในสถาบันวิจัย
จึงเริ่มทำการทดลองให้เห็นว่า ตะกั่วออกมาได้อย่างไร ?
และพิสูจน์ว่า ปริมาณตะกั่วที่ออกมามันเกินค่ามาตรฐาน !!
อีกส่วนหนึ่ง เราก็เร่งทำตัวอย่างหม้อก๋วยเตี๋ยวต้นแบบที่ไร้สารตะกั่ว
โดยอาศัย บริษัทฯ ผลิตเครื่องมือผลิตยา และอาหาร ซึ่งมาตรฐานทุกอย่างสูงมาก
สูงจนในทีมเราเรียกหม้อก๋วยเตี๋ยวต้นแบบว่า
“หม้อก๋วยเตี๋ยวกันกระสุน”
เนื่องจากความหนาของตัวหม้อ รอยเชื่อมที่แข็งแรง และฝาหม้อที่ราวกับยืมโล่ไวเบรเนียมของกัปตันอเมริกามาใช้
ผมจำได้ว่า พวกเราชื่นชมกับงานชิ้นนี้มาก ไม่ใช่ว่ามันเป็นงานวิจัยที่เลิศเลอ
แต่เป็นเพราะ มันเป็นงานที่เราทำเพื่ออนาคตข้างหน้า
เพื่อที่เด็ก ๆ ของเราจะได้ไม่มีปัญหาทางสติปัญญา และเสี่ยงต่อการรับสารตะกั่ว
แต่สิ่งที่ตามมาต้องบอกว่าตรงกันข้ามครับ
เราได้รับเสียงด่า มากกว่าเสียงชม
คนทำงานวิจัย บางส่วน ไม่เห็นคุณค่าของงานที่เราทำอยู่ เพราะมันไม่ได้มีอะไรใหม่
คนขายก๋วยเตี๋ยว โทรมาบ่นว่า ขายมาเป็นสิบๆ ปี ไม่เห็นมีอะไร ลูกค้าเขาตอนนี้หดหาย
คนทำหม้อก๋วยเตี๋ยว หาว่าเราแอบรับผลประโยชน์บ้าง
ต้องบอกว่ารับเละครับ แต่พวกเรารู้ว่ากำลังทำอะไรกันอยู่ ก็ได้แต่กัดฟันกันไป
ไม่นานนัก เรื่องหม้อก๋วยเตี๋ยวก็กลายเป็นเรื่องใหญ่
มีกฎกระทรวงออกมาควบคุมก่อน ในการห้ามใช้ตะกั่วบัดกรี
จากนั้นเริ่มมี กำหนดมาตรฐานการผลิต หม้อก๋วยเตี๋ยวเริ่มมีวิวัฒนาการ จากบัดกรีด้วยตะกั่ว
เดี๋ยวนี้ตะกั่วหายไป เราเห็นหม้อก๋วยเตี๋ยวถูกเชื่อม TIG ณ ตอนนี้ เราถึงขั้นใช้เลเซอร์เชื่อมหม้อก๋วยเตี๋ยว
ในส่วนที่ใช้การบัดกรีก็มีการใช้ลวดที่ปลอดภัยและไม่มีสารตะกั่ว
ดังนั้นหากคุณบังเอิญเจอชายวัยกลางคน ตัวใหญ่ ๆ ใส่แว่นหนา ๆ ยืนมองหม้อก๋วยเตี๋ยวและอมยิ้มอยู่เหมือนคนบ้า แวะเข้ามาทักได้นะครับ
นั้นผมเอง
#เหล็กไม่เอาถ่าน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา