11 ม.ค. เวลา 11:41 • ไลฟ์สไตล์

ปีชง (冲)

เรื่อง “ปีชง” ที่จริงก็ดราม่ากันมาทุกปี แต่ปีนี้หนักหน่อยเพราะระดับ influencer เขาเปิดศึกกัน แล้วก็บานปลายเป็นอะไรต่อมิอะไรไป
เรื่องโหราศาสตร์นั้นพูดตามตรงว่าไม่รู้จะเขียนอะไร บอกได้แต่ว่าที่จริงมันไม่ได้มีแต่ปีชง แต่มันยังมีเดือนชง วันชง ไปจนถึงยามชงด้วย
คำว่าชงในที่นี้หมายถึงมุมปะทะ คือมุม 180 องศา อยู่ที่ว่าอะไรในเวลาจร (ปี/เดือน/วัน/ยาม) เข้าปะทะกับอะไร (ปี/เดือน/วัน/ยาม/ลัคนา) ดวงกำเนิด โดยหลักสากลก็ถือว่ามุมเล็งหรือ 180 องศาเป็นมุมให้โทษ เพราะแสดงออกถึงความเป็นปฏิปักษ์กัน แต่ก็ไม่เสมอไป
เพราะในทางเทคนิคแล้วในบางกรณีก็อาจให้คุณประโยชน์ได้มาก แต่ก็ไม่ค่อยมีคนจะพูดถึงกันเพราะเป็นเรื่องทางเทคนิค (ถึงพูดไปคนทั่วไปก็ไม่ค่อยเข้าใจ)
คนไทยเราคุ้นเคยกับคำว่า “ชง” (冲) เพราะไปพ้องเสียงพ้องรูปกับคำว่าชงที่เป็นคำกิริยา เช่นชงกาแฟ ชงเหล้า บลาๆๆ ในภาษาไทย ที่ว่าชงไม่ชงก็เลยเอามาล้อกันสนุกสนานทุกปีไป
อีกเรื่องหนึ่งที่คู่กับเรื่องนี้มาทุกปี และควรกล่าวถึงก็คือเรื่องไท่ส่วย อธิบายง่ายๆ คือเทพารักษ์ประจำปีมี 60 องค์ เวียนกันลงมาทำหน้าที่บนโลกมนุษย์ปีละองค์
เลข 60 นี้ความจริงมาจากเสาร์จักร คือจำนวนปีที่ดาวเสาร์ใช้โคจรรอบจักรราศี ขึ้นชื่อว่าดาวเสาร์แล้วต้องเกี่ยวกับโทษทุกข์แน่ๆ จะโหราศาสตร์ไทย จีน หรือฝรั่ง ก็เห็นพ้องต้องกันสำหรับเรื่องนี้
ความเชื่อเรื่องไท่ส่วยนี้คนเก่าๆ ท่านจึงว่า ที่จริงที่เวียนๆ กันมาแต่ละปีนี้ท่านไม่ได้มาให้โชคลาภเหมือนอย่างที่คนสมัยนี้เข้าใจ เพราะเป็นดาววงรอบเสาร์ พามาแต่เรื่องเก๊กซิมล้วนๆ
เพราะฉะนั้นการกราบไหว้ไท่ส่วย จึงเป็นเรื่องของการวิงวอนขอความเห็นใจว่าถ้าปีนี้จะหนักก็เป็นเบาๆ ลงสักน้อยหนึ่งเกิด แต่พอถึงสมัยนี้ก็เข้าใจว่าเป็นการขอโชคขอลาภไปแทน
เรื่องมันก็ประมาณนี้
สุดท้ายนี้ สำหรับเรื่องนี้ ขอแสดงความคิดเห็นในฐานะนักจิตวิทยาดังนี้ว่า
“ความเชื่อ” นั้น ก็คือ “ความจริง” ของคนๆ หนึ่ง
ความเชื่อเป็นเป็นเงื่อนไขหรือชุดข้อมูลอะไรบางอย่าง ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ในชีวิตของแต่ละคน (คนเราจึงเชื่อต่างกันเพราะต่างประสบการณ์ชีวิต) โดยความเชื่อเป็นจะเป็นกำหนดขอบเขตความเป็นจริงของแต่ละบุคคลขึ้นมา
ขึ้นชื่อว่าความเชื่อแล้ว ย่อมไม่มีอะไรพิสูจน์ได้ เพราะเรายังไม่มีเครื่องมืออะไรที่จะไปจิ้มแล้วชี้วัดค่าพารามิเตอร์ออกมาว่า ความเชื่อใดเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง
การพิสูจน์ว่าความเชื่อใดจริงหรือไม่จริงจึงเป็นลำบาก และมักจบลงกันที่การโต้เถียงมากกว่าจะได้รับความจริง
เพราะสุดท้ายแล้วมนุษย์เราแต่ละคนอาจมีชุดความจริงภายในจิตใจที่แตกต่างกัน
การพิสูจน์ว่าความเชื่อใดจริงหรือไม่จริงจึงไม่อาจทำได้
แต่สิ่งที่เราพอจะสามารถพิจารณากันได้โดยสติปัญญาของเรา ก็คือเรื่องที่ว่า ความเชื่อใดสร้างสรรค์ หรือความเชื่อใดไม่สร้างสรรค์
อันไหนสร้างสรรค์ คือถ้าเชื่อแล้วดี ชีวิตเจริญรุ่งเรือง ใช้ชีวิตง่าย รู้สึกสุขกายสบายใจ (ที่จะเชื่ออย่างนั้น) และที่สำคัญคือไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น (คนสมัยนี้เรียกว่า "ไม่หนักหัวใคร") เราก็ควรเชื่อต่อไป
ส่วนความเชื่ออะไรก็ตามที่เริ่มสร้างภาระ สร้างความติดขัด สร้างความเสื่อมทราม หรือความรู้สึกลำบาก โดยเฉพาะที่ไปทำให้คนอื่นเดือดร้อน อะไรแบบนั้นก็ควรเลิกเชื่อกันได้แล้วกระมัง
:)
โฆษณา