12 ม.ค. 2024 เวลา 02:55 • เกม

“The time of religious conflicts” (2nd Episode)

(Here I stand: Wars of the reformation 1517-1555 >>> Virgin Queen: Wars of religion 1559-1598) (2006-2012)
Designer: Ed Beach
Act I: Here I Stand and the Mechanism
ใน Here I stand จะเล่นต่อเนื่องสูงสุดที่ 9 รอบ เป็นเรื่องราวความขัดแย้งช่วงปี 1517-1555 ของ 6 ฝ่ายได้แก่ 1) The Ottoman 2) The Hapsburgs 3) The English 4) The French 5) The papacy 6) The Protestants
แต่ละฝ่ายจะต้องแก่งแย่งกันยึดครองแต้มจากพื้นที่สำคัญ ให้ครบตามที่กำหนดเพื่อชัยชนะแบบ Auto win อย่างไรก็ตาม ในแต่ละฝ่ายจะต้องทำภารกิจส่วนตัวต่างๆ เพื่อรวบรวมแต้มไปด้วย เช่น การพยามต่อสู้กันทางศาสนาของ Catholic และ Protestant, การพยามแต่งงานใหม่เพื่อหาทายาทที่เหมาะสมของฝ่ายอังกฤษ, การออกสำรวจโลกใหม่เพื่อหาทรัพยากร หรือแม้กระทั่งการออกปล้นทางทะเล ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำชัยชนะมาให้ผู้ที่สะสมแต้มจากภารกิจต่างๆ และการยึดหัวเมืองได้รวมถึง 25 คะแนนเป็นผู้ชนะไป
ความพิเศษของเกมคือ ผู้เล่นแต่ละฝ่ายจะถูกกำหนดอันดับการเล่นไว้แล้วตามความแข็งแกร่งทางการทหาร และจะไม่เปลี่ยนเลยตลอดเกม สิ่งนี้สะท้อนถึงการทำข้อตกลงระหว่างประเทศ และการ take action ตอบโต้ของแต่ละประเทศได้ดี
คนที่ดูมีกำลังอำนาจมากกว่า อาจจะมีสิทธิในการเสนอข้อเจรจาก่อน และได้เลือก “กระทำ” ก่อนเสมอ แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่ดูมีอำนาจต่อรองน้อยกว่า ก็มีสิทธิในการพิจารณาข้อตกลง “ตอบโต้” โดยเลือกที่จะตอบรับ หรือปฎิเสธ รวมถึงได้รอดูสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น และรอวางแผนแก้เกมได้อยู่เสมอ
———
Game Play
กลไกหลักของเกมจะเป็น multi-use card ผู้เล่นจะเล่นการ์ดเพื่อเอาแต้มในการ์ดไปทำแอคชั่นต่างๆ หรือจะเล่นเป็น Event เพื่อเอื้อประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามสถานการณ์ และสุดท้ายสามารถเอาไปใช้ต่อรองสถานการณ์ระหว่างประเทศได้อีกด้วย
โดยในทุกๆ รอบ เมื่อทุกคนได้รับแจกการ์ด จะสามารถลุกออกจากโต๊ะเพื่อไปขอเจรจาข้อตกลงทั้งลับ และไม่ลับกับผู้เล่นฝ่ายอื่นๆ ได้ จากนั้นจึงกลับมานั่งประจันหน้ากันที่โต๊ะเพื่อประกาศข้อตกลงที่ไม่ลับแก่ทุกคน และอย่างที่กล่าวไป คือผู้เล่นอันดับหลังสามารถเลือกตอบรับ หรือปฎิเสธข้อตกลงได้เสมอ และเมื่อการประกาศข้อตกลงสิ้นสุด เกมก็จะเข้าสู่การประกาศสงคราม
เนื่องจากเป็นเกมตามประวัติศาสตร์ ซึ่งในสมัยนั้นการที่เราจะทำสงครามกับใคร เราจะไม่สุ่มสี่สุ่มห้ายกทัพเข้าไปตีแบบไม่มีมารยาท ดังนั้นหากมั่นใจแล้วว่าพร้อม ผู้เล่นจะต้องประกาศสงครามกับฝ่ายที่ตนเองต้องการยกทัพเข้าโจมตี หรือต้องการสร้างความขัดแย้งให้เห็นดำเห็นแดงกันไป โดยที่การประกาศสงครามนั้น ไม่จำเป็นต้องขอความยินยอมจากอีกฝ่าย เราเพียงทำหน้าที่แจ้งให้ทราบ และปักป้ายไว้ก็พอ ซึ่งสภาวะ “At War” นี้จะอยู่ไปเรื่อยๆ จนกว่าทั้งสองจะประกาศขอเป็นพันธมิตรกัน
อย่างไรก็ตามการประกาศสงครามนั้นมี cost ที่ผู้ตั้งต้นสงครามจะต้องจ่าย นั่นคือมูลค่าตัวเลขบนการ์ดนั่นเอง (ก็คือเสียการ์ดตั้งแต่ยังไม่ทันเข้าตาตัวเองเลยทีเดียว) มากน้อยก็ขึ้นกับลักษณะการเป็นปฏิปักโดยธรรมชาติของแต่ละฝ่าย หากเป็นประเทศที่ตามประวัติศาสตร์ไม่ควรมีข้อบาดหมางต่อกัน แต่เราดันไปอยากทุบเค้า ก็จะเสียมูลค่าแพงหน่อย ดังนั้นมันจึงเป็นสิ่งที่ผู้เล่นควรวางแผน และตัดสินใจให้ดี ไม่บุ่มบ่ามเริ่มสงครามที่ไม่สมควร และคำนวณความพร้อมของตนเองให้ดีเสมอ
เกมเริ่มต้นแต่ละรอบที่ฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งสภาพอากาศเป็นใจต่อการเดินทัพ ดังนั้นการเคลื่อนพลใน phase นี้จะเป็นการผลัดกันเดินทัพออกจากเมืองหลวงของแต่ละฝ่ายได้หนึ่งทัพ ผ่านเส้นทางของตน หรือพันธมิตรไปยังเมืองในพื้นที่ของตน หรือพันธมิตร ระยะไกลแค่ไหนก็ได้ตราบที่เส้นทางสามารถสนับสนุนได้ ความสำคัญของการผูกพันธมิตรที่ได้ทำข้อตกลงไว้ก่อนหน้านี้ ก็จะเริ่มเห็นผล ตั้งแต่ตอนนี้นี่แหละค่ะ เพราะหากไม่ได้จับมือกัน ต่อให้ไม่เปิดสงครามกัน ก็เดินผ่านบ้านชั้นไม่ได้นะจ๊ะ
หลังจากนั้นก็จะเป็นการเล่นการ์ดเพื่อทำแอคชั่นวนลำดับการเล่นตามเดิมๆ ไปเรื่อยๆ บ้างก็อาจจะเล่น Event card เจ๋งๆ ที่ทำร้าย หรือสนับสนุนคนอื่น ตามแต่ว่าเคยไปสัญญาอะไรกับใครไหม บ้างอาจจะซุ่มสร้างกำลังทหาร สร้างเรือ ออกเดินทัพทั้งตั้งกองกันท่า หรือโจมตีบุกยึดให้รู้แล้วรู้รอด
ถ้าไม่ชอบเผชิญความรุนแรงบางประเทศก็สามารถหนีไปเดินเรือสำรวจโลกใหม่ดินแดนไกลโพ้นได้ ส่วน Ottoman ก็มี action เกรียนๆ ทำตัวเป็นโจรสลัด ปล้นคนอื่นอยู่นั่น บางคนก็หมกมุ่นกับการขอหย่าเมีย แต่งใหม่ตามหาแต้มจากลูกชาย (ไม่ใช่ใครนั่นคือ King Henry VIII)
ในฝั่ง Protestant ก็ต้องสาละวนกับการแปลพระคัมภีร์เผยแพร่ศาสนา ปั่นเต๋ากับการดีเบตทางศาสนาสู้กับ Papacy และสองฝ่ายนี้ก็ต้องพยามเปลี่ยนศาสนาผู้คนกันไปมา เหมือนเป็นสนามรบส่วนตัว แต่ละฝ่ายก็จะวนกันใช้การ์ดทำแอคชั่นจนกระทั่งทุกคนขอผ่านการเล่นครบหมด จึงเป็นอันจบรอบ
เมื่อสิ้นสุดรอบจะเข้าสู่ฤดูหนาว และบรรดาแม่ทัพ ทหารต่างๆ ก็จะต้องเดินทางผ่านเส้นทางของตน หรือพันธมิตรกลับยังเมืองที่มีป้อมปราการ หากไม่สามารถเดินทางกลับได้ก็จะต้องสูญเสียทหารของตน ที่สำคัญในแต่ละหัวเมืองก็รองรับจำนวนทหารได้จำกัด ยกเว้นว่าจะพากลับบ้านที่เมืองหลวงเลยก็จะจุกำลังทหารไว้เท่าไหร่ก็ได้ ซึ่งจะแตกต่างกับเกมต่อสู้ยึดพื้นที่ หรือแม้กระทั่ง war game ยุคใหม่ๆ ส่วนใหญ่ที่เราสามารถยืนล้อมกันท่าบางพื้นที่ไว้ได้เรื่อยๆ
ถึงเกมจะเล่นได้ 9 รอบ แต่เกมมักจบด้วยการได้ผู้ชนะก่อนเสมอ ยิ่งเมื่อจบรอบที่ 4 ไป จะมีการชนะแบบ domination win เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ใครก็ตามที่มีแต้มนำห่างคนอื่นได้ถึง 5 คะแนนตอน Victory determination กลายเป็นผู้ชนะได้ทันที โดยไม่ต้องมีคะแนนถึง 25 คะแนน
To be continued….📖
#HereIStand
#virginqueen
PS: โพสต์นี้เป็นตอนที่ 2 ของ mini series การเล่าเกม ซึ่งจะมีทั้งหมด 4 ตอน
หวังว่าทุกคนจะสนุกกับการอ่านนะคะ
โฆษณา