12 ม.ค. เวลา 16:15 • ประวัติศาสตร์

ช้อปปิ้งต้นปีสไตล์ญี่ปุ่น-lucky bag จ่ายก่อนเห็นของทีหลัง

วันหยุดยาวช่วงปีใหม่ผ่านไปแล้ว กลับสู่โหมดทำงานหาเงินกันต่อ แม้หลายคนอาจจะยังติดอยู่ในอารมณ์อยากเฉลิมฉลองก็ตามที
แต่ในญี่ปุ่นยังมีอีกหนึ่งอีเวนท์หลังปีใหม่ที่จะมาเขย่ากระเป๋าสตางค์นักช้อป หากใครวางแผนการใช้เงินไม่ดีก็อาจจะพลาดของเด็ดจากหลายห้าง หลากแบรนด์ซึ่งมักจะกั๊กเอาไว้มาปล่อยกันช่วงต้นเดือนมกราคม นั่นก็คือ “ถุงโชคดี”
โต๊ะอุ่นโคะทัตสึ เครดิตภาพ : https://item.rakuten.co.jp/receno/fam-ktr-s/
เทศกาลเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่สไตล์ญี่ปุ่นนั้นค่อนข้างแตกต่างจากบ้านเรามากทีเดียว นอกจากจะไม่ได้คึกคักจัดปาร์ตี้กันจนฟ้าสว่างแล้ว แทบทุกห้างร้านและซุปเปอร์มาร์เก็ตจะพากันปิดทำการเร็วกว่าปกติในวันสุดท้ายของปี แล้วจะกลับมาให้บริการอีกครั้งกันประมาณวันที่ 2 หรือ 3 มกราคม หลายครอบครัวจึงนิยมพักผ่อนนอนชิลล์ ๆ กันใต้โต๊ะอุ่น (โคะทัตสึ) ภายในบ้าน
ตามห้างร้านจะขึ้นโปสเตอร์เซลส์ต้อนรับปีใหม่ เครดิตภาพ : https://www.bonfukaya.co.jp/news/503469/
ฮัตสึอุริ – งานเซลล์แรกของปี
แม้จะรู้กันอยู่แล้วว่าฮัตสึอุริ (初売り) เป็นอีเวนท์กระตุ้นยอดขายต้นปี แต่เราจะเห็นคนญี่ปุ่นไปยืนต่อแถวหน้าห้างสรรพสินค้ากันตั้งแต่เช้าวันแรกที่เปิดทำการของปี เพื่อแย่งกันจับจอง lucky bag ของแต่ละแบรนด์
ช้อปปิ้งสไตล์คนญี่ปุ่น – ซื้อแบบไม่ต้องรู้ว่าข้างในถุงมีอะไร
เรียกได้ว่าเป็นการช้อปปิ้งแบบวัดดวงก็ว่าได้ สินค้าจะถูกบรรจุลงในถุงกระดาษสีขาวแดงปิดอย่างมิดชิด หน้าถุงเขียนด้วยตัวอักษรคันจิ “福袋 – ฟุคุบุคุโระ” ถุงโชคดี โดยที่มูลค่ารวมของสินค้าจะสูงกว่าราคาขาย มีตั้งแต่มูลค่าหลักร้อยไปจนถึงล้านเยน!
ภาพวาดย่านร้านค้าขายในยุคเอโดะ มีร้านขายกิโมโนมิตสึโคชิและร้านรวงต่าง ๆ เครดิตภาพ : https://www.kabuki-za.co.jp/syoku/2/no123.html
ไอเดียเก่าแก่ของชาวเอโดะ
ช่วงปลายเดือนสิบตามปฏิทินจันทรคติ (เดือนพฤศจิกายน) ของทุกปีจะมีเทศกาลเอบิสุโค (えびす講) จัดขึ้นเพื่อแสดงความขอบคุณองค์เทพเอบิสุที่อยู่ดูแลความปลอดภัยแทนเทพองค์อื่น ๆ ซึ่งไปรวมตัวกันอยู่ที่ศาลเจ้าอิสุโมะจังหวัดชิมาเนะ ในภาษาญี่ปุ่นจึงเรียกชื่อเดือนพฤศจิกายนว่า คันนะทสึกิ แปลว่า เดือนที่ไม่มีเทพเจ้า
เทศกาลเอบิสุโค เทศกาลบูชาเอบิสุ เทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ เครดิตภาพ : https://y.sapporobeer.jp/culture/2022111701/
หลังจบเทศกาลเอบิสุโคก็เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวพอดี ร้านขายกิโมโนมิตสึโคชิย่านนิฮงบาชิ (ห้างมิตสึโคชิในปัจจุบัน) จึงนำผ้ากิโมโนที่เหลือในปีนั้นใส่จนเต็มถุงวางขายเรียกว่า ถุงเอบิสุ (恵比寿袋) โดยเลียนแบบถุงของเทพไดโคะคุ (大黒天) หนึ่งในเจ็ดเทพแห่งโชคลาภเช่นเดียวกับเทพเอบิสุ ถุงเอบิสุได้รับความนิยมจากชาวเมืองเอโดะเป็นอย่างมาก อาจกล่าวได้ว่าถุงเอบิสุนี่แหละที่เป็นต้นแบบของถุงโชคดีที่วางขายกันในปัจจุบัน
เทพไดโคะคุ หนึ่งในเจ็ดเทพแห่งโชคลาภ ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าเป็นเทพที่ช่วยเกื้อหนุนให้ทำมาค้าขึ้น เครดิตภาพ : illustAC
หลากหลาย คุ้มค่า ได้ความสนุก
จากถุงโชคดีในยุคเอโดะที่มีแต่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เริ่มมีร้านรวงต่าง ๆ นำไอเดียถุงเอบิสุมาทำเป็นสินค้าคืนกำไรอย่างร้านขายของชำในยุคเมจิได้นำของใช้จำพวก สบู่ หวีสางผม ไม้แคะฟันจัดใส่ถุงวางขาย หากโชคดีก็จะได้ของที่มีราคามากกว่าราคาขายถึงเท่าตัวเลยทีเดียว
เมื่อเข้าสู่ยุคโชวะ ตามห้างสรรพสินค้าจะวางขายถุงโชคดีแบบต่าง ๆ ไม่ได้มีเพียงแค่เสื้อผ้าหรือข้าวของเครื่องใช้อีกต่อไป มีทั้งเครื่องเขียน เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือแม้แต่ผลงานศิลปะที่เราจะไม่มีทางได้เห็นสินค้าก่อน เพราะในยุคฟองสบู่ช่วงปี ค.ศ. 1980 ห้างสรรพสินค้ามิตสึโคชิวางขายถุงโชคดีเป็นภาพวาดของปิแยร์-โอกุสต์ เรอนัวร์ พร้อมกับภาพวาดของปาโบล รุยซ์ ปิกาโซ ในราคา 5 ร้อยล้านเยน สร้างเสียงฮือฮาได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
ถุงโชคดียุคฟองสบู่มูลค่า 5 ร้อยล้านเยน เครดิตภาพ : https://ameblo.jp/pen-ginchan/entry-10569896671.html
ถุงโชคดีที่ทำให้ต่างชาติรู้จักการชอปปิ้งแบบจ่ายก่อนเห็นของทีหลัง เป็นถุงโชคดีของแอปเปิลสโตร์สาขากินซ่าที่วางขายในปี ค.ศ. 2004 เรียกเสียงฮือฮาข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงบริษัทแม่ จนในปีต่อมาบริษัทแอปเปิ้ลอเมริกาได้นำไอเดีย lucky bag ไปใช้ขายสินค้าในวันเปิดร้านสาขาใหม่ และอีกหลายห้างร้านในอเมริกาก็เริ่มขายสินค้าช่วงปีใหม่สไตล์ถุงโชคดีโดยใช้ชื่อว่า mystery bag
ซื้อแล้วเปลี่ยน/คืนไม่ได้
แม้ว่าการชอปปิ้งถุงโชคดีจะตื่นเต้นและน่าสนุกมากเพียงใด ก็มีข้อควรระวังที่ต้องทำความเข้าใจและพิจารณาให้รอบคอบก่อนซื้อ นั่นเป็นเพราะผู้ซื้อเองก็รู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถดูสินค้าภายในก่อนจ่ายเงินซื้อได้ ดังนั้นหากได้สินค้าที่ไม่ตรงกับความคาดหวังก็ไม่สามารถเปลี่ยนหรือคืนสินค้าได้
เว้นแต่เกิดความผิดพลาดจากผู้ขายเช่น หน้าถุงระบุว่าเป็นเสื้อไซส์ S แต่เปิดถุงมาเป็นไซส์อื่น หรือเป็นสินค้าที่ไม่ตรงกับรายละเอียดที่อธิบายไว้ เช่น หน้าถุงระบุเป็นเนื้อวัววากิว A5 แต่จริง ๆ แล้วพิสูจน์ได้ว่าเป็นเนื้อวัวนำเข้า ผู้ซื้อสามารถเรียกร้องขอเปลี่ยนหรือคืนสินค้าได้
หนึ่งในถุงโชคดียอดนิยมที่ต้องจับฉลากรับสิทธิ์ในการซื้อ 7,800 เยน มีทั้งสินค้าและคูปองแทนเงินสด เครดิตภาพ : https://iemone.jp/article/gourmet/jun_inaba_394114/
ปัจจุบันผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าและการซื้อของเกินความจำเป็นจนกลายเป็นการสร้างขยะเพิ่ม ทำให้หลายผู้ประกอบการปรับตัวโดยบอกรายละเอียดสินค้ามากขึ้นหรือเปลี่ยนเป็นถุงใสเพื่อให้คนซื้อได้เลือกสินค้าที่ตรงตามความต้องการและคุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งทำให้ถุงโชคดีของหลายร้านกลายเป็นที่นิยมจนต้องมีการจับฉลากคัดเลือกผู้มีสิทธิ์ในการซื้อ
โฆษณา