12 ม.ค. เวลา 23:46 • ธุรกิจ

สรรพสามิต เฉลยภาษีใหม่ ไวน์ขวดละ 1,000-10,000 ถูกลงกี่บาท

ภาพจาก Canva
วันที่ 6 มกราคม 2567 - 14:00 น.
สรรพสามิต เผยปรับโครงสร้างภาษีสุรา-ไวน์ใหม่ หนุนไทยเป็นฮับท่องเที่ยว-ใช้จ่าย ยกเลิกคิดภาษีไวน์ตามชั้นราคา หวังขยายฐานจากปัจจุบันเก็บได้แต่ไวน์ราคาถูก แจงลดภาษีไวน์แพงเพื่อจูงใจเข้าระบบ ยันมีระบบตรวจสอบแจ้งราคาต่ำเกินจริง ขณะที่หั่นภาษีสุราแช่พื้นบ้านหนุน “ซอฟต์พาวเวอร์” ปั้น “กระแช่-สาโท” เทียบชั้น “โซจู” ของเกาหลี
วันที่ 6 มกราคม 2567 นางสาวรัชฎา วานิชกร ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี ในฐานะรองโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามมาตรการที่รัฐบาลได้ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย ซึ่งมีการปรับโครงสร้างภาษีสุราและไวน์ โดยปรับปรุงภาษีไวน์ และไวน์ผลไม้ โดยยกเลิกการจัดเก็บภาษีจากการแบ่งชั้นราคา และ กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีเป็นอัตราเดียว
ADVERTISEMENT
“ภาษีไวน์นั้น เดิมจะจัดเก็บโดยแบ่งเป็นไวน์ที่ราคาไม่เกิน 1,000 บาท และ ไวน์ที่ราคาสูงกว่า 1,000 บาทขึ้นไป ซึ่งการปรับโครงสร้างครั้งนี้ ไวน์ราคาไม่เกิน 1,000 บาท จะปรับขึ้นในฝั่งขามูลค่า ส่วนขาปริมาณจะลดลง ส่วนไวน์ที่เกิน 1,000 บาท จะเสียภาษีลดลงทั้งขามูลค่าและขาปริมาณ”
ไวน์ราคาไม่เกิน 1,000 บาท
นางสาวรัชฎา กล่าวว่า ยกตัวอย่างสำหรับกรณีไวน์และสปาร์กลิ้งไวน์ที่ทำจากองุ่น โดยส่วนใหญ่เป็นไวน์ต่างประเทศ ราคาไม่เกิน 1,000 บาท คิดจากไวน์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 13 ดีกรี ขนาดความจุขวดละ 750 ซีซี. ซึ่งเป็นไวน์ที่มีค่าเฉลี่ยการเสียภาษีมากที่สุด หรือมีคนนิยมมากที่สุด มีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
เดิม ไม่คิดภาษีตามมูลค่า หรือภาษีเป็น “0”
แต่มีภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์ (1,500 บาท/ลิตร/100 ดีกรี) เสียภาษี 150 บาท/ขวด
รวมเสียภาษี 150 บาท/ขวด
ใหม่ เสียภาษีตามมูลค่า 5% ตกขวดละ 47 บาท
และ เสียภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์ (1,000 บาท/ลิตร/100 ดีกรี) เสียภาษี 98 บาท/ขวด
รวมเสียภาษี 145 บาท/ขวด
“ดังนั้น ไวน์ที่ราคาต่ำกว่า 1,000 บาท จะเสียภาษีใกล้เคียงเดิม โดยยิ่งราคาต่อขวดถูกลง ก็เสียภาษีลดลงเรื่อย ๆ ทั้งนี้ ไวน์กลุ่มนี้จะเป็นไวน์จากต่างประเทศ เพราะไวน์ในประเทศส่วนใหญ่ไม่ค่อยทำจากองุ่นล้วน ๆ แต่จะผสมผลไม้อื่น ๆ เป็นฟรุตไวน์” นางสาวรัชฎากล่าว
ไวน์ราคาสูงกว่า 1,000 บาท
รองโฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวอีกว่า ตามโครงสร้างภาษีเดิม ไวน์ที่ราคาสูงกว่า 1,000 บาท ที่นิยมนำเข้ามาจำหน่ายกัน ราคาจะกระโดดไปที่ 2,000-3,000 บาทขึ้นไปเลย เนื่องจากไวน์ราคา 1,000-1,500 บาท หรือต่ำกว่า 2,000 บาท ที่คนมองแล้วว่า ภาษีไม่คุ้มค่ากับการนำมาจำหน่าย
ทั้งนี้ ไวน์และสปาร์กลิ้งไวน์ที่ทำจากองุ่น ตามโครงสร้างภาษีใหม่ จะเสียภาษีลดลงทั้งคู่ โดยภาษีตามมูลค่าจะลดจาก 10% เหลือ 5% และ ภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์ปรับลดจาก 1,500 บาท/ลิตร/100 ดีกรี เหลือ 1,000 บาท/ลิตร/100 ดีกรี ทั้งนี้ เนื่องจากภาครัฐต้องการจูงใจให้มีการสำแดงราคาอย่างถูกต้องมากขึ้น
ยกตัวอย่าง
ไวน์ขวดละ 3,000 บาท
คิดจากไวน์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 13 ดีกรี ขนาดความจุขวดละ 750 ซีซี. จะมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
เดิม เสียภาษีตามมูลค่า 10% ตกขวดละ 280 บาท
และเสียภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์ (1,500 บาท/ลิตร/100 ดีกรี) เสียภาษี 150 บาท/ขวด
รวมเสียภาษี 430 บาท/ขวด
ใหม่ เสียภาษีตามมูลค่า 5% ตกขวดละ 140 บาท
และเสียภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์ (1,000 บาท/ลิตร/100 ดีกรี) เสียภาษี 98 บาท/ขวด
รวมเสียภาษี 238 บาท/ขวด
“สรุปแล้ว ไวน์ราคาขวดละ 3,000 บาท จะเสียภาษีลดลงขวดละ 192 บาท” นางสาวรัชฎากล่าว
ไวน์ขวดละ 10,000 บาท
คิดจากไวน์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 13 ดีกรี ขนาดความจุขวดละ 750 ซีซี. จะมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
เดิม เสียภาษีตามมูลค่า 10% ตกขวดละ 935 บาท
และเสียภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์ (1,500 บาท/ลิตร/100 ดีกรี) เสียภาษี 150 บาท/ขวด
รวมเสียภาษี 1,085 บาท/ขวด
ใหม่ เสียภาษีตามมูลค่า 5% ตกขวดละ 467 บาท
และเสียภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์ (1,000 บาท/ลิตร/100 ดีกรี) เสียภาษี 98 บาท/ขวด
รวมเสียภาษี 565 บาท/ขวด
“สรุปแล้ว ไวน์ราคาขวดละ 10,000 บาท จะเสียภาษีลดลงขวดละ 520 บาท” นางสาวรัชฎากล่าว
ภาษีไวน์ปีละ 2,500 ล้าน หวังเก็บไวน์แพงได้เพิ่ม
รองโฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตเก็บภาษีไวน์ได้ปีละ 2,500 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2566 ซึ่งมีทิศทางเพิ่มขึ้นตามเทรนด์การบริโภค จากช่วงโควิด-19 ที่เก็บได้แค่ประมาณ 1,000 ล้านบาท จากนั้นก็เพิ่มเป็น 1,700 ล้านบาท และ มาเป็น 2,500 ล้านบาท ถือว่าต่างจากเบียร์ หรือสุราอื่น ๆที่การบริโภคค่อนข้างทรงตัว
“ภาษีไวน์ที่ผ่านมา90%เก็บได้จากกลุ่มล่าง คือราคาไม่เกิน1,000 บาท ส่วนกลุ่มบนเก็บได้แค่10%เท่านั้น ดังนั้น การปรับภาษีรอบนี้ เรามองว่า รายได้ส่วนใหญ่ไม่ได้หายไปไหน แต่ในส่วน10%ถือว่าเป็นความท้าทาย ซึ่งเราจะนำระบบป้องกันการแจ้งราคาต่ำมาใช้ หลังจากนี้ การแจ้งราคาออนไลน์จะไม่สามารถทำได้ในทุกเงื่อนไข ถ้าแจ้งแล้วราคาต่ำกว่าที่เรามีข้อมูลก็ต้องเข้าไปแจ้งที่สรรพสามิตซึ่งตรงนั้นเราจะตรวจละเอียด ดังนั้นตรงนี้จะแก้ปัญหาแจ้งราคาต่ำกว่าความเป็นจริงได้ แล้วเราก็น่าจะยกฐานภาษีขึ้นไปได้”รองโฆษกกรมสรรพสามิตกล่าว
ลดภาษี “สุราแช่พื้นบ้าน” หนุน “ซอฟต์พาวเวอร์”
ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กล่าวอีกว่า ส่วนการลดภาษีที่เก็บตามมูลค่า ฟรุตไวน์หรือสุราแช่ผลไม้ที่มีส่วนผสมขององุ่นหรือไวน์องุ่น เป็น “0” จากเดิมเก็บที่ 10% กรณีที่ราคาเกิน 1,000 บาท/ขวด และ ลดภาษีที่เก็บตามมูลค่า สุราแช่พื้นบ้าน อาทิ กระแช่ สาโท เป็นต้น เป็น “0” จากเดิมเก็บ 10% นั้น เป็นการสนับสนุนนโยบาย “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่ต้องการส่งเสริมท้องถิ่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เหมือน “โซจู” ของเกาหลี และ ปกติภาษีส่วนนี้ก็เก็บได้น้อย แค่ปีละหลักร้อยล้านบาทอยู่แล้ว
“การลดภาษีขามูลค่าลงมา จะทำให้ผู้ประกอบการสุราแช่พื้นบ้านได้พัฒนาโปรดักต์ แพ็กเกจจิ้งให้ดูสวยงามขึ้น ตั้งราคาให้สูงขึ้นได้ เป็นการส่งเสริมให้สินค้าท้องถิ่น Go Inter เพราะการลดภาษีทำให้ต้นทุนไม่เป็นเงื่อนไขที่ส่งผลกระทบ ขณะที่ฟรุตไวน์ ก็จะมีราคาถูกลง แข่งขันได้มากขนึ้น” ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิตกล่าว
โฆษณา