14 ม.ค. เวลา 00:10 • ไลฟ์สไตล์

ยื่นภาษี 2567 ถึงวันไหน

ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2566 ที่ต้องมายื่นในปี 2567 นี้ แบบส่งเอกสารสามารถยื่นได้ถึง 30 มีนาคม 2567 และ แบบ ยื่นภาษีออนไลน์บุคคลธรรมดา สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 8 เมษายน 2567 สามารถอ่าน 7 วิธียื่นภาษีออน์ไลน์ ง่ายๆ ด้วยตัวเอง ได้ที่นี่
โดยกรมสรรพากรจะกำหนดให้คนไทยทุกคนที่มีเงินเดือนประจำตั้งแต่ 120,000 บาทต่อปี หรือมีรายได้ประเภทอื่น ตั้งแต่ 60,000 บาทต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งปัจจุบันทางกรมสรรพากรได้เปิดให้ผู้เสียภาษียื่นภาษีด้วยตนเองที่สำนักงานสรรพากร และอีกช่องทางคือการยื่นภาษีออนไลน์ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร https://www.rd.go.th โดยรายได้ที่เกิดขึ้นในปี 2566
ตารางการเสียภาษี ตามฐานเงินเดือน (รายรับต่อปี)
150,000-300,000 บาท จะเสียภาษี 5%
300,001-500,000 บาท จะเสียภาษี 10%
500,001-750,000 บาท จะเสียภาษี 15%
750,001-1,000,000 บาท จะเสียภาษี 20%
1,000,001-2,000,000 บาท จะเสียภาษี 25%
2,000,001-5,000,000 บาท จะเสียภาษี 30%
5,000,001 ขึ้นไป จะเสียภาษี 35%
วิธียื่นภาษี 2567 ด้วยตนเอง
เข้าไปที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร https://efiling.rd.go.th/
กด “ยื่นแบบออนไลน์” (สามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้ตั้งแต่เดือนมี.ค. – เม.ย. 2567 )
ทำการ “เข้าสู่ระบบ” ด้วยเลขบัตรประชาชน แต่หากใครที่ยื่นครั้งแรกให้กด “สมัครสมาชิก” แล้วทำตามขั้นตอนก่อน
ยืนยันตัวตนด้วยรหัส OTP ผ่านเบอร์โทรศัพท์ที่ลงทะเบียนไว้
กดยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90/91
– ภ.ง.ด.90 คือ คนที่มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับ เช่น ขายของออนไลน์แบบบุคคลธรรมดา หรือเงินปันผล – ภ.ง.ด.91 คือ คนที่มีรายได้จากเงินเดือนเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีรายได้เสริมจากช่องทางอื่น
ทำไมต้องยื่นภาษีทั้งที่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ม.ศรีปทุม ให้ข้อมูลดังนี้ ภาษีเงินได้บุคคลธรมดา เป็นภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลธรรมดาที่มีรายได้เกิดขึ้นในปีภาษีนั้นๆ ตามประมวลรัษฎากร โดยผู้มีรายได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมในปีถัดไปและสำหรับผู้ที่ได้รับเงินเดือนรวมตลอดปีไม่เกิน 120,000 บาท
เมื่อคำนวณภาษีหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว ไม่มีภาษีที่ต้องเสีย จึงไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบภาษีแต่ทั้งนี้ยังมีบุคคลธรรมดาที่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์แต่ต้องการยื่นแบบแสดงรายการด้วยเหตุผลดังนี้
1. เพื่อความสบายใจและไม่โดนตรวจสอบย้อนหลัง หากเราทำการยื่นแบบถูกต้องตามกฎหมายก็ไม่ต้องกลัวที่จะโดนสรรพากรเรียกไปตรวจสอบภาษีย้อนหลัง และไม่เสี่ยงต่อการเลี่ยงที่จะเสียภาษี
2. มีเอกสารหลักฐานยืนยันรายได้หากมีการทำธุรกรรมในอนาคต หากมีเอกสารหลักฐานยืนยันรายได้ที่ถูกต้องหรือก็คือแบบภาษี ภ.ง.ด.90/91 ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่สามารถเชื่อถือได้ในการประกอบการทำธุรกรรมต่างๆทางด้านการเงิน เช่น การกู้เงินจากธนาคาร เป็นต้น
3. มีส่วนร่วมในการช่วยกันพัฒนาประเทศ โดยเงินที่สรรพากรจัดเก็บจากเราไปนั้นจะถูกส่งเข้างบประมาณการคลังสำหรับบริหารประเทศ เพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์รักษาความปลอดภัย จ่ายค่ารักษาพยาบาล จ่ายค่าเล่าเรียนสร้างอนาคตให้กับเด็กๆ จ่ายเงินเดือนข้าราชการ สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ประเทศ เป็นต้น
เพราะเหตุนี้เราควรยื่นแบบภาษีทั้งที่ไม่เข้าเกณฑ์เสียภาษีก็ตาม เพื่อความสบายใจของตนเอง ที่จะไม่โดนตรวจสอบย้อนหลัง หรือโดนกล่าวว่าเลี่ยงการเสียภาษี ทั้งยังถูกต้องตามกฎหมาย และยังถือเป็นเอกสารหลักฐานยืนยันรายได้ที่น่าเชื่อถือได้ในการทำธุรกรรมด้านการเงิน รวมถึงไม่เสี่ยงต่อการโดนค่าปรับในการไม่ยื่นแบบอีกด้วย
ภงด. 90 และภงด. 91 คืออะไร มีความแตกต่างกันอย่างไร??
ภ.ง.ด.90 คือ แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สําหรับผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) ถึง (8) หลายประเภทหรือประเภทเดียว โดยต้องยื่นแบบภายใน 31 มีนาคมของทุกปี
ภ.ง.ด.91 คือ แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สําหรับคนที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) ประเภทเดียว ที่ได้จากการจ้างงาน ต้องยื่นภายใน 31 มีนาคมของทุกปี
ทั้งภงด. 90 และ ภงด.91 ต่างก็เป็นภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาเหมือนกัน ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า คุณมีสถานะเป็นบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล ถ้าคุณเป็นบุคคลธรรมดาก็ต้องทราบประเภทของรายได้ เพื่อจะได้ยื่นแบบไม่ผิดพลาด ที่จำง่ายๆ คือ มนุษย์เงินเดือนอย่างเดียวใช้แบบ ภ.ง.ด.91 นอกนั้นใช้แบบภ.ง.ด.90
บุคคลใดบ้างที่ต้องยื่นแบบ ภงด.90 และ ภงด.91??
สำหรับผู้ที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 มีดังนี้
บุคคลที่ยังไม่จดทะเบียนสมรส ที่มีเงินได้เกิน 60,000 บาท
บุคคลที่เป็นสามี ภรรยา ที่มีเงินได้จากทั้งสองฝ่ายรวมกันเกิน 120,000 บาท
ทรัพย์สินมรดก ที่ยังไม่ได้แบ่งมีเงินได้เกิน 60,000 บาท
ห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล มีเงินได้เกิน 60,000 บาท
บุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล มีเงินได้เกิน 60,000 บาท
วิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล ที่มีเงินได้เกิน 1,800,000 บาท หรือ 60,000 บาท แต่ไม่เกิน 1,800,000 บาท จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้
สำหรับผู้ที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 มีดังนี้
บุคคลที่ยังไม่จดทะเบียนสมรส มีเงินได้เกิน 120,000 บาท
บุคคลที่เป็นสามี ภรรยา ที่มีเงินได้จากทั้งสองฝ่ายรวมกันเกิน 220,000 บาท
เงินได้ที่ว่านั้น ได้แก่ เงินที่ได้ จากการจ้างงาน เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บําเหน็จ บํานาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่ได้จากการที่นายจ้างให้อยู่บ้านเช่าโดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่ได้จากการที่นายจ้างจ่ายหนี้สินให้ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชําระ และเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆก็ตามที่ได้จากการจ้างงาน เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวสาเหตุเพราะออกจากงานรวมทั้งเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานที่มีระยะเวลาการทํางานน้อยกว่า 5 ปี
โฆษณา