Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
INVENTLY ประวัติศาสตร์ของสิ่งประดิษฐ์
•
ติดตาม
14 ม.ค. เวลา 02:32 • ข่าวรอบโลก
สตาร์บัค รีเสิร์ฟ เจ้าพระยา รีเวอร์ฟร้อนท์ ไอคอนสยาม
จากเยเมนสู่อิตาลี โมคาพ็อท หม้อที่มีทุกบ้าน
เยเมน ดินแดนแห่งความขัดแย้ง ที่กำลังเป็นเป้าการโจมตีทางอากาศอยู่ในขณะนี้ อาจไม่มีความเกี่ยวข้องกับเราเท่าใดนัก แต่ยังมีสถานที่แห่งหนึ่งในเยเมน ที่เป็นจุดกำเนิดของสิ่งที่เราใช้บริโภคในชีวิตประจำวัน ซึ่งบางคนอาจจะดื่มทุกวัน
สถานที่นั้นคือเมืองท่าปากทางเข้าทะเลแดง ที่มีชื่อภาษาอาหรับว่า อัล มุคอ หรือที่ชาวตะวันตกเรียกว่า โมคา (Mocha หรือ Mokha) ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเยเมน และสิ่งที่ท่าเรือของเมืองนี้ ทำให้โลกรู้จักก็คือ กาแฟ นั่นเอง
ท่าเรือโมคา ปี 1680 โดย Olfert DAPPER นักภูมิศาสตร์ชาวดัทช์
กาแฟ หรือที่ชาวอาหรับเรียกว่า เกาะฮ์วะห์ (Qahwah - قهوة) เดิมมีถิ่นกำเนิดในเอธิโอเปีย ได้รับความนิยมเป็นเครื่องดื่มสังสรรค์กันในหมู่ชาวมุสลิมในจักรวรรดิออตโตมัน แทนที่สุราซึ่งผิดหลักศาสนา ต่อมาจึงนำไปปลูกเป็นไร่กาแฟในเยเมน ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของช่องแคบบาบุลมันดับ เรียกว่าพันธ์อาราบิกา
ในยุโรปก่อนศตวรรษที่ 17 นั้นถือว่ากาแฟเป็นสารกระตุ้นของพวกนอกรีต ต่อมาเมื่อวาติกัน (ในยุคเดียวกับกาลิเลโอ) อนุญาตให้ชาวคริสต์ดื่มกาแฟได้ โมคา จึงกลายเป็นศูนย์กลางส่งออกกาแฟของโลก เพราะเป็นทางสามแพร่ง ที่การจราจรทางบกขึ้นไปยังยุโรป การเดินเรืออ้อมแหลมกูดโฮป และเส้นทางเรือสินค้าไปสู่ตะวันออกไกล มาบรรจบกัน
เพื่อรักษาการผูกขาดตลาดเมล็ดกาแฟของโมคา ต้นกาแฟที่ยังขยายพันธ์ได้จะถูกห้ามนำออกจากเยเมน จนกระทั่งปี 1616 ปีเตอร์ ฟานเดนโบรเอค พ่อค้าชาวดัทช์แห่งบริษัท VOC ได้ลักลอบนำต้นอ่อนกาแฟกลับไปอัมสเตอร์ดัม และนำมาทำไร่กาแฟนอกดินแดนอาหรับได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ที่เกาะชวา อาณานิคมของดัทช์ในเวลานั้น กาแฟจึงแพร่หลายไปทั่วโลก พร้อมกับที่โมคาหมดความสำคัญลง
1
Pieter van den Broecke (1585-1641) นักบุกเบิกกาแฟโลก ผู้มีหลักว่า กฎมีไว้เพื่อแหก
คำว่า coffee ก็มาจาก koffie หรือกาแฟในภาษาดัทช์
แต่ชื่อของโมคา ยังทิ้งร่องรอยไว้ในอิตาลี จุดเริ่มต้นการดื่มกาแฟของชาวยุโรป กาแฟอาราบิกาจากโมคานั้นมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือมีกลิ่นหอมกรุ่นของโกโก้ผสมอยู่ ชาวอิตาลีจึงเรียกกาแฟชนิดนี้ว่า moka
เมื่อเมล็ดกาแฟรุ่นต่อมาซึ่งมาจากที่อื่น กลิ่นและรสเปลี่ยนไป จึงมีการคิดสูตรกาแฟที่ใส่ช็อคโกแล็ต และนมลงไปด้วย เรียกชื่อว่า ม็อคคาชิโน (mochachino) หรือม็อคคา ลาเต้ (latte แปลว่านมสด) กาแฟที่เราสั่งกันทุกวันนี้ว่าสูตร “ม็อคคา” จึงมีที่มาจากชื่อเมืองโมคา นั่นเอง
ในเยอรมัน กาแฟม็อคคา (mokka)ไม่ได้หมายถึงม็อคคาชิโนใส่ช็อคโกแล็ต เหมือนในอิตาลี แต่เป็นกาแฟโบราณที่ชงแบบตุรกี
ร้านกาแฟสมัยออตโตมัน สตรีห้ามเข้า
สิ่งของอีกอย่างหนึ่งที่นำชื่อมาจากเมืองโมคา แห่งนี้ ก็เกี่ยวกับกาแฟเช่นกัน นั่นคือชื่อของหม้อต้มกาแฟยอดนิยม ขายดีที่หนึ่งของโลก ที่มีชื่อว่า Moka Express หรือหม้อกาแฟ โมคาพ็อท
จากเครื่องซักผ้าสู่หม้อกาแฟ
หม้อกาแฟ โมคาพ็อท เป็นสิ่งประดิษฐ์ของอัลฟองโซ บิอาเลตติ (1888– 1970) ชาวอิตาลี ซึ่งเคยทำงานช่างอลูมิเนียมในฝรั่งเศสอยู่หลายปี จนถึงปี 1919 เขาได้นำเงินเก็บมาเปิดโรงหล่ออลูมิเนียม ทางเหนือของอิตาลี ใกล้ชายแดนสวิส
อัลฟองโซ บิอาเล็ตติ (คนขวา) ในโรงหล่ออลูมิเนียมของเขา
โรงงานของบิอาเลตติอยู่ไม่ไกลจากเมืองตูริน อันเป็นต้นกำเนิดของกาแฟเอสเปรสโซในเวลานั้น เมื่อแองเจโล โมริออนโดประดิษฐ์เครื่องทำกาแฟ Espresso เป็นครั้งแรกของโลก และเปิดร้านของเขาขึ้นในตูริน ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เป็นการพลิกโฉมหน้าการดื่มกาแฟที่ชงได้เร็วทันใจ ในราคาที่คนจำนวนมากเข้าถึงได้ แต่ยังต้องไปดื่มที่ร้าน เพราะเครื่องทำเอสเปรสโซพลังไอน้ำมีขนาดใหญ่โต เหมือนหัวรถจักรไอน้ำ ชงกาแฟคราวละหลายสิบถ้วย
1
ในขณะนั้นมีผู้ทำอุปกรณ์ชงกาแฟขนาดเล็ก ออกมาขายบ้างแล้ว เช่นแบบ Napolitana หรือ Cucumella แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยม เพราะใช้งานไม่สะดวก และสกัดรสกาแฟได้ไม่ดีนักเพราะไม่ใช้แรงดันไอน้ำช่วย บิอาเลตติเคยเห็นมาแล้วตอนอยู่ฝรั่งเศส เขาจึงหาวิธีปรับปรุงหม้อต้มกาแฟขนาดเล็กที่ชงกาแฟได้คุณภาพใกล้เคียงกับการดื่มที่บาร์เอสเปรสโซ
เครื่องซักผ้าระบบหม้อต้ม ที่คนฝรั่งเศสคิดขึ้นในศตวรรษที่ 19
วันหนึ่งเขาได้สังเกตเห็น ร้านซักผ้าใกล้กับโรงงานของเขา ใช้เครื่องซักผ้าแบบโบราณที่เรียกว่า เลสสิวูส (lessiveuse แปลว่าเครื่องซักผ้า) ซึ่งมาจากฝรั่งเศสเช่นกัน ซักผ้าโดยการต้มน้ำผสมสารซักฟอกจนเดือด แล้วไหลผ่านท่อตรงกลางขึ้นไปกระจายลงบนเสื้อผ้า เพื่อขจัดสิ่งสกปรก เขาจึงดัดแปลง หรือ “exaptation” หลักการเก่าของเครื่องซักผ้า มาใช้กับการชงกาแฟแบบใหม่
การไหลเวียนของน้ำร้อนในเครื่องซักผ้า lessiveuse
ช่วงเวลานั้นพรรคฟัสซิสต์ของมุสโสลินีครองอำนาจในอิตาลี และเข้ายึดครองเอธิโอเปีย จนถูกสันนิบาตชาติคว่ำบาตรไม่ส่งเหล็กให้ มุสโสลินีไม่ยอมอ่อนข้อ หันมาส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศทดแทน โดยเฉพาะอลูมิเนียม ซึ่งมีเหมืองแร่บอกไซต์ทางตอนใต้ของอิตาลี ซึ่งนำมาถลุงเป็นอลูมีเนียมได้ เข้าทางบิอาเลตติที่ผลิตสินค้าอลูมิเนียมขายอยู่แล้ว
(ช่างย้อนแย้งอยู่เหมือนกัน ที่หม้อกาแฟของอิตาลีกำเนิดมาได้ จากการที่จอมเผด็จการอิตาลีสั่งบุกเอธิโอเปีย ประเทศต้นกำเนิดของกาแฟ)
เครื่องซักผ้า+กาแฟ+อลูมิเนียม เมื่อบูรณาการกันเข้า ด้วยจินตนาการของอัลฟองโซ บิอาเลตติ จึงกลายมาเป็นหม้อต้มกาแฟทำด้วยอลูมิเนียม ที่ยืมหลักการมาจากเครื่องซักผ้า ในที่สุด
ส่วนประกอบของหม้อกาแฟ Moka Express
เขาใช้เวลาพัฒนากว่าสิบปี จึงผลิตออกขายในปี 1933 ใช้ชื่อว่า Moka Express สมัยนั้น Moka ยังหมายถึงกาแฟอาราบิกาจากเมืองโมคา
การทำงานของ Moka Express หรือ Moka Pot ที่เป็นหม้อต้มชนิดวางบนเตา (stove-top percolator) จะเริ่มจากการใส่น้ำสะอาดในหม้อต้ม (boiler) ส่วนฐานด้านล่าง ซึ่งมีวาล์วจำกัดความดันติดอยู่ด้วย จนเกือบเต็ม
- วางกรวยกรอง (filter-funnel) สำหรับใส่กาแฟในหม้อต้ม
- ตวงผงกาแฟสดที่บดอย่างหยาบๆ ไม่ต้องบดละเอียดและไม่ต้องอัดแน่นเหมือนเครื่องเอสเปรสโซ ใส่ลงในกรวยกรอง
- ขันเกลียวเหยือกหรือกา (kettle) ส่วนด้านบนเข้ากับส่วนฐาน ทำให้หม้อต้มกลายเป็นชิ้นส่วนเดียวกัน และนำไปต้มบนเตาแกส ไม่เกินห้านาที
เมื่อน้ำเดือด แรงดันในหม้อต้มจะดันน้ำร้อนผ่านผงกาแฟและกรวยกรอง สกัดน้ำกาแฟ ขึ้นไปด้านบนผ่านท่อที่อยู่ตรงกลางของกาน้ำ จนล้นออกมาในกาเก็บกาแฟ นำไปเทดื่มได้เลย
การทำงานภายในหม้อต้มโมคาพ็อท
จุดเด่นของโมคาพ็อท คือเน้นความประหยัด ขนาดเล็กกะทัดรัด เบาและทนทานของอลูมิเนียม การออกแบบก็เรียบง่ายไม่มีชิ้นส่วนเคลื่อนที่หรือปัมป์น้ำใดๆทั้งสิ้น มีเพียงซีลยางเก็บความดันเท่านั้นที่ควรเปลี่ยนทุกปี
bialetti โฆษณาว่าไม่ต้องใช้ฝีมืออะไรในการชงกาแฟ ก็ได้ดื่มกาแฟเอสเปรสโซที่บ้าน เหมือนไปนั่งในร้าน และยังชงได้ง่ายกว่าและเร็วกว่า หม้อกาแฟตามบ้านแบบเดิม เช่นแบบนาโปลิตันมาก
แต่จริงๆแล้ว กาแฟจากโมคาพ็อทนั้นไม่เหมือนกับเอสเปรสโซ เป็นเพียงญาติสนิทของเอสเปรสโซเท่านั้น เนื่องจากเครื่องเอสเปรสโซสกัดกาแฟบดละเอียดที่ความดันประมาณ 9 บาร์ แต่โมคาพ็อท สร้างความดันได้ไม่เกิน 2 บาร์ นับเป็นกาแฟคุณภาพปานกลาง ความเข้มข้นอยู่ระหว่างเอสเปรสโซ กับกาแฟดริป แต่ราคาหม้อขนาดเล็กสุดคือราวสามร้อยบาทเท่านั้น ถูกกว่าเครื่องเอสเปรสโซระดับหลายหมื่นบาทตามร้านหลายเท่าตัว
ผลงานออกแบบเครื่องครัวของ Puiforcat แรงบันดาลใจของอัลฟองโซ
บิอาเลตติยังออกแบบชุดหม้อต้มเป็นรูปทรงแปดเหลี่ยม เพื่อสะท้อนกระแสการออกแบบ Art Deco ทรงเรขาคณิต ซึ่งเป็นที่นิยมในยุค 1930 โดยที่เขาศึกษาจากผลงานของนักออกแบบดังๆ เช่น Jean Puiforcat ชาวฝรั่งเศส แล้วนำมาดัดแปลงใช้เองโดยไม่ได้จ้างใคร ความเป็นเหลี่ยมมุมของหม้อยังช่วยลบล้างจุดอ่อนของอลูมิเนียมที่ไม่มีผิวแวววาวเหมือนสเตนเลสได้อย่างแนบเนียน
อัลฟองโซ บิอาเลตติ ทำธุรกิจหม้อกาแฟแบบพอเพียง เขาไม่ได้ทำการตลาดอะไร นำไปขายตามตลาดนัดเป็นหลัก และไม่ได้จดสิทธิบัตรด้วยซ้ำ ถึงแม้อิตาลีจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกเช่นกัน หม้อต้มโมคาพ็อทก็ยังขายไปได้ราวปีละหมื่นใบ ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะระเบิดขึ้น
(เป็นความเข้าใจผิดในโลกออนไลน์ ที่ว่าโมคาพ็อท เป็นผลงานของ “ลุยจิ เดอพอนติ” ที่จดสิทธิบัตรอิตาลีในปี 1933 และขายสิทธิให้บิอาเลตตินำไปผลิตขาย ลุยจิ เดอพอนติ นั้นเป็นพนักงานคนหนึ่งในบริษัท ผู้ช่วยของอัลฟองโซ)
อาร์ตเดคโค ทรงเหลี่ยมในยุคเดียวกับโมคาพ็อท แต่ไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกันหรือไม่
ระหว่างสงคราม ทั้งกาแฟและอลูมิเนียมเป็นสินค้าขาดแคลนราคาสูง กิจการโมคาพ็อทของบิอาเลตติต้องหยุดชะงักไปด้วย เรนาโต ลูกชายของอัลฟองโซ ก็ต้องไปเป็นทหาร
หลังจากที่อิตาลีสงบศึกกับสัมพันธมิตรในเดือนกันยายน 1943 และย้ายค่ายหันมาประกาศสงครามกับเยอรมันแล้ว ทหารอิตาลีที่ยังอยู่ในเขตยึดครองของเยอรมันทางตอนเหนือ ซึ่งรวมถึงแถบตูรินด้วย หากไม่ยอมรบต่อภายใต้คำสั่งของกองทัพนาซี จะถูกกวาดต้อนส่งไปเป็นแรงงานทาสในเยอรมัน
เรนาโต เป็นหนึ่งในทหารอิตาลีหกแสนคนนั้นด้วย เขาอยู่ในค่ายกึ่งเชลยศึกที่เยอรมันเกือบสองปี จึงได้กลับบ้านเมื่อสงครามยุติ
โมคา เอกซ์เพรส ที่มีโลโก "น้าหนวด" ไอเดียของเรนาโต
เรนาโต บิอาเลตติ (1923-2016) บุตรของอัลฟองโซ ผู้นี้เองคือผู้ที่ทำให้โลกรู้จักโมคาพ็อท สิ่งประดิษฐ์ของบิดา เขาได้รับหน้าที่ดูแลกิจการบริษัทบิอาเลตติแทนในปี 1946 และเริ่มทำการตลาดเชิงรุก โดยซื้อสื่อโฆษณาทุกชนิด แทบทุกแห่งในตูรินและมิลานจะเห็นป้าย Moka Express ต่อมาจึงขยายไปตามงานแสดงสินค้าต่างๆ ทั่วอิตาลี
เรนาโต เองเป็นคนที่เริ่มการจดสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าของโมคาพ็อท ในปี 1950 ทั้งในอิตาลี สวิส และสเปน เขายังคิดโลโก “น้าหนวด” เป็นแมสคอทประจำหม้อต้ม เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นความแตกต่าง และสร้างหนังการ์ตูนก่อนนอนที่มีน้าหนวดเป็นตัวเดินเรื่อง จนเด็กๆอิตาลียุคนั้นจำได้ดี
โครงสร้างภายในของโมคา พ็อท และสิทธิบัตรอิตาลี ปี 1950
หม้อที่มี(เกือบ)ทุกบ้าน(ในอิตาลี)
เศรษฐกิจที่เติบโตของอิตาลีหลังสงคราม มีส่วนช่วยอย่างมาก ผู้คนต้องการความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ครอบครัวยังมีขนาดเล็กลง และต้องการอุปกรณ์อำนวยความสะดวกภายในบ้าน ที่มีความทันสมัย
หม้อต้มกาแฟแบบที่ใช้งานง่าย ราคาประหยัดเช่นโมคาพ็อท ซึ่งตอบสนองต่อสภาพสังคมอิตาลียุคใหม่ จึงขายดีเหมือนแจกฟรี จนบิอาเลตติ ต้องผลิตเดือนละ 1,000 ใบ และกลายเป็นวันละ 18,000 ใบหรือ 4 ล้านใบต่อปี ทั้งที่ประชากรอิตาลีสมัยนั้นมีไม่ถึง 50 ล้านคน
ขณะที่สมัยนั้นแทบไม่มีใครซื้อเครื่อง espresso มาไว้ใช้ที่บ้าน ถ้าไม่รวยจริง แต่หม้อโมคาพ็อทเป็นของใช้สามัญประจำบ้านเหมือนหม้อหุงข้าวของคนไทย และยังเป็นของขวัญที่ชาวอิตาลีชอบซื้อให้กันในช่วงเทศกาล ในปี 2010 มีการสำรวจว่าครัวเรือนอิตาลีกว่า 90% ต้องมีหม้อต้มกาแฟแปดเหลี่ยมนี้อยู่ในบ้านอย่างน้อยหนึ่งใบ
ประติมากรรมโมคาพ็อท ในงานแสดงสินค้าที่มิลาน ยุค 1950
โมคาพ็อทดีไซน์ดั้งเดิมขายไปแล้วราว 350 ล้านใบทั่วโลก ด้วยความทนทานของอลูมิเนียมที่ไม่ขึ้นสนิม ในบ้านคนอิตาลีบางแห่งยังต้มกาแฟด้วยหม้อโมคาที่อายุกว่า 80 ปี ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยได้ล้าง เพราะเชื่อว่าใช้ต้มบ่อยๆจะอร่อยกว่าเดิม
คอกาแฟในอิตาลี ยังมีชื่อเล่นเรียกโมคาพ็อท โดยเฉพาะ ว่ามัคคิเนตตา (macchinetta) ซึ่งแปลว่าเครื่องจักรจิ๋ว และคัฟเฟตเทียรา (caffettiera) แปลว่าเครื่องทำกาแฟ เพื่อให้แตกต่างจากหม้อต้มนาโปลิตันนา ซึ่งคนละแบบกัน ส่วนคนอังกฤษอาจจะเรียกว่าเพอร์โคเลเตอร์ (percolator) ก็ได้เช่นกัน
เรนาโต บุตรของอัลฟองโซ ในวัยหนุ่ม ที่มาของคาแรคเตอร์ "น้าหนวด"
ทุกวันนี้ โมคาพ็อท ไม่ได้เป็นเพียงหม้อต้มกาแฟ นอกจากจะกลายเป็นไอคอนทางวัฒนธรรมของอิตาลีไปแล้ว ยังมีสถานะเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง ที่ได้เข้าไปจัดแสดงอย่างถาวรในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (MoMA) ที่นิวยอร์ค และยังถูกนับว่าเป็นหนึ่งในสุดยอดการออกแบบผลิตภัณฑ์ของอิตาลี ในศตวรรษที่ 20 (อันดับแรกๆคือ รถแข่งเฟอรารี, รถเฟียต 500, มอเตอร์ไซค์เวสปา, เครื่องพิมพ์ดีดโอลิเวตติ, และหม้อกาแฟโมคา)
ทั้งที่อัลฟองโซ บิอาเลตติ ช่างอลูมิเนียมคนออกแบบนั้น ไม่ได้เป็นนักออกแบบมืออาชีพ หรือศิลปินแต่อย่างใด
จากความรุ่งโรจน์ ก็มาถึงยุคร่วงโรย ทั้งการแข่งขันจากเครื่องทำกาแฟแคปซูล, เครื่องเอสเปรสโซราคาประหยัดจากจีน และ จากแฟรนไชส์ร้านกาแฟสด เช่น starbucks ตลาดเริ่มอิ่มตัว หม้อใบเก่าก็ยังใช้งานได้ ยอดขายโมคาพ็อทค่อยๆลดลง จนถึงปี 2018 มีข่าวว่าบิอาเล็ตติ อาจต้องล้มละลายในไม่ช้า แต่กลับรอดมาได้อย่างเหลือเชื่อ
ในช่วงล็อคดาวน์ระหว่างการระบาดของโควิดในปี 2020 ซึ่งผู้คนต้องชงกาแฟดื่มเองที่บ้าน ขณะที่เศรษฐกิจของอิตาลีได้รับผลกระทบอย่างแสนสาหัส ยอดขายของโมคาพ็อทกลับมาพุ่งสูง ขายได้สี่ล้านใบในปีเดียว ดีใจได้ไม่นาน เมื่อเกิดสงครามในยูเครนและภาวะเงินเฟ้อ บริษัทกลับไปเจอปัญหาหนี้สินอีกจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น
ไม่ใช่ไอน์สไตน์ แต่เป็นเรนาโต บิอาเล็ตติ ในวัยชรา
Bialetti Industrie ในปัจจุบันยังคงประกอบกิจการผลิตเครื่องทำกาแฟ โดยย้ายจากแคว้นพีดมอนท์มาอยู่ที่เบรสชาในลอมบาร์ดี ภายใต้การบริหารของ Francesco Ranzoni เจ้าของคนใหม่ที่เป็นนักประดิษฐ์เช่นกัน ไม่ได้เป็นธุรกิจของครอบครัวบิอาเล็ตติอีกแล้ว นอกจาก หม้อ Moka Pot หรือ Moka Express แล้วยังมีเครื่องทำเอสเปรสโซ เครื่องทำกาแฟแคปซูล ทำร้านค้าปลีก และขายกาแฟบดเองอีกด้วย
ดีไซน์ของโมคาพ็อท ก็มีความหลากหลายมากขึ้น มีทั้งรุ่นหลากสีสัน และรุ่นที่หม้อต้มทำจากเหล็กกล้าเพื่อใช้กับเตาอินดักชัน หม้อต้มอลูมิเนียมที่ทำชิ้นส่วนจากมือช่างแบบดั้งเดิม ก็ยังมีขายอยู่ทั้งทรงแปดเหลี่ยมและสิบเหลี่ยม
เครื่องหมายการค้าสามมิติของหม้อโมคา ที่ได้รับจากสหภาพยุโรป
ทั้งสิทธิบัตรการประดิษฐ์และการออกแบบของบิอาเล็ตติได้หมดอายุไปนานแล้ว บริษัทยังคงมีความคุ้มครองเฉพาะเครื่องหมายการค้า Moka Express และรูปทรงสามมิติในยุโรปเท่านั้น ส่วนคำว่า Moka Pot ถือเป็นคำสามัญที่มาจากชื่อเมืองในเยเมน ไม่ได้รับความคุ้มครอง จึงมีผู้ผลิตอื่นทำโมคาพ็อทที่ดูคล้ายกันออกมาขาย โดยเฉพาะนอกสหภาพยุโรป เช่น Imusa ในสหรัฐ และ Grosche ในแคนาดา ซึ่งขายดีกว่าของ Bialetti เองเสียอีก
แม้ว่าบริษัทคงมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านยูโรต่อปี แต่ส่วนทุนติดลบ ต้องปรับโครงสร้างหนี้ อนาคตจึงยังไม่แน่นอน ตั้งแต่บริษัทเข้าตลาดหุ้นมิลานมาเมื่อปี 2017 มูลค่าของบริษัทร่วงลงจนเหลือไม่เกิน 1 ใน 5 ของราคาเดิม ทำให้นักลงทุนขยาดไปตามกัน
สภาพของ Mocha ในปัจจุบัน มัสยิดด้านหลังยังอยู่ แต่ประภาคารด้านหน้าเหลือเท่าที่เห็น
ส่วนทางด้านเมืองเก่าโมคา ในเยเมน อันเป็นที่มาของชื่อโมคาพ็อทนั้น ปัจจุบันเหลือแต่เพียงซากปรักหักพัง ทั้งจากสงคราม และภัยธรรมชาติ ประภาคารที่เคยโดดเด่นในภาพวาดสมัยออตโตมัน ก็ถล่มลงมาเหลือให้เห็นเพียงบางท่อน
เยเมนมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบ (ผู้นำเข้าอันดับ 1 คือ Thailand) และทำเหมืองทองคำเป็นหลัก เหลือไร่กาแฟอยู่บ้างในเขตภูเขาที่ฮูตีครอบครองอยู่ ถึงจะไม่ได้ส่งออก “กาแฟจากโมคา” ที่เคยเลื่องชื่อ เป็นล่ำเป็นสันเหมือนสมัยก่อน แต่กาแฟเยเมนยังคงเป็นกาแฟเกรดพรีเมียมซึ่งหาไม่ได้ทั่วไป ยิ่งช่วงนี้ไร่กาแฟอยู่ภายใต้การปกครองของฮูตี ราคายิ่งจะแพงขึ้นอีก
ที่นี่ไม่ใช่สตาร์บัคส์แต่เป็น cafe พรีเมียมในซานาอา ศูนย์อำนาจของฮูตีในเยเมน (ปี 2023)
https://www.rfi.fr/en/business-and-tech/20230727-yemen-speciality-coffee-wave-sweeps-war-hit-capital
ถึงแม้ว่าเมืองโมคา จะไม่อยู่ในเขตยึดครองของกลุ่ม houthi (อำนาจควบคุมสลับไปมาหลายครั้ง) แต่ก็ไม่แน่เหมือนกันว่านักบินทิ้งระเบิดของสหรัฐ ที่ดื่มม็อคคาชิโนจากหม้อต้มมัคคิเนตตาก่อนไปทำภารกิจ จะถล่มพลาดเป้าไปโดนมัสยิดอายุ 500 ปีแห่งเมืองโมคา ต้นกำเนิดกาแฟบ้างหรือเปล่า
เขตอิทธิพลของกลุ่มต่างๆในเยเมนล่าสุด
วิธีการชงกาแฟด้วยโมคาพ็อท จากเจมส์ ฮอฟแมน กูรูกาแฟชื่อดังชาวอังกฤษ
https://www.youtube.com/watch?v=rpyBYuu-wJI
เรียนรู้เพิ่มเติม
youtube.com
The Ultimate Moka Pot Technique (Episode #3)
I hope you enjoy this technique, even if it is a little different to the other previous Ultimate Technique videos. Let me know how you get on!Check out @wire…
https://aperitivoedition.wordpress.com/2017/07/16/the-moka-pot-aka-la-macchinetta/
https://ineedcoffee.com/the-story-of-the-bialetti-moka-express/
https://thisismold.com/object/tool/the-history-of-the-moka-design-italian-bialetti-coffee
เยี่ยมชม
youtube.com
Why are Moka Pots SO Popular?
Start a business with Shopify today: https://www.shopify.com/futureproofBialetti revolutionized the way we drink coffee all while spurring on an internationa…
youtube.com
Moka Pot vs. Espresso Machine - [Which One Is Better?] - Comparisons - Advantages and Disadvantages
You can check our article to find more details: https://www.makeandwakeup.com/moka-pot-vs-espresso-machine-comparisons-in-12-criteria/Best Coffee Beans for E…
https://fortune.com/2021/04/24/bialetti-moka-pot-italian-icon-coffee-espresso-comeback/
https://sites.google.com/view/designandinquiry/case-studies/bialetti-moka-coffee-pot
youtube.com
Moka Express: The one and only since 1933
Moka Express, the most iconic Italian product, was born In 1933.It seems that its inventor, Alfonso Bialetti, got the inspiration for this genial invention w…
เยี่ยมชม
เยี่ยมชม
youtube.com
How to Use the Bialetti Mukka Express
Learn how to make Cappuccino’s or Lattes using the Bialetti 2 Cup Mukka Express. Designed with a steam wand and extra pressure valve it mixes the milk and es…
ประวัติศาสตร์
ธุรกิจ
กาแฟ
5 บันทึก
8
3
5
8
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย