14 ม.ค. 2024 เวลา 07:00 • การเมือง

ผ่าปัญหา “คอร์รัปชัน” ภาครัฐ อึ้ง! พบเงินบาปพุ่งปีละ 5 แสนล้าน

ผ่าปัญหา “คอร์รัปชัน” ในหน่วยงานภาครัฐ เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ประเมินพบเงินบาปพุ่งปีละ 5 แสนล้าน เช็ครายละเอียดเงินทุจริตมูลค่ามหาศาลตกไปอยู่เรื่องไหน ใครมีเอี่ยวบ้าง
2
ปัญหา “คอร์รัปชัน” นับเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่คล้ายกับสนิมกัดกินประเทศไทยมาอย่างยาวนาน แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลาย ๆ ภาคส่วนจะพยายามหาทางควบคุมปัญหาดังกล่าวไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น แต่ปัญหาดังว่านี้ก็ยังไม่ทุเลาลงไปอย่างชัดเจนเป็นรูปเป็นร่าง
ล่าสุดมีข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับตัวเลขการ “คอร์รัปชัน” ในหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งนับเป็นเงินบาปที่ยากจะหาทางแก้ไขให้หมดสิ้นปจากประเทศไทย โดยข้อมูลจาก ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับเงินคอร์รัปชันในภาครัฐ ซึ่งแต่ละปีอาจมีเงินบาปจากคอร์รัปชันในภาครัฐสูงถึง 5 แสนล้านบาท
สำหรับเงินคอร์รัปชันในภาครัฐ นั้น ดร.มานะ มองว่า สาเหตุหลัก ๆ เกิดจากกลโกง 3 ประเภทนั่นคือ “โกงหลวง ฉ้อราษฎร์ และกัดกินกันเอง” ความเสียหายนี้ยังไม่รวมความเดือดร้อนและผลกระทบต่อประเทศชาติ ประชาชน คนทำมาค้าขายที่ตามมาอีกมากมาย
สำหรับกลโกงคอร์รัปชันในภาครัฐ สรุปแยกออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
1. โกงหลวง
ส่วนใหญ่เป็นเงินทอนในการจัดซื้อจัดจ้าง มีมูลค่า 2 – 3 แสนล้านบาทต่อปี เป็นความสูญเสียจากเงินทอนหรือเงินใต้โต๊ะในอัตราเฉลี่ย 20% - 30% ของงบลงทุนและการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐทุกประเภท ซึ่งตัวเลขดังกล่าวอาจมากหรือน้อยกว่านี้ตามยุคสมัย
ต่อมาคือ การเอาเปรียบรัฐ เช่น หน่วยงานรัฐให้การอุดหนุนเอกชนเกินจำเป็นในโครงการ พีพีพี, ขยายอายุสัมปทานให้เอกชนอย่างไม่เหมาะสม การไฟฟ้าฯ ลงทุนหลายพันล้านบาทสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูงเพื่อรองรับการซื้อกระแสไฟฟ้าจากเอกชนรายเดียว รับซื้อกระแสไฟฟ้าจากเอกชนราคาแพงและซื้อมากเกินจำเป็น เก็บค่าภาคหลวงจากสัมปทานเหมืองแร่ต่ำเกินจริง ปล่อยเช่าที่ราชพัสดุราคาถูก เป็นต้น
สำหรับการเอาทรัพยากรของรัฐไปเอื้อเอกชนเช่นนี้ เจ้าหน้าที่รัฐมักอ้างเหตุผลเกินจริงและปิดบังข้อมูลสำคัญ จึงยากที่จะสังคมจะเข้าใจ และศึกษามูลค่าความเสียหายที่แท้จริง อีกอย่างนั่นคือ การขโมยหรือยักยอกเงินหลวง เช่น ยักยอกเงินค่าเข้าอุทยานแห่งชาติที่เก็บจากนักท่องเที่ยวหรือไม่เก็บแต่เรียกรับใต้โต๊ะจากบริษัทนำเที่ยว
โกง “เงินอุดหนุน” ตามนโยบายของรัฐ เช่น กรณีเงินทอนวัด เงินช่วยเหลือผู้ยากไร้ เงินกองทุนหมุนเวียน เช่น ทุจริตเงินกองทุนเสมาฯ ของกระทรวงศึกษาฯ สหกรณ์และกองทุนกู้ยืมต่างๆ ซึ่งพฤติกรรมประเภทนี้พบเห็นได้ทั่วไปมีมูลค่าหลักพันบาทจนถึงหลายร้อยล้านบาทต่อกรณี
1
2. ฉ้อราษฎร์ เช่น แปะเจี๊ยะ ส่วย ค่าวิ่งเต้นล้มคดี
ส่วนแรก คือ สินบนและส่วยจากเศรษฐกิจนอกระบบ (Illegal Economy) หวย ซ่อง ค้าอาวุธ แรงงานเถื่อน ยาเสพติด และบ่อน ที่ประเมินว่าธุรกิจมืดเหล่านี้มีมูลค่า 8% - 13% ของ จีดีพี 17 ล้านล้านบาทต่อปี หรือราว 1.7 ล้านล้านบาทต่อปี หากคิดคร่าวๆ ว่ามีการจ่ายส่วยสินบนให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับจากต้นทางถึงปลายทางแค่ 5% จะเป็นเงินมากถึง 8.5 หมื่นล้านบาทต่อปี
ส่วนที่สอง คือ สินบนครัวเรือนหรือสินบนที่ชาวบ้าน ต้องจ่ายเมื่อไปติดต่อราชการ เพื่อทำนิติกรรม จดแจ้ง หรือใช้สิทธิ์ใช้บริการตามกฎหมาย อาจเพราะโดนรีดไถหรือตั้งใจจ่ายเองเพื่อแลกกับความสะดวก เร่งเวลา ลดขั้นตอน ลดเอกสาร มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาทต่อปี
ตัวอย่างเช่น ที่ดิน อำเภอ อบต. เทศบาล โรงพัก ศุลกากร สรรพากร โรงเรียน ฯลฯ เชื่อว่าตัวเลขที่แท้จริงคงสูงกว่านี้มาก แต่ผู้ให้ข้อมูลในการสำรวจอาจปิดบังเนื่องจากเกรงกลัวอันตรายหากเปิดเผย ตัวเลขนี้ยังไม่รวมถึงกรณีภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไปติดต่อเจ้าหน้าที่
อีกทั้งยังมีสินบนและส่วยจากธุรกิจอุตสาหกรรมที่ต้องจ่ายเพื่อความอยู่รอดหรือความได้เปรียบ ทั้งที่จ่ายโดยผู้ทำมาหากินสุจริตและไม่สุจริต เช่น ส่วยรถบรรทุก รถตู้ รถทัวร์ สถานบันเทิง รวมถึงสินบนเพื่อให้ได้ใบอนุญาตอนุมัติจากราชการ เช่น ต่อเติม-สร้างบ้าน เปิดธุรกิจร้านค้า โรงงาน สถานบันเทิง โรงแรม อพาร์ตเม้นท์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต การส่งออก-นำเข้าสินค้า
เช่นเดียวกับค่ามองไม่เห็น ตรวจไม่เจอ เป็นสินบนที่ประชาชนต้องจ่ายเมื่อเผชิญกับเจ้าหน้าที่นอกสถานที่ราชการ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้จ่ายกระทำผิดจริงและโดนกลั่นแกล้ง เช่น การจ่ายให้กับตำรวจจราจร เทศกิจ นายจ้างหรือแรงงานต่างด้าวต้องจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่แรงงานหรือตำรวจ
เงินบาปประเภทนี้รวมกันมากกว่า 1 แสนล้านบาท แม้ควักล้วงจากกระเป๋าชาวบ้านแต่สุดท้ายย่อมส่งผลร้ายต่อบ้านเมือง คนไร้เส้นสาย คนซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา แน่นอนว่าคนที่เดือดร้อนที่สุดคือ “คนจน”
3. กัดกินกันเอง
เป็นสินบนและค่าวิ่งเต้นในหมู่เจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันเอง แม้จ่ายไม่แพงมากเมื่อเทียบกับข้ออื่นๆ แต่เป็นเรื่องสำคัญและอันตรายมาก เพราะมันเป็นรากเหง้าที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อหาเส้นสายและหาเงินเป็นค่าใช่จ่ายไปสู่ดวงดาว
ส่วนใหญ่มักเป็นการซื้อขายตำแหน่ง มีมากในหน่วยงานที่มีผลประโยชน์สูง ราคาที่จ่ายก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งนั้นจะทำเงินได้มากน้อยเพียงใด ที่มีการร้องเรียนกันมาก เช่น คมนาคม ตำรวจ มหาดไทย อุตสาหกรรม เกษตร ทรัพยากรธรรมชาติฯ กรมศุลกากร กรมที่ดิน กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมชลประทาน กรมปศุสัตว์ เป็นต้น
1
รวมไปถึงการกัดกินกันเองอื่น ๆ เช่น ค่าวิ่งเต้นล้มคดี, เงินส่วนแบ่งตามลำดับชั้นที่เกิดจากส่วยสินบนกลุ่มที่ 2 การวิ่งเต้นของบประมาณจากผู้มีอำนาจในมหาดไทยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
4. ค่าใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันของรัฐ
ค่าใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันของรัฐสูงมากในแต่ละปี โดยในปี 2566 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ใช้งบประมาณ 5,848 ล้านบาท และมีบุคลากรรวมกันกว่า 7,578 คน
ดร.มานะ ระบุว่า บทสรุปความเสียหายจากคอร์รัปชันประมาณ 5 แสนล้านบาทต่อปีนี้ ยังไม่รวมความสูญเสียทางอ้อมที่กัดกินสังคมไทย เช่น นักลงทุนหนีหายเพราะกลัวความไม่ชัดเจนของราชการ ต้นทุนธุรกิจเพิ่มขึ้นและไม่แน่นอนส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการให้เพิ่มสูงขึ้น ประชาชนใช้สินค้าและบริการรัฐในราคาแพงหรือคุณภาพไม่ดีพอ
“รัฐต้องใช้เงินภาษีจำนวนมหาศาลไปแก้ไขปัญหาอย่างไม่รู้จบ เช่น กรณีสามจังหวัดภาคใต้ การแพร่ระบาดของยาเสพติด การศึกษาด้อยคุณภาพ การค้ามนุษย์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ นมโรงเรียน ซึ่งโกงเล็กโกงน้อยข้าราชการทำกันเองได้ แต่โกงกินคำใหญ่เสียหายครั้งละมาก ๆ ต้องมีนักการเมืองร่วมบงการด้วยเสมอ ดังนั้นอย่าแปลกใจถ้าเห็นคนในรัฐบาลทำเป็นทองไม่รู้ร้อนเรื่องปราบคอร์รัปชัน” ดร.มานะ กล่าวทิ้งท้าย
โฆษณา