15 ม.ค. เวลา 02:41 • ประวัติศาสตร์

วิวาทะเรื่องกุหนุงปะดัง

เมื่อปีที่แล้วมีสารคดีชุดหนึ่งที่ถูกเพิ่มเข้ามาใน Netflix ให้ผู้ฃมฃาวไทยได้ชมกัน
สารคดีเรื่องนั้นมีชื่อไทยว่า หายนะอารยะธรรมโบราณ
ผู้ดำเนินรายการฃื่อ Graham Hancock ซึ่งเจ้าตัวเองก็เปิดรายการด้วยการบอกว่า เขานั้นเป็น journalist หรือนักเขียนบทความ หาใช่นักวิชาการด้านโบราณคดีหรือประวัติศาสตร์ไม่
Hancock เขียนหนังสือเชิงสารคดีเกี่ยวกับเรื่องราวทางโบราณคดีที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ไว้มากมาย สาระในหนังสือออกไปในแนว psuedo-science กล่าวคือมีการรวบรวมหลักฐานและสร้างทฤษฎีขึ้นมา แต่ยังขาดกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในอันที่จะสนับสนุนทฤษฎีนั้นๆ ให้สมบูรณ์
ทฤษฎีของ Hancock คือในยุคน้ำแข็งมีอารยะธรรมที่ก้าวหน้ามากที่ถูกทำลายหายสูญไปแล้วด้วยภัยพิบัติร้ายแรงอะไรบางอย่าง และผู้ที่รอดชีวิตจากอารยะธรรมนั้นได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับมนุษย์ในสังคมล้าหลังที่ยังชีพด้วยการหาของป่าล่าสัตว์เมื่อสิ้นสุดยุคน้ำแข็ง[1]
ผลของมันก่อให้เกิดสังคมเกษตรกรรมและพัฒนาขึ้นมาเป็นอารยะธรรมใหม่ในรูปแบบที่เรารู้จักกันในอียิปต์ เมโสโปเตเมียและอเมริกากลาง
แน่นอนว่าเขามีแฟนคลับที่ชื่นชอบเรื่องลึกลับในประวัตศาสตร์ติดตามล้นหลาม
ใน Episode แรกของสารคดีบน Netflix เขาเลือกที่จะนำเสนอเรื่องราวของสิ่งที่เขาเชื่อว่าคือ พีระมิดแห่งแรกของโลกที่กุหนุงปะดังในชวาตะวันตก
ตัวพีระมิดตามที่ Hancock เรียกนั้นตั้งอยู่บนยอดเขาสูง Hancock เอาลักษณะโครงสร้างของมันไปเทียบเคียงกับพีระมิดขั้นบันไดที่เป็นรูปแบบการสร้างพีระมิดยุคแรกในอียิปต์ และเป็นรูปแบบที่ใช้กันมาในอารยะธรรมของอเมริกากลาง
แต่ถ้าถามคนเอเชียตะวันออก มันคือการปรับพื้นที่เพื่อให้เป็นขั้นบันไดสำหรับทำการเกษตร แบบที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า terrace คนไทยจะคุ้นเคยกับในชื่อนาขั้นบันได ซึ่งเป็นเทคโลโลยีของกลุ่มชนชายขอบที่ไม่สามารถยึดครองที่ราบลุ่มแม่น้ำเพื่อทำการเกษตรได้
เพียงแต่ขนาดของมันกว้างขวางมโหฬารเกินกว่าที่เราคุ้นเคย และมีการเสริมขอบกันทรุดพังด้วยเสาหินอัคนีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจำนวนมาก
เรียกได้ว่าเกินขีดความสามารถของชุมชนบุพกาลในภาพจำอย่างที่เรามีจะทำได้
อีกทั้งมันไม่ได้อยู่ในที่ที่น่าจะมีใครจะเลือกมาทำนาหรือทำการเพาะปลูกอย่างอื่น เพราะดันอยู่เสียบนยอดเขาสูง
1
เมื่อบวกเข้ากับผลการสำรวจที่เอาเทคโนโลยีด้านธรณีฟิสิกส์มาใช้ในทางโบราณคดีแล้วพบว่า มีช่องว่างขนาดใหญ่อยู่ลึกลงไป ซึ่งน่าจะเป็นห้องที่ถูกกลบฝังไว้ ก็ยิ่งเข้าทางของ Hancock ที่จะสรุปว่านี่คือผลงานรังสรรค์ของอารยะธรรมที่สาบสูญไปแล้ว
ผมดูสารคดีตอนนั้นแล้วก็ผ่านไป ไม่ได้ติดใจ
มารู้สึกสะกิดใจเอาเมื่อตอนเดือนหลังๆ ของปีที่แล้วที่ชื่อกุหนุงปะดังปรากฏขึ้นในอินเตอร์เน็ตถี่ขึ้น ทั้งบนหน้าเว็บและ Faceook ก็เลยลองไปค้นดู
ก็เลยพบว่า Danny Hilman Natawidjaja หัวหน้าทีมสำรวจด้านธรณีฟสิกส์ที่ปรากฏตัวในสารคดีของ Hancock ได้ตีพิมพ์บทความทางวิชาการเกี่ยวกับผลการสำรวจของตนเอง [2] ในวารสารออนไลน์ชื่อ Archeological Propedtion
สาระในบทความของ Natawidjaja ที่ทำให้ชื่อกุหนุงปะดังกลายเป็นไวรัลเล็กๆ บนอินเตอร์เน็ตคือ จากผลการศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีทางด้านธรณีฟิสิกส์และการเจาะเอาตัวอย่างดินขึ้นมาหาอาบุด้วยวิธี radio-carbon dating ชี้ให้เห็นว่า สถานที่นี้มีอายุย้อนหลังไปอยู่ระหว่าง 25,000 ถึง 14,000 ปีก่อน ซึ่งทำให้มันมีอายุเก่าแก่กว่าพีระมิดที่เชื่อกันว่าเก่าที่สุดในอียิปต์ (และในโลก) อยู่ราวๆ 10,000 ปี
แต่มันไม่ได้ถูกสร้างครั้งเดียวเสร็จนะ มีการต่อเติมมาหลายครั้งหลายคราวในช่วงเวลานับพันปี
สมมุติว่าการตีความหลักฐานของ Natawidjaja ถูกต้อง มันหมายถึงว่ามนุษย์เรามีอารยะธรรมที่สามารถจะสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่มาตั้งแต่เมื่อหลายหมื่นปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมามีเอาภายหลังจากเริ่มรู้จักการเพาะปลูกเอาเมื่อสัก 10,000 ปีที่แล้ว
นอกจากนี้ก็ยังมีคำถามที่จะตามมาด้วยว่า อารยะธรรมที่กุหนุงปะดังคืออารยะธรรมเดียวกับที่สร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่จากหินที่น่าอัศจรรย์อย่าง โกเบคลิ เทเป สโตนเฮนจ์หรือพีระมิดแห่งอียิปต์หรือเปล่า หรือว่าเป็นอารยะธรรมที่พัฒนาขึ้นมาเป็นเอกเทศในภูมิภาคนี้
และที่สำคัญคือมันหายไปไหนแบบไม่เหลือร่องรอย
เรื่องนี้จะไม่โด่งดังเท่าไรถ้าไม่ใช่เพราะมีนักโบราณคดีอีกกลุ่มหนึ่งออกมาแสดงความเห็นแย้งกันมากมาย
ประเด็นที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยยกขึ้นมาโต้แย้งคือ มีหลักฐานที่ยืนยันแน่ชัดว่าเมื่อ 12,000 ปีที่แล้ว คนในแถบนี้ (หรืออันที่จริงก็คนทั้งโลกนั่นล่ะ) ยังอยู่ในสังคมแบบเก็บของป่าล่าสัตว์อยู่เลย แล้วจะมาสร้างอะไรใหญ่โตอย่างนั้นได้อย่างไร ไม่มีหลักฐานอื่นใดที่ชี้ว่ามีอารยะธรรมที่ลำ้หน้าเกิดขึ้นที่เกาะชวาเมื่อยุคน้ำแข็ง
นอกจากนี้ตัวอย่างที่นำมาใช้หาอายุด้วยวิธี radio-caron dating ก็คือตัวอย่างดินที่มาจากการเจาะสำรวจ ซึ่งอาจจะถูกนำมาถมด้วยฝีมือมนุษย์ตามข้อสันนิษฐานของคณะผู้วิจัย หรืออาจจะเกิดโดยธรรมชาติก็ได้ [3],[4],[5]
เรื่องหลังนี่ถึงขั้นหยิกแกมหยอกกันว่า ถ้าใช้วธีการอย่างเดียวกันเจาะเอาตัวอย่างดินใต้วิหารเวสต์มนสเตอร์มาทดสอบ ก็อาจจะได้ผลว่ามันมีอายุ 40,000 ปี แต่นั่นไม่ได้แปลว่าตัววิหารถูกสร้างเมื่อ 40,00 ปีที่แล้ว
ส่วนห้องลับใต้ดินที่ได้จากการใช้ground penetrating radaar ร่วมกับวิธี electrical resistivity ทำแผนที่ใต้ดิน 3 มิติขึ้นมานั้น ก็อาจเป็นเพียงช่องว่างที่เกิดตามธรรมขาติเมื่อภูเขาไฟระเบิดและลาวาเย็นตัวลง
ไม่นับว่าคนที่ proofread บทความนี้คือตัว Hancock เองซึ่งไม่มีน้ำหนักเท่าไรในแวดวงวิชาการ
เรื่องนี้ใหญ่โตถึงขั้นที่ Wiley ซึ่งเป็นผู้จัดพิมพ์วารสาร Archeological Prospection ที่ลงบทความเรื่องนี้จัดให้มีการสอบด้านจรรยาบรรณกันเลยทีเดียว (the Wiley ethics team are currently investigating this paper in accordance with Committee on Publication Ethics guidelines) [4]
ส่วนผลจะเป็นอย่างไรต้องรอฟังกันยาวๆ
หมายเหตุ :
กุหนุงปะดัง เขียนด้วยอักขระอังกฤษว่า Gunung Padang ในที่นี้ขอออกเสียงแบบไทยๆ เลียนแบบการออกเสียงภาษาชวาในวรรณคดีเรื่องอิเหนา
ภาพประกอบมาจากหน้าเว็บของหนังสือพิมพ์จาการ์ตาร์โพสท์
อ้างอิง
2.Natawidjaja, D. H., Bachtiar, A., Nurhandoko, B. E. B., Akbar, A., Purajatnika, P., Daryono, M. R., Wardhana, D. D., Subandriyo, A. S., Krisyunianto, A., Tagyuddin, Ontowiryo, B., & Maulana, Y. (2023). Geo-archaeological prospecting of Gunung Padang buried prehistoric pyramid in West Java, Indonesia. Archaeological Prospection, 1–25. https://doi.org/10.1002/arp.1912
โฆษณา