16 ม.ค. 2024 เวลา 09:19 • ความคิดเห็น
ขอลองตอบตามความเห็นส่วนตัวนะคะ
เริ่มจาก "ตื่นรู้" คืออะไร
การตื่นรู้คือ การรู้สึกตัว เห็นความเป็นจริงของสรรพสิ่งตามธรรมชาติ ไม่หลงอยู่กับความคิด ไม่ติดอยู่กับอารมณ์ ไม่ถูกมอมเมาชักจูงโดยความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น เป็นอิสระจากการยึดมั่นถือมั่น และความเป็น"ตัวกู ของกู" ซึ่งไม่มีอยู่จริง
มีคำพระท่านว่าไว้ว่า
เมื่อใดก็ตามที่เรามองเข้ามาที่ตัวเรา
และไม่เห็นอะไรเลย
สิ่งนั้นคือ ปัญญา
เมื่อเรามองออกไปข้างนอกและพบว่า
สรรพสิ่งนั้นคือเรา
หรือเป็นหนึ่งเดียวกับเรา
นั่นคือเมตตา
นี่คือบทสรุปที่ดีที่สุดของ “การตื่นรู้”
เพราะเมื่อคุณตื่นได้อย่างแท้จริง
ก็จะพบว่า มันไม่มี “ตัวกู” เหลืออยู่เลย
แล้วโลกนี้ก็จะงดงาม
ถ้าบุคคลมีการตื่นรู้แบบนี้
พระไพศาล  วิสาโล
2
การตื่นรู้ 3 ประเภท
1. ตื่นรู้ในความคิด Awakening Head : Thinking of Oneness
เกิดปัญญาตระหนักรู้จากได้อ่านได้ฟัง ได้เรียนรู้ จนเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับความจริงของชีวิต เช่น ธรรมะ ปรัชญาจากผู้รู้ เป็นการตื่นรู้ในระดับของความคิด ความเชื่อ มุมมอง และทัศนคติ (สุตมยปัญญา – ปัญญาจากการอ่าน การฟัง และ จินตมยปัญญา – ปัญญาจากการคิด)
2. ตื่นรู้ที่หัวใจ Awakening Heart : Experiencing Oneness
เกิดปัญญาตระหนักรู้จากการได้สัมผัสกับความจริงโดยตรง ไม่ใช่เกิดจากการนึกคิดเอา เป็นประสบการณ์จริงของใจที่ได้สัมผัสกับความจริง (ภาวนามยปัญญา – ปัญญาจากประสบการณ์จริง) เกิดการก้าวออกจาก จิตสำนึกเล็กมาสู่จิตใหญ่ แม้เพียงชั่วครู่หรือเป็นครั้งคราว แต่ประสบการณ์นั้นจะมีพลังมากและเป็นเครื่องยืนยันและทำให้เกิดความเข้าใจใหม่ที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าการตื่นรู้ในระดับความคิด
3. ตื่นรู้ในชีวิต Awakening Life : Being & Living in Oneness
2
เกิดปัญญาตระหนักรู้จากการได้สัมผัสต่อความจริงอย่างแจ่มแจ้ง จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางจิตสำนึกอย่างสิ้นเชิง เกิดอิสรภาพทางจิตใจ ไม่หวนกลับไป หลงติดในความไม่รู้เดิมอีก ซึ่งการตื่นรู้ในระดับนี้เป็นระดับเดียวกับการบรรลุเป้าหมายทางจิตวิญญาณในศาสนาต่างๆ เช่น ดวงตาเห็นธรรม ซาโตริ บรรลุเต๋า การเข้าถึงพระเจ้า เป็นหนึ่งเดียวกับพรหมมัน เป็นต้น
ไม่ว่าเป็นการตื่นรู้ประเภทไหนก็ตาม ล้วนแล้วแต่ต้องการ การโฟกัส กลับเข้ามาภายใน มีสติ มีสมาธิในการพิจารณารู้เห็นตามความจริงเพื่อให้เกิดปัญญา แต่ธรรมชาติของ "จิต " ภายในตัวเราไม่เคยหยุดนิ่ง พร้อมจะเคลื่อนออก ปรุงแต่ง และยึดมั่นถือมั่นไปตามอารมณ์หรือความรู้สึกนึกคิดเสมอ การตื่นรู้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเราๆที่อยู่ในสังคมที่แวดล้อมไปด้วยเรื่องราวทางโลกจากสิ่งรอบตัวและสื่อต่างๆ
การหยุดเสพสื่อจึงเป็นเหมือนตัวช่วยที่ช่วยให้จิดไม่ฟุ้งไปตามเรื่องที่เสพต่างๆเหล่านั้น ช่วยให้จิตนิ่งได้ง่ายกว่า มองเห็นความจริงได้ง่ายกว่า ไม่ถูกล่อลวงให้ไถลไปกับเรื่องราวนอกตัว
การเงียบแล้วหยุดฟังเสียงเต้นของหัวใจ จึงเหมือนกับอุบายในการดึงสติให้กลับมาอยู่กับตัว ให้รู้เนื้อรู้ตัว ไม่ไหลไปกับสิ่งยั่วยุภายนอก คล้ายกับการดูลมหายใจ เป็นการฝึกสติ ฝึกการจดจ่อ ให้มีสมาธิ เมื่อมีสมาธิ จะเกิดปัญญาง่ายกว่าค่ะ
โฆษณา