พระพุทธรูปที่งดงามและนิยมจำลองกันมากที่สุดในประเทศไทย

“ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธมานักแล้ว ไม่เคยรู้สึกว่าดูปลื้มใจจำเริญตาเท่าพระพุทธชินราชเลย…ถ้าพระพุทธชินราชยังคงอยู่ที่พิษณุโลกตราบใด เมืองพิษณุโลกจะเป็นเมืองที่ควรไปเที่ยวอยู่ตราบนั้น ถึงในเมืองพิษณุโลกจะไม่มีชิ้นอะไรเหลืออีกเลย ขอให้มีแต่พระพุทธชินราชเหลืออยู่แล้ว ยังคงจะอวดได้อยู่แล้ว ยังคงจะอวดได้อยู่เสมอว่ามีของควรดูควรชมอย่างยิ่งอย่างหนึ่งในเมืองเหนือหรือจะว่าในเมืองไทยทั้งหมดก็ว่าได้” พระราชปรารภใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ถึงความงามของ “พระพุทธชินราช”
ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่พระประธานในโบสถ์หรือวิหารทั่วไป มักจำลองแบบพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก ไปประดิษฐาน
พระพุทธชินราชมีลักษณะทางพุทธศิลป์ที่งดงาม คือ พระเกศรัศมียาวเป็นเปลวเพลิง พระเกศาขดเป็นก้นหอยขนาดใหญ่ วงพระพักตร์ค่อนข้างกลมไม่ยาวรีเหมือนผลมะตูมเช่นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยหมวดใหญ่ มีพระอุณาโลมผลิกอยู่ระหว่างพระขนง พระวรกายอวบอ้วนมีสังฆายาวปลายหยักเป็นเขี้ยวตะขาบฝังด้วยแก้ว นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน (ทีฆงคุลี)
1
ฝ่าพระบาทแบนราบค่อนข้างแคบเมื่อเทียบกับพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยหมวดใหญ่ ส้นพระบาทยาว มีรูปอาฬวกยักษ์และรูปท้าวเวสสุวัณหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์เฝ้าอยู่ที่พระเพลาเบื้องขวาและซ้ายขององค์ตามลำดับ มีซุ้มเรือนแก้วและสลักด้วยไม้สักลงรักปิดทองประดับเบิ้องพระปฤษฎางค์ปราณีตอ่อนช้อยช่วยเน้นให้พระวรกายของพระพุทธชินราชมีความงดงามยิ่งขึ้น
1
พระพุทธชินราช ประดิษฐานอยู่ ณ วิหารหลวงด้านตะวันตกในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ถนนพุทธบูชา ริมฝั่งแม่น้ำน่านด้านทิศตะวันออก ตรงข้ามกับศาลากลาง ตัวพระวิหารสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย เป็นสถาปัตยกรรมที่มีความสง่างามสมส่วน ได้รับการบูรณะให้มีสภาพดีมาตลอด จนเป็นพระวิหารที่คงสภาพสมบูรณ์ดีที่สุดแห่งหนึ่งในไทย
นักวิชาการสันนิษฐานว่าพระพุทธชินราชถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1900 ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 พญาลิไท พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย พร้อมกับพระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา และพระเหลือ ต่อมาพระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา ได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ในขณะที่พระพุทธชินราช และพระเหลือ ยังคงประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร พิษณุโลกตามเดิมมาถึงปัจจุบัน
เดิมทีพระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปสำริดมิได้มีการลงรักปิดทองตั้งแต่แรกสร้าง ต่อมา สมเด็จพระเอกาทศรถ ได้เสด็จแปรพระราชฐานมายังเมืองพิษณุโลกและพระราชดำเนินมานมัสการ พร้อมทั้งโปรดให้มีการนำเครื่องราชูปโภคมาตีแผ่เป็นทองคำเปลวสำหรับปิดทองพระพุทธชินราช ครั้งนั้นจึงถือเป็นการลงรักปิดทองครั้งแรก
ครั้งที่ 2 คือในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการถวายสังวาลย์เพชรเป็นพุทธบูชาพร้อมกับการหล่อพระพุทธชินราชา (จำลอง) เพื่อนำไปประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร และ ปีพ.ศ. 2547
1
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีการลงรักปิดทองครั้งที่ 3 เป็นพระพุทธชินราชดังที่เราเห็นในปัจจุบัน
พระพุทธชินราชาถือเป็นพระพุทธรูปคู่เมืองพิษณุโลกมาช้านาน เป็นพระพุทธรูปที่คนไทยจำนวนมากต่างเดินทางไปสักการะบูชาไม่ขาดสาย เพื่อขอพรเรื่องต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิตให้เจริญรุ่งเรือง และในวาระเข้าสู่ปีใหม่ปี พ.ศ. 2567 นี้ หากใครมีเวลาว่างลองวางแพลนไปเมืองพิษณุโลก เพื่อไปเคารพสักการะพระพุทธชินราชที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารกันครับ
1
โฆษณา