18 ม.ค. เวลา 14:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

ดาต้าเซนเตอร์ กระดูกสันหลังยุคดิจิทัลของไทย

ในโลกธุรกิจที่ “ข้อมูล” มีค่าดั่งทองคำ หากมีการจัดเก็บที่ดี วิเคราะห์และนำมาใช้ รวมถึงแชร์ข้อมูลระหว่างกัน จะช่วยให้มีการต่อยอดและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีโควิดที่เร่งให้ผู้คนต่างทำกิจกรรมออนไลน์มากขึ้น เช่น ประชุมออนไลน์ ช็อปปิ้งออนไลน์ ทำให้มีความต้องการพื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูลบนโลกออนไลน์มากกว่าในอดีต
1
ธุรกิจศูนย์ข้อมูลหรือ Data Center (DC) ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเพื่อรองรับข้อมูลจำนวนมหาศาลเหล่านี้จึงทวีความสำคัญมากขึ้น บทความนี้จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักว่า DC คืออะไร และจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร
IBM ให้คำนิยามว่า DC คือ ห้อง ตึก หรือสถานที่ไว้รองรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับจัดเก็บข้อมูลตลอดจนโปรแกรมและบริการต่อเนื่องจากข้อมูลเหล่านั้น
โดย DC มีหลายรูปแบบ ได้แก่ 1) Enterprise DC เป็น DC ที่สร้างขึ้นมาเป็นการเฉพาะของบริษัทหรือองค์กร เหมาะสำหรับการเก็บข้อมูลที่ต้องการความปลอดภัยสูง 2) Managed services / Colocation เป็นธุรกิจให้เช่าพื้นที่ และ/หรืออุปกรณ์สำหรับเก็บข้อมูล รวมทั้งให้บริการดูแลโครงสร้างพื้นฐานและระบบไอที และ 3) Public cloud ที่ให้องค์กรหรือบุคคลทั่วไปซื้อบริการเพื่อจัดเก็บข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต เช่น Google Drive ที่ผู้อ่านน่าจะคุ้นเคยกันดี
ปัจจุบันธุรกิจศูนย์ข้อมูล (DC) ในไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีบริษัท DC กว่า 10 รายที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจาก BOI หนึ่งในนั้นเป็นบริษัทระดับโลกอย่าง Amazon ด้วย ซึ่งทั้งหมดมีมูลค่าการลงทุนรวมกันมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท
โดยไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในอาเซียน ที่บริษัท DC รายใหญ่ เลือกเป็นจุดหมายลงทุน เนื่องจาก (1) ความเสถียรและการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตมากกว่าประเทศอื่น ๆในภูมิภาค เป็นรองเพียงสิงคโปร์ (2) โอกาสเกิดภัยพิบัติต่ำ โดยไทยอยู่ห่างจากจุดภูเขาไฟระเบิดและแผ่นดินไหวรุนแรง แม้มีปัญหาน้ำท่วมบ้าง แต่ DC สามารถเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม และบริหารจัดการความเสี่ยงไว้ล่วงหน้าได้ (3) ความพร้อมด้านสาธารณูปโภค โดยเฉพาะไฟฟ้าและน้ำ ที่มีความเสถียรและมีปริมาณเพียงพอ
(4) มีพื้นที่มากและราคาที่ดินไม่แพง เทียบกับสิงคโปร์ที่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ ส่งผลให้การลงทุนกระจายออกมาในประเทศข้างเคียงเช่นมาเลเซียและไทย และ (5) มีโอกาสขยายตลาดในไทยได้อีกมาก เนื่องจากไทยมีธุรกิจที่ปรับใช้ดิจิทัลมากขึ้น แต่ยังมี DC น้อย สะท้อนจากสัดส่วนกำลังการให้บริการ DC ต่อประชากร 1 ล้านคนของไทยอยู่ที่ 0.7 เมกะวัตต์ ยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในอาเซียนที่ 5.0 เมกะวัตต์[1]
1
แม้ธุรกิจ DC อาจไม่ได้ก่อให้เกิดการจ้างงานโดยตรงมากนัก เนื่องจาก DC หนึ่งแห่งอาจใช้แรงงานเพียงหลักสิบ และอาจยังไม่สร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจให้เห็นได้ทันที รวมถึงมีการใช้พลังงานไฟฟ้าและประปาค่อนข้างสูง
แต่การที่มี DC มาตั้งอยู่ในประเทศไทย ช่วยให้โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของไทยเข้มแข็งขึ้น และช่วยเก็บรักษาข้อมูลที่อ่อนไหวไว้ในประเทศของเราเอง รวมถึงเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ และการเติบโตของธุรกิจอื่น ๆ ในห่วงโซ่อุปทาน ทั้งการก่อสร้างอาคาร การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงธุรกิจบริการด้านไอที อาทิ ธุรกิจให้คำปรึกษาด้าน software และการจัดการ Website ที่มีโอกาสเติบโตสูงขึ้นเมื่อมีธุรกิจที่ เข้ามาใช้บริการ DC มากขึ้น
นอกจากนี้ ธุรกิจที่ใช้บริการ DC ในไทยยังได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีมากกว่าการใช้บริการ DC ในต่างประเทศซึ่งช่วยลดต้นทุนของธุรกิจในไทยด้วย
ธุรกิจที่มีแนวโน้มใช้บริการ DC ส่วนใหญ่คือองค์กรที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการวิจัยและพัฒนาสินค้าและบริการ (R&D) หรือต้องการข้อมูลแบบ real-time หรือต้องการความปลอดภัยทางข้อมูลสูง ตัวอย่างของธุรกิจที่ต้องการใช้บริการ DC เช่น
(1) อุตสาหกรรมการแพทย์ ที่กำลังพัฒนาไปสู่ยุค personalized products และการแพทย์แม่นยำ เพื่อตอบโจทย์การดูแลสุขภาพและรักษาโรคที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน (2) ธุรกิจ E-commerce ที่ประเมินสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการซื้อโดยการอ้างอิงจากประวัติการซื้อในเดือนก่อนหน้า (3) อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่กำลังพัฒนาสู่ยานยนต์ขับเคลื่อนอัจฉริยะ และ (4) ธุรกิจการเงิน ที่ต้องเก็บข้อมูลธุรกรรมทางการเงินเป็นจำนวนมาก และต้องการความปลอดภัยสูง รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการมากขึ้น เป็นต้น
เห็นได้ว่าประโยชน์ของการมี DC ที่ได้มาตรฐานจะช่วยให้ธุรกิจมีระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ สร้างสรรค์นวัตกรรมจากข้อมูลที่มีอยู่ รวมถึงเร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงการทำงานให้เป็นดิจิทัลได้เร็วขึ้น ซึ่งส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตและแข่งขันได้ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้
เมื่อยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon เลือกลงทุนในไทย เชื่อว่าจะช่วยดึงดูดให้บริษัทอื่น ๆ สนใจมาลงทุนในไทย ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะสร้างโอกาสให้แรงงานไทยได้พัฒนาองค์ความรู้ระดับสูงมากขึ้น
ในระยะต่อไป เราต้องร่วมกันช่วยคิดว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจไทยและแรงงานปรับตัว พัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีและการใช้ข้อมูล เพื่อคว้าโอกาส ในการต่อยอดธุรกิจจากประโยชน์ของ DC ได้
[1] ข้อมูลจาก KnightFrank (2022) ทั้งนี้ เมกะวัตต์วัดจากปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ สะท้อนจำนวน/ขนาดของ DC หากอยู่ในระดับต่ำ หมายถึงยังมีการใช้ DC น้อย
** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **
ผู้เขียน :
จิรสิน ศิริประชัย
รินรดา ฑีฆธนานนท์
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย
คอลัมน์ “ร่วมด้วยช่วยคิด” นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 15 มกราคม 2567
1
โฆษณา