19 ม.ค. เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์

เที่ยวยี่สาร

คำว่า “ยี่สาน” หรือ “ยี่ส่าน” ในพจนานุกรมแปลว่าตลาดที่ขายของแห้ง สันนิษฐานกันว่า “ยี่สาน” น่าจะมีรากฐานของภาษามาจากคำว่า “ปสาน” ซึ่งเป็นคำมาจากภาษาเปอร์เซียคือ “บาซาร์” ที่แปลว่า ตลาดอีกทีหนึ่ง ปสานยังเป็นคำที่ปรากฏในศิลาจารึกสมัยกรุงสุโขทัยซึ่งหมายถึงตลาดอีกด้วย
ยี่สานเป็นคำเก่าที่พบว่าใช้คู่กับคำว่าตลาด เช่นในจดหมายเหตุบันทึกเรื่องราวต่างๆ ขณะเสด็จตรวจราชการหัวเมืองของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อถึงเมืองเพชรบุรีทรงบรรยายว่า
“เวลาเช้าเดินไปตามถนนริมฝั่งตวันตก มีบ้านเรือนราษฎรมาก แต่ไม่เป็นตลาดยี่สานใหญ่โตอย่างฝั่งตวันออก คงยุติได้ว่าทะเลบ้านเรือนเมืองเพ็ชรบุรีตั้งหนาแน่นอยู่ริมน้ำทั้งสองฝั่ง แต่ฝั่งตวันออกมากกว่าฝั่งตวันตก”
แต่ปัจจุบัน ชื่อบ้านยี่สาร ใช้ตัวสะกด “ร” แทน “น” จึงกลายเป็นคำสะกดอย่างเป็นทางการไป อย่างไรก็ตาม ร่องรอยของคำว่ายี่สาน ก็น่าจะให้ภาพพจน์ของชุมชนยี่สารแต่ครั้งโบราณว่าคงจะเป็นชุมชนที่เกี่ยวพันกับการค้าขาย
มีนิทานท้องถิ่นเกี่ยวกับกำเนิดของบ้านยี่สารที่ปรากฏเป็นเรื่องเล่าต่อกันมาว่า แต่เดิม เขายี่สารอยู่ติดทะเลมาก่อน และบริเวณหลังเขาในปัจจุบันเป็นที่จอดเรือสำเภา เรียกกันว่า “อู่ตะเภา” คนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งหมู่บ้านเป็นชาวจีน ซึ่งเดินทางเข้ามาทำการค้าในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เกิดเหตุเรืออับปาง ทำให้พี่น้องสามคนพลัดหลงกันไป
คนหนึ่งในจำนวนนั้นถูกน้ำพัดมาขึ้นบกที่เขายี่สาร และกลายมาเป็นผู้บุกเบิกตั้งถิ่นฐานในที่นี้ ชาวบ้านนับถือว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและทางวัฒนธรรม ตั้งศาลพ่อปู่ศรีราชา เป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นที่นับถือของคนในชุมชน ส่วนอีก ๒ คนไปขึ้นฝั่งที่เขาตะเครา อำเภอเขาย้อย และอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี กลายเป็นผู้ก่อตั้งชุมชนในที่นั้นเช่นกัน นิทานท้องถิ่นดังกล่าว เล่ากันโดยทั่วไปในเขตเขาย้อย บ้านแหลม และบ้านลาด ในจังหวัดเพชรบุรี
ร่องรอยจากนิทานท้องถิ่นดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงลักษณะของชุมชนในระยะแรกที่ มีคนจีนอพยพเข้ามาทำมาหากิน พ้องกับทำเลที่ตั้งซึ่งเป็นชุมทางการคมนาคมภายในท้องถิ่นชายฝั่งทะเล กล่าวได้ว่าชุมชนในแถบนี้เกิดขึ้นจากการเข้ามาเผชิญโชคของชาวจีนทางตอนใต้หลายยุคหลายสมัย
ได้พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการควบคุมเรื่องน้ำกินน้ำใช้ เช่นตุ่มใส่น้ำขนาดใหญ่จากเตาบางปูน จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งอยู่ในช่วงสมัยก่อนจนถึงต้นกรุงศรีอยุธยา เมื่อพิจารณาร่วมกับนิทานท้องถิ่นและเรื่อง พระเจ้าอู่ทอง ที่เป็นลูกชายของกษัตริย์จีนเดินทางแสวงโชค เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่นครศรีธรรมราชก่อนแล้วจึงมาที่กุยบุรีและเพชรบุรีตามลำดับ
ทำให้เห็นภาพการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในเขตใกล้ทะเลใกล้กับปากแม่น้ำที่มีคนจีนมาค้าขายทางเรือสำเภา ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ แล้วตั้งถิ่นฐานอยู่ตามริมน้ำ ซึ่งหมายถึงชุมชนที่บ้านยี่สารด้วย
ทั้งจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ในสมัยอยุธยา เช่น จดหมายเหตุความทรงจำขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม หรือใน ภูมิสถานกรุงศรีอยุธยา พรรณนาถึงสถานที่และย่านต่างๆ ในกรุงศรีอยุธยา ตอนหนึ่งกล่าวว่า
“อนึ่ง เรือปากหกศอกเจ็ดศอกชาวบ้านญี่สานบ้านแหลมบางทะลุ บรรทุกกะปิน้ำปลาปูเคมกะพงคุเราปลาทูกะเบนย่างมาจอดเรือขาย”
แสดงถึงการเป็นชุมชนการค้าที่พ่อค้าแม่ค้าชาวบ้านยี่สารนำของแห้งของเค็มจากชายทะเลบรรทุกเรือสินค้าขนาดย่อมๆ มาขายถึงพระนคร ซึ่งเป็นระยะทางไกลพอควรในเวลานั้น
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงการเดินทางของชาวต่างประเทศที่เข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยา จะเห็นว่าเป็นเดินทางโดยเรือกำปั่นขนาดใหญ่ที่มาเป็นกองเรือ แล้วจอดไว้ที่ปากน้ำเจ้าพระยา นั่งเรือเล็กใช้ฝีพายต่อมายังกรุงศรีอยุธยา ส่วนหนึ่ง
ส่วนอีกทางหนึ่งคือเดินทางไปยังทวาย มะริด ตะนาวศรี ที่มีกองเรือจอดอยู่ที่เมืองท่าดังกล่าว จะใช้เส้นทางคลองด่านไปออกปากน้ำท่าจีน หรือตัดเข้าคลอง ออกปากน้ำแม่กลอง เลียบฝั่งเข้าแม่น้ำเพชรบุรี ขึ้นบกแล้วเดินทางข้ามช่องเขาสู่เมืองท่าเหล่านั้นอีกทางหนึ่ง เส้นทางนี้ดูจะเป็นที่นิยมในสมัยอยุธยา ดังเห็นได้จากแผนที่ของชาวโปรตุเกส ฝรั่งเศส และฮอลันดาในสมัยอยุธยาตอนกลาง
ทั้งในบันทึกการเดินทางของคณะฑูตจากอังกฤษ จอห์น ครอฟอร์ดที่เข้ามาสยามและเขียนบันทึกพร้อมแผนที่ไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๕ ราวสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แสดงถึงที่ตั้งของบ้านยี่สาร ซึ่งอยู่ระหว่างทางจากแม่กลองหรือสมุทรสงครามและเพชรบุรี
ทั้งได้กล่าวถึงชุมชนแห่งนี้ว่า มีผู้คนอยู่เบาบางและพื้นที่สามารถปลูกข้าวได้ (แสดงว่าก่อนการขุดคลองลัดยี่สารทำให้กลายเป็นชุมชนน้ำกร่อยไม่สามารถเพาะปลูกข้าวได้ในปัจจุบัน) เต็มไปด้วยป่าที่ตัดไม้ส่งไปทำเชื้อเพลิงแก่เมืองหลวง และมีเส้นทางเข้าคลองไปสู่แม่น้ำเพชรซึ่งจะไปถึงเมืองเพชรบุรีได้
ดังนั้น เมื่ออยู่ในเส้นทางผ่านระหว่างเมืองสำคัญ อย่างอยุธยาและเพชรบุรี จึงไม่แปลกใจเลยว่าศาสนสถานที่ “วัดเขายี่สาร” และ “วัดน้อย” ที่เป็นวัดร้างอยู่ฝั่งคลองตรงข้ามจะมีอายุย้อนไปถึงในสมัยอยุธยา และมีความสัมพันธ์ทางศิลปกรรมอย่างเห็นได้ชัดกับรูปแบบสกุลช่างเมืองเพชรบุรี ซึ่งเป็นแหล่งที่สืบทอดฝีมือช่างสมัยอยุธยาไว้ได้มากที่สุด
จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านยี่สาร โดยมูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์ พบว่า ชุมชนโบราณที่บ้านยี่สารเป็นชุมทางการค้าทางทะเลร่วมสมัยกับกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่แรกเริ่ม ผู้คนที่นี่นิยมการใช้เครื่องถ้วยชามที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นสุโขทัย ศรีสัชนาลัย บางปูนที่สุพรรณบุรี แม่น้ำน้อยที่สิงห์บุรี จีนตอนใต้ เวียดนาม ญี่ปุ่น
กล่าวได้ว่าทุกแห่งที่มีการทำเครื่องถ้วยและนำออกขายโดยใช้เส้นทางทางทะเล รวมไปถึงหม้อก้นกลมประดับลวดลายที่รู้จักกันว่า “หม้อทะนน” คือภาชนะเนื้อดินที่ใช้ไม้ตีลายประทับรอบภาชนะที่มีรากฐานความเป็นมาเกี่ยวเนื่องกับการค้าทางทะเลก่อนจะแพร่หลายไปสู่ชุมชนภายในจนกลายเป็นรูปแบบภาชนะที่ใช้กันทั่วไปในสมัยอยุธยาจนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งเห็นอย่างชัดเจนว่าแพร่หลายเนื่องมาจากการค้าทางทะเลอีกเช่นกัน
ในชั้นดินพบปริมาณเปลือกหอยจำนวนมาก ที่พบมากที่สุดคือเปลือกหอยแครง ปริมาณของเปลือกหอยทุกระดับชั้นดินรวมกันได้ราว ๑,๖๐๐ กิโลกรัม การใช้เปลือกหอยในการทำกิจกรรมของมนุษย์นี้เป็นที่น่าตั้งข้อสังเกตได้หลายประการ เนื่องจากเปลือกหอยดังกล่าวอยู่ปะปนกับสิ่งของเครื่องใช้ในการทำกิจกรรมประจำวันของมนุษย์ อีกทั้งระดับชั้นดินล่างสุดก็ไม่ใช่ลักษณะการถับถมของเปลือกหอยตามธรรมชาติ เพราะเป็นเนื้อดินที่เกิดจากการทับถมของเปลือกหอยป่นจนคล้ายเนื้อทราย มีเปลือกหอยแครงปะปนบ้างเล็กน้อย
ดังนั้นข้อสันนิษฐานสำหรับการพบเปลือกหอยแครงเป็นจำนวนมากเช่นนี้อาจจะเกิดเนื่องจาก การนำหอยแครงมาบริโภคส่วนหนึ่ง เนื่องจากมีเป็นจำนวนมากเกินไปกว่าที่จะบริโภคได้ทั้งหมด ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่า มีการใช้เปลือกหอยแครงโดยการนำมาจากที่ต่างๆ สำหรับทำปูนขาว เพราะเปลือกหอยแครงนำมาทำปูนขาวได้ดี และเราพบหลักฐานของภาชนะที่เป็นหม้อก้นกลมขนาดเล็กใส่ปูนขาวจำนวนหนึ่ง และเศษภาชนะที่มีปูนขาวติดอยู่
เราสามารถกล่าวได้ว่ามีการอยู่อาศัยโดยตลอดตั้งแต่เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ จนถึงปัจจุบัน ในช่วงเวลาไม่ต่ำกว่า ๗๐๐-๘๐๐ ปี โดยไม่ขาดตอนหรือมีการทิ้งร้าง เป็นชุมชนที่ร่วมสมัยกับการกำเนิดอยุธยาเป็นราชธานี และสัมพันธ์อย่างแนบแน่นในการเป็นชุมทางการคมนาคมที่มีเส้นทางการเดินทางผ่านทั้งจากภายนอกและภายใน คือ การเดินทางเลียบชายฝั่งของนักเดินทางในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นจุดสังเกตอยู่ในบันทึกของเจิ้งโหหรือหม่าฮวน ผู้นำกองเรือสำรวจทางทะเลถึง ๗ ครั้ง
ครั้งสุดท้ายในสมัยสมเด็จพระรามราชา เมื่อ พ.ศ.๑๙๗๖ แสดงให้เห็นว่าระหว่างบริเวณปากน้ำแม่กลองและปากน้ำเพชรบุรีเป็นจุดที่หมายของนักเดินทางทางทะเลในยุคสมัยนั้น ส่วนเส้นทางภายในคือ จากกรุงศรีอยุธยาไปสู่เพชรบุรี ปราณบุรี และกุยบุรี ข้ามเขาไปสู่มะริดและตะนาวศรีได้ รวมทั้งการเดินเรือเลียบชายฝั่งไปสู่หัวเมืองชายฝั่งทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก
ท่องเที่ยวสมัยโบราณ
การเดินทางท่องเที่ยวในอดีตและการเสด็จประพาศของพระเจ้าอยู่หัวในสมัยกรุงศรีอยุธยาแสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า นิยมการพักผ่อนโดยการประพาสทางชลมารค เช่น การทรงเบ็ดของสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือที่เข้ามาทางคลองโคกขาม จนเป็นเหตุให้เกิดหัวเรือพระที่นั่งหักเพราะลำคลองคดเคี้ยวและต้องประหารชีวิตพันท้ายนรสิงห์
ต่อมา การเสด็จประพาศหรือเรื่องราวในนิราศมักจะใช้เส้นทางลัดเลาะเข้าลำคลองสายต่างๆ ไม่นิยมการออกทะเลหรือเที่ยวชายหาดทรายเหมือนสมัยนิยมในกาลต่อมา เช่น นิยมตากอากาศชายหาดหัวหินหรือชะอำในสมัยรัชกาลที่ ๗ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า พื้นที่ในแถบป่าชายเลนที่สภาพอุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำอย่างบริบูรณ์นี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่นิยมกันของคนในสมัยโบราณ
ดังนั้น ยี่สารซึ่งตั้งอยู่ระหว่างทางจากปากน้ำแม่กลองและปากน้ำเพชรบุรี จึงมีชื่อปรากฏในเอกสารและแผนที่ทั้งของจอห์น ครอฟอร์ด และสังฆราชปัลเลอกัวซ์ ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ และปรากฏอยู่ในบันทึกการเดินทางประเภทนิราศ เช่น “นิราศเมืองเพชร” ของสุนทรภู่ ในระหว่าง พ.ศ.๒๓๘๔- พ.ศ.๒๓๙๒ และ “นิราศเขายี่สาร” ของกศร.กุหลาบในสมัยรัชกาลที่ ๕
และยังปรากฏในบันทึกการเดินทางของเจ้านายบางพระองค์ที่เดินทางไปยังภาคใต้ หากไม่ใช้เรือกลไฟขนาดใหญ่วิ่งเลียบชายฝั่งไป ก็จะใช้เส้นทางเข้าคลองต่างๆ ผ่านยี่สาร เลียบชายฝั่งไปได้เช่นเดียวกัน
เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จตรวจราชการหัวเมืองแถบนี้ ทรงบันทึกเมื่อใช้เส้นทางเข้าคลองและออกทางทะเลเพื่อไปเพชรบุรีไว้ว่า
“ไปทางทะเลทางนี้ออกรู้สึกว่าไปอย่างผู้หลักผู้ใหญ่ท่านไปกันแต่ก่อน ดังถ้อยคำที่กล่าวในนิราศนรินทรอินทรแลนิราศสุนทรภู่ไปเมืองเพ็ชร เป็นต้น”
โคลงนิราศนรินทร์ของนายอินทร์นั้น บางบทบางตอนแต่งตามอย่างโคลงกำศรวลศรีปราชญ์ ซึ่งเป็นการบันทึกอารมณ์และการเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาออกสู่ทะเลในสมัยอยุธยา แต่ในนิราศนรินทร์ก็มีความไพเราะและบันทึกทั้งอารมณ์ความรู้สึกตลอดจนถึงสถานที่ได้อย่างละเมียดละไม การเดินทางจากกรุงเทพสู่เมืองกำเนิดนพคุณหรือบางสะพาน ก็ใช้เส้นทางแต่โบราณนั่นคือ ลัดเข้าคลองจากบางกอกสู่ท่าจีน แม่กลอง และเพชรบุรีตามลำดับ เมื่อออกจากคลองสู่ปากอ่าวในทะเล ซึ่งอยู่ในระหว่างทางจากแม่กลองและเพชรบุรี ได้บรรยายไว้ว่า
“ออกจากปากน้ำน่าน นองพราย
อรรณพพิศาลสาย ควั่งคว้าง
จากนางยิ่งตนตาย ทีหนึ่ง นะแม่
เทียรจักทอดตัวข้าง ชีพไว้กลางวน
สรวลเสียงพระสมุทรครื้น ครวญคะนอง
คลื่นก็คลี่คลายฟอง เฟื่องฟื้น
ดาลทรวงป่วนกามกอง กลอยสมุทร แม่ฮำ
ออกโอษฐ์ออกโอยสะอื้น อ่าวอื้ออลเวง”
แล้วเลี้ยวเข้าคลองอีกครั้งเพื่อเข้าแม่น้ำเพชรไปสู่เมืองเพชรบุรี
“บ้านแหลมเรือพี่เลี้ยว คลองจร
ระลึกคมแหลมศร เนตรน้อง
เสียวทรวงพี่โอยอร อกแตก ตายแม่
สุดสอดสายเนตรต้อง แม่ตั้งตาคอย
เห็นตะบูนรอยบั่นต้น ตัดรอน
ยังแต่ตอตะบูนทอน กิ่งกลิ้ง
เจียนใจพี่ขาดจร จากสวาท มาแม่
ทอนท่อนไมตรีทิ้ง ทอดไว้วังเวง”
ส่วนกลอนนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่ ได้บรรยายการเดินทางและสิ่งที่พบเห็น รวมถึงสภาพทางนิเวศน์ที่อุดมสมบูรณ์ของเขตป่าชายเลนและชีวิตของผู้คนไว้ได้อย่างเห็นภาพพจน์ จนราวกับได้ไปเห็นด้วยตนเอง เมื่อออกจากปากน้ำแม่กลองสู่ทะเล เดินเรือเลียบฝั่งสักพัก ก็จะเข้าปากคลองช่องหรือคลองยี่สารเก่า
“จนเรือออกนอกอ่าวดูเปล่าโว่ง ทะเลโล่งแลมัวทั่ววิถี
ไม่เห็นหนสนธยาเป็นราตรี แต่ลมดีดาวสว่างกระจ่างตา
สำรวลรื่นคลื่นราบดังปราบเรี่ยม ทั้งน้ำเปี่ยมป่าแสมข้างแควขวา
ดาวกระจายพรายพร่างกลางนภา แสงคงคาเค็มพราวราวกับพลอย
เห็นปลาว่ายกายสล้างกระจ่างแจ่ม แลแอร่มเรืองรุ้งชั้นกุ้งฟอย
เป็นหมู่หมู่ฟูฟ่องขึ้นล่องลอย ตัวน้อยน้อยนางมังกงขมงโกรย
ชื่นอารมณ์ชมปลาเวลาดึก หวนรำลึกแล้วเสียดายไม่วายโหย
แม้นเห็นปลาวารินจะดิ้นโดย ทั้งลมโชยเฉื่อยชื่นระรื่นเย็น
จะเพลินชมยมนาเวหาห้อง เช่นนี้น้องไหนเลยจะเคยเห็น
ทะเลโล่งโว่งว่างน้ำค้างกระเซ็น ดูดาวเด่นดวงสว่างเหมือนอย่างโคม
จะเปรมปรีดิ์ดีใจมิใช่น้อย น้องจะพลอยเพลินอารมณ์โดยชมโฉม
โอ้อายจิตคิดรักลักประโลม ทรวงจะโทรมตรงช่องปากคลองโคน
ด้วยมืดค่ำสำคัญที่นั่นแน่ เรียกแสมตายห่าพฤกษาโกร๋น
ลำพูรายชายเลนดูเอนโอน วายุโยนยอดระย้าริมสาคร
หิ่งห้อยจับวับวามอร่ามเหลือง ดูรุ่งเรืองรายจำรัสประภัสสร
เหมือนแหวนแก้วพลอยพรายเมื่อกรายกร ยังอาวรณ์แหวนประดับด้วยลับตา
เมื่อเข้าคลองช่องใกล้ถึงยี่สาร ก็ได้ยินเสียงชะนีร้องดังมาจากเขายี่สาร เมื่อยามย่ำรุ่งในบทนี้ได้บรรยายสัตว์ต่างๆ ที่อยู่ในสภาพนิเวศน์แบบป่าชายเลนไว้อย่างสังเกตและละเอียดถี่ถ้วน บทนี้แสดงอย่างชัดแจ้งที่สุดว่าคนในสมัยนั้นหรือตัวของสุนทรภู่เองมีความรู้เรื่องสภาพแวดล้อมอย่างดีเยี่ยม และสภาพนิเวศน์เช่นนี้ที่ถูกทำลายไปในปัจจุบัน และจำต้องเร่งฟื้นฟูอย่างยิ่ง
ในนิราศยี่สารของ ก.ศ.ร.กุหลาบ เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๒ แจ้งชัดว่านายกุหลาบคิดจะไปท่องเที่ยวตากอากาศและไหว้พระที่เขายี่สารพร้อมบุตรสาว แสดงให้เห็นว่าการท่องเที่ยวในอดีตสมัยนั้นยังนิยมที่จะไปเที่ยวบริเวณป่าชายเลนของชุมชนน้ำกร่อย เป็นที่นิยมของบรรดาผู้คนชั้นนำในสังคมสมัยนั้น ดังบทขึ้นต้นนิราศของก.ศ.ร.กุหลาบ
“นายกุหลาบจะนิราศคลาดสมร
ไปไหว้พระพุทธะชิณะวร ที่สิงขรโบราณยิสารมี”
ระยะทางจากกรุงเทพฯ ถึงยี่สารผ่านสถานที่ต่างๆ ก็ได้กล่าวถึงตามธรรมเนียมการแต่งนิราศทั่วไป เมื่อถึงยี่สารท้องเรือทะลุต้องจอดซ่อมแซมเรือ และขึ้นท่องเที่ยวบนเขาทั่วบริเวณวัด ทั้งพรรณนาสิ่งที่พบในบริเวณวัดโดยละเอียด วัดเขายี่สารได้รับการนับถือและรู้จักกันว่าเป็นวัดโบราณ ตามที่ก.ศ.ร.กุหลาบ เขียนว่า
“ไปไหว้พระปฏิมาสัทธาครัน อารามนั้นอยู่บนยอดบรรพตา
เขายิสารโบราณใหญ่ถนัด เป็นจังหวัดโบถวิหารนานหนักหนา
นามอาวาศราษฎร์เรียกกันเพรียกมา วัดแก้วฟ้ามาจนนานทุกวันนี้”
แม้จะยังสอบค้นจากชาวบ้านไม่ได้ว่า มีการเรียกวัดเขายี่สารว่า วัดแก้วฟ้า มาก่อน แต่ก็เห็นร่องรอยของความสำคัญของวัดเขายี่สารที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ดังที่ปรากฏบานประตูสลักไม้ที่หน้าพระวิหารวัดเขายี่สาร ซึ่งเป็นฝีมือช่างในสมัยอยุธยาตอนปลายที่สวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่ง
จนถึงวันนี้ การใช้เส้นทางโบราณที่พรรณนามาทั้งหมดก็กลายเป็นเพียงอดีต จนถึงวันนี้ ความหลังของการเดินทางโดยใช้เรือเข้าคลองเลียบชายฝั่งยังคงเหลือเพียงเรือขนถ่านลำเดียวของบ้านยี่สาร ที่ยังใช้เส้นทางโบราณขนส่งถ่านไม้โกงกางเข้าไปขายที่ท่าราชวงศ์ในกรุงเทพฯ หากหมดเรือลำนี้เส้นทางน้ำโบราณที่เคยใช้กันมาหลายร้อยปี ก็คงเหลือเพียงความทรงจำ
1
แม้จะเคยเป็นชุมชนการค้าและมีความสำคัญในเส้นทางสมัยโบราณ แต่ยี่สารวันนี้ได้กลายเป็นชุมชนที่ถูกลืม เมื่อการคมนาคมเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หวนคืน และการท่องเที่ยวไม่นิยมการล่องเรือชมความงามในธรรมชาติของป่าชายเลนอีกต่อไป และธรรมชาติของป่าชายเลนก็พินาศเสียหายไปมากเหลือเกิน
แต่ที่ยี่สารยังมีความทรงจำที่ดีเหลืออยู่อย่างมากมาย ในอนาคตพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านยี่สารที่ชาวบ้านคิดจัดทำขึ้นคงจะให้ข้อมูลความเป็นมาและความเป็น “ยี่สาร” แก่ผู้คนที่เข้าไปเยี่ยมชมได้อย่างดี และเส้นทางล่องเรือเที่ยวชมป่าโกงกางและป่าแสมและเส้นทางตามรอยนิราศ จะให้ภาพความสุขสงบเช่นที่สุนทรภู่เคยได้รับแม้ไม่ทั้งหมดแต่ก็ให้ความประทับใจมากทีเดียว สภาพแวดล้อมของชุมชนเล็กๆ ย่านโบราณกลางป่าชายเลนที่อยู่อาศัยกันอย่างสงบเรียบง่าย เป็นเสน่ห์ที่คงทนและยืนยาว มากเกินกว่าจะบรรยาย
ต้องไปเที่ยวดูสักครั้ง ไปเที่ยวแบบผู้ใหญ่ในบ้านเมืองของเราครั้งโบราณแต่เก่าก่อนได้เคยไปเที่ยวมาแล้ว..
#สยามเทศะโดยมูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
ติดตามบทความ วิดีโอ และรายการต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่
Official Web : https://siamdesa.org
โฆษณา