19 ม.ค. 2024 เวลา 12:44 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

'AI' Everywhere All At Once

40% ของงานจะถูกกระทบและไม่ใช่ทุกคนจะได้ประโยชน์อย่างเท่าเทียม ทำยังไงให้เราไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง?
“เมื่อเอาชนะไม่ได้ ก็ไปเป็นพวกเดียวกันดีกว่า”
(If You Can’t Beat Them, Join Them)
นี่คือคำกล่าวที่น่าจะอธิบายสถานการณ์ของเทคโนโลยี AI’ (Artificial Intelligence - ปัญญาประดิษฐ์) กับสังคมมนุษย์ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
โลกกำลังหมุนไปทางนั้น มนุษยชาติกำลังเดินหน้าสู่เส้นทางของการปฏิวัติทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ ที่อาจส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในแง่ของผลิตภาพ เพิ่มพูนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และยกระดับรายได้ของผู้คนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้ยังอาจนำไปสู่การแทนที่แรงงานมนุษย์และความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้นได้เช่นกัน
ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้สร้างความตื่นตาตื่นใจไปทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดความกังวลใจด้วยเช่นกัน สิ่งนี้จุดประกายให้เกิดคำถามสำคัญมากมายเกี่ยวกับผลกระทบที่ AI อาจมีต่อเศรษฐกิจโลก
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่แท้จริงนั้นคาดการณ์ได้ยาก (หรือคาดเดาไม่ได้เลยด้วยซ้ำ) เนื่องจาก AI จะมีความซับซ้อนมากกว่านวัตกรรมทุกอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ แต่สิ่งหนึ่งที่พอจะมั่นใจได้คือ เราไม่มีทางต่อต้านหรือหยุดการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ได้ ซึ่งนำไปสู่ความจำเป็นที่มนุษย์ในอนาคตจะต้องทำงานร่วมกับ AI (ไม่ว่าจะอยากทำหรือไม่ก็ตาม) และพัฒนาชุดกฎหมายนโยบายต่างๆ เพื่อใช้ประโยชน์จากศักยภาพอันมหาศาลของ AI อย่างปลอดภัย มีมาตรฐาน ระมัดระวัง เพื่อให้มนุษยชาติได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่
[[ #รูปแบบของงานที่จะเปลี่ยนไป ]]
ในปี 1764 เจมส์ ฮาร์กรีฟส์ (James Hargreaves) นักประดิษฐ์ชาวอังกฤษสร้างสิ่งประดิษฐ์หนึ่งขึ้นมาชื่อว่า “Spinning Jenny’ เครื่องปั่นด้ายที่สามารถช่วยให้คนงานทอผ้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ไซมอน จอห์นสัน อาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) เพิ่งตีพิมพ์หนังสือชื่อ *Power and Progress* ร่วมกับ ดารอน อะซีโมกลู (Daron Acemoglu) นักเศรษฐศาสตร์อีกท่านหนึ่งจาก MIT พวกเขาได้ศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีตลอดช่วง 1,000 ปีที่ผ่านมา ซึ่งครอบคลุมหัวข้อต่างๆ รวมถึง อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้า, การเดินทางรถไฟ, และแม้แต่การชอปปิงซื้อของ
พวกเขากล่าวว่าเครื่องปั่นด้ายชิ้นนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตเสื้อผ้า และสร้างความมั่งคั่งให้แก่ผู้คนจำนวนมากในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 อย่างไรก็ตาม นอกจากจะส่งผลดีแล้วยังมีด้านมืดด้วย เพราะอุปกรณ์นี้นำไปสู่ความต้องการฝ้ายที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้คนงานต้องทำงานหนักขึ้นเป็นเวลานาน ความต้องการฝ้ายที่สูงยังส่งผลให้ระบบทาสขยายตัวมากขึ้นในภาคใต้ของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
ความเหลื่อมล้ำเริ่มก่อตัวชัดเจนมากขึ้น
บางทีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ส่งผลประโยชน์ที่เท่าเทียมกันกับทุกๆ ฝ่าย
จอห์นสัน บอกว่า “มันเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าในการสร้างบางอย่างขึ้นมาแทนที่จะทำให้แน่ใจว่ามันเหมาะกับทุกคน” เขายกตัวอย่างเรื่องการเดินทางรถไฟที่ช่วยทำให้ชีวิตคนในอังกฤษสะดวกสบายมากขึ้น เดินทางได้ไกลขึ้นและได้ทานอาหารที่สดใหม่มากขึ้นเพราะการขนส่งที่รวดเร็วจากฟาร์มซึ่ง แต่ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีอย่าง ‘Self-Checkout’ (ระบบคิดเงินด้วยตัวเองที่ซูเปอร์มาร์เก็ต) กลับไม่ได้ทำให้ราคาสินค้าลดลงหรือทำให้ชีวิตง่ายขึ้นเลย บริษัทสามารถลดจำนวนพนักงานลงและช่วยประหยัดเงินมากขึ้นเท่านั้น
ผลกระทบของงานจาก AI จะมีความซับซ้อนและเป็นวงกว้างมากกว่านั้น
ในบทวิเคราะห์ล่าสุดจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF พบว่าโอกาสที่ AI จะเข้ามาแทนแรงงานมนุษย์เลยก็มีอยู่บ้าง แต่ในหลายกรณี AI น่าจะเข้ามาเสริมการทำงานของมนุษย์มากกว่า
การวิเคราะห์ของ IMF สะท้อนถึงทั้งสองแนวโน้มตรงนี้ โดยตำแหน่งงานเกือบ 40% ทั่วโลกมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจาก AI ถ้ามองย้อนไปในอดีตเทคโนโลยีอัตโนมัติและไอที มักส่งผลต่องานประจำที่ซ้ำซากน่าเบื่อ แต่สิ่งที่ทำให้ AI โดดเด่นและแตกต่างออกไปก็คือ ศักยภาพในการสร้างผลกระทบต่องานทักษะสูงมากกว่าที่ผ่านมา ดังนั้นในประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้วจึงมีความเสี่ยงจาก AI มากกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จาก AI ได้มากกว่า เมื่อเทียบกับตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา
หมายความว่ายังไง?
พูดง่ายๆ ก็คือในประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว AI อาจส่งผลต่องานราว 60% โดยครึ่งหนึ่งอาจปรับตัวเข้ากับ AI ได้ดีขึ้น เกิดการทำงานร่วมกันและเพิ่มผลผลิต อีกครึ่งหนึ่ง AI อาจเข้ามาทดแทนงานบางส่วน ลดความต้องการแรงงาน ส่งผลต่อค่าแรงและการจ้างงานลดลงด้วย
ส่วนในประเทศที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนาและประเทศรายได้น้อย คาดว่า AI จะส่งผลต่องาน 40% และ 26% ตามลำดับ แต่อย่าเพิ่งดีใจไป เพราะแม้ได้รับผลกระทบจาก AI น้อยกว่า แต่ด้วยความที่ขาดโครงสร้างพื้นฐานและแรงงานทักษะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คนส่วนใหญ่จึงอาจขาดโอกาสที่จะดึงศักยภาพของ AI มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ส่งผลให้คนส่วนน้อยหรือผู้ที่เข้าถึงทักษะใหม่ๆ ที่กำลังสร้างผลกระทบระดับโลกในตอนนี้ได้รับผลประโยชน์ไปอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทั้งในประเทศและระหว่างประเทศมากขึ้น
ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แล้วระหว่างคนรวยกับคนจนภายในประเทศมีโอกาสที่จะชัดเจนและถ่างออกมากขึ้น คนที่ประยุกต์ใช้ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพอาจมีรายได้และค่าแรงเพิ่มขึ้น ในขณะที่คนอื่นที่ตามไม่ทันอาจถูกทิ้งไว้ข้างหลังเลย
นอกจากนั้นแล้วงานวิจัยยังชี้ว่า AI สามารถช่วยให้พนักงานรุ่นใหม่เพิ่มผลผลิตได้เร็วขึ้น คนรุ่นใหม่จึงอาจปรับตัวกับโอกาสใหม่ ๆ ได้ง่ายกว่า ขณะที่คนรุ่นเก่าอาจตามไม่ทัน
ผลกระทบต่อรายได้จากการทำงานจะขึ้นอยู่กับว่า AI เข้ามาเสริมทักษะของคนที่มีรายได้สูงมากแค่ไหน หาก AI ช่วยคนที่มีรายได้สูงมาก ๆ ก็อาจทำให้รายได้ของกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด นอกจากนี้ผลกำไรจากการเพิ่มผลผลิตของบริษัทที่ใช้ AI ก็มักจะตกไปที่ผู้ถือหุ้นซึ่งมักเป็นคนรวยอยู่แล้ว ทั้งสองปัจจัยนี้ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก
โดยภาพรวมแล้ว IMF มองว่า AI น่าจะทำให้ความเหลื่อมล้ำโดยรวมแย่ลง เป็นแนวโน้มที่น่ากังวลสำหรับผู้กำหนดนโยบายต้องหาทางแก้ไขอย่างจริงจังเพื่อป้องกันความตึงเครียดทางสังคม รัฐบาลต้องสร้างระบบสวัสดิการที่ครอบคลุมและจัดโปรแกรมฝึกอบรมใหม่ให้กับแรงงานที่เสี่ยง จะทำให้การใช้ AI เป็นไปอย่างทั่วถึง ลดความเสี่ยงในการตกงาน และลดความเหลื่อมล้ำที่จะเกิดขึ้นด้วย
[[ #โลกของ_AI_ที่ทุกคนมีส่วนร่วม ]]
ในบทสัมภาษณ์กับ CNN ของบิล เกตส์ (Bill Gates) มหาเศรษฐีและนักธุรกิจชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ เขาได้กล่าวถึงความก้าวหน้าของ AI และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสังคมโลกในอนาคต โดยบอกว่า AI มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงโลกไปในหลายๆ ด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
ตัวอย่างเช่น AI สามารถช่วยเพิ่มผลผลิต เร่งการวิจัยและพัฒนา และปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานในหลาย ๆ อุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังสามารถช่วยแก้ปัญหาที่ซับซ้อน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโรคระบาด
เกตส์เปรียบเทียบความก้าวหน้าของ AI กับการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในปี 1900 ว่า
"ตอนนั้นผู้คนกังวลว่า 'แล้วคนเรามีอะไรทำกันล่ะ?' แต่ความจริงคือ เกิดงานใหม่ๆ ขึ้นมากมาย หมวดหมู่ตำแหน่งงานใหม่ๆ ก็เกิดขึ้น และวันนี้เราก็ดีกว่าสมัยที่ทุกคนยังต้องทำงานในไร่กันเยอะ กับ AI ก็จะเป็นแบบนั้นแหละ"
สิ่งที่เกตส์ต้องการสื่อว่า แม้การปฏิวัติ AI อาจทำให้บางตำแหน่งงานล้าสมัย แต่เทคโนโลยีนี้จะไม่ใช่หายนะของมนุษยชาติ กลับกัน การเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกจาก AI จะส่งผลให้เกิดงานใหม่ๆ และโอกาสใหม่ๆ ในสังคม เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับการปฏิวัติเทคโนโลยีการเกษตรในอดีต
ซึ่งถึงแม้จำนวนแรงงานในภาคเกษตรจะลดลง แต่ก็มีอุตสาหกรรมและงานใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทำให้คุณภาพชีวิตโดยรวมของมนุษย์ดีขึ้นกว่าสมัยที่ต้องพึ่งพาการทำเกษตรเพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม เกตส์ยังเตือนว่า AI อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ร้ายแรงเช่นกัน เช่น การแทนที่แรงงาน การขยายความเหลื่อมล้ำ และการใช้ AI ในทางที่ผิด (โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์) การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพร้อมกับความน่ากลัวและโอกาสเสมอ
[[ #อุตสาหกรรมและการลงทุนที่น่าสนใจกับการเติบโตของ_AI ]]
AI มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมมากมาย ทั้งในด้านการเพิ่มผลผลิต ปรับปรุงประสิทธิภาพ และสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ยกตัวอย่าง
* อุตสาหกรรมการผลิต: AI สามารถช่วยเพิ่มผลผลิตและปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้ โดยนำมาใช้ในการควบคุมเครื่องจักร ตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ตัวอย่างเช่น โรงงานผลิตรถยนต์ใช้ AI ในการควบคุมหุ่นยนต์เชื่อมและประกอบรถยนต์ ทำให้สามารถผลิตรถยนต์ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น
* อุตสาหกรรมบริการ: ยกระดับประสิทธิภาพของการให้บริการแก่ลูกค้าได้ โดยใช้ AI ในการตอบคำถามลูกค้า ให้บริการลูกค้า และแนะนำผลิตภัณฑ์และบริการที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย ตัวอย่างเช่น ธนาคารใช้ AI ในการตอบคำถามลูกค้าทางโทรศัพท์ ทำให้ลูกค้าไม่ต้องรอที่จะต้องคุยกับพนักงานที่เป็นมนุษย์สำหรับคำถามที่ไม่ซับซ้อนมากนัก
* อุตสาหกรรมการเงิน: ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่และคาดการณ์แนวโน้มตลาด วิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน บริหารความเสี่ยง และจัดการการลงทุน
* อุตสาหกรรมสุขภาพ: ช่วยวินิจฉัยโรค พัฒนายารักษาโรค ให้บริการด้านสุขภาพทางไกล ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลใช้ AI ในการวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคมะเร็ง ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคได้เร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น หรือใช้ AI เพื่อช่วยจัดการเอกสารต่างๆ ทางการแพทย์ที่เมื่อก่อนต้องอาศัยแรงงานมนุษย์
* อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์: ปรับปรุงประสิทธิภาพของการขนส่งและโลจิสติกส์ได้โดยวางแผนเส้นทางการขนส่ง บริหารจัดการคลังสินค้า และติดตามสินค้า ทำให้ขนส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็วและประหยัดต้นทุน
นอกจากนั้นแล้ว อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมสื่อ และอุตสาหกรรมการศึกษา ต่างก็คาดว่าจะได้รับผลประโยชน์จากการนำ AI มาใช้เช่นกัน
แมคคินเซย์ (McKinsey) บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ คาดการณ์ว่า AI มีศักยภาพเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจโลกได้ระหว่าง 14-22 ล้านล้านเหรียญ
ฝ่ายที่สนับสนุน AI มองว่าเทคโนโลยีนี้จะสร้างความมั่งคั่งและยกระดับคุณภาพชีวิต ช่วยเพิ่มเวลาว่างและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์มากขึ้น
1
แต่ฝั่งที่กังวลก็มีเสียงสะท้อนว่า AI จะนำไปสู่การสูญเสียตำแหน่งงาน ตัวอย่างเช่น บรรดาคนเขียนบทและนักแสดงฮอลลีวูดที่กังวลว่าจะถูก AI มาแทนจนเกิดการประท้วงขึ้นมาเมื่อปีก่อน (กว่าจะตกลงกันได้ก็ใช้เวลาหลายเดือน)
ธนาคาร Natixis จากฝรั่งเศสนำเสนอผลวิจัยเมื่อกลางปี 2023 บอกว่าสุดท้ายแล้วความมั่งคั่งส่วนใหญ่ไหลไปสู่มหาเศรษฐีเพียงไม่กี่คน และตำแหน่งงานที่เกิดขึ้นจำนวนมากอาจจะไม่ต้องใช้ทักษะระดับสูงหรือได้รับค่าแรงสูงขนาดนั้น
แต่ท้ายที่สุดแล้วเราไม่มีทางต้านทานกระแสโลกที่ AI เกิดขึ้นทุกที่ทุกแห่งพร้อมๆ กันได้ (เรียกว่าเป็นยุคที่ ‘AI Everywhere All At Once’ ก็คงไม่ผิดนัก) คงได้แต่เรียนรู้และปรับตัวให้เข้าไปอยู่เป็นพวกเดียวกัน ใช้มันให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในขณะเดียวกันก็ต้องควบคุมและทำให้แน่ใจว่าศักยภาพของมันกระจายไปสู่มนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน (ให้มากที่สุด) และไม่เพิ่มความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แล้วในสังคมให้เลวร้ายลงไปมากกว่านี้
- โสภณ ศุภมั่งมี (บรรณาธิการ #aomMONEY)
#AI #ArtificialIntelligence #AIEverywhere #ปัญญาประดิษฐ์ #ธุรกิจ #การเงิน #ลงทุน
โฆษณา