20 ม.ค. เวลา 02:30 • ธุรกิจ

กรณีศึกษา TU ขาดทุนจากการลงทุน Red Lobster 18,500 ล้าน แต่ยังมีเงินซื้อหุ้นคืนได้สบาย

ข่าวใหญ่ในวงการธุรกิจช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป หรือ TU ตัดสินใจถอนการลงทุนใน Red Lobster เชนร้านอาหารซีฟูดชื่อดังในสหรัฐอเมริกา
ซึ่งพาดหัวข่าวที่ทำให้หลายคนตกใจคือ TU ต้องบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าเงินลงทุน สูงถึง 18,500 ล้านบาท
และที่ทำให้หลายคนงงยิ่งขึ้นไปอีกคือ ในขณะที่บริษัทประกาศผลขาดทุนนับหมื่นล้านบาท ในวันเดียวกันนั้นเอง บริษัทกลับประกาศซื้อหุ้นคืน โดยจะใช้เงินไม่เกิน 3,600 ล้านบาท
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ในเมื่อบริษัทมีผลขาดทุนจากการลงทุนมากขนาดนั้น ทำไมบริษัทยังมีเงินมาซื้อหุ้นคืนได้ ?
ประเด็นนี้ ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง..
ถ้าอยากเข้าใจเรื่องนี้ ก็ต้องย้อนกลับไปในปี 2559 ในเวลานั้น TU ต้องการเข้าไปลงทุนในธุรกิจร้านอาหาร เพื่อต่อยอดธุรกิจอาหารทะเลสำเร็จรูปของตัวเอง
ซึ่งในตอนนั้นกองทุน Golden Gate Capital ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Red Lobster ต้องการขายธุรกิจนี้อยู่พอดี
ทาง TU เลยตัดสินใจเข้าลงทุนใน Red Lobster ด้วยวงเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินลงทุนใน..
1
- หุ้นสามัญ คิดเป็นสัดส่วน 25% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ Red Lobster (ประมาณ 8,194 ล้านบาท)
- หุ้นบุริมสิทธิที่แปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญได้อีก 24% ของหุ้นทั้งหมด (ประมาณ 12,479 ล้านบาท)
1
โดยผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ จะได้รับเงินปันผลในอัตราที่แน่นอน และจะได้รับเงินก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ เพียงแต่ว่าจะไม่มีสิทธิ์ออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น จนกว่าจะแปลงเป็นหุ้นสามัญ
ซึ่งตามหลักการบัญชีนั้น เมื่อบริษัทมีสิทธิ์ออกเสียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด แต่มากกว่า 20% เราจะเรียกบริษัทที่เราเข้าไปลงทุนว่า “บริษัทร่วม”
1
และเราจะต้องบันทึกบัญชีตามวิธีส่วนได้เสีย
ซึ่งก็คือ นำเฉพาะส่วนแบ่งกำไร/ขาดทุน ของบริษัทร่วม ตามสัดส่วนหุ้นที่เราถือ มารวมอยู่ในงบการเงินของเรา
ดังนั้นแล้ว เงินลงทุนในหุ้นสามัญของ Red Lobster จึงถูกบันทึกในงบการเงินของ TU ว่าเป็น “เงินลงทุนที่รับรู้ตามวิธีส่วนได้เสีย” ในส่วนของสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนนั่นเอง
ซึ่งในแต่ละปี เราจะนำส่วนแบ่งกำไร/ขาดทุน ของบริษัทร่วม ตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท มารวมกับมูลค่าเงินลงทุนที่รับรู้ตามวิธีส่วนได้เสีย
สรุปง่าย ๆ ว่า หากบริษัทร่วมมีผลประกอบการที่ทำกำไร
มูลค่าเงินลงทุนในบริษัทร่วม ในงบแสดงฐานะการเงินของเรา ก็จะเพิ่มขึ้น
แต่ถ้าบริษัทร่วม มีผลประกอบการขาดทุน
มูลค่าเงินลงทุนในบริษัทร่วมนั้น ก็จะลดลงตามไปด้วย
1
อย่างเช่น ในกรณีของ Red Lobster ที่มีผลขาดทุนมาตลอด นับตั้งแต่ TU เข้าไปลงทุน
ทำให้จากตอนแรกที่ TU มีมูลค่าตามบัญชีของเงินลงทุนในหุ้นสามัญของ Red Lobster อยู่ที่ 8,194 ล้านบาทในปี 2559 เหลือเพียงราว ๆ 2,800 ล้านบาท ตอนสิ้นไตรมาส 3/2566
นอกจากนี้ TU ยังต้องแบกรับภาระผลขาดทุนของ Red Lobster เข้ามาในงบกำไรขาดทุนของบริษัท ตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ 25% อีกด้วย
ซึ่งตลอด 8 ปีที่ผ่านมา TU ต้องแบกรับส่วนแบ่งขาดทุนของ Red Lobster ในแต่ละปี ไม่น้อยกว่าหลักร้อยล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังปี 2563 ที่ต้องแบกรับผลขาดทุนมากถึงหลัก “พันล้านบาทต่อปี” เลยทีเดียว
ส่วนเงินลงทุนในหุ้นบุริมสิทธิ จัดอยู่ในรายการ “สินทรัพย์ทางการเงินที่วัดด้วยมูลค่ายุติธรรม” ในส่วนของสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
2
ซึ่งในส่วนของมูลค่าเงินลงทุนในหุ้นบุริมสิทธินี้ จะไม่ถูกลดมูลค่าลง ตามส่วนแบ่งขาดทุนของ Red Lobster แต่จะถูกคิดมูลค่าด้วยสมมติฐานทางการเงินอื่น
1
ดังนั้นแล้ว การบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าของ TU มูลค่า 18,500 ล้านบาท ที่จะเกิดขึ้นในงบกำไรขาดทุน ไตรมาส 4/2566 คือการด้อยค่ามูลค่าตามบัญชีของเงินลงทุนในหุ้นสามัญ ที่เหลืออยู่ราว 2,800 ล้านบาท
และที่เหลือคือ การตั้งด้อยค่าในส่วนของเงินลงทุนในหุ้นบุริมสิทธิทั้งหมด
จะเห็นได้ว่าการบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าเงินลงทุนของ TU เกิดจากการบันทึกค่าใช้จ่าย (ด้อยค่า) ในงบกำไรขาดทุน
และหักลบมูลค่าสินทรัพย์ ออกไปจากงบแสดงฐานะการเงินเท่านั้น
2
ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระแสเงินสดที่บริษัททำได้ในปัจจุบันเลย เพราะเงินลงทุนใน Red Lobster ถูกจ่ายออกไปตั้งแต่ปี 2559 เรียบร้อยแล้ว
ดังนั้น ตัวเลขขาดทุน 18,500 ล้านบาทของ TU จึงเป็นเพียงตัวเลขขาดทุน ที่เกิดขึ้นในทางบัญชีเท่านั้น
1
และต่อให้ไม่มีการตั้งด้อยค่าเงินลงทุนรวดเดียวเหมือนครั้งนี้ ตราบใดที่ Red Lobster ยังขาดทุนเรื่อย ๆ อยู่แบบนี้
ถึงอย่างไรเงินลงทุนในหุ้นสามัญของ Red Lobster ก็ต้องถูกทยอยปรับลดลงตามส่วนแบ่งผลขาดทุน จนเหลือ 0 ในเวลาอันใกล้นี้อยู่ดี
การตั้งด้อยค่าเงินลงทุนรวดเดียวแบบนี้ จึงน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีในมุมบริษัท เพราะจะทำให้ TU ไม่ต้องแบกรับผลขาดทุนจากส่วนแบ่งขาดทุน เข้ามาในงบกำไรขาดทุน ปีละกว่าพันล้านบาท ต่อเนื่องไปอีกหลายปี..
1
และถ้าในอนาคต บริษัทสามารถหาผู้ซื้อหุ้น Red Lobster ได้ บริษัทก็จะบันทึกเงินที่ได้จากการขายหุ้น เป็นกำไรพิเศษในงบกำไรขาดทุนได้อีก
เมื่อถึงเวลานั้น บริษัทก็จะมีกระแสเงินสดจากการขายเงินลงทุนในบริษัทร่วม เข้ามาที่บริษัทด้วย
1
แต่ถึงแม้ TU จะยังหาผู้ซื้อธุรกิจ Red Lobster ต่อจากบริษัทไม่ได้ในเร็ว ๆ นี้ บริษัทก็ยังมีความสามารถในการซื้อหุ้นคืน และจ่ายปันผลได้อยู่ดี
1
เพราะถ้าเราดูจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดในไตรมาสล่าสุด ก็จะเห็นได้ว่า TU มีเงินสดมากถึง 8,395 ล้านบาท
นอกจากนี้ในแต่ละปี บริษัทก็สามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ปีละไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว
2
จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมบริษัทถึงสามารถประกาศว่าจะซื้อหุ้นคืนได้ โดยใช้เงินประมาณ 3,600 ล้านบาท ได้อย่างไม่มีปัญหา
การบันทึกผลขาดทุน จากการด้อยค่าเงินลงทุนของ TU ถือเป็นกรณีศึกษาให้เราเรียนรู้ได้เป็นอย่างดีว่า แม้ในบางครั้งบริษัทจะมีผลขาดทุน จากการลงทุนในอดีตที่ผิดพลาด
แต่ถ้าบริษัทยังมีธุรกิจหลักที่สร้างกระแสเงินสดได้อย่างสม่ำเสมอ ผลขาดทุนที่ดูเหมือนจะมีมูลค่ามโหฬาร ก็อาจไม่ได้ทำให้บริษัทต้องสะดุดล้ม อย่างที่คิด..
 
References:
2
โฆษณา