20 ม.ค. เวลา 04:56 • ความคิดเห็น

Outlive หนังสือเปลี่ยนชีวิตแห่งปี 2024

ตอนที่ 2: โรคหัวใจและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคอเลสเตอรอล
1
ความเดิมจากตอนที่ 1 - Outlive ที่เขียนโดย Peter Attia เป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิตแห่งปี 2023/2024 เพราะมันทำให้ผมตระหนักได้ว่า ถ้าไม่ดูแลสุขภาพเสียแต่ตอนนี้ ตอนแก่เราจะเจ็บป่วยและทุกข์ทรมาน จาก “สี่พญามาร” อันได้แก่ เบาหวาน โรคหัวใจ มะเร็ง และโรคสมองเสื่อม
1
ตอนที่แล้วเราได้คุยถึงพญามารตัวแรกคือเบาหวานไปแล้ว ตอนนี้เราจะมาคุยกันถึงโรคหัวใจครับ โดยส่วนไหนที่ผมหาข้อมูลมาเอง ไม่ได้เอามาจากหนังสือ Outlive ผมจะใส่ไว้ในวงเล็บ [ ] ครับ
1
[โรคหัวใจหรือ cardiovascular disease เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเกือบทุกประเทศในโลก
ซึ่งโรคหัวใจที่เราคุ้นหูกันก็คือหัวใจวาย กับ สโตรค (stroke) ซึ่งไม่เหมือนกัน
หัวใจวาย หรือ heart attack เกิดจากหัวใจขาดเลือด
สโตรค เกิดจากสมองขาดเลือด หรือจะเรียกว่า brain attack ก็จะจำได้ง่ายขึ้น
1
ทั้งสองโรค เกิดจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis ออกเสียงว่า "แอ๊ธธะโร สะเค ลอโร้ซิส") คือการมีไขมันไปสะสมระหว่างหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดชั้นในหนาตัวขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดหลอดเลือดตีบตัน
1
โรคหัวใจคือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเกือบทุกประเทศทั่วโลก (ของไทยเป็นอันดับสองรองจากมะเร็ง)
ในปี 2021 มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกทั้งหมดประมาณ 58.5 ล้านคน มากกว่า 1 ใน 3 หรือ 20.5 ล้านคนเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ
อเมริกามีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจ 7 แสนคน คิดเป็น 210 คนในประชากรทุกหนึ่งแสนคน
ส่วนประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจปีละประมาณ 60,000 คน คิดเป็น 84 คนในประชากรทุกแสนคน ซึ่งผมคิดว่าตัวเลขต่ำผิดปกติจนไม่ค่อยอยากเชื่อสถิตินี้ เพราะประเทศอื่นๆ อย่างญี่ปุ่นหรือมาเลเซียล้วนมีอัตราส่วนเกิน 200 คนต่อหนึ่งแสนทั้งนั้น
แม้ตัวเลขจะยังสูงอยู่ แต่ความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคหัวใจของเราก็ยังก้าวหน้ากว่าโรคมะเร็งหรือสมองเสื่อม เมื่อเทียบกับ 100 ปีที่แล้ว อัตราการป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจลดลงมากที่สุดในบรรดาสี่พญามาร]
เราถูกสอนมาว่า ให้ระวังคอเลสเตอรอลสูง ใครที่คอเลสเตอรอลเกิน 200 นี่น่าเป็นห่วงและควรกินยา
แต่ Dr.Attia บอกว่า ค่า total cholesterol ที่เป็นผลรวมของ HDL, LDL และ Triglyceride นั้นแทบไม่มีประโยชน์ในการทำนายความเสี่ยงของโรคหัวใจ
จริงๆ แล้วคอเลสเตอรอลไม่ได้มีอันตรายต่อร่างกาย เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อร่างกายในการสร้างฮอร์โมน วิตามินดี และกรดน้ำดี
สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ คือคอเลสเตอรอลที่เราได้จากอาหาร เป็นเพียง 20% ของคอเลสเตอรอลทั้งหมดในร่างกายของเราเท่านั้น
2
อีก 80% ที่เหลือ เป็นคอเลสเตอรอลที่ร่างกายของผลิตขึ้นมาด้วยตัวเอง โดยมีตับเป็นผู้ผลิตหลัก แต่ลำไส้และสมองก็ผลิตคอเลสเตอรอลด้วยเช่นกัน
เรามักจะบอกว่า HDL คือไขมันดี ส่วน LDL คือไขมันร้าย เราจึงนึกว่าไขมันกับคอเลสเตอรอลคือสิ่งเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วมันมีอะไรลึกไปกว่านั้น
เนื่องจากคอเลสเตอรอลนั้นไม่ละลายน้ำ จึงไม่อาจเดินทางไปในกระแสเลือดได้ด้วยตัวเองเหมือนกลูโคสหรือโซเดียม คอเลสเตอรอลจำเป็นต้องอาศัยยานพาหนะที่ชื่อว่า lipoprotein (“ลิโปโปรตีน”)
HDL ย่อมาจาก High Density Lipoprotein ส่วน LDL ก็ย่อมาจาก Low Density Lipoprotein
Density ในที่นี้หมายถึงความหนาแน่นของอะไร?
มันคือความหนาแน่นของโปรตีนเมื่อเทียบกับไขมัน
1
HDL ก็คือ lipoprotien ที่มีสัดส่วนของโปรตีนสูงเมื่อเทียบกับไขมัน และ Low Density ก็แปลว่ามีความเข้มข้นของโปรตีนไม่เยอะ หรือแปลว่ามีไขมันเยอะนั่นเอง
ทั้ง HDL และ LDL คือยานพาหนะที่ลำเลียงคอเลสเตอรอลไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย แถมยังมีการถ่ายเทคอเลสเตอรอลระหว่าง HDL กับ LDL อีกด้วย
พูดง่ายๆ ก็คือ คอเลสเตอรอลเป็น “สัมภาระ” ส่วน HDL หรือ LDL เป็น “เรือดำน้ำ” ที่เคลื่อนย้ายสัมภาระไปมา
คอเลสเตอรอลซึ่งเป็นสัมภาระและจำเป็นต่อการใช้ชีวิตจึงไม่ได้เป็นอันตรายต่อร่างกาย สิ่งที่เป็นอันตรายคือเรือดำน้ำอย่าง LDL ต่างหาก
เวลาตรวจเลือด เรามักจะดูค่า LDL-C โดย C ย่อมาจาก Cholestorol
LDL-C ก็คือคอเลสเตอรรอลที่ถูกขนส่งด้วยเรือดำน้ำ LDL
หมอบอกว่า LDL-C ไม่ควรสูงกว่า 130 mg/dL (dL = decilitre)
แต่ตัวปัญหาจริงๆ คือสิ่งที่ติดมากับ LDL ที่เรียกว่า apoB อ่านว่า “เอโพบี” โดย apo ย่อมาจาก apolipoprotein และ apo คือ prefix มีความหมายว่า away
apoB เป็นเหมือนขดลวดหุ้มอยู่รอบตัว LDL อีกที แถม apoB ไม่ได้มีแค่ใน LDL แต่มีอยู่ใน VLDL และ IDL ด้วย (VL = Very Low, I = Intermediate) อีกด้วย
ขณะที่ HDL ก็มีขดลวดรอบๆ เหมือนกัน ชื่อว่า apoA แต่มีพฤติกรรมต่างออกไป
1
ดังนั้น ถ้าอยากรู้ว่าเรามีความเสี่ยงโรคหัวใจแค่ไหน ตอนตรวจเลือดควรบอกพยาบาลว่าอยากดูค่า apoB ด้วย [ซึ่งธรรมดาเขาไม่ค่อยวัดกัน ผมกลับไปดูประวัติการตรวจสุขภาพของตัวเองก็ไม่มีค่านี้ ดังนั้นถ้าอยากวัดอาจต้องจ่ายเงินเพิ่ม]
1
เพื่อให้เห็นภาพว่า apoB สร้างปัญหาอย่างไร ให้ลองนึกถึงบ้านเรือนในเมืองนอกที่อยู่กันเป็นบล็อคเรียงรายอย่างเป็นระเบียบ
ถนนหรือ street ที่พาดผ่านหน้าบ้านคือเส้นเลือดของเรา และรั้วบ้านด้านนอกคือผนังหลอดเลือด
เวลา HDL วิ่งผ่านมา apoA ที่หุ้ม HDL อยู่ก็จะติดอยู่ตามรั้วบ้าน อาจเข้ามาทักทายเจ้าของบ้านตรงระเบียงหน้าบ้าน (porch - พื้นที่ระหว่างรั้วบ้านกับตัวบ้าน) แต่พอสักพักก็จะร่ำลาและจากไป
1
แต่พอเวลา LDL/VLDL/IDL วิ่งผ่านมา apoB จะติดตามรั้วบ้าน เข้ามาตรงระเบียงบ้าน แล้วก็นั่งแช่อยู่อย่างนั้นไม่ยอมจากไปไหน แถมยังช่วนเพื่อนๆ apoB ตัวอื่นๆ ที่ผ่านมาให้มาปูเสื่อจัดปาร์ตี้กันอย่างอิ่มหนำสำราญในรั้วบ้านคนอื่นหน้าตาเฉย
2
ซึ่งเมื่อ apoB มาซ่องสุมอยู่นานๆ เข้า ก็จะเกิดกระบวนการ oxidation และเริ่มเกาะติดแน่น
จากนั้น ร่างกายก็จะแก้ปัญหาด้วยการโทร 191 เรียกเม็ดเลือดขาวชื่อ monocyte ที่ทำตัวเหมือนแพ็คแมน (Pac-Man) ออกมากินพวก apoB เกเรเหล่านี้
2
แต่ถ้ากินมากเกินไปเม็ดเลือดขาวก็จะท้องแตกกลายร่างเป็นสิ่งที่มีหน้าตาคล้ายๆ กับเมล็ดโฟมสีขาว (foam cell) เมื่อมีเมล็ดโฟมสีขาวเรียงรายกันเยอะ ผนังเลือดก็จะมี “ลายไขมัน” (fatty streak) ติดอยู่
ซึ่งลายไขมันนี้เกิดได้ตั้งแต่คนวัยหนุ่มสาวเลยทีเดียว ผลการชันสูตรศพของคนที่เสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆ เช่นอุบัติเหตุหรือการฆาตรกรรม ก็ล้วนเจอลายไขมันเกาะผนังหลอดเลือด จึงมีการคาดการณ์ว่าประมาณ 1 ใน 3 ของคนอายุ 16-20 ปีก็มีลายไขมันบนผนังหลอดเลือดกันแล้ว
แสดงว่าผู้อ่านหนังสือเล่มนี้ (หรือบทความนี้) ก็น่าจะมีลายไขมันเกาะผนังหลอดเลือดแล้วเช่นกัน แถมยังไม่มีวิธีการตรวจพบได้อีกด้วย
แต่ไม่ต้องเป็นกังวลไป เราคงไม่ได้เป็นโรคหัวใจเร็วๆ นี้ สิ่งที่เราต้องตระหนักก็คือ กว่าเราจะหัวใจวายหรือเป็นสโตรค ต้องใช้เวลาสะสมของปัจจัยนานเป็นสิบปี ไม่มีใครเป็นสโตรคจากสาเหตุเพียงชั่วข้ามคืน
เมื่อ foam cell สะสมขึ้นมากๆ ก็จะกลายเป็นคราบที่ยังไม่ได้เกาะตัวแน่น (non-calcified plaque) พอนานๆ ไปก็จะพัฒนาไปเป็นคราบหินปูนหรือตะกรัน (calcified plaque) ซึ่งเมื่อถึงขั้นนี้เราสามารถใช้เครื่อง Calcium Scan ในการตรวจหาคราบหินปูนได้
ตัวคราบหินปูนนั้นเอาจริงๆ ไม่ได้อันตรายเท่าไหร่เพราะว่าเกาะติดแน่นอนและข้างเสถียร แต่การมีอยู่ของคราบหินปูนในหลอดเลือดคือสัญญาณที่บอกเราว่าเส้นเลือดของเรามีคราบที่ไม่เสถียรเกาะอยู่ไม่น้อย และถ้าคราบนี้หลุดออกจากผนังหลอดเลือด ล่องลอยไปตามกระแสเลือดและไปขัดขวางการจราจร ก็ย่อมนำไปสู่ heart attack (หัวใจวาย) หรือ brain attack (สโตรค) ได้นั่นเอง
นอกจาก apoB แล้ว ยังมีวายร้ายอีกตัวหนึ่งที่คนไม่ค่อยรู้จัก ชื่อว่า Lp(a) (“แอลพีลิทเทิ่ลเอ”) ซึ่งคนที่มีค่านี้สูงๆ มีโอกาสที่จะ “หัวใจวายก่อนวัยอันควร” (premature heart attacks)
ค่า Lp(a) สูงเกิดจากกรรมพันธุ์ บางคนมีค่านี้สูงกว่าคนปกติถึงร้อยเท่า ดังนั้นถ้าใครมีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ ก็ควรตรวจเลือดหาค่านี้ด้วยเช่นกัน
2
คำถามสำคัญก็คือเราจะลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจได้อย่างไร
แม้จะมีความเชื่อว่าการมี “ไขมันตัวดี” อย่าง HDL สูงๆ จะช่วย แต่ Dr.Attia บอกว่าจากงานวิจัยยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า HDL ที่สูงจะลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจได้จริงๆ
ถ้าอยากลดความเสี่ยงโรคหัวใจ สิ่งที่ต้องโฟกัสคือการลดค่า LDL ให้ต่ำที่สุด (ซึ่งก็จะทำให้ apoB ซึ่งเป็นวายรายตัวจริงน้อยลงไปโดยปริยาย)
การออกกำลังกาย ไม่ได้ช่วยให้ค่า LDL ลดลง (อย่างน้อยก็ไม่ใช่ในทางตรง) การลดค่า LDL ที่ได้ผล ก็คือการปรับพฤติกรรมการกินและการใช้ยา
เพื่อจะลด LDL เราควรหลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัว (saturated fats) ที่มาจากเนื้อสัตว์บก และกินไขมันไม่อิ่มตัว (unsaturated fats) ที่มาจากพืชหรือปลา
[จากประสบการณ์ตรงของคนที่ไม่ได้สนใจเรื่องอาหารการกินเท่าไหร่ ผมไม่เคยจำได้ว่าเลยว่า อะไรคือไขมันอิ่มตัว อะไรคือไขมันไม่อิ่มตัว แต่ผมพบวิธีจำได้ง่ายๆ แล้ว นั่นก็คือ อะไรที่กินแล้ว “อิ่มท้อง” ก็มักจะมีไขมัน “อิ่มตัว” (เนื้อ หมู ไก่ แกะ) อะไรที่กินแล้วไม่ค่อยอยู่ท้องเท่าไหร่ ก็คือไขมันไม่อิ่มตัว (ปลา อะโวคาโด แอลมอนด์ฯลฯ)
1
เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว มีหลายองค์กรออกมาเตือนให้ระวังการบริโภคไข่ไก่ เพราะจะทำให้คอเลสเตอรอลสูง แต่ในเมื่อไข่ไก่ไม่ได้มีไขมันอิ่มตัว การกินไข่จึงไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจแต่อย่างใด เพราะมันไม่ได้ไปเพิ่ม LDL
1
Peter Libby หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ เคยกล่าวไว้ว่า โรคหัวใจอาจจะสูญพันธุ์ ถ้าประชากรทุกคนมีค่า LDL-C เท่ากับตอนที่เราอยู่ในวัยทารก คือประมาณ 20 mg/dL เท่านั้น
Dr.Attia บอกว่า LDL ยิ่งต่ำเท่าไหร่ยิ่งดี ไม่มีค่า LDL ที่ต่ำเกินไป ยิ่งโดยเฉพาะคนที่ครอบครัวมีประวัติโรคหัวใจ ควรหาทางทำให้ LDL ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ การตั้งเป้าให้ LDL-C ต่ำกว่า 100 จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ แม้ว่าจะต้องใช้ยาอย่างสแตติน (Statin) ก็ตาม
[ผมคิดว่า Dr.Attia อาจจะสุดโต่งเกินไปหน่อย การยอมใช้ยาเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายอาจจะไม่ค่อยเหมาะสมกับบริบทคนไทยที่หาซื้อยา Statin จากร้านขายยาได้โดยง่าย และอาจบริโภคมากเกินไปโดยที่ไม่ได้ปรึกษาหมอ]
[อีกประเด็นไม่ได้กล่าวไว้ในหนังสือ แต่ผมอยากจะชวนคุย ก็คือเรื่องการกินอาหารทะเล ซึ่งคนไทยชอบแซวกันว่า ก่อนไปตรวจสุขภาพ ห้ามกินอาหารทะเล ไม่งั้นจะโดนหมอดุเพราะคอเลสเตอรอลสูง
แต่ก็เช่นเดียวกับไข่ไก่ อาหารทะเลอย่างกุ้งหรือปลาหมึกนั้นไม่ได้มีไขมันอิ่มตัวเหมือนเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว (ซึ่งทำให้ตับผลิต LDL มาก และมี apoB ที่สร้างปัญหาให้หลอดเลือดแข็ง) แถมอาหารทะเลยังมีโอเมกา 3 ที่ทำให้ HDL สูงขึ้นอีกด้วย
ดังนั้น แม้การกินอะไรทะเลอาจทำให้ค่า total cholestorol ที่มาจาก HDL+LDL+Triglyceride สูงขึ้นก็จริง แต่จะเป็นการสูงในส่วนของ HDL ซึ่งเป็นเรื่องดี และไม่ได้ทำให้ LDL สูงขึ้นแต่อย่างใด
1
ตราบใดที่เรากินอาหารทะเลอย่างพอประมาณ ก็อาจไม่มีความจำเป็นต้องกังวลว่ามันจะทำให้สุขภาพของเราแย่ครับ]
ในตอนต่อไป เราจะพูดถึงพญามารตัวที่ 3 ซึ่งคนไทยน่าจะหวาดกลัวมากที่สุด
โรคมะเร็งครับ
โฆษณา