20 ม.ค. 2024 เวลา 11:52 • เกม

“The time of religious conflicts” (The Last Episode)

(Here I stand: Wars of the reformation 1517-1555 >>> Virgin Queen: Wars of religion 1559-1598) (2006-2012)
Designer: Ed Beach
Epilogue: The special experiences
ประสบการณ์ในการเล่นทั้งสองเกมนั้นพิเศษมาก เกมสามารถจำลองความรู้สึกของการเป็น “ผู้นำประเทศ” ได้น่าประทับใจ และมันแตกต่างกับ war game ทั่วๆ ไปตรงนี้แหละค่ะ เพราะส่วนใหญ่แล้ว war game จะจำลองให้เราเป็น “ผู้นำสงคราม” เท่านั้น เราเคยเพียงแต่โฟกัสที่การเข้ายึดพื้นที่ ยึดชัยชนะการตีทัพ “Conqueror” เป็นคำสามัญที่ war game ทั่วๆ ไปปลูกฝังให้เราอยากเป็น แต่ในสองเกมที่เล่ามา ทุกอย่างจะแตกต่างออกไป เกมจะตบซ้ายตบขวาให้เราเข้าโหมด “Ruler”
การผสานรูปแบบการเจรจาที่จับต้องได้ เข้ากับการใช้อำนาจทางการทหารเป็นเสน่ห์ของการเล่นเกมที่หาเกมอื่นมาแทนได้ยาก การเจรจาจะมีส่วนที่ตกลงได้ ตกลงไม่ได้ มีแม้กระทั่งส่วนที่ต้องทำจริงตามประกาศเจรจา และส่วนที่เจรจาลับหลัง เผื่อหักหลังกันไม่ทำตาม
และกฎระบุไว้ค่อนข้างเคลียร์ ทำให้เวลาที่เราต้องการสงบศึกกับใครจริงๆ (ซึ่งอันนี้เป็นข้อตกลงที่ประกาศทางการ) เราก็พอจะมีช่วงหายใจได้มากพอที่จะไปมุ่งพัฒนาบ้านเมือง แต่เมื่อพร้อม ถ้าอยากใช้กองทัพลุย ก็รบกันได้ถึงพริกถึงขิง ประสบการณ์ที่ได้ลองเล่นแต่ละครั้งนั้นสนุกสนาน น่าจดจำ และมีเรื่องเล่าเก็บมาคุยต่อเสมอ
——
หากจะให้เปรียบเทียบความรู้สึกทั้งสองเกม ก็คงขอบรรยายว่าทั้งคู่นั้นเป็นดั่งพี่น้องกัน มี DNA ของกันและกันที่ชัดเจน โครงสร้างหลักของเกมถอดแบบกันมาเลย แต่ทั้งคู่ก็มีอุปนิสัยเอกลักษณ์ที่มีเสน่ห์ต่างกัน
คนพี่อย่าง Here I stand มีความเป็นผู้ใหญ่ที่ดุดัน เกมจะมีความตรงไปตรงมามากกว่า ลักษณะความสามารถการ์ด และโอกาสในเกมผลักดันให้เราต้องทำคะแนนจากการยึดหัวเมืองเป็นหลัก สิ่งนี้ทำให้การ Negotiate ยากกว่า Virgin Queen หากบางรอบเราไม่มีการ์ดที่ต่อรองได้ บางทีก็แทบไม่สามารถปิดดีลได้เลย ต่างคนต่างตั้งท่าระวังกันว่าใครจะหักหลังใคร และจะหันมารุมใครเมื่อไหร่ดี
ในเรื่องของการทหาร และระบบการรบทำออกมาได้สมจริง การเคลื่อนพลตามเส้นทางที่เป็นมิตร การที่ต้องกลับไปฐานทัพ เมื่อถึงฤดูหนาว สะท้อนรูปแบบสงครามในยุคนั้นที่ยังต้องพึ่งพาความอำนวยของสภาพอากาศ
แม้กระทั่งลักษณะการว่าจ้างที่แบ่งแยกระหว่างทหารรับใช้ชาติ และทหารรับจ้าง ก็ยังมีความละเอียดอ่อนในการสะท้อนเรื่องราว ทหารรับจ้างนั้นค่าใช้จ่ายถูกกว่า แต่ก็แปรพักตร์ และหนีสงครามได้ง่าย ซึ่งเรารักรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้มากๆ รวมไปถึงยังชอบการประกาศสงคราม, การ “Pay the price to be at war” ที่แสดงปรัชญาเล็กๆ น้อยๆ แฝงไว้ภายใต้ความสนุกของการเล่นเกมได้เป็นอย่างดี ที่ซึ่งคุณจะหยิบมันมาเป็นประเด็น หรือมองข้ามไปก็ยังได้
ข้อเสียชัดเจนอย่างนึงของ Here I stand ที่เราไม่ชอบคือ การห้ำหั่นด้วยการดีเบตกันของ Protestant และ Papacy นั้นมีรายละเอียดที่ดูยาก และเค้างุ้งงิ้งกันสองคนเยอะไปหน่อย มันทำให้ผู้เล่นฝ่ายอื่นที่ไม่ได้มีส่วนร่วมอาจจะรู้สึกโดนผลักออก ไม่เข้าใจส่วนนึงของเกมไปเลย แถมยังเป็นช่วงเวลาการดวลเต๋าดีเบตที่ใช้เวลาพอควร ถือเป็น downtime ที่สำคัญจนนักออกแบบเองก็ต้องจับเอาประเด็นนี้ไปปรับแก้ และระบุเองว่า มันเป็นข้อเสียเด่นที่เค้ารู้ดี และตั้งใจแก้ไขในเกมถัดไป
——
ข้อเสียนั้นทำให้เรารักน้องสาวสุดสง่าอย่าง Virgin Queen มากกว่าพี่ชายดุๆ คนนั้นแบบลำเอียงสุด เธอได้รับการปรับโฉม ปรับปรุงรูปแบบการเจรจาให้ไหลลื่นขึ้นมาก ถึงจะไม่มีการ์ดที่ได้เปรียบ แต่ก็อาจจะเจรจาขอแลกคู่แต่งงาน หรือเสนอให้สมบัติของตนเองเป็นการแลกเปลี่ยนได้ การเปลี่ยนศาสนาก็ไม่ได้จำกัดอยู่ที่การต่อสู้ของคู่ใดคู่นึง และหลายๆ ประเทศต้องช่วยๆ กันดู หันกลับมาดึงขั้วศาสนากลับเป็นระยะ ซึ่งทำให้ผู้เล่นส่วนใหญ่มีส่วนร่วมด้วยกันตลอด
ระบบการทำ side quest ก็น่าสนใจมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของช่วงยุคนั้นได้ดีขึ้น ทั้งเรื่องของระบบอุปถัมภ์คนเก่ง (ศิลปิน และนักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญา) การสำรวจ New world ที่ปรับแผนที่ให้เชื่อมต่อกว้างขวาง ล้อไปกับแผนที่หลักในเกม และยังมีการดึงให้คนนอกอย่างฝ่าย Ottoman ที่เดิมไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมกับงานสังคมยุโรป ได้มีเรื่องเล่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางรอบโลก ขุดคลอง Suez และการต่อสู้กับกองกำลังอื่นๆ ตาม Event card อีกด้วย
——
เกมดึงให้ทุกคนมีจุดร่วมต่อกันอยู่เสมอ ซึ่งมันทำให้เราสนุก และจมไปกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อย่างมีอรรถรส จะว่าไปก็ไม่ใช่ว่า Here I stand ไม่สร้างความรู้สึกนี้ แต่คงต้องบอกว่า มันเป็นเพราะ Virgin Queen ทำได้ดีกว่า และเราเองก็บังเอิญเปิดประสบการณ์ครั้งแรกไปกับ Virgin Queen ก็เลยเหมือนได้เจอของฉบับปรับปรุงไปก่อน เลยได้เห็นความต่างที่ชัดเจนมากๆ ตอนเล่น Here I stand ก็เท่านั้นเอง
เรื่องของดวงเต๋านั้น จะมองเป็นประเด็นสำคัญ หรือไม่ก็ได้ ในหลากหลาย step ของการเล่นจะอาศัยผลเต๋าเสมอ ตั้งแต่ แต่งงานผลออกมาจะดีไหม ไปเผยแพร่ศาสนาเค้าจะรับเอาหลักการเราไปไหม สำเร็จรึป่าว ส่งหน่วยสอดแนมไปประเทศอื่นจะได้ข้อมูลที่ดีไหม สนับสนุนศิลปินคนนี้แล้วจะได้คะแนนกลับมาเยอะไหม เดินทางสำรวจโลกเรือจะคว่ำตายอยู่กลางมหาสมุทร หรือว่าจะได้ไปก่อร่างสร้าง colony สำเร็จกันนะ ยังไม่นับว่ากองกำลังที่ส่งไปรบมากมายสุดท้ายทอยเต๋าเน่า แพ้ทัพกลับมา
ใช่ค่ะ “เต๋า” มันเป็นเรื่องใหญ่ แต่เราไม่ยี่หร่ะเลยเมื่อเทียบกับความสนุก และประสบการณ์ที่ได้จากทั้งสองเกม และยิ่งเกมที่เป็นการจำลองสงคราม-ประวัติศาสตร์มา คุณจะรู้ดีว่าหลายๆ ความสำเร็จของมนุษย์ และการศึกสงคราม ไม่ได้มีแค่ strategy การวางแผนที่ดีอย่างเดียว แต่โชค และโอกาสที่อาจจะมาๆ ไปๆ ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญเช่นกัน การทอยเต๋าเน่าทั้งๆ ที่นำทัพไปดี อาจเทียบได้กับการที่กองทัพของคุณเจอเข้ากับโรคระบาด จนอ่อนแอ แพ้คนพื้นที่ซึ่งมีภูมิคุ้มกันแล้วก็ได้ ซึ่งเราก็มองว่ามันสมจริงดี
ที่สำคัญเกมมีการเกลา และบริหารความเสี่ยงของดวงทอยเต๋ามาพอสมควร ทั้งเรื่องแต้ม success ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แต้มเดียว การบริหารเพิ่มจำนวนเต๋า เพื่อเพิ่มโอกาส หรือแม้แต่การใช้การ์ด strategy ต่างๆ มาร่วมเพิ่มโอกาสสำเร็จได้ เราจึงไม่คิดเลยว่าการทอยเต๋าจะเป็นข้อเสียของเกมนี้
แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งสองเกมก็จัดเป็นเกมเฉพาะทาง ซึ่งคุณจะต้องมี mind set ที่ถูกต้อง เรื่องเกมสงคราม และควรรู้ว่าคุณจะมาเจออะไรในเกมคร่าวๆ มิเช่นนั้นมันก็อาจเป็นเกมที่คุณต้องเสียเวลาทั้งวันมาจมปลัก แทนที่จะได้รู้สึกว่าใช้เวลาทั้งวันเดินทางไปกับเพื่อนร่วมประสบการณ์แสนพิเศษ อีก 5 คนแทน
ไม่ว่าเกมจะมีข้อดี ข้อเสียอย่างไร แต่สำหรับเราทั้งสองเกมนี้ถือเป็น “One of the best experience” และเป็น Check point สำคัญในชีวิตคนเล่นบอร์ดเกมคนนี้เลยทีเดียวค่ะ
พวกคุณมีเกมแบบนี้ในชีวิตบ้างแล้วรึยังคะ?
#HereIStand
#virginqueen
PS: โพสต์นี้เป็นตอนสุดท้ายของ mini series การเล่าเกม ซึ่งจะมีทั้งหมด 4 ตอน
หวังว่าทุกคนจะสนุกกับการอ่านนะคะ
โฆษณา