21 ม.ค. เวลา 06:00 • ปรัชญา

Solitude Is Bliss : สะท้อนสังคมมนุษย์ผ่านการสาดเสียงของบทเพลง

ศิลปะ เดชากุล (เขียน)
[Episode 0] สิ่งที่อยากจะเกริ่น
ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านได้เริ่มจากการอ่านความรู้สึกของเฟนเดอร์ ธนพล จูมคำมูล หนึ่งในสมาชิกวง Solitude Is Bliss เสียก่อน
… ถ้าพูดถึงดนตรีนะ มันควรทำหน้าที่ของมันอย่างมีคุณภาพสูงที่สุด นั่นคือ เป็นเพลงที่สื่อสารได้เต็มที่ มีความเป็นดนตรีสูง มีคุณค่าทางวรรณกรรม ทางการเล่าเรื่อง และการสร้างคัลเลอร์ให้เรื่องราว เพราะเราคิดว่า ถ้าคนฟังเขาได้รับความรู้สึกแบบที่คนนำเสนอได้รับ แล้วรู้สึกว่ามันจริง นั่นคือผลที่ดีที่สุด …
(บทสัมภาษณ์ของเฟนเดอร์ ธนพล จูมคำมูล สมาชิกวง ในเวย์แม็กกาซีน, 2562)
[Episode 1] อารัมภบท: ของชายผู้เปลือยเปล่า
หากทวนเข็มนาฬิกากลับไปในปี พ.ศ 2556 ช่วงเวลาดังกล่าวมีวงดนตรีที่เปิดตัวบทเพลงของพวกเขาด้วยภาพหน้าปกของชายผู้เปลือยเปล่ากลางถนนที่คดเคี้ยวสภาพทั้งสองข้างของถนนประกอบด้วยดอกหญ้าและต้นไม้ที่เต็มไปทั้งสีเขียวและสีน้ำตาล ภาพนั้นถูกนำมาเป็นภาพปกของอัลบั้มที่มีชื่อว่า “Montage” และในอัลบั้มดังกล่าวเพลง “04.00 A.M.” ได้สะท้อนความรักความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่วิ่งวุ่นวายอยู่ในสมอง ที่กลายเป็นเพลงแจ้งเกิดของวงในที่สุด
[Episode 2] บทเพลงที่กำลังขับเคลื่อน: จวบจนกระทั่งสะท้อนภาพของสังคม
หากเราพยายามตีความตัวบทเพลงของ Solitude Is Bliss อาจกล่าวได้ว่าบทเพลงในเพลงต่างๆของวงกำลังพยายามอธิบายถึงสภาพสังคมอย่างมีนัยยะ ไม่ว่าจะเป็นระดับปัจเจกไปจนถึงภาพขนาดใหญ่ที่ประกอบไปด้วยปัจเจกหลายๆคนมารวมกันจนกลายเป็นสังคม พิจารณาได้จากบทเพลงบางเพลงของวง อาทิ “Vintage pic” ในอัลบั้ม Montage ที่มีเนื้อร้องในบางส่วนว่า
“… เพราะเมื่อวาน ฉันยังไร้เดียงสา เพราะเมื่อวาน ไม่ต้องคิด ไม่ต้องรับรู้
ช่วยดูดกลืน ช่วยดูดกลืน ช่วยดูดกลืนฉันที …
ด้วยบทเพลงดังกล่าวที่พยายามจะอธิบายถึงมนุษย์คนหนึ่งที่ในอดีตเคยยืนอยู่บนผืนดินที่มีชื่อว่า “ความไร้เดียงสา” แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปผืนดินดังกล่าวถูกทำให้กลายเป็นถนนที่มีส่วนผสมของ ซีเมนต์ ทราย หิน และส่วนผสมอื่นๆจนกลายเป็นถนนในที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นในบทเพลงดังกล่าวยังตอกย้ำด้วยคำที่ว่า
… ไม่ต้องคิด ไม่ต้องรับรู้ …
ที่สะท้อนให้เห็นถึงมนุษย์คนหนึ่งที่ในอดีตนั้นเองได้ยืนอยู่บนความไร้เดียงสา แต่เมื่อวันหนึ่งที่ต้องเติบโตขึ้นต้องพบเจอสังคมและเรื่องราวต่างๆมากมาย เปรียบเสมือนผืนดินที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติที่ในท้ายที่สุดถูกสรรค์สร้างเป็นถนน จนต้องโหยหาคืนวันที่อยากจะกลับไปไร้เดียงสาอีกครั้งดังบทเพลงสุดท้ายที่เขียนว่า
… ช่วยดูดกลืน ช่วยดูดกลืนฉันที...
และถ้าหากมนุษย์ต้องเติบโตขึ้นและพบเจอสังคมที่มีเรื่องราวต่างๆมากมาย สังคมแบบไหนที่ Solitude Is Bliss กำลังจะเล่า ผู้เขียนจึงเลือกหยิบยกเพลงหนึ่งที่ชื่อ “ระบายกับเสียงเพรียก” ในอัลบั้ม Her Social Anxiety ที่มีเนื้อร้องบางส่วนว่า
… คราบของมนุษย์ที่แสนต้องการเพียงเห็นแก่ได้ในความสุข …
หากตีความตัวบทจากเพลงดังกล่าว อาจอธิบายได้ว่านี้แหละคือสังคมที่ Solitude Is Bliss กำลังจะเล่า ซึ่งน่าสนใจตรงที่ว่าแล้วความสุขของมนุษย์ที่กล่าวถึงมันต้องแลกกับอะไรมาบ้าง [?]
[Episode 3]ภาพของสังคม: ไปจนถึงเรื่องของการเมือง
ถ้าหากมนุษย์เพียงเห็นแก่ได้ในความสุข แล้วความสุขที่ว่าคืออะไร บทเพลงที่มีชื่อว่า “ย้ายรัง” ในอัลบั้ม Her Social Anxiety ที่อินโทร (Intro) ของเพลงเป็นเสียงของเครื่องดนตรีที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับเสียงกระทบกันของเหรียญที่มีมูลค่าหรือในอีกคำเรียกหนึ่งที่มนุษย์เรียกมันว่า “เงิน” บทเพลงดังกล่าวอาจอธิบายความเห็นแก่ได้ในความสุขของมนุษย์ได้ดีที่สุด ด้วยเนื้อร้องที่มีว่า
… เมื่อรังที่เราอาศัยนั้นมีคนจับจอง จงชิงบัลลังก์ลาภยศเพื่อเค้าจะได้ครอบครองเลยแย่งกัน เลยแย่งกัน สู่สงคราม …
หากพิจารณาจากตัวบทดังกล่าวความเห็นแก่ได้ในความสุขของมนุษย์คงไม่พ้นที่จะต้องกล่าวถึง “บัลลังก์และลาภยศ” ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นฉนวนที่นำไปสู่ “สงคราม”
เมื่อย้อนทำความเข้าใจคำว่าการเมืองโดยสังเขป สังคมของมนุษย์นั้นล้วนแต่จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้หรือถูกบังคับใช้อำนาจอยู่ตลอดเวลา จึงอาจกล่าวได้ว่า การเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจ (สิทธิพันธ์ พุทธหุน, 2542: 4) สิ่งนี้เองจึงอาจสอดคล้องกับการอธิบายแบบปรัชญาการเมือง ในบทสนทนาของ ทราไซมาคุส (Thrasymachus) ในงานเขียนชิ้นสำคัญของเพลโต (Plato) ที่มีชื่อว่าอุตมรัฐ หรือที่เราคุ้นกันในนาม “Republic” ทราไซมาคุสได้กล่าวว่า
… ผลประโยชน์ของผู้ที่แข็งแรงกว่า” กล่าวคือกลุ่มผู้ปกครองแต่ละกลุ่มล้วนบัญญัติกฎหมาย ขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ของตนเป็นหลัก ซึ่งนี้ก็คือผลประโยชน์ของผู้ที่แข็งแรงกว่า …
(วีระสมบูรณ์, 2552:121)
[Last Episode] มองบทเพลง: มุมหลากหลาย : แบบศิลปะ
เมื่อผลประโยชน์ตกเป็นของผู้ที่แข็งแรงกว่าแล้วมนุษย์ที่ไม่ใช่ผู้ที่แข็งแรงละจะทำอย่างไร [?] ตัวบทในเพลง "ย้ายรัง" ของ Solitude Is Bliss ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ
… ถ้าอยากมีชีวิตอยู่รอดต้องมีกระบอกปืน หรือต้องมีเงินทองมากพอจะบินไปจากรัง จนลืมไป จนลืมไป ฉันไม่มีเงินทองมากมายอย่างนั้น ฉันมีเพียงปัญญาที่ยังแดกดัน ปัญญาชน ปัญญาชน …
ในตัวบทดังกล่าวนี้ผู้เขียนจะไม่ตีความอะไรเพิ่มเติมต่อ แต่จะทิ้งให้ผู้อ่านได้ตีความในมุมมองของผู้อ่านเอง นอกเหนือจากนี้ที่จะพิจารณาผ่านตัวบทต่างๆในเพลงของวง Solitude Is Bliss บทสัมภาษณ์ก็เป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่จะประกอบการพิจารณา และพยายามไขคำตอบถึงสภาพสังคมและการเมืองที่วงพยายามจะอธิบายด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลง “ย้ายรัง” ที่แต่งโดย เบียร์ เศรษฐกิจ สิทธิ หนึ่งในสมาชิกของวง
… ผมแต่งเพลงนี้โดยยืนพื้นจากเรื่องความจนก่อนเลย ซึ่งก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองจนหรอกเพราะจนอยู่แล้ว ตอนนั้นเป็นช่วงที่เกิดการรัฐประหารพอดี แล้วมีคนมาพูดกับแฟนเก่าเราว่า ‘ช่วงนี้ต้องเก็บเงินเยอะๆ นะ แล้วย้ายไปอยู่ต่างประเทศซะ’ เหมือนสัญญาณบอกเราว่าประเทศเริ่มจะไม่โอเคแล้วนะ ตอนนั้นเราเลยได้แรงบันดาลใจในการเขียนเพลงนี้ขึ้นมา โดยมองอนาคตผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองและพื้นฐานของสังคมที่เป็นอยู่ในขณะนั้น…
(บทสัมภาษณ์ของเบียร์ เศรษฐกิจ สิทธิ สมาชิกวง ในอเดย์ แม็กกาซีน, 2561)
รายการอ้างอิง
วีระ สมบูรณ์. (2561). ทฤษฎีการเมืองกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ. กรุงเทพมหานคร. ภาพพิมพ์.
สิทธิพันธ์ พุทธหุน. (2542). แนวทางการศึกษารัฐศาสตร์. กรุงเทพมหานคร. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
อรสา ศรีดาวเรือง. (21 สิงหาคม 2561). Solitude is Bliss: เขียนเพลงผ่านความรู้สึกที่คุกรุ่นไปด้วยความสัมพันธ์ของมนุษย์. อเดย์ แม็กกาซีน. https://adaymagazine.com/lyrics-solitude-is-bliss/
อรสา ศรีดาวเรือง และสิทธิกร ขุนนราศัย. (9 มีนาคม 2562). ‘การเมืองในทุกอณู’ ของ Solitude is Bliss. ในเวย์แม็กกาซีน. https://waymagazine.org/politics-in-songs-of-solitude-is-bliss/
MINIMAL RECORDS. (2013, July 7). Solitude is Bliss - 04.00 A.M. (Official Audio) (Video).
MINIMAL RECORDS. (2014, March 14). Solitude is Bliss - Vintage Pic (Official Music Video)
MINIMAL RECORDS. (2016, August 16). Solitude is Bliss -ระบายกับเสียงเพรียก (Official Audio)
MINIMAL RECORDS. (2016, August 24). Solitude is Bliss - ย้ายรัง (Official Audio) (Video).
โฆษณา