21 ม.ค. เวลา 01:46 • ประวัติศาสตร์

ฟุกุโอโตโกะ ชายผู้โชคดีที่สุดแห่งเกาะญี่ปุ่น

มกราคม เดือนแรกของปี ที่ญี่ปุ่นหลายคนเชื่อว่าการเริ่มต้นปีที่ดีจะทำให้ชีวิตของตนราบรื่นและมีความสุขไปตลอดทั้งปีนั้น นั่นจึงทำให้เกิดมีธรรมเนียมต้นปีขึ้นมากมาย
ตั้งแต่ฮัตสึโมเดะ – การไหว้พระขอพรในวันขึ้นปีใหม่ พอได้ยินเสียงระฆังวัดตีบอกเวลาเที่ยงคืนคนญี่ปุ่นจะเริ่มทยอยออกจากบ้านตรงไปวัดหรือศาลเจ้าใกล้บ้าน จากนั้นบางคนจะไปจับจองพื้นที่บนเนินสูงใกล้ ๆ บ้างก็สะพายเป้ปีนเขากันตั้งแต่ดึกดื่นเพื่อไปถึงยอดให้ทันเห็นแสงอาทิตย์แรกของปีที่เรียกว่า ฮัตสึฮิโนเดะ
แสงแรกของปีที่คนญี่ปุ่นเชื่อกันว่าจะส่งพลังงานดีและทำให้พวกเขาพบเจอแต่สิ่งดี ๆ ตลอดทั้งปี เครดิตภาพ : https://www.city.ichikawa.lg.jp/gyo08/0000418319.html
และถ้าจะไปให้สุดกว่านั้น สำหรับหนุ่ม ๆ ไม่ว่าจะรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ ขอเพียงแค่ฝีเท้าเป็นเลิศ ยิ่งวิ่งได้เร็วเท่าไรยิ่งมีโอกาสกอบโกยโชคได้มากเท่านั้น
“ฟุกุโอโตโกะเอระบิ” คว้าโชคด้วยการวิ่ง
หลังเทศกาลปีใหม่ผ่านพ้นไป ญี่ปุ่นโดยเฉพาะพื้นที่แถบคันไซจะจัดเทศกาลบูชาองค์เทพเอบิสุที่เรียกกันว่า โทกะเอบิสุ (十日戎) เพื่อขอพรให้ทำมาค้าขึ้นตลอดทั้งปี ตามศาลเจ้าจะคราคร่ำไปด้วยผู้คน
เทพเอบิสุ หนึ่งในเจ็ดเทพแห่งโชคลาภของญี่ปุ่น เครดิตภาพ : https://www.kabegamikan.com/img/etc/12645.jpg
โดยเฉพาะศาลเจ้าอิมามิยะเอบิสุ – โอซาก้า (今宮戎神社), ศาลเจ้าเอบิสุ – เกียวโต (ゑびす神社) และศาลเจ้านิชิโนะมิยะ – เฮียวโกะ (西宮神社) เรียกได้ว่าเป็นสามศาลเจ้าที่จัดงานใหญ่ที่สุดในคันไซ
โดยเฉพาะศาลเจ้านิชิโนะมิยะ มีกำหนดจัดงาน 3 วัน ตั้งแต่คืนวันที่ 9 มกราคม เรียกว่า โยอิเอบิสุ (宵戎) ศาลเจ้าจะปิดประตูทางเข้าออกทุกทางเพื่อชำระล้างความไม่ดีทั้งหลายให้บริสุทธิ์ พอเข้าตีสี่ของวันที่ 10 จึงเริ่มทำพิธีบวงสรวงเทพ เรียกว่า ฮนเอบิสุ (本戎)
ประตูใหญ่ของศาลเจ้านิชิโนะมิยะปิดลงแล้วเพื่อทำพิธีในคืนวันที่ 9 เครดิตภาพ : https://nishinomiya-style.jp/blog/2023/01/06/43572
หลังจบพิธีเวลาหกโมงเช้าจะเปิดประตูใหญ่ (開門神事) และชายที่วิ่งเข้ามาถึงฮงเด็น (本殿) โถงหลักของศาลเจ้าสามคนแรกจะได้รับเลือกให้เป็นฟุกุโอโตโกะของปีนั้น ๆ เชื่อกันว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับพรจากองค์เทพและสามารถกระจายพรนั้นให้แก่คนรอบข้างได้
วันที่ 11 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ประชาชนจะนำคุมาเดะ (熊手) คราดกวาดโชค และฟุกุซาสะ (福笹) ต้นไผ่นำโชคที่เช่าบูชาไปเมื่อปีก่อนกลับมาคืนแก่ศาลเจ้าและบูชาเครื่องรางใหม่กลับไป เรียกวันนี้ว่า โนโคริฟุกุ (残り福)
ต้นไผ่นำโชคที่เชื่อกันว่า ช่วยให้ทำมาค้าขึ้น เจริญก้าวหน้าในการงาน เครดิตภาพ : https://nishinomiya-style.jp/blog/2023/01/06/43572
แรงศรัทธากลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ
ว่ากันว่าการวิ่งเข้าศาลเจ้าที่ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ฮาชิริไมริ (走り参り) มีมาตั้งแต่ก่อนยุคเอโดะเสียอีก บรรดาผู้คนที่มีศรัทธาอันแรงกล้าอยากจะเข้าไปขอพรเป็นคนแรกของปีจึงพากันวิ่งจากบ้านมายังศาลเจ้านิชิโนะมิยะ
ในปี ค.ศ. 1905 สถานีรถไฟฮังชินนิชิโนะมิยะซึ่งอยู่ไม่ไกลจากศาลเจ้าเปิดทำการเป็นครั้ง ยิ่งทำให้ธรรมเนียมวิ่งเข้าศาลเจ้าเป็นที่โจษจันในวงกว้าง ผู้ศรัทธายิ่งหลั่งไหลกันมาขอพรองค์เทพเอบิสุ จนในที่สุดประมาณปี ค.ศ. 1945 “ฟุกุโอโตโกะเอราบิ” ได้กลายเป็นพิธีสำคัญ มีการมอบข้าวสารและถังสุราให้แก่ชายผู้วิ่งเข้าฮงเด็นเป็นคนแรกของปี
ฟุกุโอโตโกะเอราบิ สามคนแรกที่วิ่งเข้าโถงหลักของศาลเจ้าจะกลายเป็นชายผู้โชคดีที่สุดของปีนั้น เครดิตภาพ : https://nishinomiya-style.jp/blog/2020/11/03/28052
ฟุกุโอโตโคะ โชคดีจริงไหม
หลายคนก็อาจสงสัยเหมือนกันว่า ผู้ที่มีทั้งดวงและฝีเท้าอันเป็นเลิศ วิ่งเข้าศาลเจ้าจนได้รับเลือกเป็นฟุกุโอโตโกะจะได้รับพรจากเทพจริงหรือ
ฟุกุโอโตโกะปี 2009 - โอซาโกะ จุนชิโร่ เล่าว่าเขาบังเอิญเก็บแบงค์หมื่นเยนบนทางเท้าได้ถึง 3 ครั้งในปีนั้น
ฟุกุโอโตโกะปี 2011 – โอโคะชิ ฮิโรมิจิ และ ฟุกุโอโตโกะปี 2012 – คาเงะยามะ ฮารุกิ ทั้งสองเล่าว่าเป็นปีที่โดดเด่นในหน้าที่การงานและได้รับโบนัสปลายปีก้อนโต
เส้นทางวิ่งคว้าโชคจากประตูใหญ่ของศาลเจ้า (ขวาล่าง) ไปยังฮงเด็นโถงหลัก (ซ้ายบน) ระยะทาง 230 เมตร เครดิตภาพ : https://nishinomiya-style.jp/blog/2023/01/06/43572
ฟุกุโอโตโคะปี 2019 – อิตามิ ยูกิ นักแสดงคอมเมเดี้ยนวัย 32 ปี ได้เซ็นต์สัญญาเข้าสังกัดค่ายศิลปินที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง รับค่าตอบแทนมากขึ้นกว่าปีก่อนถึง 5 เท่า และได้แต่งงานกับแฟนสาวสร้างครอบครัวด้วยกัน
ฟุกุโอโตโคะปี 2023 – อุเอโมโตะ เรียวตะ นักศึกษามหาวิทยาลัยวัย 22 ปี ซึ่งเป็นนักกีฬาเบสบอลตัวแทนมหาวิทยาลัย ได้รับเชิญเป็นผู้เขวี้ยงบอลเปิดการแข่งขันเบสบอลโปรลีค และได้รับเลือกเป็นตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขันเบสบอลระหว่างทีมมือสมัครเล่นท้องถิ่นกับคาร์ปฮิโรชิม่า
สามคนแรกที่วิ่งเข้าสู่อ้อมกอดของผู้ทำพิธีในศาลเจ้านิชิโนะมิยะคือ ฟุกุโอโตโกะของปี เครดิตภาพ : http://leepi.milkcafe.to/anohinoasayake/h24.htm
แต่ในทางกลับกัน ฟุกุโอโตโกะที่พบเจอแต่เรื่องไม่ดีก็มีนะ
อย่างเซ็นไซ เคนจิ – ฟุกุโอโตโกะปี 1996, 1997 และ 2001 ปีแรกที่ได้เป็นฟุกุโอโตโกะ รถยนต์คันใหม่เอี่ยมของเขาก็ถูกมือดีกรีดจนเป็นรอย เล่นสโนว์บอร์ดก็ประสบอุบัติเหตุถึงขั้นกระดูก และถูกแฟนสาวที่คบกันมาสามปีบอกเลิก ส่วนปี 2001 ติดไข้หวัดใหญ่ถึงสองครั้ง
โดอิ ยูโตะ – ฟุกุโอโตโกะปี 2013 ถูกสาวปฏิเสธหลังรวบรวมความกล้าสารภาพรัก หลังจากนั้นไม่นานมอเตอร์ไซค์คันโปรดยังถูกขโมยอีก
สามหนุ่มดวงดีผู้ที่วิ่งได้ไวที่สุดและกลายเป็นฟุกุโอโตโกะ จะได้รางวับเป็นปลาไท เหล้า และข้าวสาร เครดิตภาพ : https://nishinomiya-style.jp/blog/2023/01/06/43572
ฟุกุโอโตโกะ – วิ่งเร็วอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีดวงด้วย
ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้เข้าร่วมงานฟุกุโอโตโกะเอราบิ ผู้ที่อยากเข้าร่วมการวิ่งคว้าโชคต้องผ่านการจับฉลากคัดเลือกที่จัดกันตอนเที่ยงคืนวันที่ 10 ก่อน 108 คนแรกจะได้อยู่ในบล็อคหน้า และอีก 1,500 คนในบล็อคหลัง เจ้าหน้าที่ศาลเจ้าจะเรียกเข้าประจำที่ตอนตีสาม เพื่อเตรียมวิ่งเข้าศาลเจ้าตอนหกโมงเช้า
เชื่อกันว่าจำนวนผู้เข้าร่วมน่าจะมาจากหลักธรรมทางศาสนาพุทธที่กล่าวถึงกิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด เหตุแห่งการเวียนว่ายตายเกิดเป็นวัฏสังสารไม่รู้จบสิ้น
ประตูแดง - ประตูสู่โชคที่จะทำให้กลายเป็นฟุกุโอโตโกะ ชายผู้โชคดีที่สุดในญี่ปุ่น เครดิตภาพ : https://nishinomiya-style.jp/blog/2023/01/06/43572
นอกจากฝีเท้าอันเป็นเลิศ ดวงในการจับสลาก ต้องมีสุขภาพแข็งแรงทนความเหน็บหนาวกลางดึกเป็นเวลานานได้ด้วย หากคุณมีคุณสมบัติตามที่ว่ามา ลองไปวิ่งคว้าโชคในปีหน้าดูสิ
โฆษณา