21 ม.ค. เวลา 03:20 • การตลาด

“ม่อนแบรี” วิสาหกิจเพื่อสังคม ที่เกิดขึ้นมาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรแม่ริม

ม่อนแบรีเป็นโครงการ “วิสาหกิจเพื่อสังคม" ตั้งอยู่ที่ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ที่เกิดจากกลุ่มเพื่อนสนิทตั้งแต่เรียนอนุบาล มาจนถึงระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา 5 คน คือ ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ และ คุณแสง ภรรยา ดร.ณัฐพล อัษฎาธร และ คุณเล็ก ภรรยา และอะเล็กซานเดอร์ สรรประดิษฐ์ ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานเป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กรขนาดใหญ่ของประเทศในหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็น Food Science, เภสัชกร, วิศวะอุตสาหกรรม รวมไปถึงสถาปนิก
โครงการม่อนแบรี อยู่บนเนื้อที่เกือบ 3 ไร่ ประกอบไปด้วย 1. ม่อนฟาร์ม Smart Agriculture เป็นการปลูกพืชผักใน Greenhouse 2. ม่อนทุ่ง แปลงปลูกพืชผักสวนครัว 3. ม่อนคาเฟ่ ร้านกาแฟ 4. ม่อนกระต่ายสถานที่สำหรับเด็ก 5. ม่อนเบอรี่ ฮิล ฟาร์มช๊อป ช้อปปิ้งผลิตภัณฑ์จากเบอรี่ ฮิลล์ ไร่ราสเบอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 6. ม่อนกาด ตลาดชุมชนชาวบ้าน
ในมุมมองด้านธุรกิจของดร.ธัญญวัฒน์ สิ่งที่ยากสำหรับม่อนแบรี คือการเป็นวิสาหกิจเพื่อชุมชน ทำให้ไม่มีเงินมากมายที่จะไปโฆษณาเพื่อสร้างการรับรู้ ดังนั้นสิ่งที่ม่อนแบรีพยายามสื่อสารกับนักท่องเที่ยวที่มาก็คือถ้าใครสามารถบอกต่อๆ กันได้ก็ขอให้ช่วยบอกต่อผ่านโซเชียลมีเดีย
แต่จะพัฒนาในด้านไหน ดร.ธัญญวัฒน์ ยกตัวอย่างให้ฟังว่า เมื่อก่อนนี้ช่วงปลายฝน ต้นหนาวที่นี่จะมีหิ่งห้อยเยอะมาก หิ่งห้อยเป็นดัชนีความสมบูรณ์ของธรรมชาติอย่างดี แต่ตอนนี้หิ่งห้อยแทบไม่มีแล้ว หมายความว่าทุกคนกำลังอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แย่ลง แต่ถ้ามีเงินก็สามารถไปช่วยทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นได้
“ตัวอย่าง เช่น เกษตรกรที่ยังเผา ทำไมต้องเผา คำตอบคือเขาจ้างคนไปตัดมาทำปุ๋ยไม่คุ้ม ต้องรอ 6 เดือน ค่าแรงก็แพง ถ้าไม่เผาจะทำอะไร จริงๆ เราเอาฟาง เอาหญ้าไปทำปุ๋ยหมักได้ ถ้าผมมีเงินผมจ้างคนไปเก็บมาทำปุ๋ยจำหน่ายได้ไหม เขาบอกยินดีเลย เพราะเขาต้องการกำจัดวัชพืช เพื่อทำการเกษตรใหม่ แต่ว่าเขาไม่มีเงินจ้างคนก็เลยต้องเผา
ต้องบอกว่าเกษตรกรไทย ไม่ได้มีรายได้สูง ที่นี่อาจจะมีรายได้สูงกว่ามาตรฐาน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เราก็มองภาพว่าถ้าเราช่วยเขาได้ เราช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย นี่คือจุดเล็กๆ ที่เราอยากจะทำ”
ดร.ธัญญวัฒน์ อธิบายว่า สิ่งที่ยากที่สุดคือการทำงานร่วมกันระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภค เพราะม่อนแบรีเป็นแค่ตัวกลาง ดังนั้นโครงการนี้จะสำเร็จหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับการยอมรับของผู้บริโภค
“สิ่งที่ยากกว่านั้นคือเกษตรกรเองก็ต้องเห็นว่าการทำโครงการนี้มันเป็น Win-Win ตอนนี้มีเกษตรหลายคนที่สนใจ แต่ก็มีเกษตรกรหลายคนที่ยังไม่สนใจเลย จริงๆ ความสำเร็จตรงนี้มันต้องไปด้วยกันทั้งหมด คือในที่สุดทุกคนต้องได้ประโยชน์ ไม่ใช่ว่ามีบางคนต้องเสียประโยชน์เพื่อมาช่วย”
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่
#MonBarree
โฆษณา