24 ม.ค. 2024 เวลา 02:00 • สุขภาพ

6 วิธี เอาชนะอาการสมองอ่อนล้า

คิดอะไรไม่ออก รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย …เชื่อว่าหลายคนอาจจะเคยมีอาการแบบนี้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งหลายครั้งอาการที่ว่าก็เกิดจากปัญหา ‘สมองล้า’ ที่หมายความอย่างตรงตัวว่า เป็นอาการที่สมองอยู่ในสภาพอ่อนล้าจากการใช้งานนานจนเกิดความผิดปกติต่อร่างกาย
2
โดยสาเหตุที่ทำให้เราต้องเผชิญกับอาการสมองล้า มาจาก 2 ปัจจัย ได้แก่
😵 ความเครียด
สมองจะเกิดความเครียดเมื่อต้องทำในสิ่งที่ไม่ชอบ กดดัน มีการใช้ความคิดอย่างหนัก เช่น การเรียนหนังสือ ทำงาน วางแผน กิจกรรม เมื่อเราทำติดต่อกันนาน ๆ สมองจะหลั่งโดพามีน - Dopamine (สารสำเร็จ) และเซโรโทนิน - Serotonin (สารสงบ) ออกมา ซึ่งช่วยกระตุ้นให้มีพลังและตื่นเต้น
แต่หากสารเหล่านี้หลั่งออกมามากเกิน สมองจะเหนี่อยและหลั่งสารนอร์อะดรีนาลีน – Noradrenaline (สารขาลุย) ที่ทำให้หงุดหงิดออกมาแทน นอกจากนี้การที่เราได้รับสิ่งเร้าที่ไม่ดีต่อประสาทสัมผัส เช่น เสียงแวดล้อมที่ดังเกินไป บรรยากาศภาพคนที่วุ่นวาย หรือกลิ่นเหม็น ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดความเครียดได้เช่นกัน
😡 อารมณ์แห่งความขัดแย้ง
อีกหนึ่งสาเหตุของสมองล้าคือการเกิดอารมณ์ที่ขัดแย้งของมนุษย์ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า เมื่อเรามีความไม่ปกติทางอารมณ์ สมองจะถูกใช้งานอย่างหนักจนทำให้ล้า เช่น เวลาโกรธ เวลาตื่นเต้น หรือบางครั้งก็มาจากความผิดปกติของพฤติกรรมที่ขัดแย้งกัน เช่น การพูดโกหกแล้วกลัวถูกจับได้ การทำผิดแล้วกลัวมีคนรู้ เป็นต้น
1
การเกิดอาการสมองล้านั้นส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและการใช้ชีวิต ทำให้เราไม่สดชื่น มีความผิดปกติทางประสาทสัมผัส เช่น ตาพร่า หูอื้อ เบื่ออาหาร หรืออาจจะลุกลามไปสู่ปัญหาสมองได้รับความเสียหายเลยด้วยซ้ำ …ในทางกลับกันทางรักษาหรือวิธีที่เราจะสามารถเอาชนะความล้าได้นั้นคือ การที่ทำให้ร่างกายเพิ่มการหลั่งของสารเซโรโทนิน (สารสงบ) เพื่อมาฟื้นฟูสมอง โดยสามารถทำได้ 6 วิธีเบื้องต้น ดังนี้
1. สร้างความรู้สึกที่ดีต่อตัวเอง : เริ่มต้นด้วยพื้นฐานที่ทำได้ง่ายที่สุด อย่างการเปิดรับสิ่งเร้าภายนอกที่เป็นความรู้สึกทางบวก ไม่ว่าจะเป็น การฟัง การดู การเสพข้อความ คำพูดต่าง ๆ ควรจะรับแต่สิ่งดี ๆ ที่มีผลต่อตัวเองให้อารมณ์ดีขึ้น เพราะนั่นเป็นการช่วยให้สารเซโรโทนิน (สารสงบ) หลั่งอย่างง่ายที่สุด และที่สำคัญในวิธีการนี้ เราควรจะหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เราเครียดหรือจะเกิดอารมณ์โกรธไปพร้อมกันด้วย
2. ฟื้นฟูประสาทสัมผัสทั้งห้า ด้วยสภาพแวดล้อมที่รื่นรมย์ : นอกเหนือจากการทำให้ตัวเองสงบลง ปัจจัยรอบข้างก็เป็นส่วนสำคัญ โดยวิธีนี้คือการตัดสาเหตุที่ทำให้เกิดสิ่งเร้าไม่ดีต่อประสาทสัมผัส ด้วยการโยกย้ายตัวเองไปอยู่ในพื้นที่สงบ เช่น การเข้าหาธรรมชาติ เดินป่าขึ้นเขา สัมผัสน้ำตก ทะเล สายลม ทุ่งหญ้า เป็นต้น
3. จัดการอารมณ์แห่งความรู้สึกขัดแย้ง : วิธีถัดมาคือการขจัดปัจจัยของการเกิดความล้าอย่างการลดการตื่นตัวของระบบประสาทซิมพาเทติก ที่มาจากอาการโกรธของมนุษย์ โดยสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการลดอารมณ์ฉุนเฉียว ฝึกสติปัญญา และปล่อยวางจากความไม่ถูกใจในชีวิต
4. การดำเนินชีวิตแบบ Slow – Small –Simple : แนวคิดนี้เป็นหลักการดำเนินชีวิตเพื่อป้องกันและฟื้นฟูให้เราไม่เกิดอาการล้าของสมองที่มาจากปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งประกอบไปด้วย 3 สัดส่วนให้ดำเนินชีวิตตาม
4
Slow - การลงมือทำทุกอย่างในชีวิตด้วยความละเอียด ไม่ต้องเร่งรีบ ให้ทุกการกระทำเกิดด้วยความใจเย็น
Small - ตอบโจทย์การดำเนินชีวิตด้วยความรู้สึกพอดีกับสิ่งที่ตัวเองมี ไม่ต้องการอะไรที่มากขึ้นใหญ่ขึ้น เพื่อเป็นการลดภาระความกดดันให้แก่สมอง
Simple - ใช้ชีวิตให้ง่าย อยู่ง่ายทานง่าย ไม่เรื่องมาก เพื่อให้ไม่เกิดอารมณ์ในชีวิตที่ขัดแย้งหรือวุ่นวาย
5. สร้างพฤติกรรมส่งเสริมระบบประสาทพาราซิมพาเทติก (ประสาทพัก) : ในมุมมองการใช้ชีวิตวิธีการที่ทำให้สมองได้พักคือการดูแลตัวเองให้มีสุขภาพแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นนอนหลับให้เพียงพอ ดื่มน้ำเปล่าตามจำนวนที่พอดีต่อวัน ใช้ชีวิตอย่างผ่อนคลาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
6. ระวังสิ่งที่ห้ามทำก่อนเข้านอน : การนอนหลับที่มีคุณภาพมีผลต่อการฟื้นฟูความอ่อนล้าของสมอง ดังนั้นเพื่อเป็นการทำให้เราเข้าสู่การหลับอย่างมีประสิทธิภาพ วิธีการสำคัญคือการระวังพฤติกรรมก่อนนอน ไม่ควรดูหน้าจอนาน ไม่ควรดูสิ่งตื่นเต้น (เพราะทำให้เกิดความไม่สงบ) เลี่ยงมื้อดึก เพราะสิ่งเหล่านี้เพิ่มความอ่อนล้าก่อนนอนได้ง่าย
และนี่คือ 6 วิธีที่เราจะสามารถเอาชนะความล้าได้ด้วยตัวเอง …อาการสมองล้าแม้ว่าจะดูเป็นเรื่องเล็กสำหรับหลายคน เพราะอาจจะมองว่าเป็นเพียงความเหนื่อย แต่จะเห็นได้จากที่กล่าวมาทั้งหมด อาการนี้มีผลต่อการใช้ชีวิตและสุขภาพเป็นอย่างมาก ซึ่งสวนทางกับการรักษาและฟื้นฟูที่สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยเริ่มต้นจากตัวเราและสร้างสภาพแวดล้อมรอบตัวที่ดี เพื่อให้เรากลับมามีพลังได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในทุก ๆ วัน
1
ขอบคุณข้อมูล กรมสุขภาพจิต
ติดตาม Community AIA Thailand ได้ที่ https://www.blockdit.com/aiathailand
โฆษณา