23 ม.ค. เวลา 07:47 • ประวัติศาสตร์

การถูกกดขี่ของ “ชาวคริสต์” ในญี่ปุ่นยุคโบราณ

“ศาสนาคริสต์” ได้ถูกนำเข้ามาสู่ญี่ปุ่นในช่วงกลางศตวรรษที่ 16 และเป็นช่วงเวลาสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมและศาสนาในญี่ปุ่น โดยศาสนาคริสต์ถูกนำเข้ามาผ่านมิชชันนารีและพ่อค้าชาวโปรตุเกส
“ฟรานซิส เซเวียร์ (Francis Xavier)” บาทหลวงโรมันคาทอลิกชาวนาวาร์ ได้เดินทางเข้ามายังญี่ปุ่นที่เมืองคาโงชิม่า เกาะคิวชู ในปีค.ศ.1549 (พ.ศ.2092) และนับเป็นการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก
หลวงพ่อฟรานซิสและลูกทีมได้ทำการแปลตำราคริสต์เป็นภาษาญี่ปุ่นและทำการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ โดยฐานที่มั่นหลักในการเผยแพร่ศาสนาก็คือเกาะคิวชู และเหล่าชนชั้นล่างในญี่ปุ่นยุคนั้นก็มีความนิยมในศาสนาคริสต์เป็นอย่างมาก
ฟรานซิส เซเวียร์ (Francis Xavier)
และความนิยมในศาสนาคริสต์ของชนชั้นล่างนี้ ก็ทำให้เหล่าขุนศึกระดับสูงและเหล่าโชกุนเริ่มจะจับตามองอย่างระแวดระวัง
เมื่อถึงต้นศตวรรษที่ 17 ศาสนาคริสต์ได้เติบโตและเริ่มมีอิทธิพล บวกกับอำนาจทางการเมืองและจุดมุ่งหมายทางศาสนาของชาติยุโรป โดยเฉพาะโปรตุเกสและสเปน ก็ทำให้เหล่าชนชั้นสูงในญี่ปุ่นเริ่มกังวลใจ
ในปีค.ศ.1614 (พ.ศ.2157) ได้มีการออกกฎให้ศาสนาคริสต์เป็นสิ่งผิดกฎหมาย และให้ขับไล่เหล่ามิชชันนารีออกไปจากญี่ปุ่น และนี่นับเป็นจุดเริ่มต้นของการถูกกดขี่ของชาวคริสต์ในญี่ปุ่น
ภายใต้การปกครองของโชกุน “โทคุงาวะ อิเอมิตสึ (Tokugawa Iemitsu)” สถานการณ์ก็ยิ่งเลวร้ายลง
โทคุงาวะ อิเอมิตสึ (Tokugawa Iemitsu)
โชกุนอิเอมิตสึขึ้นสู่อำนาจในปีค.ศ.1623 (พ.ศ.2166) และก็ได้ออกกฎที่ยิ่งตัดขาดจากอิทธิพลของต่างชาติออกมามากมาย และกดขี่ชาวคริสต์มากยิ่งขึ้น
ประกาศที่ิออกมาในปีค.ศ.1633 (พ.ศ.2176) ได้ประกาศห้ามต่างชาติเข้าญี่ปุ่น เปิดให้เพียงแค่ท่าเรือเล็กๆ บางส่วนเท่านั้น และห้ามชาวญี่ปุ่นเดินทางออกนอกประเทศ
การกดขี่ชาวคริสต์ในยุคนี้ก็โหดร้าย มีบันทึกว่ามีการลงโทษชาวคริสต์ด้วยการตรึงกางเขนในที่สาธารณะ มีการตัดหัว รวมทั้งการประหารแบบอื่นๆ อีก
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 มีการคาดการณ์ว่ามีชาวคริสต์ถูกสังหารไปแล้วกว่า 300,000 คน มีการปราบปรามชาวคริสต์อย่างโหดร้ายและรุนแรง ทำให้ชาวคริสต์ในญี่ปุ่นต้องอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ
การเริ่มต้นปราบปรามอย่างรุนแรงเริ่มต้นในช่วงศตวรรษที่ 17 หลังจากที่โชกุน “โทคุงาวะ ฮิเดทาดะ (Tokugawa Hidetada)” ประกาศให้ศาสนาคริสต์เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับญี่ปุ่น หากแต่ศาสนาคริสต์ก็ยังคงเติบโต โดยเฉพาะทางใต้
ค.ศ.1623 (พ.ศ.2166) ได้มีการกวาดล้างชาวคริสต์อย่างรุนแรง และหนึ่งในวิธีการพิสูจน์ว่าใครเป็นชาวคริสต์ ก็คือการบังคับให้เหยียบรูปวาดพระเยซูหรือพระแม่มารี
หากใครไม่กล้าเหยียบ ก็จะถือว่าคนผู้นั้นเป็นชาวคริสต์ ไม่กล้าเหยียบรูปเคารพ และคนผู้นั้นก็จะถูกประหาร
ย้อนกลับไปในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1597 (พ.ศ.2140) ก่อนจะมีการประกาศแบนศาสนาคริสต์อย่างเป็นทางการ นักบวชชาวคริสต์จำนวน 26 รูปถูกตรึงกางเขนที่นาโงย่า เป็นการเริ่มต้นการกดขี่ชาวคริสต์อย่างเต็มรูปแบบ
“กบฏชิมาบาระ (Shimabara Rebellion)” ในปีค.ศ.1637 (พ.ศ.2180) นำโดยเหล่าชาวไร่ชาวนาที่นับถือศาสนาคริสต์ซึ่งถูกกดขี่ ได้ลุกขึ้นต่อต้านภาครัฐ ไม่ยอมถูกกดขี่อีกต่อไป
รัฐบาลก็ไม่นิ่งเฉย ได้ตอบโต้ด้วยความรุนแรง มีการส่งทหารเข้าปราบปรามในหลายพื้นที่ มีการสังหารชาวคริสต์เป็นจำนวนมาก
ชาวคริสต์จำนวนมากถูกตัดหัว ต้มในน้ำร้อนทั้งเป็น ตรึงกางเขน รวมทั้งโยนลงหน้าผา
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ชาวคริสต์จำนวนมากเลือกที่จะซ่อนเร้นปิดบังความเชื่อ ทำพิธีกรรมอย่างลับๆ สมาคมชาวคริสต์ที่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ก็ได้ผนวกพิธีกรรมความเชื่อของศาสนาคริสต์เข้ากับความเชื่อท้องถิ่นญี่ปุ่น
ถึงแม้ศาสนาคริสต์ในญี่ปุ่นเวลานั้นจะอยู่ในขั้นวิกฤต แต่ก็ยังคงรอดมาได้ ไม่สูญหายไปจนหมด
แม้ในปัจจุบัน ก็มีชาวคริสต์ในญี่ปุ่นเพียงแค่ประมาณ 1% เท่านั้น ซึ่งก็อาจจะเป็นผลมาจากการปราบปรามชาวคริสต์อย่างหนักในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
ต่อไป ผมจะขอกล่าวรายละเอียดของ “กบฏชิมาบาระ (Shimabara Rebellion)” ซึ่งเป็นเหตุการณ์จลาจลในช่วงระหว่างปีค.ศ.1637–1638 (พ.ศ.2180-2181) และเป็นเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น
กบฏครั้งนี้นำโดยเหล่าชาวนาชาวไร่ญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์ และเหตุการณ์นี้ อันที่จริง ก็ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการถูกกดขี่ทางศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมปัญหาปากท้องเข้าไปด้วย
รากฐานการกบฏส่วนหนึ่งก็มาจากนโยบายที่รุนแรงของรัฐบาลเอโดะ บวกกับการขูดรีดภาษีอย่างหนัก ทำให้บรรยากาศของญี่ปุ่นนั้นอยู่ในความตึงเครียดและยากลำบาก ทำให้ชาวนาชาวไร่ที่นับถือศาสนาคริสต์ต่างลุกฮือขึ้นต่อต้าน
เหตุการณ์กบฏนี้เริ่มต้นขึ้นในปีค.ศ.1637 (พ.ศ.2180) ในแถบชิมาบาระ และกลุ่มกบฏ รวมทั้งเหล่าโรนิน เด็กและสตรี ต่างก็หลบอยู่ใน “ปราสาทฮาระ (Hara Castle)” ยึดเป็นฐานที่มั่นต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการที่กดขี่ประชาชน
บริเวณที่เคยเป็นปราสาทฮาระ
รัฐบาลเองก็ไม่ยอมง่ายๆ ได้นำกำลังเข้าล้อมปราสาท และการปิดล้อมปราสาทก็ดำเนินไปเป็นเวลานับเดือน มีการยิงโจมตีปราสาทอยู่เรื่อยๆ จนในที่สุด กลุ่มกบฏก็ต้องพ่ายแพ้ในที่สุด
กลุ่มกบฏเสียชีวิตไปกว่า 37,000 คน ในขณะที่ผู้ที่รอดชีวิตก็ถูกตัดสินประหาร
เหตุการณ์กบฏชิมาบาระนับเป็นเหตุการณ์สำคัญสำหรับชุมชนชาวคริสต์ในญี่ปุ่น ทำให้เกิดข้อบังคับที่เข้มงวดกว่าเดิมตามมา และทำให้รัฐบาลตัดสินใจปิดประเทศ ตัดขาดจากโลกภายนอก
การตัดขาดจากโลกภายนอกของญี่ปุ่นทำให้รัฐบาลสามารถควบคุมเรื่องต่างๆ ได้อย่างสะดวก และทำให้ชาวคริสต์ในญี่ปุ่นต้องหลบๆ ซ่อนๆ เกิดกลุ่มที่เรียกว่า “คาคุเระ คิริชิตัน (Kakure Kirishitan)” ซึ่งก็คือกลุ่มชาวคริสต์ที่อยู่อย่างลับๆ พ้นหูพ้นตาทางการ
หลังจากที่ชุมชนชาวคริสต์ในญี่ปุ่นถูกกดขี่มาอย่างยาวนานนับศตวรรษ ก็ถึงเวลาของยุคใหม่ มีการเริ่มเปิดประเทศสู่โลกภายนอก กฎเกณฑ์ต่างๆ ก็เริ่มผ่อนคลาย
จุดเปลี่ยนสำคัญคือ “การฟื้นฟูเมจิ (Meiji Restoration)” ในปีค.ศ.1868 (พ.ศ.2411) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นได้พลิกประเทศ เร่งพัฒนาประเทศให้เข้าสู่ความทันสมัย มีการเปิดรับเทคโนโลยีและแนวคิดต่างๆ จากต่างประเทศ
และนอกจากการเปิดประตูสู่โลกภายนอก จุดยืนของรัฐบาลต่อศาสนาคริสต์ในญี่ปุ่นก็เริ่มเปลี่ยนแปลง มีการผ่อนปรนและยกเลิกกฎหลายๆ อย่าง ทำให้ชาวคริสต์เริ่มจะปรากฎ ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ มากดังเช่นในอดีต
แต่การยอมรับศาสนาคริสต์ในญี่ปุ่นก็ใช่ว่าจะไม่มีความท้าทายหรืออุปสรรคเลย เพราะถึงแม้รัฐบาลเมจิจะยกเลิกการแบนศาสนาคริสต์ไปในปีค.ศ.1873 (พ.ศ.2416) แต่การยอมรับของสังคมก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป ผู้ที่ยังไม่ยอมรับก็ยังมีอยู่บ้าง
แต่การยกเลิกการแบนก็ทำให้ชุมชนชาวคริสต์ในญี่ปุ่นเติบโต มิชชันนารีสามารถกลับเข้ามาได้อีกครั้ง เกิดการตั้งสถาบันและโรงเรียนสอนศาสนามากมาย ทำให้ชุมชนชาวคริสต์กลับมาเบ่งบาน
2
แต่ประวัติศาสตร์ที่ดำมืดที่ผ่านมาก็ยังคงอยู่ และเป็นบทเรียนบทสำคัญสำหรับชาวญี่ปุ่น
โฆษณา