23 ม.ค. เวลา 10:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เครดิตบูโรมีไว้ทำไม

หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินคำนี้มานานแล้ว แต่อาจจะไม่รู้ว่ามันคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร มีแต่คนบอกว่ามันไม่ดี ทำให้กู้ยาก วันนี้เรามาเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้กันหน่อย
ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจกับการกู้ยืมเงินก่อน การกู้ยืมเงินนั้นคือการที่ผู้ให้กู้ให้ผู้กู้ยืมเงินเป็นระยะเวลาหนึ่ง และมีการจ่ายดอกเบี้ย และเงินต้นกันตามสัญญาที่กำหนดไว้ ถ้าผู้กู้ปฏิบัติตามสัญญาที่กำหนดไว้คงไม่มีปัญหาใดๆ แต่พอผู้กู้ผิดสัญญาไม่ชำระคืน ผู้ให้กู้ก็อาจจะเสียหายได้
เพื่อลดโอกาสเสียหาย ผู้กู้จึงอาจจะหากระบวนการต่างๆ เช่น การมีหลักประกัน การจำนำ การขายและซื้อคืน (repurchase) เป็นเงินกู้แบบมีหลักประกัน (collateralized loan) โดยหลักประกันมักจะต้องมีมูลค่าเกินกว่าหลักประกัน (overcollateralized) เพื่อให้ผู้กู้มีแรงจูงใจที่จะคืนเงิน เพื่อไถ่ถอนเอาหลักประกันคืน และหากผู้กู้ไม่คืนเงิน ผู้ให้กู้ก็สามารถบังคับและขายหลักประกันเพื่อชดใช้มูลหนี้ และลดความเสียหายได้
แต่บ่อยครั้งที่ผู้กู้ไม่มีหลักประกันที่สามารถเอามาค้ำได้ อีกหนึ่งวิธีการที่ผู้ให้กู้มักใช้ คือ การขอให้มีการค้ำประกันโดยบุคคลอื่น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในกรณีที่ผู้กู้ไม่ชำระดอกเบี้ย และเงินต้น ผู้ให้กู้ก็สามารถไล่เบี้ยเอากับผู้ค้ำประกันได้ เพื่อลดความเสียหาย
แต่กระนั้น การผิดนัดชำระหนี้ก็ยังอยู่ในอัตราที่สูง และมีผู้ขอกู้ที่ไม่สามารถกู้ได้ตามเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้มีผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้เป็นจำนวนมาก และต้องหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบ ยอมจ่ายดอกเบี้ยสูงๆ และเสี่ยงที่จะถูกติดตามหนี้เกินความเหมาะสม
เพื่อเป็นการแก้ปัญหานี้ ธนาคารแต่ละธนาคารจึงมีการเก็บข้อมูลเครดิตของลูกค้า แต่ละคน ลูกค้าที่มีประวัติในการชำระหนี้สม่ำเสมอ ก็จะได้รับโอกาสในการกู้ยืมเงินครั้งต่อไป ใครที่ผิดนัดบ่อยๆ ก็จะถูก blacklist และไม่สามารถกู้ยืมเงินที่สถาบันการเงินนั้นได้อีก
แต่พอในภายหลัง สถาบันการเงินมีมากขึ้น ผู้ที่ผิดนัดชำระหนี้บ่อย ก็วนไปกู้ที่ธนาคารอื่นไปเรื่อยๆ แทน จนทำให้อัตราการผิดนัดชำระหนี้สูง ส่งผลทำให้ต้นทุนในการให้กู้ เนื่องจากต้องสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญมาก
นี่จึงเป็นที่มาของการตั้งเครดิตบูโร เพื่อให้สถาบันการเงินแลกเปลี่ยนข้อมูลเครดิตระหว่างกัน โดยในประเทศไทยเริ่มมีการนำเสนอความคิดมาตั้งแต่ปี 2504 และมีความพยายามจะจัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2538 แต่พอไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจจนต้องลอยตัวค่าเงินบาทก็ทำให้แผนชะงักไป
จนในปี 2541 ธอส. ได้จัดตั้ง บริษัท ข้อมูลเครดิตไทย จำกัด ขึ้น ส่วนฝ่ายธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย ได้จัดตั้ง บริษัท ระบบข้อมูลกลาง จำกัด ขึ้น และมี พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 ออกมารับรองการประกอบธุรกิจ จนในปี 2548 บริษัททั้งสองก็ได้ควบรวมกัน และกลายเป็น บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ในปัจจุบัน
นอกจากการช่วยลดเสี่ยงของผู้ให้กู้ในการหลีกเลี่ยงการกู้ยืมเงินให้กับผู้ให้กู้ที่มีความเสี่ยงกับการชำระเงินแล้ว มันยังเป็นทฤษฎีเกม (game theory) แบบที่เรียกว่า infinite game ที่การกู้ยืมไม่ใช่เป็นเกมที่เล่นครั้งเดียวจบ คนที่กู้และหวังว่าจะได้กู้ต่อไป ต้องพยายามไม่ผิดนัดชำระหนี้ เพื่อไม่ให้เสียประวัติ จึงยิ่งส่งผลทำให้อัตราการผิดนัดชำระหนี้ลดลงไปอีก
ถ้ามีใครนึกไม่ออกมากๆ ไว้ผมอาจจะมายกตัวอย่างเป็นตัวเลขให้ดูในตอนถัดไป เพื่อจะได้เห็นภาพประโยชน์ของเครดิตบูโรครับ
โฆษณา