Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กรุงเทพธุรกิจ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
27 ม.ค. เวลา 04:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ค้าขายกับจีนในปีมังกร “ความเสี่ยงหรือโอกาส”
การลงทุนในจีนไม่ใช่ความเสี่ยงแต่เป็นโอกาส และขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลจีนจะมองผลระยะยาว และมีมาตรการอื่นนอกเหนือจากการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการเติมเงินเข้าไปเพื่อผลประโยชน์ระยะสั้น
[เรื่อง: กฤษฎา บุญเรือง]
นายกรัฐมนตรีจีน Li Qiang นำคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงเทียบเท่ารัฐมนตรีกว่า 10 คนเดินทางไปประชุม Davos ที่สวิตเซอร์แลนด์ 15-19 มกราคม 2567 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั่วโลก โดยเน้นคำขวัญที่ว่า “การลงทุนในจีนไม่ใช่ความเสี่ยงแต่เป็นโอกาส และขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลจีนจะมองผลระยะยาว และมีมาตรการอื่นนอกเหนือจากการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการเติมเงินเข้าไปเพื่อผลประโยชน์ระยะสั้น” ย้ำแถลงว่าจีดีพีของจีนปี ค.ศ. 2023 ขึ้นมาเป็น 5.2% เป็นตัวเลขที่สูงเกินกว่าที่ทั่วโลกคาดไว้
อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 16 ถึง 24 ปีลดลงจาก 21.33% เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.2023 และประกาศหยุดรายงานตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กลับมารายงานอีกครั้งโดยใช้วิธีการนับแบบใหม่ในเดือนธันวาคม ค.ศ.2023 ซึ่งไม่รวมกับการทำงานของนักศึกษา และแจ้งว่าตัวเลขดีขึ้นคือ เหลือเพียงแค่ 14.9% เท่านั้น
📌 จีนขายข่าวดี แต่เหตุใดจึงไม่มีใครซื้อ
หลังจากคำแถลงของนายกรัฐมนตรีจีน ดัชนีหุ้นฮ่องกงซึ่งบริษัทขนาดใหญ่ของจีนใช้เป็นแหล่งซื้อขายหุ้นกับนักลงทุนนานาชาติร่วงลงเกือบ 4% ภายในวันเดียว ส่วนดัชนีหุ้นเซี่ยงไฮ้ลดลง 2.1%
คำถามคือ ทำไมข่าวดีต่างๆ เหล่านี้จึงไม่ได้รับการตอบสนองจากนักลงทุนต่างประเทศ อะไรเป็นเหตุที่ทำให้ทางการของจีนขาดความเชื่อถือ หรือจิตวิทยามวลชนมีแนวโน้มไปในทางลบต่อจีนแล้ว
ชาวจีนเป็นจำนวนมากแสดงความเห็นทางโซเชียลมีเดียไปในทำนองเดียวกัน ซึ่งอาจจะสะท้อนถึงความรู้สึกของชาวจีนในปัจจุบัน “ตั้งแต่โควิดเป็นต้นมา มูลค่าทรัพย์สินในตลาดหุ้นลดลง 30% เงินเดือนลดลง 30% อสังหาริมทรัพย์มูลค่าลดลง 20% จึงควรดูแลครอบครัวตามสมถะ ประหยัดอะไรได้ควรประหยัด ลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และการท่องเที่ยว และที่สำคัญคือ อย่าตกงาน”
ชาวจีนหลายคนเปลี่ยนลำดับความสำคัญในการบริหารเงิน จากแนวรุกมาเป็นตั้งรับ จำใจต้องขายหุ้นในราคาที่ขาดทุนเพื่อนำเงินสดมาโปะหนี้สินอสังหาริมทรัพย์
ประเมินว่าประมาณ 70% ของชาวจีนรู้สึกว่าตนเองมีความมั่งคั่งลดลง Bloomberg Economics รายงานว่าความมั่งคั่งของชาวจีนโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์นั้นหดหายไป 19 ล้านล้านหยวน (2.7 ล้านล้านดอลลาร์) ในช่วงโควิด UBS ประเมินว่าทรัพย์สินสุทธิต่อบุคคลชาวจีนวัยผู้ใหญ่ (adult) โดยเฉลี่ยเป็น $75,731 เทียบกับสหรัฐ และแคนาดาที่ $531,286, ยุโรป $177,179, อินเดีย $16,500 และไทย $9,602
ตลาดหุ้นกลางของจีน ตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงปัจจุบัน มูลค่าลดลงไปแล้วถึง 14% เมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่นปีนี้ขึ้นมาแล้ว 6% และสหรัฐอเมริกา อยู่คงที่ ที่น่าตกใจคือ ตลาดหุ้นจีนนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2021 ดัชนี CSI 300 ได้สูญเสียไปประมาณ 42%
ดัชนีบลูชิพ CSI 300 ของจีนร่วงลงมากกว่า 11% ในปี ค.ศ.2023 ในขณะที่ Hang Seng ของฮ่องกงร่วงลงเกือบ 14%
ตลอดทั้งปี ค.ศ.2023 ดัชนี S&P 500 มาตรฐานของสหรัฐ และ Stoxx 600 ของยุโรปเพิ่มขึ้นเกือบ 25% และ 13% ตามลําดับ Nikkei 225 ของญี่ปุ่นทะยานขึ้น 30% Sensex มาตรฐานของอินเดีย ซึ่งติดตามบริษัทขนาดใหญ่ 30 แห่ง เพิ่มขึ้นเกือบ 19%
📌 ปัญหาประชากรของจีนอาจซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าอัตราการเติบโตของจีนจะสูงถึง 5.4% ในปี ค.ศ.2023 แต่จะค่อยๆ ลดลงเหลือ 3.5% ในปี ค.ศ. 2028 โดยชี้สาเหตุสำคัญสองอย่างที่จะกระทบจีดีพีจีนในทางลบคือผลผลิตที่ต่ำลง และประชากรที่สูงอายุ อัตราการเกิดของจีนลดลง จำนวนประชากรหดหาย การแต่งงานน้อยลง
1
ทางการจีนประกาศในสัปดาห์นี้ว่า ปี ค.ศ. 2023 มีชาวจีนเกิด 9.02 ล้านคน (ลดลงจาก 9.56 ล้านคนในปี 2022) และเป็นปีที่เจ็ดติดต่อกันที่ตัวเลขลดลง เมื่อรวมกับจํานวนผู้เสียชีวิต 11.1 ล้านคน ประชากรจะหดหายไปในปีเดียว 2 ล้านคน ประชากรของจีนในปัจจุบันอยู่ที่ 1,409,670,000 คน
อายุเฉลี่ยของชาวจีนมากขึ้นที่ 38.8 ปี (เทียบกับญี่ปุ่น 49.5, เกาหลีใต้ 45.0, สหรัฐอเมริกา 38.8, และไทย 41.0 ปี)ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติประเมินว่าประชากรของจีนจะลดลง 109 ล้านคนภายในปี ค.ศ. 2050
ประชากรของจีนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมี 296.97 ล้านคนในปี ค.ศ. 2023 หรือประมาณ 21.1% ของประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 280.04 ล้านคนในปี ค.ศ.2022
1
ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตของคนจีนในยุคปัจจุบันต้องพึ่งพารายได้ประจำซึ่งมีการแข่งขันสูง ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเรื่องการดูแลเด็ก และการศึกษาเน้นความสำคัญและการแข่งขัน สตรีในวัยทำงานเกิดความกดดันทางเศรษฐกิจ และวิชาชีพไม่กล้าหยุดงานเพื่อสร้างครอบครัว และมีลูก
อัตราการแต่งงานของจีนลดลง รายงานเมื่อปีค.ศ. 2022 มีชาวจีนจดทะเบียนแต่งงาน 6.83 ล้านคู่ ซึ่งลดลงประมาณ 10.5% จากการลงทะเบียนแต่งงาน 7.63 ล้านคู่ในปี ค.ศ.2021 ซึ่งนับว่าเป็นปีที่แต่งงานน้อยที่สุดตั้งแต่ทางการจีนรายงานตัวเลขเริ่มที่ปี 1986 เป็นต้นมา
ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผลักดันค่านิยมเพื่อหวังกระตุ้นการพัฒนาประเทศ “เรื่องราวประเพณีครอบครัวที่ดี” และเสริมว่าจําเป็นต้อง “ปลูกฝังวัฒนธรรมใหม่ของการแต่งงาน และการคลอดบุตรอย่างจริงจังเร่งด่วน”
รัฐบาลท้องถิ่นได้ประกาศมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการคลอดบุตร รวมถึงการหักภาษี การลาคลอดที่นานขึ้น และเงินอุดหนุนที่อยู่อาศัย เศรษฐกิจ และประชากรจีน มีผลกระทบต่อไทยโดยตรง
รัฐบาลไทยได้ตั้งความหวังไว้สูงกับรายได้เข้าประเทศที่มาจากจีน การส่งออกสินค้าไปขายที่จีน และเชิญชวนนักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามาใช้จ่ายในไทย จีนเป็นคู่ค้าทางเลือกที่ไทยใช้เป็นความสมดุลกับการค้าขายกับกลุ่มประเทศอื่นๆ มาโดยตลอด การลงทุนโครงการใหญ่หลายอย่างจากจีนมาไทยที่เรากำลังเจรจา และที่เห็นในภาคปฏิบัติในปัจจุบันนั้น เป็นสิ่งที่น่ายินดี และควรจะส่งเสริมต่อไป แต่เมื่อสถานการณ์ของจีนแสดงถึงสัญญาณอันตรายสองอย่างคือ เศรษฐกิจ และประชากร รัฐบาลไทยคงต้องปรับนโยบายโดยด่วน
เศรษฐกิจจีนก็คงไม่ต่างจากเศรษฐกิจโลกคือ มีขึ้น และมีลง แต่แนวโน้มของประชากรที่ลดลงในประเทศที่มีความเป็นอยู่ดีขึ้น เช่น จีนและไทย คงเป็นสิ่งที่เราจะหวังให้เปลี่ยนทิศทางนั้นคงยาก นอกจากจะมีปาฏิหาริย์รวมใจกันเปลี่ยนความคิด หันมาสร้างสังคมให้มีบรรยากาศเอื้ออำนวยการสร้างครอบครัว ลดความเครียด และเพิ่มความหวังให้กับคนวัยหนุ่มสาวครับ
อ้างอิง:
-
http://tinyurl.com/23xuy8rh
-
http://tinyurl.com/4vpfcyvh
-
http://tinyurl.com/5bmkx62b
-
http://tinyurl.com/mr3rm5vy
4 บันทึก
8
1
2
4
8
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย