24 ม.ค. 2024 เวลา 03:49 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เครดิตบูโรมีไว้ทำไม ตอนที่ 2: ตัวอย่าง

ตอนที่แล้ว ผมเล่าให้ฟังไปแล้วถึงสาเหตุว่าทำไมเครดิตบูโรถึงสำคัญ คราวนี้มายกตัวเลขให้เห็นกัน จะได้เข้าใจกันง่ายขึ้น
ลองดูในตัวอย่างหนึ่งที่มีผู้สนใจกู้เงินทั้งหมด 3 คน
นาย A มนุษย์เงินเดือน คะแนนเครดิต 100 เต็ม โอกาสเบี้ยวหนี้ 0%
นาย B รับจ้างทั่วไป คะแนนเครดิต 80 โอกาสเบี้ยวหนี้ 10%
นาย C ว่างงาน คะแนนเครดิต 0 โอกาสเบี้ยวหนี้ 100% และเบี้ยวมาก่อนหน้าหลายครั้งจนเครดิตเป็น 0
สมมติว่า recovery rate = 50% คือถ้าเบี้ยวแล้วจะได้เงินคืน 50% จากยอดเงินกู้
ถ้าต้นทุนของธนาคารอยู่ที่ 5% คุณจะคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าไร?
ถ้าต้องให้กู้ทุกคน คนละเท่าๆ กัน ต้นทุนการกู้ตามความน่าจะเป็นจะอยู่ที่
5% + (0% + (10% * 50%) + (100% * 50%))/3 = 23.33%
นี่เป็นต้นทุนในการปล่อยกู้แบบที่เรารู้ข้อมูลความน่าจะเป็นในการเบี้ยวหนี้ แต่ไม่รู้ว่าใครจะเบี้ยวหนี้ ถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็ต้องปล่อยกู้อย่างน้อย 23.33% ซึ่งจะเห็นว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงมากๆ และกลายเป็นว่า คนที่ดีกลับต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยที่แพงไปด้วย
แต่ถ้าสมมติว่า เรามีข้อมูลที่ประเมินความเสี่ยงนี้ได้ในระดับผู้กู้แต่ละคนได้ ถึงแม้ว่าต้นทุนจะอยู่เหมือนเดิม เราจะเห็นว่าปล่อยกู้นาย C อย่างไรก็ไม่คุ้ม ถ้าเราเปลี่ยนไปปล่อยกู้ให้เฉพาะนาย A และ นาย B จากข้อมูลเครดิตที่มี ต้นทุนการปล่อยกู้ให้นาย A และนาย B เฉลี่ยก็จะเป็น
5% + (0% + (10% * 50%))/2 = 7.5%
และถ้าธนาคารเลือกมากกว่านั้น อาจจะเลือกปล่อยให้นาย A เพียงคนเดียว และมีต้นทุนการปล่อยกู้เพียงแค่ 5% เท่านั้น
เราจะเห็นได้ว่า การที่มีข้อมูลเครดิตที่ดีพอ จะทำให้การปล่อยกู้มีต้นทุนที่ต่ำลงได้ เพราะมีการคัดเลือกคนที่จะปล่อยได้ง่ายขึ้น และช่วยลดโอกาสการเสียหายได้ แต่อย่างไรก็ตาม การมีข้อมูลที่มากขึ้นทำให้เกิดการไม่เข้าถึงบริการทางการเงิน (financial exclusion) ได้ โดยนาย C อาจจะไม่มีทางได้เข้าถึงบริการเลย เพราะเครดิตแย่
นอกจากนี้ สมมติทางธนาคารต้องการจะปล่อยเงินกู้ใหักับนาย A และนาย B แทนที่จะปล่อยทั้งสองคนที่อัตราดอกเบี้ยเท่ากันที่ 10% เพื่อกินส่วนต่างดอกเบี้ย 2.5% ธนาคารอาจจะเลือกที่จะใช้นโยบายความแตกต่างทางราคา (price differentiation) อาจจะเลือกปล่อยให้ A ในอัตรา 7% เพื่อดึงดูดนาย A ให้กู้
ในขณะที่เลือกปล่อยให้ B ที่ 10% เพื่อให้คุ้มค่ากับความเสี่ยง การทำแบบนี้อาจจะช่วยเพิ่มผลตอบแทน และลดความเสี่ยงให้กับธนาคารได้ โดยการดึงดูดลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำ และพยายามผลักลูกค้าความเสี่ยงสูงออกไป ถ้าลูกค้าอยากมาจริงก็ต้องยอมจ่าย premium ในการกู้ยืมเงินที่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น
คราวนี้เราต้องกลับมาตั้งคำถามว่า อ้าว แล้วนาย C จะไม่มีโอกาสได้กู้เลยเหรอ นี่มาอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ เครดิตบูโรไม่ใช่บัญชีหนังหมาที่เก็บกรรมไว้จนตาย รอให้ยมบาลมาตัดสิน หากนาย C ประพฤติตัวดีขึ้น ในที่สุดประวัติก็จะถูกลืมไป และสถาบันการเงินก็จะได้โอกาสกับนาย C ในการกู้ยืมอีกครั้ง
ถึงแล้วว่าอาจจะกู้ไม่ได้ถูกเท่า แต่ก็ยังพอมีโอกาสได้กู้อยู่บ้าง และมีแรงจูงใจให้ไม่ผิดหนี้ในอนาคต เพื่อที่จะรักษาเครดิตของตนเอง และในขณะเดียวกันก็ช่วยลดความเสี่ยงโดยรวมของอุตสาหกรรมได้
หวังว่าตัวอย่างที่ยกให้ข้างต้น จะทำให้พอเห็นภาพของเครดิตบูโรได้ชัดเจนขึ้น
โฆษณา