24 ม.ค. เวลา 05:00 • ความคิดเห็น

แก้ปัญหาแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ และพวกหลอกลวงลงทุน

ทาง ตลท. เป็นห่วงเป็นใย และพยายามเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้มาตลอดปีที่แล้ว และนับว่าเป็นเรื่องที่น่าท้อแท้มาก ทั้งๆ ที่มันไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะเราโดยตรง แต่กลับเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรง เพราะนักลงทุนเสียความเชื่อมั่น จนไม่กล้าลงทุนเอาเสียเลย เนื่องจากแยกไม่ออกว่าอะไรจริง อะไรปลอมอีกแล้ว
ตลท. ได้พยายามเชื่อมกับองค์กรอื่นไม่ว่าจะเป็น ก.ล.ต. ตำรวจ สถาบันการเงิน สกมช. รวมไปถึงเจ้าของสื่อที่มีการโฆษณาหลอกลวงไม่ว่าจะเป็น line, facebook, instagram, tiktok ให้ช่วยดำเนินการลบข้อมูลเท็จดังกล่าวออก เพื่อไม่ให้นักลงทุนได้รับความเสียหาย
แต่อย่างไรก็ตาม โพสต์ปลอมมีจำนวนมากมาย จนไม่สามารถจัดการได้ง่าย เพียงลำพังแค่แจ้งความ/ติดต่อสื่อโซเชียลตามที่พบก็ไม่หวาดไม่ไหวแล้ว แต่สื่อกลับไม่ค่อยให้ความร่วมมือ หลายๆ สื่อไม่มีการเอาข้อความออก และไม่สามารถติดต่อกับทีมงานให้ช่วยดูแลได้ จึงดูเป็นเรื่ิองที่น่าหมดกำลังใจเป็นยิ่งนัก
แต่หากเรากลับมามองดูปัญหานี้ ประเทศไทยจริงๆ แล้วกลับแทบไม่ติดสถิติโลกเลย ประเทศอื่นเช่น บราซิล อินเดีย ไนจีเรีย เม็กซิโก รัสเซีย ดูมีปัญหาหนักกว่าเรามากๆ แต่เรากลับเจอปัญหานี้หนักข้อกว่าเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมามาก ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นนะ?
หนึ่งในต้นตอของปัญหานี้ก็คือ พร้อมเพย์ ถึงแม้พร้อมเพย์จะเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ยกระดับสังคมไร้เงินสดของประเทศไทย จนเป็นหนึ่งในประเทศแนวหน้าของโลก แต่สิ่งใดที่มีคุณอนันต์ สิ่งนั้นก็มีโทษมหันต์ด้วยเช่นกัน
การที่เรามีเงินพร้อมโอนเพียงแค่ใช้ปลายนิ้วนั้นธนาคารมีการลงทุนมหาศาลในการผลักดันให้เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่แทบไม่มีรายได้เลย แถมยังเสียประโยชน์จากค่าโอนข้ามธนาคาร และข้ามจังหวัดในอดีตที่คิดเป็นรายได้ปีหนึ่งเป็นหมื่นๆ ล้าน แต่ก็ต้องทำ เพราะเป็นการแข่งขันที่ต้องแย่งยอดเงินฝากกัน
แต่สิ่งอื่นกลับเคลื่อนไหวช้ากว่ามากๆ ตำรวจยังทำงานกันอย่างเดิม กฎหมายก็ยังเหมือนเดิม ศาลก็ยังตัดสินคดีล่าช้าเหมือนเดิม คนไทยก็ยังใสซื่อบริสุทธิ์ และถูกหลอกลวงง่ายเหมือนเดิม
ในอดีต เวลาที่เราฝากเงินเข้าธนาคารผ่านเช็ค ธนาคารหลายแห่งจะไม่ให้ถอนเงินเป็นเงินสดให้ทันที ทำให้เวลาเกิดการฉ้อโกงขึ้น ผู้เสียหายมีโอกาสที่จะแจ้งธนาคาร หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ช่วยหยุดธุรกรรม หรืออายัดได้ทัน แต่พอเป็นพร้อมเพย์ที่สามารถโอนได้ทันที คนร้ายที่ตั้งบัญชีม้า เมื่อหลอกลวงคนเสร็จ ได้รับเงินเสร็จ ก็พร้อมที่จะโอนไปบัญชีอื่นอีกสองสามทอด ก่อนที่จะไปซื้อคริปโต และหายเข้ากลีบเมฆไป
1
ในขณะที่ผู้เสียหาย กว่าจะหยุดธุรกรรมดังกล่าวได้ ก็ต้องตระหนักก่อนว่าพลาดไปแล้ว บางทีก็อาจจะเสียเวลาหลายวันกว่าจะรู้ตัว เมื่อรู้ตัวก็ต้องไปแจ้งตำรวจที่สถานีตำรวจ ได้ใบแจ้งความเสร็จ ก็ต้องไปแจ้งธนาคารต้นทาง และปลายทาง กว่าจะทำเสร็จ เงินก็หายเข้ากลีบเมฆไปนานแล้ว
นี่จึงทำให้คนร้ายมีแรงจูงใจที่จะใช้ช่องทางนี้ในการหลอกลวงให้ผู้เสียหายโอนเงินมากขึ้นเรื่อยๆ นี่เองเป็นต้นตอหลักที่ทำให้การหลอกลวงเพิ่มสูงขึ้นมาก
การแก้ไขปัญหาที่ถูกทาง คือ การแก้ที่ต้นเหตุนี้ เราต้องหาวิธีที่ทำให้คนร้ายรับเงินได้ยากขึ้น ช้าลง และถูกตรวจสอบได้ง่ายขึ้น ซึ่งมีหลากหลายวิธีการที่พอทำได้ ดังนี้
1. ให้ National ITMX ผู้ให้บริการพร้อมเพย์ นำข้อมูลธุรกรรมที่วิ่งผ่านตัวเอง และผ่านธนาคารพาณิชย์มารวมศูนย์ และใช้ AI และ Machine Learning ในการตรวจสอบพฤติกรรมที่ผิดปกติ และให้คะแนนบัญชีเหล่านี้ ก่อนการโอน คนโอนควรจะเห็นคะแนนความเสี่ยงของบัญชี และระมัดระวังตัวเองให้มากขึ้น หรือไม่แอปธนาคารก็อาจจะใช้คะแนนนี้ในการขึ้นเตือนก่อนการโอน มากกว่าการบังคับให้ผู้โอนต้อง scan หน้า ซึ่งแทบจะไม่มีผลในการป้องกันเลย เว้นแต่ทำให้การโอนช้าลง เผื่อที่ผู้เสียหายจะ "เอ๊ะ" เองว่าอาจจะถูกหลอกลวงอยู่
2. การโอนผ่านบัญชีที่ไม่เคยมีการลงทะเบียน ควรจะถูกกำหนดไม่ให้โอนออกได้โดยง่าย เช่น อาจจะระบุว่า เงินที่ฝากเข้ามา x บาท สามารถถอน/โอนต่อได้ ไม่เกิน y บาทภายใน z วันเป็นต้น เพื่อเป็นการถ่วงความเร็วลง
3. ทำบัญชีที่มีการรับรองให้มีลักษณะคล้าย ๆ กับป้ายสัญลักษณ์ถูกสีฟ้าใน x, instagram, facebook เป็นต้น บัญชีที่มีการโอนถี่ๆ หรือเกินกว่าค่าๆ หนึ่ง ควรจะต้องมีการยืนยัน และแจกสัญลักษณ์ เพื่อทำให้ผู้โอนมั่นใจกับการโอนไปยังบัญชีแท้ และให้ความระมัดระวังกับบัญชีที่ไม่มีการยืนยันดังกล่าว
4. ขึ้นทะเบียนบัญชีม้า ใครที่เป็นเจ้าของบัญชีที่หลอกลวงจะมีการถูกแบนไม่ให้ไปเปิดบัญชีที่ธนาคารอื่นๆ เป็นเวลา x ปี และมีการดำเนินคดีอย่างจริงจัง
5. เพิ่มการตรวจสอบเส้นทางการเงิน โดยเฉพาะบัญชีที่โอนไปซื้อคริปโต และดำเนินคดีกับสถาบันการเงิน และตลาดคริปโต ในเรื่องของความบกพร่องในการตรวจสอบผู้เปิดบัญชี เพราะเงินเหล่านี้มักจะหายเข้ากลีบไปในที่สุด
สิ่งเหล่านี้อยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย และอยู่ในวิสัยที่พอจะทำได้ หวังว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะช่วยผลักดันไอเดียบางอย่างเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้ แต่เรื่องดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และพลังในการผลักดันพอสมควรครับ
โฆษณา