Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กรุงเทพธุรกิจ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
25 ม.ค. 2024 เวลา 04:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
10 แบงก์ตั้งสำรองพุ่ง 2.3 แสนล้าน ‘KTB-CIMBT-BAY’ สำรองเพิ่มสูงสุด
เปิดไส้ใน 10 แบงก์พบสำรองอื้อ 2.3 แสนล้าน เพิ่มขึ้นเฉียด20% กรุงไทย-ซีไอเอ็มบีไทย-กรุงศรี ขึ้นแท่นตั้งสำรองเพิ่มขึ้นสูงสุด ชี้สำรองเพิ่มจากลูกหนี้ธุรกิจรายใหญ่เสื่อมคุณภาพ รองรับเศรษฐกิจปี67มีความไม่แน่นอนสูง
รายงานผลการดำเนินงานครบแล้วสำหรับ 10 ธนาคารพาณิชย์ ตัวที่น่าสนใจ ไม่ต่างกับ “กำไรสุทธิ” คือ การตั้งสำรองหนี้เสียของแบงก์พาณิชย์ ที่ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะออกจากวิกฤติโควิด-19แล้วก็ตาม
สะท้อนการระมัดระวังความเสี่ยงอย่างมากของธนาคารพาณิชย์ ที่ยังมองว่า เศรษฐกิจข้างหน้ายังมีความเสี่ยง ที่อาจกระทบต่อคุณภาพของพอร์ตลูกหนี้ ทำให้ยังมีการตั้งสำรองระดับสูงต่อเนื่อง
ซึ่งหากดูข้อมูลการตั้งสำรองของ 10ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งประกอบไปด้วย เอสซีบี เอกซ์(SCB) ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) ธนาคารกรุงเทพ(BBL) ธนาคารกรุงไทย(KTB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) ธนาคารทหารไทยธนชาต(TTB) ธนาคารทิสโก้(TISCO) ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์(LHFG) และธนาคารเกียรตินาคินภัทร(KKP) พบว่า โดยรวมอยู่ที่ 2.35 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.08% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
การตั้งสำรองดังกล่าว ถือเป็นระดับ “เทียบเท่า” กับการทำกำไรสุทธิของ 10 ธนาคารพาณิชย์ ปีที่ทำได้ 2.3 แสนล้านบาทเช่นเดียวกัน
แต่การตั้งสำรองเพิ่มขึ้น กลับสวนทางกับ “หนี้เสีย”โดยรวมของระบบแบงก์ที่มีทิศทางลดลง เพราะหากดูตัวเลขหนี้เสียคงค้าง ของ10แบงก์พบว่า ลดลงด้วยซ้ำที่ 0.20% มาอยู่ที่ 5.11แสนล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่ 5.12แสนล้านบาท
📌 KTB-CIMBT-BAYติด3อันดับสำรองเพิ่มขึ้นมากที่สุด
กลับมาดูไส้ในการตั้งสำรองของ 10แบงก์ พบว่า แบงก์ที่มีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นมากที่สุดในบรรดา 10แบงก์
อันดับแรก คือ KTB ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นถึง 52.37% มาอยู่ที่ 37,095 ล้านบาท
แม้กรุงไทยจะตั้งสำรองอยู่ระดับสูง แต่หากดู “หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้” หรือเอ็นพีแอล พบว่า ต่ำลง หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมาอยู่ที่ 3.08% ลดลงจาก 3.26% หลักๆมาจากการที่แบงก์มีการตั้งสำรองเพิ่มเติมในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา จากลูกค้ารายใหญ่ หนึ่งราย ที่มีแนวโน้มของคุณภาพสินเชื่อที่เสื่อมค่าลง ทำให้ธนาคารต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
อันดับสอง คือ CIMBT ตั้งสำรองเพิ่มขั้น 48% มาอยู่ที่ 8,246 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.3% จาก 3.2% โดยการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น มาจากการที่ธนาคารมีนโยบายในการจัดการความเสี่ยงด้านการให้สินเชื่ออย่างรัดกุม และมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีคุณภาพ รวมถึงการปรับปรุงแนวทางในการเรียกเก็บหนี้จากสินเชื่อด้อยคุณภาพะที่มีอยู่ ควบคู่กันการแก้ไขปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
อันดับ 3 คือBAY สำรองเพิ่มขึ้น โดยมาอยู่ที่ 35,617 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.64% สอดคล้องกับทิศทางหนี้เสียที่ขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.53% จาก 2.32%ในช่วงเดียวกันปีก่อน
โดยสำรองที่เพิ่มขึ้น กรุงศรีฯระบุว่า มาจากการบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบระมัดระวังจองกรุงศรี โดยพาะสำหรับบริษัทลูกในต่างประเทศ ที่ทำให้สำรองสูงขึ้น ซึ่งธนาคารยังมีความพยายามต่อเนื่องในการแก้ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ
หากดูแบงก์ขนาดใหญ่อย่าง SCB พบว่าตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งปีอยู่ที่ 43,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.88% เพิ่มขึ้นตามหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น 3.44% จาก 3.34%
📌 SCBสำรองพุ่งรองรับเศรษฐกิจเสี่ยงสูง
โดย SCB ระบุว่า การสำรองที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นการตั้งสำรองเพิ่มเติม เพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ไม่สม่ำเสมอ และไม่แน่นอนมากขึ้น ส่วนหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสินเชื่อเคหะที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่ KBANK มีการตั้งสำรองใกล้เคียงกับปีก่อน ที่ 51,840 ล้านบาท แต่ถือว่ามากที่สุด หากเทียบกับบรรดา 10 แบงก์ โดยการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น ที่ยังอยู่ในระดับสูง หลักๆก็เพื่อรองรับความไม่แน่นอนจากปัจจัยเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น และภายใต้การยึดหลักความระมัดระวังในการพิจารณาสำรองเพื่อเสริมความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง
ส่วน BBL ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันมาอยู่ที่ 33,666ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.12% โดยมาจากการตั้งสำรองภายใต้หลักความระมัดระวังและรอบคอบ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แต่ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก จากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก และปัญหาความขัดแย้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
ส่วน TTB สำรองเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ 22,199 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.96% หลักๆที่เพิ่มขึ้นมาจาก การติดตามพอร์ตสินเชื่ออย่างใกล้ชิด โดยธนาคารเพิ่มความสามารถในการรองรับความเสี่ยง หรือเพิ่มระดับ LRR ผ่านการตั้งสำรองพิเศษเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต นอกจากนี้ธนาคารยังเพิ่มระดับ LLR(การปฏิเสธสินเชื่อ) ซึ่งเปรียบได้กับกันชนรองรับความเสี่ยง ผ่านการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นเกราะป้องกันรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต
📌 สำรองพุ่งรองรับ ‘ITD’คุณภาพหนี้ตกชั้น
นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) พาย จำกัด กล่าวว่า การตั้งสำรองของระบบแบงก์ สูงขึ้น โดยเฉพาะแบงก์ใหญ่ ที่มีการตั้งสำรองเพิ่มจาก บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ITD เผื่อคุณภาพหนี้ตกชั้น หลังมีการเลื่อนการชำระจ่ายคืนผลตอบแทนหุ้นกู้ให้กับผู้ถือหุ้น ส่งผลให้บางแบงก์ มีการเลื่อนชั้น ITD มาอยู่ในกลุ่ม สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ(SM)
นอกจากนี้ สำรองที่เพิ่มขึ้น ยังมาจาก ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ที่อาจมีผลต่อคุณภาพหนี้โดยรวมของแบงก์ให้ปรับลดลงได้ในปีนี้ สะท้อนความอ่อนแอลูกหนี้ ทั้งในสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อธุรกิจที่อาจถูกจับตามากขึ้น
ส่วนแนวโน้มการตั้งสำรองปีนี้ คาดว่า สำรองน่าจะอยู่ใกล้เคียงกับปี 2566 หรือลดลงได้เล็กน้อย หากสถานการณ์ลูกหนี้ รวมถึงเศรษฐกิจไม่ได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจรวบรวม
กราฟิก: กษิดิศ สิงห์กวาง
4 บันทึก
7
1
4
7
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย