28 ม.ค. 2024 เวลา 03:00 • สิ่งแวดล้อม

"นกกะรางหัวหงอก" นกประจำถิ่นในป่าเบญจพรรณ

นกกะรางหัวหงอก ชื่อสามัญว่า White-crested Laughing Thrush ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Garrulax leucolophus
เป็นนกประจำถิ่นอยู่ในวงกินแมลง พบได้บ่อยในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าไผ่และป่าชั้นรอง โดยจะอยู่เป็นฝูงตั้งแต่ 2-3 ตัว จนถึง 15 ตัว โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งจะรวมตัวเป็นฝูงใหญ่ มักพบร่วมกับ นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ หากินบริเวณที่มีพุ่มไม้หนาแน่น บริเวณพื้นป่าซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของแมลงและหนอน โดยใช้เท้าคุ้ยเขี่ยดินและใบไม้
ลักษณะลำตัวมีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว ๓o เซนติเมตร ตัวค่อนข้างโต มีลักษณะเด่นอยู่ที่มีขนบนหัวสีขาวฟูคล้ายผมหงอก คอและท้องตอนบนเป็นสีขาว มีปากสีดำและมีแถบสีดำลากจากโคนปากพาดผ่านตาถึงข้างแก้ม ปากตรง และ ตอนปลายปากบน เป็นของุ้ม คลุมปลายปากล่างไว้
โดยปากจะสั้นกว่าหัว ที่มุมปากมีขนเส้นแข็งๆ สั้นๆ ด้วย ท้ายทอยสีเทา หลัง ไหล่ ตะโพกสีแดงอมน้ำตาล ขนหางสีน้ำตาลคล้ำลำตัวด้านล่างเลยจากท้องตอนบนเป็นสีน้ำตาลแดงอ่อนๆ นกตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกันปีกของนกกะรางจะสั้น มนกลม และอยู่แนบชิดลำตัวมากจึงใช้บินได้ในระยะใกล้ๆ เท่านั้น ขนปลายปีก มี ๑o เส้น หางคู่นอก ค่อนข้างยาว และ ยาวกว่าปีก ขนหางมี ๑๒ เส้น ซึ่งแต่ละคู่จะยาวลดหลั่นกันลงไปขนหางคู่บนยาวที่สุด
ขาของนกกะรางค่อนข้างใหญ่และแข็งแรง ปกคุลมด้วยเกล็ดขนาดใหญ่ ที่เรียงซ้อนทับกัน นิ้วเท้าแข็งแรง ยื่นไปข้างหน้า ๓ นิ้ว และ ยื่นไปข้างหลัง ๑ นิ้ว ใช้กระโดดไปไหนมาไหน ได้คล่องแคล่ว รวดเร็วมาก จนเราส่องกล้องตามดูมันแทบไม่ทัน นกตัวผู้และนกตัวเมียมีสีสันเหมือนกัน
นกกะรางหัวหงอก เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช ๒๕๓๕ ที่อนุญาตให้เพาะพันธุ์ได้
📸 : นางสาวอาทิตยา ปัญญาทิพย์ นักวิชาการเผยแพร่ อุทยานแห่งชาติดอยผากลอง จ.แพร่
#อุทยานแห่งชาติดอยผากลอง #แพร่ #กรมอุทยานแห่งชาติ #นกกะรางหัวหงอก #นกป่า
โฆษณา