5 ก.พ. 2024 เวลา 23:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

รู้จัก ROCKET LAB บริษัทออกแบบและผลิตยานอวกาศให้กับ NASA และกลาโหมสหรัฐฯ

Rocket Lab เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับอวกาศ ก่อตั้งขึ้นในเดือนมิถุนายน ปี 2006 ในเมืองอินเวอร์คาร์กิลล์ ประเทศนิวซีแลนด์
ก่อตั้งโดยวิศวกรชาวนิวซีแลนด์ชื่อว่า Peter Beck และเพื่อนของเขาอีกสองคน Peter Beck ได้ก่อตั้ง Rocket Lab สองปีหลังจากเขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมการบินและอวกาศจากมหาวิทยาลัย Auckland ในปี 2004
โดยได้การสนับสนุนจาก Mark Rocket ซึ่งเป็นนักลงทุนรายสำคัญของ Rocket Lab และเป็นผู้อำนวยการร่วมตั้งแต่ปี 2007 ถึง 2011
หลังจากที่ก่อตั้งได้เพียง 3 ปี Rocket Lab ได้กลายเป็นบริษัทเอกชนแห่งแรกในซีกโลกใต้ที่ประสบความสำเร็จในการเข้าถึงขั้นอวกาศ เนื่องจากบริษัทประสบความสำเร็จในการปล่อยดาวเทียมขนาดเล็กในภารกิจ Ātea-1 ของนิวซีแลนด์ ในปี 2009
หลังจากนั้นในปี 2012 Rocket Lab ได้รับสิทธิบัตรสำหรับมอเตอร์จรวดของเหลวที่ไม่ใช่นิวตัน (VLM) ในสหรัฐฯ ทำให้ Rocket Lab เริ่มมีบทบาทในอุตสาหกรรมอวกาศของสหรัฐฯ ต่อมาในปี 2013 Rocket Lab ย้ายการจดทะเบียนบริษัทจากนิวซีแลนด์ไปยังสหรัฐฯ และปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่ในฮันติงตันบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย
ด้วยความตั้งใจของ Peter Beck ที่จะตัดราคาต้นทุนการปล่อย Falcon 9 ของ SpaceX ในปี 2014 จรวด Electron ของ Rocket Lab เริ่มได้รับกระแสตอบรับที่ดีมากมาย เนื่องจากหากไม่ได้บรรทุกหรือส่งของที่มีน้ำหนักเยอะในวงโคจรต่ำของโลก (Low Earth Orbit)
จรวดของ Rocket Lab สามารถลดต้นทุนได้มากกว่าจรวดของ SpaceX โดย Rocket Lab สามารถปล่อยจรวดเข้าสู่ชั้นวงโคจรต่ำได้ในราคา 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับน้ำหนัก 100 กิโลกรัม โดยหากเทียบกับจรวด Falcon 9 ของ SpaceX ที่มีขนาดใหญ่กว่าจรวด Electron ของ Rocket Lab และมีราคาอยู่ที่ ประมาณ 61.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสามารถเข้าสู่ชั้นวงโคจรต่ำได้ในราคา 4,654 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม
หรือก็คือ หากไม่ใช่สิ่งของที่ขนาดใหญ่หรือมีน้ำหนักมาก จรวดขนาดเล็กอย่าง Electron ของ Rocket Lab อาจน่าสนใจกว่าในแง่การลดต้นทุนในการปล่อยสำหรับธุรกิจนั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตามจรวด Electron นี้ก็ได้เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เบิกทางไปสู่อนาคตให้กับ Rocket Lab และด้วยความสำเร็จในระยะเริ่มแรกและประสิทธิภาพที่ดีอย่างต่อเนื่องในโครงการต่างๆ Rocket Lab จึงได้ทำสัญญาด้านอวกาศกับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการบินและอวกาศอย่าง Lockheed Martin
ต่อมาในปี 2021 Rocket Lab จึงได้ประกาศความตั้งใจที่จะเข้าสู่ตลากหลักทรัพย์ NASDAQ ของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม โดยบริษัทมีมูลค่าหุ้นอยู่ที่ 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
และในปีเดียวกันนี้เอง Rocket Lab ยังได้ทำสัญญากับ NASA ได้ในออกแบบยานสำหรับปล่อยบนดาวอังคาร อีกทั้งในปี 2022 Rocket Lab ยังได้สัญญาอีกฉบับจาก NASA ในการสร้างแผงโซลาร์เซลล์ของหุ่นยนต์สำรวจที่ควบคุมด้วยรีโมตสำหรับภารกิจดวงจันทร์และดาวอังคาร
และด้วยความสำเร็จนี้เองทำให้ Rocket Lab ได้มีบทบาทในภารกิจด้านอวกาศอื่นๆอีกมากมาย เช่น ภารกิจติดตั้งเครื่องมือพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับดาวเทียมเตือนขีปนาวุธใหม่ของกองทัพอากาศสหรัฐฯในปี 2022 เป็นต้น
ปัจจุบันมีดาวเทียมที่ถูกนำไปใช้งานจากการปล่อยของ Rocket Lab แล้วกว่า 172 ลำ และ Rocket Lab ยังได้ช่วยเหลือในปฏิบัติการของภารกิจมากกว่า 1,700 ภารกิจทั่วโลก
  • การสร้างรายได้ของ Rocket Lab
Rocket Lab สร้างรายได้หลักจากสองส่วนได้ Launch Services และ Space Systems Launch Services
- Launch Services เป็นบริการการปล่อยยานอวกาศ ให้บริการปล่อยดาวเทียมและยานอวกาศขึ้นสู่วงโคจรของโลก รายได้หลักของ Rocket Lab มาจากส่วนนี้
- Space Systems เป็นธุรกิจด้านระบบอวกาศ ให้บริการออกแบบ ผลิต และทดสอบระบบอวกาศต่างๆ เช่น ดาวเทียม ยานสำรวจอวกาศ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในอวกาศ รายได้ของส่วนนี้ยังค่อนข้างน้อย แต่มีแนวโน้มที่จะเติบโตในอนาคต
  • ตัวอย่างลูกค้าของ Rocket Lab
NASA - National Aeronautics and Space Administration องค์การนาซา องค์กรอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ
SPACE FORCE - United States Space Force กองทัพอวกาศสหรัฐฯ
DARPA - Defense Advanced Research Projects Agency สำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงด้านการป้องกันประเทศ หน่วยงานวิจัยของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ
BLACK SKY - บริษัทผู้ให้บริการภาพถ่ายดาวเทียมเชิงพาณิชย์
SPACEFLIGHT - บริษัทผู้ให้บริการปล่อยยานอวกาศเชิงพาณิชย์
TYVAK - บริษัทผู้ผลิตและให้บริการชิ้นส่วนยานอวกาศ
SPIRE - บริษัทข้อมูลและการวิเคราะห์ระดับโลกที่เชี่ยวชาญด้านการติดตามชุดข้อมูลโดยใช้กลุ่มดาวนาโนดาวเทียม
ASTRO DIGITAL - บริษัทผู้ให้บริการภาพถ่ายดาวเทียมเชิงพาณิชย์
UNSEENLABS - บริษัทด้านเทคโนโลยีอวกาศ
Planet Labs - เป็นเจ้าของและดำเนินการกลุ่มดาวนาโนดาวเทียมนับร้อย และเชี่ยวชาญในการจัดหาภาพถ่ายดาวเทียมที่มีความละเอียดสูงและข้อมูลการติดตามทั่วโลก
และอื่นๆ
  • คณะกรรมการบริหารของ Rocket Lab
นอกจากความสามารถที่น่าสนใจของประธานเจ้าหน้าที่บริหารอย่าง Peter Beck แล้ว อีกหนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการบริหารที่ชื่อว่า Nina Armagno ก็มีประวัติน่าสนใจเช่นกัน
ที่มา Rocketlabusa
โดย Nina Armagno เธอเป็นอดีตพลโทซึ่งเกษียณอายุแล้ว โดยเธอมีประวัติเข้าศึกษาที่ United States Air Force Academy และสำเร็จการศึกษาในปี 1989 และเธอยังได้รับปริญญาโทสาขารัฐศาสตร์จาก Chapman University ในปี 1993 และปริญญาโทสาขาวิทยาศาสตร์สาขานโยบายและการจัดการจาก Air Force Institute of Technology ในปี 2001
ซึ่งทั้ง AFIT และ USAFA ต่างก็เป็นสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จในสาขาการบินและอวกาศ ทั้งสองสถาบันยังมีบทบาทสำคัญในการเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่สำหรับกองทัพอากาศในสหรัฐ
ซึ่ง Nina Armagno เธอมีประสบการณ์มากกว่า 35 ปี ในกองทัพอากาศและอวกาศของสหรัฐฯ และเธอยังเป็นนายทหารหญิงคนแรกที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการเสนาธิการและผู้บังคับบัญชากองบินที่ 30 และ 45 ของกองทัพอวกาศสหรัฐฯ อีกด้วย
เธอมีประสบการณ์และความรู้มากมายเกี่ยวกับการปฎิบัติการด้านอากาศและอวกาศ ซึ่งทำให้เธอกลายเป็นบุคลากรขั้นเยี่ยมของ Rocket Lab
  • Rocket Lab ในปี 2023 แบบพอสังเขป
Rocket Lab มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแตะ 236 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงสามไตรมาส แต่บริษัทยังเล็กสำหรับธุรกิจเศรษฐกิจอวกาศ และยังขาดทุนจากการดำเนินงาน 167 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ที่มา The Motley Fool
บริษัทจึงจำเป็นต้องมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่านี้ เพื่อที่จะบรรลุจุดคุ้มทุนในการทำกำไร (Break Even Point) โดยอาจจะได้รับแรงผลักดันมาจากจรวด Neutron ซึ่งมีน้ำหนักถึง 13,000 กิโลกรัม และเป็นจรวดขนาดใหญ่ของบริษัทที่จะเปิดตัวในปี 2024 นี้
ซึ่ง Launch Services ที่เป็นรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัท การบรรทุกน้ำหนักในจรวดได้มากขึ้น อาจเพิ่มรายได้ให้แก่บริษัทได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การปล่อยจรวดในแต่ละครั้งก็มีโอกาสที่จะล้มเหลวเช่นกัน หากการปล่อยจรวดล้มเหลวก็เหมือนการเผาเงินทิ้ง ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมนี้
อย่างในกรณีของ Rocket Lab ที่ได้เกิดความล้มเหลวในการปล่อยจรวด Electron ของบริษัทในวันที่ 19 กันยายน ทำให้ราคาหุ้น Rocket Lab ลดลงประมาณ 25% ในการซื้อขายล่วงหน้า แต่ดีดตัวกลับมาโดยขาดทุนประมาณ 9% ในช่วงที่ตลาดเปิด ซึ่งแสดงถึงคาดหวังของนักลงทุนที่มีต่อภารกิจในแต่ละครั้งของบริษัท
อย่างไรก็ดี แม้จะเกิดความล้มเหลวในการปล่อยจรวด Electron แต่ในปี 2023 Rocket Lab มีการปล่อยจรวดทั้งสิ้น 10 ครั้ง ซึ่งมากกว่าปี 2022 ที่ 9 ครั้ง
อีกทั้งในเดือนธันวาคม Rocket Lab ได้ลงนามในข้อตกลงบริการเปิดตัวดาวเทียมสำรวจโลกสำหรับสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งเกาหลี (KAIST) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024
และในเดือนมกราคม 2024 Rocket Lab ได้รับเลือกและอยู่ภายใต้สัญญากับสำนักงานพัฒนาอวกาศ (SDA) เพื่อออกแบบและสร้างดาวเทียมขนส่งข้อมูลจำนวน 18 ดวง
โดย Rocket Lab จะทำหน้าที่เป็นผู้รับเหมาหลักสำหรับข้อตกลงนี้ของบริษัท มูลค่า 515 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผู้นำในการออกแบบ การพัฒนา การผลิต การทดสอบ และการดำเนินงานของดาวเทียม รวมถึงการจัดหาและบูรณาการระบบย่อยเพย์โหลด (Payload Subsystems)
  • สถานะทางการเงิน (ข้อมูลจาก Simplywall.st และ Seekingalpha)
ที่มา Simplywall.st
ปีงบประมาณ 2023 ช่วงสามไตรมาสที่ผ่านมา Rocket Lab มีเงินสดในมืออยู่ที่ 288.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 585.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีหนี้สินรวม 105.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 17.9% สินทรัพย์รวมและหนี้สินรวมอยู่ที่ 950.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 364.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
ที่มา Simplywall.st
Rocket Lab มีสินทรัพย์ระยะสั้น (สินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ในระยะเวลา 1 ปี) ครอบคลุมหนี้สินระยะสั้น (ข้อผูกมัดทางการเงินที่บริษัทต้องชำระในระยะเวลา 1 ปี)
โดยบริษัทมีโครงสร้างรายได้และรายจ่ายดังนี้
ที่มา Simplywall.st
อย่างไรก็ตาม แม้ Rocket Lab จะมียอดขายและรายได้ที่เติบโต แต่ยังคงเป็นบริษัทที่มีขนาดเล็กเพียง 1.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น และยังเป็นบริษัทที่ยังไม่สามารถสร้างกำไรและมีกระแสเงินสดอิสระเป็นบวกได้ หรือก็คือ ยังอยู่ในช่วงพัฒนาบริษัทนั่นเอง
ที่มา Simplywall.st
โดยสัดส่วนผู้ถือครองหุ้นสามัญของ Rocket Lab เกือบ 1 ใน 3 เป็นสถาบัน รองลงมาเป็นรายย่อย กลุ่มนักลงทุนเอกชน และบริษัทเอกชนทั่วไป
ที่มา Seekingalpha
ด้วยสัดส่วนการถือครองที่เป็นรายย่อยกว่า 1 ใน 3 และราคาหุ้นของบริษัทยังมูลค่าแค่หลักหน่วย อาจทำให้ราคามีความผันผวนที่สูง
สรุปได้ว่า แม้รายได้ของ Rocket Lab ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มาพร้อมกับต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้นตามไปด้วย และแม้ว่าบริษัทจะมีสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องครอบคลุมหนี้สิน
แต่ด้วยต้นทุนดำเนินงานที่สูงขึ้น รวมถึงปัจจัยภายนอกอย่างอัตราดอกเบี้ยและอื่นๆ ในระยะสั้นอาจทำให้บริษัทมีความเสี่ยงในเรื่องผลประกอบการของบริษัท และสภาพคล่องที่ใช้ดำเนินธุรกิจ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นบริษัทก็จำเป็นจะต้องมีการจัดหาทุนใหม่เพิ่มเติม เช่น กู้เงินจากธนาคารหรือออกหุ้นกู้ เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลต่อราคาหุ้นได้
อย่างเมื่อไม่นานมานี้ Rocket Lab ได้กล่าวว่ารายรับในไตรมาสที่สี่คาดว่าจะอยู่ระหว่าง 59 ล้านถึง 61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 65 ล้านถึง 69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อีกทั้งพวกเขายังได้ประกาศในวันที่ 1/2/2024 ว่าจะจัดหาทุนเพิ่มเติมโดยออกหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิแปลงสภาพ จำนวน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งให้ผลตอบแทนที่ 4.250% และครบกำหนดในปี 2029 โดยจะชำระทุก ๆ หกเดือน ซึ่งเป็นภาระผูกพันมูลค่าสูงของ Rocket Lab
คาดการณ์รายได้ที่ต่ำกว่าที่ตลาดประเมินบวกกับความกังวลด้านการเงิน เป็นผลทำให้ราคาหุ้นของ Rocket Lab ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน
อย่างไรก็ดี Peter Beck ซีอีโอของ Rocket Lab ได้กล่าวว่าบริษัทมีกำหนดการปล่อยจรวดในปี 2024 มากกว่าปีก่อนๆ และมีงานค้างสูงเป็นประวัติการณ์
รวมถึงข้อตกลงของบริษัท มูลค่ากว่า 515 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กับสำนักงานพัฒนาอวกาศ (SDA) ทำให้บริษัทจะยังมีรายได้เข้ามาในบริษัท รายได้ของ Rocket Lab จึงยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีอยู่
และด้วยอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio) ที่เพิ่มขึ้นมาจากการออกหุ้นกู้ยังอยู่ในระดับที่ไม่ได้สูงมากและเงินสดในมือที่ 288.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ น่าจะยังเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจอยู่ หากไม่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอะไรขึ้น
ความผันผวนที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพียงปัจจัยในระยะสั้น ในระยะยาว Rocket Lab ยังคงมีแนวโน้มและตำแหน่งทางธุรกิจที่ดี
  • โอกาสในอุตสาหกรรมอวกาศ (ข้อมูลจาก McKinsey & Company)
ที่มา McKinsey & Company
ช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา ในบรรดากิจกรรมด้านอวกาศส่วนใหญ่เกิดขึ้นมากที่สุดในชั้นวงโคจรต่ำของโลก (Low Earth Orbit) ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการสร้างรายได้ของ Rocket Lab
โดยสังเกตได้จากเงินทุนภาคเอกชนประมาณ 60% ถึง 70% มุ่งไปในชั้นวงโคจรต่ำของโลก (Low Earth Orbit) และเติบโตมากขึ้นทุกปีในช่วงที่ผ่านมา
ที่มา McKinsey & Company
อ้างอิงตามการวิเคราะห์ของ McKinsey & Company อุตสาหกรรมอวกาศอาจเติบโตเป็น 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 โดยทุกกิจกรรมด้านอวกาศจะเติบโต เนื่องจากต้นทุนต่ำลงและทำให้การปล่อยดาวเทียมหรือวัตถุอื่นง่ายขึ้น โดยเฉพาะดาวเทียมขนาดเล็ก
แสดงให้เห็นว่าชั้นวงโคจรต่ำของโลก (Low Earth Orbit) มีแนวโน้มที่จะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจเป็นโอกาสในการเติบโตให้กับ Rocket Lab
อีกทั้งทางด้านรัฐบาลเองก็มีแนวโน้มในการลงทุนด้านอวกาศเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจเป็นผลดีต่อการเติบโตของบริษัทในอุตสาหกรรมนี้
ที่มา Statista
โดยภาพรวม Rocket Lab เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับอวกาศแบบครบวงจร (End-to-End) ซึ่งรวมถึงการให้บริการการปล่อยยานอวกาศ ดาวเทียม ส่วนประกอบดาวเทียม และการจัดการบนวงโคจร โดยพื้นที่ดำเนินงานหลักอยู่ในชั้นวงโคจรต่ำของโลก (Low Earth Orbit) และสถานที่ปล่อยจรวดส่วนใหญ่จะดำเนินการในเวอร์จิเนีย นิวเม็กซิโก โคโลราโด แมริแลนด์ โทรอนโต และนิวซีแลนด์
ต้นทุนการปล่อยจรวดที่ต่ำและประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับราคา คือ จุดแข็งของบริษัท ในขณะเดียวกันความเสี่ยงที่มีผลกระทบมากที่สุดของอุตสาหกรรมนี้ ก็คงจะเป็นความล้มเหลวที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการปล่อยจรวด
อีกทั้งคู่แข่งสำคัญที่ครองส่วนแบ่งมากที่สุดในอุตสาหกรรมดาวเทียมก็คือ SpaceX ที่ครองส่วนแบ่งจำนวนดาวเทียมของโลกไว้มากถึง 50% ซึ่งพวกเขาก็มีการพัฒนาจรวดของพวกเขาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
และยังมีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในระยะสั้นอื่นๆ เช่น การเมือง ดอกเบี้ย เงินเฟ้อ และความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งอาจส่งผลต่อผลดำเนินงานและสถานะทางการเงินได้เช่นกัน
บทความนี้เป็นเพียงการวิเคราะห์ส่วนหนึ่งของบริษัทเท่านั้น นักลงทุนที่สนใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยละเอียด และประเมินความเสี่ยงได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่คำแนะนำในการลงทุน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา