26 ม.ค. 2024 เวลา 04:24 • สิ่งแวดล้อม

10 ประเด็นสำคัญกฎหมายอากาศสะอาดจะต้องมีเพื่อความเป็นไปได้เชิงปฏิบัติภายใต้ระบบการเมืองการปกครองไทย

บัณรส บัวคลี่ / ฝ่ายสนับสนุนข้อมูลวิชาการ สภาลมหายใจภาคเหนือ
นำเสนอต่อที่ประชุมหารือเครือข่ายสภาลมหายใจจังหวัดภาคเหนือ
29 มกราคม 2567
เกริ่น :
รัฐสภาได้รับหลักการร่างกฎหมายอากาศสะอาด 7 ฉบับ และได้เริ่มประชุมกรรมาธิการวิสามัญเพื่อแปรญัตติวาระที่ 2 คาดหมายว่าจะแล้วเสร็จได้เร็วก่อนวุฒิสมาชิกชุดนี้จะหมดวาระ แม้ว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ด้วยเสียงท่วมท้น ทั้งฝ่ายค้านรัฐบาลต่างเห็นพ้องควรจะให้มีกฎหมายนี้ แต่เมื่อพิจารณาลึกลงไปในขั้นแปรญัตติ ได้พบว่า มันมีความต่างกันทั้งปรัชญา หลักการ แนวคิด และวิธีการ ของร่างต่างๆ
แม้ว่า ที่ประชุมจะมีมติให้ใช้ร่างรัฐบาลเป็นหลักในการแปรญัตติ ก็อาจจะยังมีข้อถกเถียงว่าเนื้อหาแบบใดที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากสุด เพราะร่างทุกร่างมีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง แม้กระทั่งร่างของรัฐบาลที่จะใช้เป็นร่างหลักเอง ก็มีจุดอ่อนเช่นเดียวกัน
แนวทางที่ดีที่สุดสำหรับการร่วมมือสามัคคีกันแก้วิกฤตมลพิษฝุ่นควันที่เรื้อรังมายาวนานก็คือ เห็นควรจะรวมพลังหยิบจุดดีของทุกร่างมาไว้ และแต่ละฝ่ายควรต้องยอมที่จะถอยในบางประเด็นที่ร่างอื่นน่าจะเหมาะสมกว่า ให้ปัญหาของชาติเป็นเป้าหมายร่วมเหนือความขัดแย้งขั้วฝ่ายทางการเมือง ร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการร่วมใจกันสู้กับวิกฤตปัญหาเรื้อรังนี้
ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีที่ประธานกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อแปรญัตติร่างกฎหมายอากาศฯ นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ได้แถลงว่า จะใช้แนวทางแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง หลอมรวมร่างทั้ง 7 ฉบับเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เครือข่ายสภาลมหายใจเห็นพ้องในแนวทางนี้ และเห็นว่า คณะกรรมาธิการควรจะใช้เป้าหมายที่กฎหมายต้องมีและจำเป็นต้องใช้จัดการ เช่น ต้องมีการรับรองสิทธิประชาชน ต้องแก้สิ่งที่เรื้อรังและกฎหมายเดิมแก้ไม่ได้เช่นการเผาในป่า หรือการเผาที่โล่ง ต้องแก้ควันข้ามแดนได้จริง ฯลฯ เป็นหลัก
จุดอ่อนของกฎหมายเดิม :
หลักคิดใหม่ ต้องนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานสังคมไทย ไม่ใช่เผชิญเหตุภัยพิบัติ
ประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนกฎหมาย ในทางกลับกันมีมากเกินไปจนซ้ำซ้อนด้วยซ้ำ แต่สำหรับวิกฤตมลพิษอากาศฝุ่นควันกลับแตกต่างออกไป เพราะสาเหตุของมลพิษฝุ่นเกิดจากกิจกรรมมนุษย์ที่หลากหลาย แต่ละเรื่องก็มีกฎหมายของตัวเอง เช่น อ้อยน้ำตาล การปลูกข้าว การผลิตยานยนต์ การควบคุมโรงงานอุตสาหกรรม สงวน และอุทยานแห่งชาติ กฎหมายสาธารณสุข
กฎหมายสิ่งแวดล้อมกำหนดมาตรฐานมลพิษและควบคุมการปล่อย และมีกฎหมายให้อำนาจพิเศษเพื่อจัดการเหตุวิกฤต เช่น พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พรก.ฉุกเฉิน มีผู้ว่าฯซิงเกิ้ลคอมมานด์สั่งการหน่วยอื่นๆ ได้ แต่ที่สุดแล้วผลลัพธ์ยังคงย่ำแย่มาตลอดหลายปี
อาจเพราะว่า กฎหมายที่มีอยู่เดิมของประเทศไทย เน้นไปที่เรื่องเฉพาะ บางห้วงเวลา บางสถานการณ์ หรือ จำกัดเฉพาะวงเรื่องของตัวเอง ขณะที่ ขนาดวงรอบปริมณฑลของวิกฤตปัญหามันเกิดจากเหตุหลากหลาย และ เชื่อมโยงถึงกันหมด ไม่ได้แยกส่วน ดังนั้นกฎหมายที่มีอยู่มากมายจึงยังไม่สัมฤทธิ์ผล
เช่น เรามีกฎหมายให้อำนาจพิเศษผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ตาม พรบ.ปภ. เผชิญเหตุช่วงวิกฤตที่มีไฟในป่ามาก แต่อำนาจที่ว่ามีผลเฉพาะสองสามเดือน การแก้ปัญหาอยู่ที่การบริหารจัดการทั้งปี และยุทธการที่ต้องของบประมาณจากหน่วยงานเดิม ทั้งยังอาจต้องบูรณาการกับหน่วยอื่นๆ แต่อำนาจบูรณาการที่ว่ามีให้มากะทันหันเฉพาะช่วงเผชิญเหตุ หน่วยอื่นก็ไม่ได้เตรียมคนเตรียมงบประมาณไว้
มลพิษฝุ่นควันส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมของมนุษย์ แม้กระทั่งไฟในป่าส่วนใหญ่ก็เกิดจากมนุษย์ กิจกรรมที่ว่ายังประโยชน์ให้ด้วย เช่น การจราจรทำให้มนุษย์เดินทางติดต่อสะดวกขึ้นแต่ก็ต้องแลกมาซึ่งมลพิษที่ปลดปล่อย การเกษตรก็เช่นกัน การก่อสร้างก็เช่นกัน ฯลฯ
ดังนั้น การจะแก้ปัญหาถึงรากเหง้าอย่างยั่งยืน คือ การอำนวยให้การผลิตและกิจกรรมที่ว่ามีมาตรฐานสูงขึ้น ปล่อยมลพิษน้อยสุดในระดับที่ไม่เกินมาตรฐานความปลอดภัย รวมถึงระบบการบริหารจัดการใหม่เพื่อไม่ให้ปลดปล่อยมลพิษออกมา แต่กฎหมายที่ประเทศไทยมีอยู่ ยังไม่มีฉบับใดที่มุ่งการยกระดับการผลิตและกิจกรรมสังคมโดยมีเป้าหมายยกมาตรฐานคุณภาพชีวิต ลดการปลดปล่อยมลพิษในอากาศ ในภาพรวม
ไม่เพียงเท่านั้น ขนาดและลักษณะปัญหามลพิษฝุ่นควันที่มีผลกระทบต่อประชาชนในประเทศ ยังเกิดจากแหล่งนอกประเทศ เป็นฝุ่นควันข้ามพรมแดน หลายประเทศประสบและพยายามหาวิธีการแก้ในหลายลักษณะ แต่สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายโดยตรงเพื่อแก้ปัญหาข้ามแดนที่ว่านี้ สถานการณ์และแนวโน้มโลกจำเป็นต้องให้เกิดมี เช่นเดียวกับหลายประเทศที่มีกลไกปกป้องคุ้มครองประชาชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
การจะแก้ปัญหาวิกฤตมลพิษฝุ่นควันจำเป็นต้องอาศัยการบริหารจัดการ/ อำนวยการเพื่อขับเคลื่อนกลไกระบบราชการ ที่มีลักษณะเป็นแท่งรวมศูนย์แต่ไม่ประสานบูรณาการกัน นี่เป็นปัญหาเฉพาะของสังคมไทยและเป็นอุปสรรคสำคัญของการแก้วิกฤต ดังนั้น ผู้ว่าซิงเกิ้ลคอมมานด์จึงยังไม่สามารถแก้ปัญหา การเผาอ้อย เผาในนาข้าว และเผาในป่า ซึ่งแต่ละเรื่องล้วนมีกฎหมายเฉพาะของตนเอง อำนาจในการจัดการจริงๆ อยู่ที่หน่วยงานต้นเรื่อง
จุดอ่อนข้อนี้ยิ่งฉายให้เห็นชัดเจน ในพื้นที่แหล่งกำเนิดใหญ่ในป่ารอยต่อระหว่างจังหวัด เช่น ป่ารอยต่อเหนือเขื่อนภูมิพล3ป่า ที่มีอำนาจหลายฝ่ายคาบเกี่ยวกัน ทั้งอำนาจของป่าอนุรักษ์ อำนาจของป่าสงวน อำนาจของจังหวัดแต่ละจังหวัด ตาก ลำพูน เชียงใหม่ แถมมีพื้นที่ช่องโหว่ด้านอำเภอแม่พริกจังหวัดลำปางอีก สถิติไฟป่าในพื้นที่รอยต่ออำนาจที่ว่าจึงมากที่สุดในประเทศ มีพื้นที่ไหม้ใหญ่เกิน 8 แสนกว่าไร่ เกือบเท่าพื้นที่กรุงเทพมหานคร
จุดอ่อนเรื่องระบบบริหารจัดการข้ามอำนาจเป็นประเด็นสำคัญของการยกระดับการผลิตและกิจกรรมแต่ละกิจกรรมที่ต่างก็มีกฎหมายเฉพาะของตนเอง ไม่เพียงเท่านั้นยังต้องบูรณาการจากชุมชน ท้องถิ่น ที่เป็นผู้เกี่ยวข้องกับเนื้อปัญหาโดยตรง และกลไกราชการของไทยยังมีจุดอ่อนในส่วนนี้
สุดท้ายกฎหมายที่มีอยู่ ยังไม่ครอบคลุมถึง ก็คือ เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์สำหรับใช้ในการแก้และเปลี่ยนวิถีการผลิต/กิจกรรมเดิม ไปสู่กิจกรรมใหม่ เพราะแทบทุกการผลิตและกิจกรรมเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ มีผลตอบแทนเชิงมูลค่า เช่นการจะเปลี่ยนการผลิตการเกษตรชนิดหนึ่งไปเป็นอีกชนิดหนึ่งที่ยั่งยืนกว่าต้องมีกระบวนการเปลี่ยนผ่าน มีการอุดหนุนจูงใจ ขณะเดียวกันผู้ก่อมลพิษควรจะเป็นผู้รับผิดชอบแบกรับภาระตามหลักการ ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย PPP แต่พบว่ากฎหมายเดิมมีเครื่องมือประเภทนี้จำกัด
ข้อเสนอเชิงหลักการ :
สิ่งที่จำเป็นต้องมีในกฎหมายใหม่ : 10 องค์ประกอบสำคัญซึ่งจะขาดไม่ได้
1. มีเป้าหมายและกลไกปฏิบัติการยกระดับการผลิตและกิจกรรมก่อมลพิษต่างๆ เข้าสู่มาตรฐานใหม่ คือ ต้องมีเจตจำนงของการเปลี่ยนประเทศสู่มาตรฐานใหม่ให้ได้ โดยผ่านข้อบังคับตามกฎหมาย แผนปฏิบัติการ และ ข้อบัญญัติที่เอื้ออำนวยให้การเปลี่ยนนั้นสำเร็จผล
2. มีโครงสร้างเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อความสมดุลในการต่อรองทางสังคม อันว่าการมีส่วนคงไม่สามารถยกมือโหวตเอาชนะ แต่หมายถึง พื้นที่แสดงความต้องการและเจตจำนงต่อการแก้ปัญหา
ประเด็นปัญหาวิกฤตมลพิษฝุ่นควันอากาศพิษ เป็นความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ conflict of interest ที่มีเดิมพันสูงและกว้างขวางครอบคลุมหลายวงการ อาจจะชักจูงล็อบบี้ฝ่ายการเมืองได้ หรือ ทำให้ฝ่ายข้าราชการประจำไม่กล้าตัดสินใจ ต้องให้มีกลไกการเปิดมีส่วนร่วมให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล การเคลื่อนไหวและการตัดสินใจระดับต่างๆ และข้อมูลความเคลื่อนไหวที่สำคัญต้องเปิดให้สาธารณะรับรู้ (ไม่ถูกปิดโดยระเบียบ) ยกเว้นข้อมูลส่วนบุคคลที่กฎหมายห้าม
หมายเหตุ / ร่างกฎหมายส่วนใหญ่ ให้มีตัวแทนประชาชนเข้าในระดับคณะกรรมการชุดใหญ่ และ ชุดปฏิบัติการอยู่แล้ว ที่ควรกำหนดเพิ่มคือเงื่อนไขการเลือกเฟ้นประชาชนตัวแทนของผู้ประสบปัญหาหรือแก้ปัญหาไม่ใช่ตัวแทนของกลุ่มผู้ก่อมลพิษวงการใดวงการหนึ่ง เช่น ตัวแทนชาวไร่อ้อย ตัวแทนรถบรรทุก ที่จำเป็นต้องปล่อยมลพิษ กลุ่มที่ว่า ควรให้มีขึ้นเป็นอนุกรรมการต่างๆ เพื่อศึกษาลงลึกในการแก้ปัญหาของวงการนั้นๆ
3. มีความเป็นไปได้จริงของการบริหารจัดการกลไกราชการให้ขยับยกระดับการแก้ ทั้งแก้เหตุระยะยาว และการจัดการระยะเผชิญเหตุ กลไกที่ว่าออกแบบเพื่อขจัดอุปสรรคภายในระบบราชการที่ติดขัดอยู่เดิม คือ ต้องไม่ใช่แค่อำนาจพิเศษเฉพาะชั่วคราว แบบ พรก.ฉุกเฉิน / พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ซึ่งไม่เพียงพอ และไม่ใช่แค่ เขียนในแผนมาตรการตามวาระแห่งชาติ พ.ศ.2562 แต่เมื่อปฏิบัติการจริงทำไม่ได้ กลไกการประสานบูรณาการกับอำนาจเฉพาะเรื่องนั้นๆ ซึ่งก็มีกฎหมายเฉพาะของตัวเองรองรับอยู่ เช่น พรบ.อ้อยและน้ำตาล พรบ.ข้าว พรบ.โรงงาน พรบ.อุทยานฯ พรบ.ป่าไม้
การแก้ปัญหาระยะยาวเพื่อยกระดับการผลิตในบางพื้นที่ต้องอาศัยกฎหมายหลายด้านและมีที่ติดขัดเป็นอุปสรรคกันเอง เช่น พื้นที่อำเภอแม่แจ่ม มีการปลูกข้าวโพดมากและมีสถิติจุดความร้อนสูงต่อเนื่องทุกปี การจะแก้ปัญหาไม่ใช่แค่ห้ามเผา แต่ต้องลงลึกไปถึงเรื่องสิทธิที่ทำกิน สาธารณูปโภค เครื่องมือจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น
หมายเหตุ / ร่าง พรบ.อากาศสะอาดฉบับรัฐบาล ให้คณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัด และพื้นที่เฉพาะ(ม.24) เป็นการพิเศษขึ้นมา แตกต่างจากร่างอื่น เพื่อให้มีกลไกการแก้ปัญหาเฉพาะพื้นที่พิเศษที่อาจทับซ้อนเชิงอำนาจ เช่นรอยต่อระหว่างจังหวัดเป็นต้น
ในทางปฏิบัติจริงหน่วยราชการอาจจะไม่เคยชินกับพื้นที่พิเศษที่ทับซ้อนเชิงอำนาจลักษณะนี้ หรืออาจมีข้อปัญหาติดขัดจากกฎระเบียบเดิม หรือไม่ ? (เอกสารที่รัฐสภาสรุปวาระแรกไม่มีมาตรานี้ ทราบว่าถูกตัดออก ซึ่งน่าเสียดายที่จะลดอานุภาพจัดการไฟแปลงใหญ่พื้นที่ทับซ้อน รัฐวิสาหกิจ ชายแดน เขตทหาร เขตป่าไม้ทับกับเขตปกครอง ที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคปฏิบัติระดับพื้นที่)
4. มีเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และกลไกใช้งานได้จริง ประกอบเป็นมาตรการ ทั้งบวกและลบ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริงในทางปฏิบัติ โดยมีกฎหมายรองรับ ทั้งนี้เพราะการผลิต/หรือกิจกรรมที่ปล่อยมลพิษบางอย่าง ไม่ควรใช้อำนาจบังคับห้ามวิธี/เทคนิคการผลิตภาคเกษตร ต้องใช้เครื่องมือจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ อุดหนุนต้นทุนการผลิตแทน เช่นเดียวกับการปรับพินัยต่อผู้ปล่อยมลพิษ ตามหลัก PPP- กดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
5. มีบทบัญญัติที่กล่าวถึงภาคการเผาที่โล่ง ที่เป็นแหล่งกำเนิดใหญ่สุดของประเทศตามสถิติ และต้องแก้ปัญหานั้นได้จริง
กฎหมายที่มีอยู่กำหนดโทษการเผาที่โล่งหลายฉบับ ทั้งการเผาภาคเกษตร เผาในมือง และเผาในป่า แต่ไม่สามารถบังคับใช้จริงได้ เพราะแต่ละแหล่งมีเงื่อนไขบริบทเฉพาะ แค่มีบทบัญญัติการสั่งห้ามเฉยๆ ไม่ได้ ต้องประกอบสร้างขึ้นด้วยแผนปฏิบัติการที่อาจต้องบูรณาการหลายฝ่ายหลายข้อกฎหมาย และมีงบประมาณเฉพาะพื้นที่นั้นๆ
ทั้งนี้ การกล่าวถึงแหล่งกำเนิดอื่นๆ ก็จำเป็นต้องเอ่ยถึงให้ครอบคลุมทุกแหล่ง แต่ที่เอ่ยถึงการเผาที่โล่งเป็นการเฉพาะ เนื่องจากต้องมีข้อบัญญัติที่ลงรายละเอียดวิธีการ กล่าวถึงการห้ามลอยๆ หรือแค่บทกำหนดโทษจะไม่ได้ผล
บทบัญญัติเรื่องการแก้ปัญหาแหล่งกำเนิดที่ดี / อ่านแล้วสามารถจินตนาการออกว่า จะแก้เผาอ้อยได้อย่างไร แก้เผาข้าวได้อย่างไร แก้มลพิษจราจรได้อย่างไร แก้เผาป่าอนุรักษ์ได้อย่างไร แก้เผาป่าสงวนได้อย่างไร ฯลฯ
6. ต้องให้เกิดมีบทบาทของงานวิชาการเป็นกลไกสนับสนุนการเปลี่ยนสังคม ร่างกฎหมายหลายฉบับไม่ได้เอ่ยถึง บทบาทงานวิชาการ และ บางฉบับเอ่ยถึงแต่ไม่ครบองค์ประกอบสำคัญ คืองานวิชาการที่เกี่ยวข้องบรรยากาศศาสตร์ Atmospheric Science เช่น ฟิสิกส์บรรยากาศ เคมีบรรยากาศ อุตุนิยมวิทยาภูมิศาสตร์ นอกเหนือจากศาสตร์อื่นๆ
การเปลี่ยนแปลงทางอุตุนิยมวิทยาบรรยากาศมีผลอย่างยิ่งต่อมลพิษอากาศและวิกฤตฝุ่น ทั้งด้านความรู้ การป้องกันแก้ไข และการเผชิญเหตุ และยังต้องมีบทบัญญัติให้มีกลไกของกลุ่มงานวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาที่ต่อเนื่อง มีเป้าหมาย และนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง โดยกฎหมายต้องบังคับให้หน่วยงานรัฐสนับสนุนจริงจัง เช่น เปิดเผยข้อมูลเพื่อให้เกิดเป็น big data เป็นต้น
7. จำเป็นต้องบรรจุเพิ่มแนวคิดใหม่เรื่องการแก้มลพิษข้ามแดน โดยใช้ข้อตกลงทางการค้าเป็นเครื่องมือ และให้มีกลไกปฏิบัติที่สอดคล้องกับข้อตกลงการค้า ซึ่งแทบไม่ปรากฏในร่างกฎหมายที่เสนอมา คือ แนวคิดการห้ามนำเข้าสินค้าเกี่ยวกับการเผาที่โล่งที่กระทบต่อสุขภาพคนในประเทศ โดยอาศัยข้อตกลงทางการค้าโลก สามารถออกมาตรการกีดกันทางการค้าโดยข้ออ้างสุขภาพ/สิ่งแวดล้อมได้ เช่นกรณีที่สหภาพยุโรป ห้ามนำเข้าสินค้าปล่อยคาร์บอนที่มีผลต่อเรือนกระจก หรือ CBAM มีผลต่อการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หรืออาหารสัตว์ของไทยโดยตรง
กลไกที่กฎหมายต้องพิจารณาปรับปรุง คือ อำนาจของคณะกรรมการชุดใหญ่ที่สามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรีออกประกาศห้ามนำเข้าสินค้าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อม และมีผลผูกพันต่อการนำเข้า โดยไม่ผิดข้อตกลงทางการค้า
มาตรการทางการค้า เป็นมาตรการทางเศรษฐศาสตร์
ส่วนข้อเสนอการเอาผิดผู้ปล่อยมลพิษข้ามแดน โดยอ้างอิงแนวทางประเทศสิงคโปร์ มีร่างกฎหมายหลายฉบับเสนอมา นอกเหนือจากร่างรัฐบาล แนวทางนี้ต้องมีข้อมูลหลักฐานทางวิชาการที่หนักแน่นมารองรับ ถือเป็นชุดมาตรการทางอาญาและทางแพ่ง
8. สิทธิของประชาชน ร่างแทบทุกฉบับกล่าวถึงสิทธิ ในอากาศ ที่ควรเน้นย้ำคือ สิทธิในการปกป้องดูแล รับการรักษาพยาบาลของกลุ่มเสี่ยง หรือผู้มีอาการผิดปกติ โดยการออกตัวบ่งชี้ถึงสิทธิเข้าถึงการตรวจรักษาระดับสูง / มีการเพิ่มความชัดเจนในสิทธิฟ้องร้องเอาผิดทางอาญาทางแพ่งและต่อรัฐ มีการกล่าวถึงสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลสำคัญ สิ่งที่ควรเพิ่มคือ หน้าที่ของรัฐ รับรองสิทธิที่ว่าโดยไม่ต้องร้องขอ คือ กำหนดให้หน่วยงานเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งมลพิษ หรือ สถิติของแหล่งมลพิษต่างๆ โดยไม่ต้องร้องขอ
9. มีกองทุน เพื่อความคล่องตัวจากเงื่อนไขทางงบประมาณ และที่สำคัญที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมคือ เงื่อนไขที่ชัดเจนในการใช้กองทุนเพื่อประโยชน์จำเป็นจริง และลดการแทรกแซงการใช้เงินจากอำนาจการเมือง / ร่างกฎหมายมีกล่าวถึงการให้มีกองทุน แต่ไม่ชัดเจนในหลักการสำคัญ ไม่ให้ถูกแทรกแซง และใช้เงินเพื่อประโยชน์ที่จำเป็นจริง
10. อำนาจบังคับและบทลงโทษ ตามพรบ.นี้ ต้องพิจารณาแบ่งเป็นลำดับขั้น ทั้งให้ความเป็นธรรมกับผู้ปล่อยมลพิษจากกิจกรรมปกติในชีวิต กับ ทั้งผู้รับมลพิษที่เป็นเหยื่อ
- เนื่องจากกฎหมายเดิมแต่ละฉบับ มีบทกำหนดโทษสำหรับการปล่อยมลพิษเกินมาตรฐานอยู่เดิม คือ รถยนต์/ปล่อยควันดำ โรงงานอุตสาหกรรม/ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐาน ปิ้งย่าง/พรบ.สาธารณสุข การเผาเกษตร/พรบ.สาธารณสุข เผาป่า/พรบ.ป่าไม้ อุทยาน หรือหากลามเป็นโทษกับผู้อื่นมีกฎหมายอาญา ตามมาตรา 220 ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท
สามารถเปิดช่องให้เจ้าพนักงานตามกฎหมายนี้ เอาผิดด้วยกฏหมายเดิมได้ !!? หรือไม่ !!? เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อน
- การเอาผิดทางแพ่ง ควรเปิดช่องให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบฟ้องร้องเอาผิดทางแพ่งต่อผู้ปล่อยมลพิษ โดยวางระบบข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น ขนาดของมลพิษอย่างเป็นทางการ ณ ขณะนั้น ประกอบเป็นหลักฐานให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก / หากเป็นการปล่อยมลพิษต่อสาธารณะ เจ้าพนักงานของรัฐ หรือ อัยการเป็นโจทย์
- มีบทเว้นโทษ ให้กับผู้ก่อมลพิษที่อยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ปัญหา (คือปล่อยเกินได้หากมีลำดับการพยายามแก้ไข เช่น ลดพื้นที่ปลูกโดยลำดับ เป็นต้น) เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนยกระดับมาตรฐานสังคมในบั้นปลาย
11.-เสนอเพื่อตัดทิ้ง
หมายเหตุ/ ข้อความตามมาตรา 81 ร่างฉบับรัฐบาล ผู้ใดแพร่ข่าวไม่เป็นความจริงฯ เจตนาทำลายชื่อเสียงของกิจการโดยชอบกฎหมาย จำคุก1 ปี ปรับ 1 แสน / ถ้าแพร่ผ่านสื่อ ปรับไม่เกิน 5 แสน คุก 5 ปี เป็นโทษหนักกว่า กฎหมายประเภทเดียวกัน คือ ทั้งพรบ.คอมฯ และ อาญาฯหมิ่นประมาท มีไว้เอื้อต่อการฟ้องปิดปาก ผู้หวังดี ผู้ที่ส่งเสียงเตือน / สมควรควรตัดทิ้ง
ข้อเสนอรายมาตรา
8 ประเด็น เสนอปรับเพิ่ม/ลด ในวาระแปรญัตติ :
เพื่อขอมติเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ เสนอกรรมาธิการฯ ในโอกาสต่อไป
1. เพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการ นยบ.อากาศสะอาด เสนอคณะรัฐมนตรี ประกาศห้ามนำเข้าสินค้าที่ก่อมลพิษอากาศข้ามพรมแดนส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (ข้อตกลงการค้าโลก สามารถใช้เหตุผลด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมกีดกันทางการค้าได้) // ทั้งนี้ ร่างเดิมเขียนให้ รมว.พาณิชย์ พิจารณาและประกาศห้ามนำเข้าเอง (ม.52) ซึ่งไม่เพียงพอ ไม่มีทรัพยากรศึกษาผลกระทบต่างๆ (ม.52 เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ)
2. เพิ่มตัวแทน องค์กร อปท. สมาคม อบจ/ สมาคมเทศบาล/ สมาคม อบต. เข้าเป็นคณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด
3. เพิ่มเขตพื้นที่พิเศษ และคณะกรรมการอากาศสะอาดพื้นที่พิเศษ (ตามมาตรา 24 เดิม) ที่ถูกตัดไป เพราะโลกของความเป็นจริง เขตพื้นที่จังหวัดไม่ครอบคลุมบริหารปัญหา และ เขตกลุ่มจังหวัดตามร่าง ภท. ก็ไม่คลุมพื้นที่ปัญหาในโลกใบจริง เช่น สามป่าเหนือเขื่อน (พื้นที่จัดการร่วม 4 จว.ไฟใหญ่สุดของประเทศ) ส่วนเขตประสบมลพิษทางอากาศ หากประกาศครอบคลุมเขตปกครองซ้อนกัน การบริหารก็จะเกิดปัญหาอีก เพราะไม่มีคณะกรรมการที่มีกฎหมายรองรับ
4. เพิ่ม การผนวกและบูรณาการแผนปฏิบัติการของส่วนงานต่างๆ และ ให้เพิ่มการมีส่วนร่วมจาก เครือข่ายป่าชุมชน เข้าในการบูรณาการแผนจังหวัด ตามมาตรา 26
5. นิยามการเผาที่โล่ง ให้ครอบคลุม การเผาในป่าให้ชัดเจน / และการบริหารจัดการเชื้อเพลิง (ม.42-45) เพราะกำหนดห้ามดำเนินการหากไม่ได้รับอนุญาตจาก ผวจ. ซึ่งอำนาจไม่คลุมไปถึงเขตป่า
หากไม่นิยาม ก็แสดงว่า กฎหมายอากาศสะอาดนี้ ยังไม่ก้าวข้ามไปจัดการการเผาในป่า ที่เป็นแหล่งใหญ่ของประเทศไทย
6. ให้เพิ่มเติมถ้อยคำ ในหมวดเขตเผ้าระวังและเขตประสบมลพิษทางการอากาศ (ม.61-66) ให้รองรับพื้นที่คาบเกี่ยวทับซ้อนหลายจังหวัดหรือทับซ้อนอำนาจปกครอง/ป่าไม้
แม้ ม.61-66 จะเป็นเป็นเครื่องมือใหม่ สำหรับการเผชิญเหตุ และการจัดการคลี่คลายวิกฤต แต่จุดอ่อนคือ หากประกาศเขตประสบมลพิษ ข้ามจังหวัด หรือหลายจังหวัด จะประสบปัญหาการบริหารจัดการ เพราะกฎหมายให้อำนาจ คณะกรรมการจังหวัดนั้นๆ ทำแผน ก็ต้องมีกลไกบูรณาการ ใครใหญ่ใครรอง ข้ามเขตได้หรือไม่ อันเป็นปัญหาแท่งราชการแบบเดิมๆ
7. เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ (ม.67) ให้เพิ่ม PPP แบบก้าวหน้า คำนึงถึงหลักความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม และข้อตกลงทางการค้าโลก/อาฟต้า/ทวิภาคี เพื่อจัดการสินค้ามีผลกระทบสุขภาพ
8. ตัดมาตรา 81 ที่เป็นอุปสรรคต่อการตรวจสอบของประชาชน และอาจเป็นเครื่องมือปิดปากให้กับกลุ่มทุน ทั้งไม่สอดคล้องกับกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่นที่มีอยู่ก่อน
หมายเหตุ เอกสารประกอบการหารือเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ 29 มกราคม 2567 ยังไม่ใช่มติที่ประชุมทางการ
โฆษณา