26 ม.ค. 2024 เวลา 16:26 • อาหาร

โอนิกิริ - ทำไมข้าวปั้นต้องเป็นสามเหลี่ยม

"โอนิกิริ" อาหารที่สุดแสนจะธรรมดาในสายตาของใครหลายคน แต่รู้หรือไม่ว่าเจ้าข้าวปั้นก้อนสามเหลี่ยมนี้กลายเป็นเมนูที่ได้รับการโหวตให้เป็น "ยอดจานแห่งปี 2023" เมื่อธันวาคมที่ผ่านมา
1
GuruNavi เว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาหารทั่วญี่ปุ่น ได้ประกาศรางวัลยอดจานแห่งปี 2023 หลังจากสำรวจความคิดเห็นของประชาชน
สัญลักษณ์งานประกาศรางวัลยอดจานแห่งปี เครดิตภาพ : https://prtimes.jp/main/html/rd/p/000001319.000001511.html
โดย “ยอดจานแห่งปี“ ต้องไม่ได้มีดีแค่ “ความอร่อย” เพราะคุณสมบัติของเมนูที่ได้รับความนิยมสูงสุดนั้นต้องเป็นอาหารที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของผู้คนในปีนั้น ๆ และตลอดปี 2023 ที่ผ่านมา "ข้าวปั้น" สไตล์ใหม่ได้เข้ามาครองใจชาวญี่ปุ่นแบบไม่เหลือที่ให้เมนูอื่นใดกันเลยทีเดียว
1
ご馳走おにぎり - gochiso onigiri
ข้าวปั้นไส้ทะลัก เต็มไปด้วยของอร่อยขึ้นชื่อแห่งแดนอาทิตย์อุทัย ไม่ว่าจะเป็น อูนิหอยเม่นฉ่ำ ๆ อิคุระไข่ปลาแซลมอนมันวาว อังกิโมะตับปลามังก์ฟิช โอโทโร่ส่วนท้องปลาทูน่า และวัตถุดิบแสนอร่อยอีกมากมาย
ข้าวปั้นไส้ทะลัก - ยอดจานแห่งปี 2023 เครดิตภาพ : https://prtimes.jp/main/html/rd/p/000001319.000001511.html
จากเมนูข้าวปั้นธรรมดา กลายเป็นข้าวปั้นไฮโซที่เป็นทั้งอาหารตาแบบ Photogenic และอาหารท้องที่ทั้งอิ่มและอร่อย สะท้อนให้เห็นว่าไม่ใช่แค่คนไทยที่ถ่ายรูปอาหารอัพลงโซเชี่ยล เพราะคนญี่ปุ่นเองก็ทำกันจนแทบจะกลายเป็นธรรมเนียมไปเสียแล้ว
เส้นทางของข้าวปั้นที่เคยเป็นเพียงอาหารรสมือคุณแม่ สู่เมนูฮิตของคนทำงานที่หาทานได้ง่ายตามร้านสะดวกซื้อ ทุกวันนี้ ข้าวปั้น beyond ไปไกลกว่านั้น
หลายคนเรียนหนัก ทำงานเหนื่อย อยากกินของอร่อยเพื่อเป็นรางวัลชีวิต จึงเกิดเป็นกระแสฮิตข้าวปั้นไส้ทะลัก มีร้านที่เสิร์ฟเฉพาะข้าวปั้นเกิดขึ้นมากมาย
บางร้านมีไส้ข้าวปั้นให้เลือกลิ้มลองหลากหลายรสชาติ บางร้านนำมาต่อยอดจนกลายเป็นเมนูใหม่ อย่างการนำข้าวปั้นไปย่างจนหอมกลิ่นถ่าน วางลงในถ้วยใบใหญ่แล้วรินชาผสมดาชิลงไป ได้เป็นข้าวปั้นโอฉะสึเกะ
โอฉะสึเกะ - ข้าวปั้นราดซุปดาชิ เครดิตภาพ : https://www.kanefuku.co.jp/ec/recipe/?act=Detail&cms_id=242
ความนิยมไม่ได้มีเฉพาะในประเทศ เพราะปัจจุบัน หากพูดคำว่า “โอนิกิริ“ แม้ไม่ใช่คนญี่ปุ่นแต่ก็เข้าใจได้ว่าสิ่งนั้นคือ“ข้าวปั้น” กลายเป็นเมนูโกลบอลที่รู้จักกันไปทั่วโลก
ด้วยเหตุผลที่ว่ามาทั้งหมดนี้นี่เอง ที่ทำให้ “ข้าวปั้นไส้ทะลัก” ได้รับการโหวตให้เป็น “ยอดจานแห่งปี 2023”
“โอนิกิริ” อาหารเก่าแก่แห่งเกาะญี่ปุ่น
จากการขุดค้นพบซากฟอสซิลอาหารที่มีลักษณะคล้ายข้าวปั้นในยุคปัจจุบันที่หมู่บ้านนากาโนโตะ จังหวัดอิชิกาว่า ทำให้ทราบว่า ข้าวปั้น มีมาตั้งแต่ยุคยาโยอิ หรือเมื่อพันกว่าปีมาแล้ว
ผู้คนในอดีตมีความเชื่อกันว่า “ภูเขา” เป็นที่สถิตของทวยเทพทั้งหลาย อีกทั้งพระเจ้าจะลงมายังโลกมนุษย์ผ่านทางยอดเขา ดั้งนั้นหากกินอาหารที่มีลักษณะเหมือนภูเขา จะทำให้ได้รับพลังจากพระเจ้า
ข้าวปั้นเกิดจากการเลียนแบบรูปทรงของภูเขา เครดิตภาพ : https://www.fujiyama-museum.com/exhibition/collection/114.html
ทว่าในยุคที่การเพาะปลูกข้าวยังไม่แพร่หลายมากนัก เมล็ดข้าวจึงเปรียบเสมือนของมีค่า ที่บริโภคกันภายในกลุ่มชนชั้นสูงเท่านั้น อย่างที่กล่าวไว้ในวรรณกรรมเก่าแก่เรื่อง เก็นจิโมโนกาตาริ มีการตระเตรียมข้าวปั้นไว้เป็นอาหารรับรองแก่เชื้อพระวงศ์และข้าราชการชั้นสูงที่มาร่วมพิธีบรรลุนิติภาวะของฮิคารุ เก็นจิ
เมื่อเข้าสู่ยุคเซ็นโกขุ เกิดสงครามสู้รบระหว่างก๊กต่าง ๆ ข้าวปั้นกลายเป็นเสบียงสำคัญของนักรบทั้งหลาย ไม่แพ้เซมเบ้ มิโสะ และบ๊วยดองเลย
ข้าวปั้นค่อย ๆ กลายเป็นอาหารยอดนิยมที่แพร่หลายไปทั่วประเทศหลังมีการปรับถนนสร้างเส้นทางเชื่อมเมืองเอโดะกับเมืองอิซุ (ชิสุโอกะในปัจจุบัน) เรียกเส้นทางโทไก (東海道) เนื่องจากพกพาสะดวก รับประทานง่าย
ข้าวปั้น หนึ่งในเมนูที่ขาดไม่ได้ในกล่องจูบาโกะ เครดิตภาพ : https://www.maff.go.jp/j/keikaku/syokubunka/culture/wagohan/articles/2209/spe9_02.html
โดยเฉพาะเทศกาลชมดอกซากุระ ข้าวปั้นคือเมนูยอดฮิตคู่จูบาโกะ - กล่องใส่อาหารซ้อนกันเป็นชั้น ข้าวสวยหุงสุกปั้นเป็นก้อนพอดีมือทาด้วยมิโสแล้วจี่ไฟให้หอม นั่งกินใต้ต้นซากุระพร้อมจิบชาเขียวอุ่น ๆ เป็นการปิกนิกที่มีมาตั้งแต่สมัยเอโดะและพบเห็นได้แม้ในยุคปัจจุบัน
จากอาหารรสมือคุณแม่
ร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 เล็งเห็นโอกาสในการทำเงินจึงวางขายข้าวปั้นภายในร้านสาขาแรกที่โทโยสุ - โตเกียว เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1974 ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากบรรดาพนักงานออฟฟิศและกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่ยุ่งกับการเรียนและการทำงานจนไม่มีเวลาเตรียมอาหาร
ญี่ปุ่น - เจ้าแห่งรายละเอียด
ไม่ว่าใคร ๆ ก็อยากกินของอร่อย โอนิกิริห่อสาหร่ายกรอบ ๆ หอม ๆ ที่เคยกินตอนที่คุณแม่ทำเสร็จใหม่ ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องในฝันอีกต่อไป
พลาสติกห่ออาหารแยกชั้นระหว่างข้าวกับสาหร่าย ช่วยคงความกรอบของสาหร่าย ทำให้กินข้าวปั้นได้อย่างอร่อย เครดิตภาพ : https://ameblo.jp/pukipuki-pu-nyan/entry-12782731265.html
ชิโนบุซูชิ (ปัจจุบันคือ ชิโนบุฟู้ดส์) จึงคิดค้นและพัฒนาพลาสติกห่ออาหารที่แยกชั้นระหว่างข้าวปั้นกับสาหร่าย เมื่อไม่มีความชื้นจากข้าว ทำให้สาหร่ายคงความกรอบ อร่อย ไม่ว่าจะพกพาไปที่ไหนก็สามารถหยิบโอนิกิริอร่อย ๆ รสสัมผัสที่สดใหม่ขึ้นมากินได้
1
ความลับสุดท้ายที่ทำให้โอนิกิริไม่เคยหลุดจากวงโคจรชีวิตของคนญี่ปุ่น!
ข้าวปั้นแช่แข็ง เมนูครองใจคนรุ่นใหม่ แค่เพียงปลายนิ้วกดปุ่มอุ่นอาหารก็ได้กินข้าวปั้นร้อน ๆ อร่อย ๆ แล้ว เครดิตภาพ : https://www.nissui.co.jp/product/frozenfoods.html
ไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป หลายคนไม่สะดวกทำอาหารกินเอง หรือบางคนที่อยากกินอะไรเบา ๆ รองท้องกลางดึก ทำให้ผู้ประกอบการอาหารแช่แข็งอย่าง นิปปงซุยซัง (ปัจจุบันคือ นิสซุย) เกิดไอเดียพัฒนา "ข้าวปั้นแช่แข็ง" ออกวางขายในปี ค.ศ. 1989
เพียงแค่เอาเข้าไมโครเวฟไม่กี่นาที ก็ได้กินข้าวปั้นนุ่ม ๆ หอมกลิ่นโชหยุ กลายเป็นสินค้าสุดฮิต ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ที่ต่อมาหลายแบรนด์แข่งกันผลิตออกมาวางขาย
ข้าวปั้นแช่แข็งหลากเมนูหลายรสชาติ เครดิตภาพ : https://media.kawa-colle.jp/_ct/17502579
ปัจจุบันมีข้าวปั้นแช่แข็งหลากหลายรสชาติให้ลิ้มลอง ไม่ว่าจะเป็น ข้าวปั้นย่างโชหยุ ข้าวปั้นทรงเครื่องไก่ ข้าวปั้นผสมมันญี่ปุ่น ข้าวปั้นไส้เกาลัด บอกเลยว่าอร่อยทุกเมนู! เพราะลองมาแล้ว
โอนิกิริ ไม่ได้มีแค่สามเหลี่ยม
แม้ว่าโอนิกิริที่เราเห็นกันทั่วไปจะมีรูปทรงสามเหลี่ยม แต่ในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วญี่ปุ่นก็มีวัฒนธรรมการกินโอนิกิริที่แตกต่างเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง
โอนิกิริ ไม่ได้มีแค่ก้อนสามเหลี่ยม
โอนิกิริทรงกลมแบน
เป็นที่นิยมในภูมิภาคโทโฮขุซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของญี่ปุ่น อากาศหนาวเย็นทำให้อาหารแข็งจนกินไม่ได้ เกิดเป็นภูมิปัญญาของคนท้องถิ่นที่ปั้นข้าวให้กลมแบบ เมื่อนำไปย่างทำให้ข้าวปั้นอุ่นร้อนได้ง่ายและรวดเร็ว
โอนิกิริทรงกลม
ข้าวปั้นที่ทำง่าย สะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา ด้วยความเร่งรีบช่วงเช้ามืดที่ทุกคนต้องไปเรือกสวนไร่นา ครอบครัวเกษตรกรในภูมิภาคชูบุมักปั้นโอนิกิริให้กลม เพราะทำเสร็จได้ในเวลาอันรวดเร็ว
โอนิกิริทรงกระสอบฟาง
พบเห็นได้มากในแถบคันไซ ดินแดนแห่งพ่อค้า เพราะเป็นรูปทรงที่ใส่ลงในกล่องข้าวได้ง่ายและสวยงาม ไซส์ที่พอดีคำทำให้หยิบกินง่ายแม้ขณะเจรจาธุรกิจ หากใครเคยไปดูละครเวที คาบูกิ หรือซูโม่ ข้าวปั้นในกล่องเบนโตก็มักจะเป็นทรงกระสอบฟางคำเล็ก กินง่าย สะดวก จึงไม่เสียอรรถรสในการดูละคร
โอนิกิราสุ ข้าวปั้นทรงแซนด์วิช
เอกลักษณ์เฉพาะของชาวโอกินาว่า ข้าวปั้นที่ไม่ต้องปั้นให้เลอะมือ ได้แรงบันดาลใจมาจากการทำแซนด์วิช กลิ่นอายของวัฒนธรรมการกินแบบอเมริกันสไตล์ที่เข้ามาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพียงแค่วางวัตถุดิบที่อยากกินซ้อนกันลงไป ก็อร่อยแบบง่าย ๆ ได้ไม่เสียเวลา
ข้าวปั้นที่ดูเหมือนจะเป็นเมนูธรรมดา แต่หากได้ลองโอนิกิริตามท้องถิ่นต่าง ๆ จะเปิดโลกอาหารญี่ปุ่นที่ไม่ได้มีแค่ซูชิและหม้อไฟน้ำดำอีกต่อไป
บางส่วนของเมนูข้าวปั้นทั่วญี่ปุ่น
1.ซูจิโกะโอนิกิริ
ข้าวปั้นทรงกลมแบนไส้ไข่ปลาแซลมอนดองเกลือ ของอร่อยจังหวัดอาโอโมริ รสนัว ๆ เค็มนิด ๆ ตัดกับความหวานของข้าวสวย
2.เคนสะยากิ
ข้าวปั้นทรงกลมแบน ทามิโสะทรงเครื่องแล้วย่างไฟอ่อน ๆ รสหวานเค็มช่วยส่งให้ข้าวสวยยิ่งอร่อย เมนูเฉพาะของจังหวัดนีงาตะ
3.เท็มมุุซุบิ
โด่งดังถึงขั้นเป็นของฝากประจำเมืองนาโกย่า ข้าวปั้นทรงสามเหลี่ยมยัดไส้กุ้งเท็มปุระ ข้าวนุ่ม ๆ กับกุ้งชุบแป้งเท็มปุระทอดกรอบ ๆ และสาหร่ายหอม ๆ อร่อยได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
4.โทโรโร่คมบุโอนิกิริ
คมบุหอมอร่อยของขึ้นชื่อแห่งโทยามะ นำมาห่อกับข้าวปั้นทรงกลมยัดไส้บ๊วยดอง นุ่ม หอม อร่อย และสดชื่น กินไม่เบื่อ
5.โอะคาขะโอนิกิริ
โอะคาขะหรือคัตสึโอะปลาแห้งฝนบาง ๆ ผสมกับโชหยุและเหล้ามิริน เมนูคุ้นเคยของแม่บ้านโตเกียว อร่อยแบบง่าย ๆ แต่รสชาติซับซ้อน หอมกลิ่นปลาคัตสึโอะ
6.คินาโกะมาบูชิโอนิกิริ
ข้าวปั้นร้อน ๆ ทรงกลมคลุกแป้งถั่วเหลืองคินาโกะหอม ๆ รสหวานละมุน เค็มอ่อน ๆ อีกหนึ่งของอร่อยจังหวัดฟุคุอิ
7.ทาคานะโอนิกิริ
ของขึ้นชื่อแห่งอาโสะ จังหวัดคุมาโมโต้ ด้วยภูมิปัญญาการถนอมอาหารที่แสนเก่าแก่แห่งหนึ่งของญี่ปุ่น ผักกาดดองทาคานะรสชาติเฉพาะตัว สับละเอียดนำมาผัดกับน้ำมันงาและโชหยุ คลุกเคล้ากับข้าวสวยร้อน ๆ ปั้นเป็นทรงสามเหลี่ยม
8.พอร์คทามะโกะโอนิกิริ
ข้าวปั้นทรงแซนด์วิช สอดไส้สแปมแฮมสไตล์โอกินาว่าและไข่หวาน รสชาติลงตัวที่หาได้เฉพาะในเกาะโอกินาว่าเท่านั้น
เครดิตภาพ : https://macaro-ni.jp/items/2372656
ความหลากหลายของโอนิกิริสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องถิ่นต่าง ๆ นอกจากความอร่อยที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวแล้ว การชูโรงด้วยวัตถุดิบที่หาได้แค่ในพื้นที่นั้น ช่วยคงคุณค่าและจรรโลงภูมิปัญญาให้ยังคงอยู่และสืบทอดไปยังลูกหลานต่อไป
โฆษณา