28 ม.ค. เวลา 03:00 • การตลาด

กลยุทธ์ สมาร์ตโฟนจีน ชอบแตกแบรนด์ย่อย มาจับตลาดใหม่

ทำไม Xiaomi ต้องมีแบรนด์ย่อยอีกหลายแบรนด์ เช่น Redmi, POCO, Black Shark
ทำไม Huawei ต้องแตกแบรนด์ย่อยอีกแบรนด์ เป็น Honor
ทำไม Vivo ต้องทำแบรนด์ย่อยอีกแบรนด์ ชื่อว่า iQOO
แน่นอนว่า Xiaomi, Huawei, Vivo ก็มีรุ่นย่อย ๆ ในแบรนด์ของตัวเองกันอยู่แล้ว
แต่ทำไมแบรนด์สมาร์ตโฟนจีนเหล่านี้
ยังต้องทำอีกหลายแบรนด์ แยกออกมาชัด ๆ กันอีก ?
กลยุทธ์แบบนี้ เรียกว่า กลยุทธ์การทำ Sub-brand หรือการออกแบรนด์ย่อย
คือพอทำสินค้าชิ้นใหม่ออกมา ก็แปะชื่อแบรนด์ใหม่ไปเลย แม้ว่าจริง ๆ แล้วเจ้าของจะเป็นเครือเดียวกัน หรือบางทีก็ใช้โรงงานผลิตเดียวกันด้วยซ้ำ
กลยุทธ์การทำ Sub-brand แบบนี้ จุดเด่นคือ “เพิ่มความชัดเจนของแบรนด์” เพื่อให้สามารถสื่อสารได้ชัดขึ้น ตรงตามความต้องการของลูกค้ากลุ่มเฉพาะได้มากขึ้น
1
โดยแบรนด์ย่อยที่เกิดขึ้นนั้น อาจยังมีเรื่องของกลิ่นอาย หรือ DNA บางอย่างของแบรนด์หลัก
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น Xiaomi ทำแบรนด์สมาร์ตโฟนแบรนด์ย่อยออกมาอีกหลายแบรนด์
เช่น POCO, Redmi, Black Shark
- POCO เริ่มต้นเมื่อปี 2018 เมื่อ Xiaomi ได้มีการเปิดตัวสมาร์ตโฟนรุ่น “Pocophone F1” และได้รับผลตอบรับที่ดีมาก ด้วยยอดขายกว่า 2.2 ล้านเครื่อง
และยังได้รับผลตอบรับที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ในรุ่นถัดมา
จนทำให้ในปี 2020 ทาง Xiaomi แยก POCO ออกมาเป็นอีกแบรนด์หนึ่งไปเลย
การที่ Xiaomi เลือกที่จะสร้างแบรนด์ย่อยอย่าง POCO เนื่องจากเอกลักษณ์ของ Xiaomi คือการมีความสามารถรอบด้าน มีฟีเชอร์ที่หลากหลาย
ส่วน POCO เน้นไปที่การใช้งานจริงที่รวดเร็ว แต่ไม่เน้นฟีเชอร์ที่หลากหลายเท่า
ซึ่งการที่ Xiaomi แยก POCO ออกมา ก็น่าจะเพราะช่วยให้การโปรโมต การ Branding การทำการตลาด ทำได้ชัดเจนขึ้น
จับลูกค้ากลุ่มที่เน้นความคุ้มค่า และต้องการสมาร์ตโฟนกลุ่มที่ราคาถูกลงมาอีกระดับหนึ่งได้
นอกจากนี้ Xiaomi ยังมีการออกแบรนด์ย่อยอื่น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มอีกด้วย ตัวอย่างเช่น
- Redmi สมาร์ตโฟนสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป
- Black Shark เกมมิงโฟนสำหรับผู้ที่รักในการเล่นเกมมือถือ
- Civi สมาร์ตโฟนที่เด่นในด้านการออกแบบ ที่จับกลุ่มผู้หญิงเป็นหลัก
จะเห็นว่า แต่ละแบรนด์ที่แตกออกมา จะมี Brand Position หรือตำแหน่งของแบรนด์ที่แตกต่างกันไป
และมีความชัดเจนว่าจับลูกค้ากลุ่มไหนได้ ด้วยแบรนด์ของตัวเอง
นอกจากสินค้าประเภทสมาร์ตโฟนแล้ว
Xiaomi ยังมีการใช้กลยุทธ์ออกแบรนด์ย่อยกับสินค้าประเภทอื่น ๆ อีกด้วย
เช่น Xiaomi Youpin แบรนด์ที่เน้นขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ภายในบ้าน เช่น พัดลม สกูตเตอร์ และเครื่องฟอกอากาศ
1
ซึ่งต้องหมายเหตุว่า Xiaomi Youpin ทาง Xiaomi ใช้กลยุทธ์ให้โรงงานต่าง ๆ ผลิตให้ แล้วเอามาแปะแบรนด์ Xiaomi
ทำให้ Xiaomi Youpin มีสินค้าที่หลากหลายมาก ๆ
และต้องบอกว่า ไม่ใช่แค่ Xiaomi ที่ใช้กลยุทธ์การแตกแบรนด์ย่อย
เพราะแบรนด์จีนอื่น ๆ ก็มีการใช้กลยุทธ์นี้ เช่นเดียวกัน
ไม่ว่าจะเป็น
แบรนด์สมาร์ตโฟน Vivo ที่มี iQOO เป็นแบรนด์สมาร์ตโฟนย่อย ที่เน้นเรื่องประสิทธิภาพสูง ราคาประหยัดกว่า
Huawei ที่มี Honor เป็นแบรนด์ย่อยบนสมาร์ตโฟนและโน้ตบุ๊ก ที่เน้นในเรื่องราคาประหยัด แต่ยังเน้นความคุ้มค่า
 
โดยหากใครอยากเอากลยุทธ์แบบนี้ไปปรับใช้ ก็อาจต้องลองทำเฟรมเวิร์กคร่าว ๆ ตามนี้คือ
1. วิเคราะห์ที่แบรนด์ของตัวเองก่อนว่ามีจุดอ่อน จุดแข็ง มีโอกาส และอุปสรรคอย่างไร เพื่อหาช่องว่างในตลาด
เช่น ถ้าเห็นจุดแข็งจากสินค้าเดิม อาจเอามาลองคิดต่อยอดเป็นอีกแบรนด์ใหม่ เพื่อจับกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจนขึ้นได้ดีกว่าเดิม
2. กำหนดเป้าหมายให้กับแบรนด์ย่อยที่สร้างขึ้น โดยใช้พื้นฐานจากความต้องการของผู้บริโภค ความสนใจ และพฤติกรรม
เช่น ถ้ารู้ว่าสินค้าของเรามีคุณสมบัติ หรือคุณค่าที่ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มหนึ่ง แต่คนกลุ่มนั้นยังไม่ซื้อแบรนด์ของเรา เพราะปัจจัยเช่น เรื่องราคาที่ยังสูงไป
1
อาจพิจารณา สร้างอีกแบรนด์ย่อย ที่เน้นขายราคาถูกลง แต่ยังคงคุณสมบัติสำคัญที่ลูกค้าต้องการไว้ให้ได้มากที่สุด
แบรนด์ใหม่ของเรา อาจจับกลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้นได้
3. กำหนดเอกลักษณ์ของแบรนด์ย่อยให้ชัดเจน ซึ่งประกอบด้วยชื่อ โลโก สโลแกน สี คำบรรยาย
เพื่อสื่อสารกับลูกค้าให้ตรงจุดที่สุด
จากตัวอย่างแบรนด์ต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นข้างต้นนั้น ต่างมีการสร้างแบรนด์ย่อย เพื่อทำให้เข้าถึงผู้ใช้งานหลายกลุ่มเพิ่มมากขึ้น
เพราะเมื่อสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย ก็จะเพิ่มโอกาสในการเก็บเกี่ยวส่วนแบ่งทางการตลาดในสินค้าชนิดนั้นมากขึ้น
ซึ่งกลยุทธ์แบบนี้ ก็เห็นได้ชัด ในสินค้ากลุ่มสมาร์ตโฟนแบรนด์จีน นั่นเอง..
โฆษณา