27 ม.ค. เวลา 00:28 • ธุรกิจ

ไม่อยากเป็นแบรนด์ที่แข่งราคาทำไงดี

ใครกำลังทำแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบริษัทหรือทำแบรนด์ของตัวเราเอง เคยสงสัยไหมครับว่าเราจะวางแบรนด์ของเราให้อยู่ในจุดที่ต้องการยังไง ทุกวันนี้ต้องยอมรับเลยว่าที่ไทยการแข่งขันสูง เราอาจจะไม่ได้อยากจะเป็นแบรนด์ที่ถูกที่สุดในตลาด แต่ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างทำให้เราต้องถูกบีบให้ลดราคาไปในตัวเพราะเจ้าอื่นแข่งกันลดราคาเพื่อแย่งลูกค้า
ผมเคยฟังเคสของ Tesla จาก Elon Musk ที่อาจารย์เปิดให้ฟังในคลาส ว่าแบรนด์เริ่มยังไงถึงมีความสามารถในการวางตัวเองให้อยู่ในจุดที่คนพูดว่า Tesla ขาย Luxury Sedan (ซีดานหรู) ได้
รถรุ่นแรกที่ Tesla ปล่อยออกมาคือ Tesla Roadster ในปี 2008 ด้วยราคา $250,000 (ประมาณ 9 ล้านบาท) ซึ่งในตอนนั้นแบรนด์รถ Tesla เองก็ไม่ได้เป็นที่รู้จักดีซักเท่าไหร่ บริษัทเลยทุ่มกำลังไปที่การทำ Roadster ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้และเน้นขายแต่คนกลุ่มบน Elon Musk บอกว่าตอนนั้นกว่าจะทำ Roadster ออกมาซักคันใช้เวลานานมากเพราะทุกอย่างพยายามทำให้พรีเมี่ยมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ด้วยกำไรจากการขาย Roadster บริษัทเริ่มผลิต Model S และเปิดมาด้วยราคา $100,000 (ประมาณ 3.5 ล้านบาท) ซึ่ง Model S ก็ขายดีมากเพราะแบรนด์ Tesla ขายแค่รถคันละเกือบ 10 ล้านมาก่อน ตัวใหม่ราคาแค่ 3.5 คนเลยจองกันอย่างถล่มทลาย จุดนี้ Tesla ใช้คนและเวลาน้อยลง เล็งกลุ่มลูกค้าที่กว้างขึ้น
ต่อมาอีก 5 ปี Tesla เปิดตัว Model 3 ตัวนี้ราคา $40,000 (ประมาณ 1 ล้านนิดๆ ซึ่งถือว่าถูกมากในอเมริกา) จนทุกวันนี้กลายเป็นรถยอดฮิตของวัยรุ่นวัยทำงานและทำให้ Elon Musk ขึ้นเป็นคนที่รวยที่สุดในโลกได้ และทุกวันนี้ Tesla Model 3 ก็ถูกจัดอยู่ในหมวด Luxury Sedan ถึงแม้ว่าราคาจะไม่ได้แพงเท่า Benz หรือ BMW ก็ตาม
อาจารย์ผมแกะออกมาเป็น Framework :
3 ขั้นตอนในการสร้างบริษัทให้ไม่ต้องแข่งสงครามราคา
1. เริ่มจากสินค้า/บริการที่ขายง่าย แต่ใช้เวลาเยอะ ราคาสูง - ยกตัวอย่างเช่นเราเปิดบริษัทเอเจนซี่โฆษณา บริการที่เราจะขายได้ง่ายที่สุดคือการส่งทีมเข้าไปขลุกอยู่กับลูกค้า ถึงแม้ว่าเราจะคิดราคาสูงลูกค้าบางที่ก็จะยอมจ่ายเพราะการันตีผลลัพท์ชัดเจน แต่ข้อเสียคือเราเสียคนและเวลาไปเยอะ
2. ขยับมาเป็นสินค้า/บริการที่ ใช้เวลาน้อยลง ราคาต่ำลงมา - ในจุดนี้พอได้กำไรมาประมาณนึง เราจะขยับจากการที่คิดราคาสูง มาเป็นราคาปานกลาง และก็ลดสิ่งที่ทำให้เราเสียกำลังคนและเวลาไป เช่นเราอาจจะทำงานให้ลูกค้าแบบ Online แทน มีประชุมกันอาทิตย์ละครั้งเพื่ออัปเดต
3. ขยับมาเป็นสินค้า/บริการที่ ใช้เวลาน้อยมาก ราคาต่ำลงมาอีก - จุดนี้กลุ่มลูกค้าเราจะกว้างขึ้นเยอะเนื่องจากราคาที่ต่ำลง จากที่เราทำงานกับบริษัทจะเป็นทำงานกับผู้ขายรายย่อยที่อยากได้ลูกค้าเพิ่มเหมือนกัน แพคเกจอาจจะเป็นคู่มือในการหาลูกค้า หรือคลาส Online แบบกลุ่มเพื่อสอนผู้ประกอบการรายย่อยให้การหาลูกค้าเพิ่ม
สรุปสั้นๆ คือเริ่มจากสินค้า/บริการที่ขายง่าย ราคาสูง และใช้ทรัพยากร (คนและเวลา) เยอะ จากนั้นเก็บกำไรมาต่อยอดเพื่อสร้างสินค้า/บริการที่ราคาต่ำลงมา และใช้ทรัพยากรน้อยลง และก็ขยับลงมาแบบนี้จนกว่าเราจะพอใจในจุดที่แบรนด์เรายืนอยู่
เป็น Framework ที่ Tesla ใช้สร้างจุดยืน ใครทำแบรนด์หรือมีแผนจะทำลองเอาไปปรับใช้ดู ถ้าเวิร์คยังไงถ้ากระซิบผมด้วยนะครับฮ่าๆ
ปล. เห็นว่า Tesla มีแพลนจะเปิดตัวรุ่นใหม่ ราคาต่ำกว่าเดิมลงไปอีกแนะ
ติดตาม Blog ผมเพิ่มเติมได้ที่ https://www.jakkrapat.com
โฆษณา