27 ม.ค. 2024 เวลา 14:00 • กีฬา

#MainStand : ย้อนอดีต เสื้อทีมชาติไทย Nike สุดแรร์ ที่คอสะสมอยากได้ในยุคนี้

หากย้อนชมชุดแข่งฟุตบอลของทีมชาติไทยตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน จะสังเกตได้ว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สปอนเซอร์ ผลิตเสื้อแข่งของทัพช้างศึกนั้นล้วนเป็นแบรนด์จากประเทศไทยไรเรียงตั้งแต่ FBT , Grand Sport หรือ Warrix
แต่อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาหนึ่งทีมชาติไทยเคยได้รับการสนับสนุนจากแบรนด์กีฬาจากสหรัฐฯ อย่าง ไนกี้ (Nike) ยาวนานถึง 5 ปี และเมื่อเวลาผ่านพ้นมาจนถึงปัจจุบันในยุคที่กระแสเสื้อฟุตบอวินเทจกำลังเป็นที่นิยมส่งผลให้เสื้อแข่งดังกล่าวเป็นไอเทมสุดแรร์ พร้อมราคาที่พุ่งสูงแล้ว
เริ่มต้นกันที่ปี 1990 ภาพจำของเสื้อฟุตบอลทีมชาติไทยนั้นต้องอยู่คู่กับ FBT หรือจากบริษัทฟุตบอลล์ไทย สปอร์ตติ้งกู๊ดส์ จำกัด ซึ่งเป็นสปอนเซอร์หลักหรือแบรนด์คู่บูญที่อยู่กับทีมชาติไทยมาอย่างยาวนานนับสิบปีหรือตั้งแต่ในยุคของ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน อดีตกองหน้าทีมชาติไทยเจ้าของฉายา เพชรฆาตหน้าหยก เลยก็ว่าได้
เอกลักษณ์ของการออกแบบเสื้อแข่งในยุคนั้นมักจะประกอบไปด้วยลวดลายและสีสันของธงชาติไทยที่ประดับประดาทั่วตัวเสื้อตามสไตล์เสื้อบอลในยุค 80-90 และที่สำคัญเสื้อแข่งในยุคนั้นยังเป็นแบบโอเวอร์ไซซ์ (OverSize) หรือ ขนาดใหญ่กว่าปกติ
กระทั่งเข้าสู่ปี 2007 สัญญาระหว่าง FBT และสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ถึงเวลาสิ้นสุดลง โดยชุดแข่งที่ทางแบรนด์ผลิตให้กับสมาคมฯนั้นถูกสวมใส่ครั้งสุดท้ายในการแข่งขันรายการเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ ปี 2007
ซึ่งในปีดังกล่าวเป็นการเข้ามารับหน้าที่นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยเป็นขวบปีแรกของ นายวรวีร์ มะกูดี อีกด้วย
เมื่อสัญญาสิ้นสุดลงทางสมาคมฯภายใต้การบริหารจัดการของนายวรวีร์ มะกูดี จำเป็นต้องหาสปอนเซอร์ผู้ผลิตชุดแข่งรายใหม่ที่จะเข้ามารับหน้าที่ผลิตชุดแข่งให้กับทัพช้างศึกต่อไป และถือเป็นดีลสุดเซอร์ไพรสและเป็นการร่วมงานครั้งสำคัญ เมื่อสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ได้บรรลุการเซ็นสัญญากับ ไนกี้ (Nike) แบรนด์กีฬาจากสหรัฐอมริกา ที่เข้ามารับหน้าที่สนับสนุนชุดแข่งและชุดของทีมงานทั้งหมด
การร่วมงานกับแบรนด์กีฬายักษ์ใหญ่ในครั้งนี้มีการเซ็นสัญญาเป็นระยะเวลานานถึง 5 ปี เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2007 ถึง 30 มิถุนายน 2012 แม้ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขของเม็ดเงินในการสนับสนุนออกมาอย่างเป็นทางการแต่คาดว่าในระยะเวลา 5 ปีนี้ ไนกี้ มอบเงินสนับสนุนให้สมาคมราวร้อยล้านบาท
“ข้อตกลงในครั้งนี้ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของทีมชาติไทย ซึ่ง 5 ปี ต่อไปนี้ผมเชื่อว่าคงจะเป็นการพลิกโฉมวงการฟุตบอลของบ้านเรา และจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้เป้าหมายและภารกิจของสมาคมฯ ในการยกระดับฟุตบอลไทยให้ก้าวสู่ระดับสากลประสบผลสำเร็จ” วรวีร์ มะกูดี เผยในงานเปิดตัวการเซ็นสัญญากับ ไนกี้
อีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ ไนกี้ ได้เลือกเซ็นสัญญากับสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยนั่นเป็นเพราะว่า ทางแบรนด์ต้องการขยายตลาดพร้อมเจาะกลุ่มชาติในย่านอาเซี่ยน โดยหลายประเทศที่ ไนกี้ เลือกเซ็นสัญญาอย่างเช่น มาเลเซีย และ สิงคโปร์
1
โดยชุดแข่งตัวแรกที่ทาง ไนกี้ ได้ออกแบบให้กับทีมชาติไทยนั้นถูกออกแบบด้วยดีไซน์ที่เรียบง่าย ซึ่งชุดเหย้านั้นมาพร้อมกับสีแดงและชุดเยือนใช้สีน้ำเงิน สวมใส่ประเดิมการแข่งขัน เอเชียนคัพ ปี 2007 นั่นเอง
การออกแบบของ ไนกี้ เดินทางมาจนถึงปี 2011 ซึ่งในปีนี้ได้มีการเปิดตัวชุดแข่งตัวใหม่ ซึ่งเป็นชุดที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุด เพราะว่าเป็นชุดแข่งที่มีความสวยงามและตัวสุดท้ายจากการออกแบบของแบรนด์กีฬาจากสหรัฐฯ ด้วยลวดลายธงชาติไทยที่พาดผ่านหน้าอกเสื้อ และด้วยเทคโนโลยี Dri-Fit ของ ไนกี้ และยังนำขวดพลาสติกจำนวน 8 ขวด มารีไซเคิลพร้อมผสานเป็นเส้นไยทอเป็นตัวเสื้อ
ความพิเศษของเสื้อแข่งในปีนี้คือการใช้ชุดแข่งสีเหลือง ที่เป็นสีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือ ร.9 และสีน้ำเงินสื่อถึง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เหมือนกันชุดแข่งเมื่อปี 2009
หลังจากการเปิดตัวชุดแข่งตัวนี้ออกไปประจวบเหมาะระยะสัญญาของการร่วมงานใกล้จะสิ้นสุด ทำให้ทางสมาคมฯ ได้ตั้งโต๊ะเจรจาสัญญาฉบับใหม่กับ ไนกี้ ทว่าการพูดคุยดังกล่าวกลับไม่เป็นผล ทำให้ทางสมาคมฯ ต้องแยกทางกับแบรนด์กีฬาของสหรัฐฯ ด้วยระยะสัญญาที่อยู่คู่กับสมาคมกีฬาฟุตบอล เพียง 5 ปี
โดย องอาจ ก่อสินค้า เลขาธิการสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในขณะนั้นได้ออกมาเผยถึงสาเหตุของการแยกทางกับ ไนกี้ เนื่องจากเจรจาสัญญาฉบับใหม่ไม่ลงตัว
"ทางสมาคมฯได้ยกเลิกสัญญากับทางไนกี้แน่นอน เพราะไม่สามารถตกลงเรื่องสัญญาฉบับใหม่ได้ และเราจะมีผู้สนับสนุนรายใหม่เข้ามา แต่ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าเป็นรายใด ต้องรอให้ทางท่านนายกสมาคมฯ (วรวีร์ มะกูดี) เป็นผู้ออกมาชี้แจง"
หลังจากยกเลิกสัญญา แบรนด์กีฬาที่เข้ามารับหน้าที่ต่อก็คือ Grand Sport แบรนด์กีฬาของประเทศไทยนั่นเอง และทาง ไนกี้ ได้หันมาเจาะกลุ่มสโมสรด้วยการเซ็นสัญญาผลิตเสื้อแข่งให้กับทีมในศึกฟุตบอลไทยลีก ของประเทศไทย อย่างเช่น ชลบุรี เอฟซี เมื่อปี 2012 และบีจี ปทุม ยูไนเต็ด เมื่อปี 2014
ตลอดระยะเวลาที่ ไนกี้ เดินทางร่วมกับสมาคมฯ นั้น เสื้อแข่งฟุตบอลอาจยังไม่ได้เป็นที่นิยมมากเท่าไรนัก เนื่องด้วยสองปัจจัยหลักอย่าง ราคา ที่ค่อนข้างสูงแตะหลักพันบาทตามพื้นฐานของแบรนด์กีฬาชื่อดัง และ ด้วยผลงานของทีมชาติไทยที่ยังไม่ได้โดดเด่นเท่าไรนัก
จนท้ายที่สุดแล้วเสื้อแข่งภายใต้การผลิตของ ไนกี้ ได้กลายเป็นไอเทมสุดแรร์ที่หายากในยุคปัจจุบัน (ยิ่งน้อยยิ่งหายาก) และเสื้อแข่งจาก ไนกี้ ยังเป็นที่ต้องการสำหรับนักสะสมอีกเช่นกัน
เนื่องด้วยเสื้อฟุตบอลยุควินเทจที่กลับโด่งดังและนิยมในตอนนี้กับกระแสการแต่งตัวแนววัยรุ่น Bloke Core ที่นำเสื้อฟุตบอลฟุตบอลยุควินเทจมาแต่งตัวสไตล์แฟชั่น บวกกับการจัดงานเสื้อฟุตบอลวินเทจ ทำให้เสื้อฟุตบอลเหล่านี้ถูกนำมาวางจำหน่ายและพอพบเห็นบ้าง ซึ่งราคานั้นถูกอัพขึ้นไปเป็นเท่าตัว และหากสกรีนเบอร์ ชื่อนักเตะ หรือ แมทช์วอน ราคาก็จะเพิ่มสูงขึ้นไปอีกจนถึงหลักหมื่น (ไม่มีราคากลางอยู่ที่ความพึงพอใจและตามสภาพเสื้อแข่ง)
ซึ่งในงาน THAILAND FOOTBALL SHIRT FESTIVAL ที่ ศูนย์การค้า ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2023 เสื้อแข่งทีมชาติไทย ปี 2011 ของประทุม ชูทอง ถูกพบวางขายอยู่ที่ 35,000 บาท จากการลงพื้นที่ของทีมงาน Main Stand
แหล่งอ้างอิง :
โฆษณา