Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อายุยืน
•
ติดตาม
28 ม.ค. 2024 เวลา 13:40 • สุขภาพ
คนบ้าหลังกำแพงคุก (1) : การเดินทางกลับบ้านของชิต
ประชาไท / รายงานพิเศษ
เรื่อง: กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
ภาพ: อิศเรศ เทวาหุดี
-เรื่องราวของผู้ป่วยนิติจิตเวชที่ก่อคดีฆาตกรรมคนในครอบครัว การรักษาตัว และกลับบ้าน
-แนวทางการทำงานของทีมสหวิชาชีพ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เพื่อตรวจสอบการแกล้งป่วย การบำบัดรักษาผู้ป่วยเพื่อกลับสู่กระบวนการยุติธรรม และเตรียมส่งคืนสู่สังคม
15 ปีก่อน ชิต (นามสมมติ) ใช้ปืนแก๊ปยาวยิงหัวพ่อเลี้ยงขณะนอนหลับ พ่อเลี้ยงดูแลชิตมาตั้งแต่ 2 ขวบ รักเขาเหมือนลูก ไม่มีเรื่องบาดหมางใดๆ ต่อกัน เขายิงเพราะต้องการช่วยพ่อเลี้ยง เขาเห็นแสงสว่างวูบวาบบริเวณหัวของพ่อเลี้ยง เขาต้องการขับไล่มันไปให้ไกลๆ ณ เวลานั้นเขาเชื่อจริงๆ ว่าเขาทำสิ่งที่ควรทำ หลังจากชาติ (นามสมมติ) ผู้เป็นพี่ชายได้พาชิตไปมอบตัว ชิตอยู่ในคุกเกือบ 2 ปีโดยที่คดีไม่เดินหน้า ไม่มีญาติคนใดอยากประกันตัวเขาออกมา
ตอนอายุ 14 ชิตถูกเพื่อนร่วมงานในอู่ซ่อมรถทำร้ายที่ศีรษะจนสลบ หลังจากนั้น 6 เดือน ชิตคนเดิมผู้ร่าเริงแจ่มใสก็จากไป ถามคำตอบคำ นอนไม่หลับ ขอบตาดำ น้ำลายไหล เดินตัวแข็ง ตาขวาง ชาติต้องพาส่งโรงพยาบาลจิตเวช รับยามาทาน แต่อาการไม่ดีขึ้น ชิตค่อยๆ สร้างโลกอีกใบในจินตนาการ อยากจะโบยบินเหมือนซุปเปอร์แมน จนญาติตัดสินใจส่งรักษาอีกรอบ เข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลจิตเวชในฐานะผู้ป่วยในอยู่ 5 ปี
ชิตได้กลับไปอยู่บ้านกับแม่ในที่สุด แต่ยังคงต้องกินยาครั้งละ 7 เม็ด 3 ครั้งต่อวัน ยารักษาอาการทางจิตเวชทำให้ชิตง่วงซึมตลอดเวลา มันขัดขวางความสุขจากการดูหนังกลางแปลงของเขา ชิตบ่นกับแม่ว่าไม่อยากกินยาอีกแล้ว พอถูกแม่คะยั้นคะยอมากเข้า ชิตบอกถ้าแม่อยากกินก็กินเสียเองเลย เพราะต้องการสื่อให้ลูกชายเห็นว่ากินยาแล้วอาการจะดีขึ้น แม่ของชิตจึงกินยาเพื่อพิสูจน์ให้ลูกชายเห็น ผลลัพธ์คือเธอสลบไป 3 วัน ฟื้นจากฤทธิ์ยา เธอไม่บังคับชิตกินยาอีกเลย
เมื่อผู้ป่วยจิตเภท (Schizophrenia) ขาดยา โศกนาฏกรรมอันมีจุดเริ่มต้นจากความไม่รู้ก็ยากจะหลีกเลี่ยง
บ้าจริงหรือแกล้งบ้า
มาตรา 65 ในประมวลกฎหมายอาญา ระบุว่า ผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
กฎหมายผ่อนปรนให้กับผู้ป่วยวิกลจริตที่ทำผิดโดยไม่มีเจตนา ไม่สามารถบังคับตนเองได้ อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถให้ใครอ้างความป่วยไข้ได้ลอยๆ โดยไม่มีการตรวจสอบ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 วรรค 1 จึงเขียนไว้ว่า ในระหว่างทำการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณา ถ้ามีเหตุควรเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้พนักงานสอบสวนหรือศาลแล้วแต่กรณี สั่งให้พนักงานแพทย์ตรวจผู้นั้นเสร็จแล้วให้เรียกพนักงานแพทย์ผู้นั้นมาให้ถ้อยคำหรือให้การว่าตรวจได้ผลประการใด
สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ สถานพยาบาลด้านจิตเวชที่มีบทบาทหลักในการให้การดูแลรักษาผู้ป่วยนิติจิตเวช ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ป่วยทางจิตเวชและมีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมหรือความเป็นธรรมทางสังคมจึงมีหน้าที่พิสูจน์ว่าผู้ต้องหาป่วยจริงหรือว่าแกล้งป่วย (Malingering) โดยอาศัยการทำงานเป็นทีมของสหวิชาชีพ ได้แก่ จิตแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักกิจกรรมบำบัด และนักสังคมสงเคราะห์
ลัดดา จีระกุล นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการพิเศษ เล่าว่า เมื่อรับผู้ป่วยนิติจิตเวชเข้ามา นักสังคมสงเคราะห์จะทำการเก็บข้อมูลทั้งจากเอกสาร ประวัติการรักษา ญาติ และชุมชน หรือจากการสอบถามผู้คนในละแวกสถานที่ที่ผู้ป่วยใช้ชีวิตอยู่ในกรณีที่เป็นคนเร่ร่อน ไม่มีญาติพี่น้อง โดยมุ่งค้นหาเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดความเจ็บป่วยทางจิต
ขณะที่นักกิจกรรมบำบัดใช้ทักษะของตนประเมินความสามารถในการประกอบกิจกรรมหรือการทำงาน เช่น สมาธิในการทำงาน การลำดับขั้นตอน การแก้ปัญหา การวางแผน การรับรู้ความยากง่ายและการเลือกใช้สิ่งที่เหมาะสมกับงานที่ตนเองกำลังทำ พฤติกรรมการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เพราะสิ่งเหล่านี้จะสอดคล้องกับความสามารถของผู้ต้องหาในการก่อคดี เช่น มีการตัดสินใจเลือกเหยื่อหรือไม่ มีการวางแผนเป็นขั้นตอนหรือไม่ เป็นต้น
ในส่วนของนักจิตวิทยาจะทำการประเมินด้านเชาว์ปัญญา บุคลิกภาพ และพยาธิสภาพทางสมองด้วยแบบทดสอบ และอาจรวมถึงแบบทดสอบเพื่อประเมินการแกล้งป่วย นอกจากการทำแบบทดสอบทางจิตวิทยาแล้ว ยังมีการสังเกตพฤติกรรมของคนไข้ขณะสนทนา พรพรรณ มีฤทธิ์ นักจิตวิทยาคลินิกชำนาญการ บอกว่า
“คนที่แกล้งป่วยจะมีพฤติกรรมคล้ายๆ เช่น แสดงอาการที่มากเกินไป หรือพฤติกรรมแบบนี้คล้ายกับโรคอะไร แล้วสิ่งที่เขาแสดงเป็นอย่างไร เช่น เขาแสดงว่าปัญญาอ่อนมาก พอทำแบบทดสอบแล้ว ผลไอคิวไม่สอดคล้องกับลักษณะที่เขาแสดง หรือการที่ตอบให้ผิดเยอะๆ แต่พฤติกรรมที่แสดงก็ไม่สอดคล้องกับผลการทดสอบ เราก็จะส่งต่อข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์แปรผลให้กับทีม ทีมก็วิเคราะห์ร่วมกัน”
พยาบาลซึ่งเป็นวิชาชีพที่ใกล้ชิดผู้ป่วยที่สุดจะผู้คอยสังเกตพฤติกรรมต่างๆ เช่น การสร้างสัมพันธภาพกับคนรอบข้าง เพราะบางรายจะแสดงพฤติกรรมว่าตนเองเจ็บป่วยมากต่อหน้าพยาบาล แต่เป็นปกติเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้ป่วยอื่นหรือญาติ
“ยกตัวอย่างว่าคนไข้บอกว่านอนไม่หลับเลย มีหูแว่วทุกคืน ปกติหูแว่วจะมีความรำคาญ ตะแคงหูฟังเสียงในหัว รายที่เป็นมากๆ จะพูดคุยโต้ตอบกับเสียงในหัวตัวเอง เราก็จะสังเกตว่าคนไข้มีลักษณะพูดคนเดียวหรือเปล่า หลังเข้านอนแล้วจะส่งเวรต่อกันให้สังเกตว่า คนนี้หลับประมาณกี่โมง ลุกขึ้นมานั่ง หงุดหงิดรำคาญหรือเปล่า พยาบาลบอกว่าหลับสนิท ไม่พลิกตัว อาการหูแว่วถ้าเป็นมากคงไม่หลับสนิทแบบนี้ เราก็บันทึกไว้” เบญจวรรณ สามสาลี รองผู้อำนวยการด้านการพยาบาล อธิบาย
ด้านจิตแพทย์นอกจากการวินิจฉัยและรักษาแล้ว ยังต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ของตนเฝ้าสังเกตผู้ป่วย เช่น คนที่แกล้งป่วยจะมีลักษณะบางอย่างที่ไม่ตรงกับความเจ็บป่วยของโรคที่ควรเป็น หรือไม่สามารถหาคำอธิบายทางการแพทย์ได้ กล่าวคือนำลักษณะทางคลินิกมาเป็นตัวประเมินว่าป่วยจริงหรือไม่
เมื่อทีมสหวิชาชีพตรวจสอบ ประเมิน รวบรวมข้อมูลครบถ้วนแล้ว จึงประชุมร่วมกันเพื่อถกเถียง อภิปราย และหาข้อสรุปว่าผู้ป่วยที่ถูกส่งมาป่วยจริงหรือว่าแกล้งป่วย
เป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้ต้องหามีความรู้ด้านจิตวิทยาแล้วแกล้งป่วยเพื่อหลบเลี่ยงกฎหมาย ลัดดาเล่ากรณีหนึ่งให้ฟังว่า มีผู้ป่วยรายหนึ่งจบด้านนิติศาสตร์ เป็นผู้ต้องหาคดีทำร้ายผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บสาหัส เดินทางมาที่สถาบันฯ ยื่นเอกสารขอตรวจเพื่อนำไปยื่นกับตำรวจ โดยบอกว่าตนเองเป็นโรคเดินละเมอหรือ Sleep Walker
“สิ่งที่เราสงสัยคือเขาหาข้อมูลมาแล้วเพื่อมาบอกเราว่าทำไมเขาจึงคิดว่าเป็นโรคนี้ เราก็ให้คนไข้อธิบายตามอาการที่เขารับรู้ว่าเขาเป็น จากนั้นเราไปหาข้อมูลแวดล้อมอื่นๆ หมอเจ้าของไข้ก็ไม่ได้ฟันธงว่าไม่ได้เป็น แต่เราส่งไปตรวจกับผู้เชี่ยวชาญ ถ้าเป็นจริง ผลแล็บบางอย่างต้องโชว์ความผิดปกติด้านการนอน จากนั้นก็หาข้อมูลจากเหยื่อ
ทำให้รู้ว่าคนไข้มีปัญหาพนันบอล ไม่สามารถหาเงินจ่ายคืนเพื่อนได้ ในวันเกิดเหตุคนไข้ก็ไปนอนบ้านเพื่อน และสิ่งที่สำคัญคืออาวุธมีด บ้านนั้นเขาไม่ได้วางมีดเกลื่อนบ้าน มันมีเหตุการณ์ที่มีข้อบ่งชี้ความผิดปกติบางอย่างทำให้เราเห็นว่าคนไข้จงใจเพราะต้องการให้ลดโทษ คือเขาเตรียมข้อมูลมาดี ดีเกินกว่าที่คนไข้จิตเวชจะทำ มันเป็นระเบียบแบบแผนมากเกินไป และผู้ป่วยทั่วไปก็มักจะบอกว่าตัวเองไม่ได้ป่วย”
การแกล้งป่วยมีต้นทุนสูง ผู้ที่แกล้งป่วยนอกจากต้องมีความรู้ด้านจิตเวชแล้ว ยังต้องแสดงอาการผิดปกติที่ต้องตรงกับลักษณะทางคลินิกตลอดระยะเวลาที่อยู่ในการดูแลของทีมสหวิชาชีพ ต้องผ่านการประเมินด้วยแบบทดสอบด้านจิตวิทยา การเฝ้าสังเกตอย่างใกล้ชิดของผู้มีประสบการณ์ด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวช
พี่ชาย-น้องชาย
“ระหว่างติดคุกเกือบ 2 ปี คดีไม่เดินเลย ระหว่างนั้นทุกคนเกลียดน้องไปเลย ผมก็เป็นเหมือนกัน แทบไม่อยากมองหน้าน้องชาย ปล่อยไปเป็นปีๆ ไม่ได้ตามดู เขาติดอยู่ในคุก ไม่ได้ประกันออกมา แต่หมอให้ความรู้ว่าที่น้องผมเป็น เขาไม่ได้แกล้ง เขาป่วยจริงๆ เป็นจิตเภทเรื้อรังอย่างร้ายแรง ต้องใช้ยารักษาตลอดชีวิต”
ความตายของพ่อเลี้ยงทำให้ญาติพี่น้องไม่อาจยอมรับชิตในฐานะคนในครอบครัวได้ ทุกคนวางเฉย ปล่อยให้เขาใช้ชีวิตอยู่ในคุกเกือบ 2 ปีโดยไม่ทำอะไร คดีไม่คืบหน้า ชิตไม่ได้รับยาอย่างที่คนป่วยควรได้
“เกือบ 2 ปี ที่น้องผมไม่ได้รับการรักษาอย่างเป็นขั้นตอน ได้แต่ยาแก้ปวด ยารักษาอาการจิตเภทที่เหลือจากโรงพยาบาลจิตเวช แม้จะอาศัยหลานที่เป็นพยาบาลนำเข้าไปให้ แต่กระบวนการในเรือนจำ พยาบาลอาจจะฝากผู้คุม ผู้คุมจะให้คนไข้กินหรือเปล่าก็ไม่รู้ ผมคิดว่าไม่ได้ให้ เพราะเขาขอบตาดำ น้ำลายไหล มือสั่น เวลาไปเยี่ยมเราเจอแบบนี้”
ด้วยความรู้ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น และความผูกพันในฐานะพี่ชาย-น้องชายที่สนิทชิดเชื้อ ชาติตัดสินใจดำเนินการตามคำแนะนำของแพทย์ อาศัยแนวทางตามมาตรา 14 วรรค 2 ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ระบุว่า ในกรณีที่พนักงานสอบสวนหรือศาลเห็นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้งดการสอบสวน
ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาไว้จนกว่าผู้นั้นหายวิกลจริตหรือสามารถจะต่อสู้คดีได้ และให้มีอำนาจส่งตัวผู้นั้นไปยังโรงพยาบาลโรคจิตหรือมอบให้แก่ผู้อนุบาล ข้าหลวงประจำจังหวัดหรือผู้อื่นที่เต็มใจรับไปดูแลรักษาก็ได้ตามแต่จะเห็นสมควร
ชาติต้องใช้เวลาอีก 4 ปีกว่าศาลจะอนุญาตให้ชิตเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและอยู่ในการอนุบาลของเขา ระหว่าง 4 ปีนั้น ชิตย้ายมาอยู่อีกเรือนจำหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ดูแลของสถาบันกัลยาณ์ฯ ทำให้ได้รับการรักษาที่ดีขึ้น เวียนเข้าเวียนออกระหว่างคุกกับเรือนจำ เป็นอีก 4 ปีที่คดีของชิตไม่ขยับไปไหนเพื่อรอให้อาการของชิตทุเลาพอจะกลับคืนสู่กระบวนการยุติธรรม
“พอถูกปล่อยตัว ผมเป็นผู้อนุบาล แต่อยู่ในดุลพินิจของหมอตลอด ทุก 15 วันต้องมาที่สถาบันฯ ดูอาการ เข้าออกๆ จนน้องชายก็เบื่อ แม่มาเล่าให้ฟังว่า น้องชายบอกว่าจะฆ่าผมให้ตายเพราะเบื่อ ผมก็คิดว่าทำไงดี เลยโทรมาหารือกับหมอ หมอให้เรารีบนำส่ง ช่วงหนึ่งเราขอทำเรื่องไปรับยาใกล้บ้าน แต่การรักษาแตกต่างจากที่นี่ พอไปต่อสู้คดี
ศาลบอกว่าไปรักษาหมอไหน ตอบอะไรก็ไม่ได้เลยให้นำตัวกลับมารักษาที่นี่เหมือนเดิม ปี 2554 มาแอดมิดใหม่ อยู่ที่นี่ 6 เดือน จากนั้นเริ่มดูอาการ เริ่มพูด เริ่มคุยได้ ก็ส่งเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ในระหว่างนี้ถ้าอาการไม่มาก พูดคุยได้ ทำงานได้ก็อยู่กับผม ถ้าเริ่มไม่ดีก็จะส่งกลับมา คู่กันอย่างนี้ตลอด ระหว่างนี้ก็ขึ้นศาลไปด้วย”
ความสามารถในการต่อสู้คดี
หนังสือ ‘แนวทางการบริการผู้รับบริการนิติจิตเวช ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 สำหรับบุคลากรทีมสหวิชาชีพโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข’ ให้คำนิยามคำว่า ความสามารถในการต่อสู้คดี ว่า ความสามารถของผู้ต้องหาหรือจําเลยในการรับรู้ตนเองว่าต้องคดีอะไร รับรู้ถึงความหนักเบาของโทษที่จะได้รับ สามารถเข้าใจขั้นตอนการดําเนินคดี สามารถให้ปากคําต่อกระบวนการยุติธรรมได้ และสามารถร่วมมือกับทนายความในการปกป้องสิทธิ์ของตนเอง
หน้าที่สำคัญประการหนึ่งของทีมสหวิชาชีพที่ดูแลผู้ป่วยนิติจิตเวชคือการบำบัดรักษาให้ผู้ป่วยสามารถกลับสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะหากอาการป่วยไม่ทุเลา ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความสามารถในการต่อสู้คดี พวกเขาจะติดตังอยู่อย่างนั้น หรือถ้าไม่มีญาติมาประกันตัวพวกเขาจะกลายสภาพเป็นนักโทษระหว่างดำเนินคดีในเรือนจำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดอายุความ ดังนั้น การทำให้ผู้ป่วยนิติจิตเวชกลับสู่กระบวนการยุติธรรมได้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นได้จึงเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วย
นอกเหนือจากการรักษาที่ดำเนินไปตามขั้นตอนปกติ ผู้ป่วยนิติจิตเวชยังต้องผ่านกระบวนการเตรียมความพร้อมเพื่อกลับไปขึ้นศาล เบญจวรรณ สามสาลี รองผู้อำนวยการด้านการพยาบาล อธิบายว่า ในส่วนของพยาบาลจะมีกลุ่มเตรียมความพร้อมผู้ป่วยเพื่อกลับไปสู้คดี โดยมีแบบประเมินความพร้อมที่มีเกณฑ์อยู่ประมาณ 7-8 ข้อ ซึ่งสอดคล้องกับคำนิยามของความสามารถในการต่อสู้คดี เช่น รู้หรือไม่ว่าถูกจับข้อหาอะไร
เล่ารายละเอียดเหตุการณ์ ช่วงเวลาที่ก่อเหตุได้หรือไม่ สามารถทำตามที่ทนายบอกได้หรือไม่ เป็นต้น หากคะแนนไม่ผ่านเกณฑ์ก็จะให้ผู้ป่วยเข้ากลุ่ม โดยมีพยาบาลและผู้ป่วยอื่นที่มีประสบการณ์การขึ้นศาลมาบอกเล่า ซักซ้อม ครั้งละประมาณ 1 ชั่วโมง ใช้เวลาประมาณ 7-8 ครั้งต่อคน
“เราจะคุยถึงขั้นตอน ในศาลมีใคร เขาเป็นโจทก์หรือจำเลย บางคนทำผิดมาแต่คิดว่าตัวเองเป็นโจทก์ มีการยกสถานการณ์ประกอบ ถ้าศาลถามแบบนี้ตอบแบบนี้จะมีผลอย่างไร จากนั้นจะทำการประเมินอีกครั้ง ถ้าคะแนนเพิ่มขึ้นและผ่านเกณฑ์เฉลี่ยก็แสดงว่าพอขึ้นศาลได้ พยาบาลประจำตึกจะแจ้งกับแพทย์เจ้าของไข้ ซึ่งก็อาจจะประเมินอีกครั้ง ถ้าไปได้ก็ส่งกลับไปขึ้นศาล เพราะถ้าเราไม่ส่งขึ้นศาล ยังรักษาไปเรื่อยๆ คนไข้ที่มาส่วนใหญ่ในทางกฎหมายไม่ได้สั่งปลดคดีชั่วคราว ก็ต้องอยู่ที่นี่ มันเสียเวลา ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการเสียที”
นักกิจกรรมบำบัดเป็นอีกวิชาชีพหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในส่วนนี้ กรรณิกา เขื่อนนิล นักกิจกรรมบำบัดชำนาญการ อธิบายว่า นักกิจกรรมบำบัดจะดูทักษะพื้นฐาน เช่น การโต้ตอบพื้นฐาน การตอบให้ตรงคำถาม การเข้าใจคำสั่ง กิจกรรมบำบัดมีเป้าประสงค์เพื่อเพิ่มทักษะและเตรียมให้คนไข้กลับสู่กระบวนการยุติธรรม รับฟังคำสั่ง ตอบกลับตรงคำถาม การรับรู้วันเวลา การดึงความจำที่ผ่านไปกลับมาเล่าหรือสื่อให้ผู้อื่นได้รับทราบ
“อีกเรื่องคือการดูแลเรื่องสิทธิ เรามีการออกแบบกลุ่มหรือกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการรักษาสิทธิของตัวเอง เช่น คนไข้อาจจะไม่กล้าหรือกลัว ใครจะจัดการกับตัวเองยังไงก็ยอมได้หมด โดยไม่รู้ว่าตนเองมีสิทธิปฏิเสธ กลุ่มพวกนี้จะช่วยพัฒนาทักษะการรักษาสิทธิของตัวคนไข้เองและฟื้นฟูทักษะที่จำเป็น”
คนบ้าและตราบาป
ชาติเล่าว่า ปี 2559 ศาลพิพากษาว่าชิตมีความผิด แต่มีเหตุให้ลดโทษ จึงให้รอลงอาญา 3 ปี ระหว่างนี้ต้องไปรายงานตัวต่อศาลทุกๆ 3 เดือน
“คนทั่วไปมองว่าคนป่วยแขนขาก็ดี ทำไมขี้เกียจ กินแล้วก็นอนๆ แต่พอผมมาเรียนรู้ทำให้ผมไม่ได้มองอย่างนั้น การดูแลผู้ป่วยให้หายได้ต้องให้ความรัก รักอยากให้เขาหาย อยากให้เขาเป็นปกติเหมือนเรา อยากให้เขามีอาชีพ ไม่เป็นภาระสังคม ถ้ามองแบบคนทั่วไป คนนี้จะไม่มีทางหายเด็ดขาด แต่ผมเข้าใจเขา เวลาผู้ป่วยได้รับยาแล้วจะง่วง เราจะสงสารเขา ถ้าเป็นแบบเขา เราคงแย่ยิ่งกว่า พอเขาเริ่มเครียด ผมก็กอดคอเขา ไปหาน้ำอัดลมกินดีกว่า เพราะน้องผมชอบกินน้ำอัดลม”
ในบรรดาพี่น้อง 10 คน เขาเป็นคนหลักที่ช่วยเหลือ ติดตาม ดำเนินการ ดูแลเรื่องการบำบัดรักษาชิต ในที่สุดชาติได้น้องชายกลับคืนมา แต่ระหว่างทางมีหลายสิ่งอย่างที่เขาต้องแลก
ลองจินตนการว่าคุณมีภรรยา มีลูก และมีธุรกิจที่ค่อนข้างมั่นคง วันหนึ่งคุณพาคนป่วยโรคจิตยิงหัวพ่อเลี้ยงตัวเองที่ต้องได้รับการดูแลใกล้ชิดเข้ามาในบ้าน อะไรจะเกิดขึ้น ใช่, ภรรยาของชาติทั้งกลัวและไม่พอใจ ธุรกิจที่เคยรับงานได้ครั้งละสามสี่สิบงาน ลดเหลือไม่เกินสิบ รายได้จำนวนหนึ่งหมดกับการเดินทางไปกลับโรงพยาบาล คุก และบ้าน สุดท้าย ภรรยาของชาติเลือกเดินออกไปจากชีวิตเขา ส่วนลูกถูกยายรับไปเลี้ยง
ญาติฝ่ายพ่อเลี้ยงยังคงแค้นเคือง โดยเฉพาะคนที่เป็นตำรวจเคยเอ่ยปากว่าต้องการล้างรอยเลือดด้วยเลือด จนถูกผู้บังคับบัญชาปรามและกฎหมายไม่อนุญาตให้ใครล้างแค้นได้ตามอำเภอใจ ถึงกระนั้น ระยะเวลาที่ล่วงเลยมากว่า 16 ปีก็ยังไม่อาจลบรอยบาดหมางไปจากใจอีกฝ่ายได้ นี่เป็นเรื่องในครอบครัว
ในชุมชน ‘อย่าไปเล่นใกล้บ้านมันนะ ถ้ามันกลับมาเดี๋ยวมันยิงเอา เดี๋ยวมันฆ่าตาย’ เป็นประโยคที่ชาติได้ยินบ่อยจนชาชิน ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายและเข้าใจได้ถึงความกลัว ความหวาดระแวง ความไม่พอใจที่ชุมชนรอบข้างมีต่อชิตผู้ฆ่าพ่อเลี้ยงตัวเองด้วยการเอาปืนยิงที่หัวขณะหลับ การเป็น ‘คนบ้า’ ไม่ใช่รอยประทับที่ลบเลือนได้ง่ายๆ
ก่อนจะกลับบ้าน
เส้นทางเดินของผู้ป่วยจิตเวชที่ก่อคดีรุนแรง ศาลมีอำนาจตัดสินลดโทษหรือไม่ลงโทษได้ตามดุลพินิจ และยังมีอำนาจสั่งให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาตามมาตรา 48 ของประมวลกฎหมายอาญาที่ว่า ถ้าศาลเห็นว่าการปล่อยตัวผู้มีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ซึ่งไม่ต้องรับโทษหรือได้รับการลดโทษตามมาตรา 65 จะเป็นการไม่ปลอดภัยแก่ประชาชน ศาลจะสั่งให้ส่งไปคุมตัวไว้ในสถานพยาบาลก็ได้และคำสั่งนี้ศาลจะเพิกถอนเสียเมื่อใดก็ได้ เรียกว่าเป็นมาตรการเพื่อความปลอดภัย
เมื่อผ่านการรักษาถึงจุดที่จิตแพทย์ประเมินว่าอาการทางจิตเวชสงบและไม่มีภาวะอันตราย จิตแพทย์จะทําหนังสือขออนุญาตศาลเพื่อฟื้นฟูผู้ป่วยเตรียมกลับสู่ชุมชน
คำว่า ‘เตรียม’ ชัดเจนโดยตัวมันเองว่าไม่ใช่การส่งผู้ป่วยนิติจิตเวชที่มีอาการดีขึ้นกลับชุมชนทันที ทีมสหวิชาชีพจะต้องลงไปเตรียมความพร้อมตั้งแต่ระดับชุมชน ซึ่งกินความถึงผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เตรียมครอบครัวของผู้ป่วย เตรียมตัวผู้ป่วยเอง ไปจนถึงเหยื่อและครอบครัวของเหยื่อจากความรุนแรง เช่น การสร้างความรู้ความเข้าใจต่ออาการทางจิตของผู้ป่วย การไม่ยั่วยุผู้ป่วย การสังเกตอาการ
การรักษาเยียวยาความหวาดกลัวของเหยื่อ หรือบางกรณีพบว่าคนในครอบครัวของผู้ป่วยก็มีอาการป่วยทางจิตทำให้ต้องประสานกับทางพื้นที่เพื่อทำการรักษาผู้ป่วยที่ค้นพบใหม่ด้วยเพื่อป้องกันผลทางอาการที่อาจส่งถึงกัน กล่าวคือเป็นการสำรวจและตระเตรียมทรัพยากรด้านต่างๆ ในพื้นที่สำหรับผู้ป่วยจิตเวชที่จะกลับคืนชุมชน
“ส่วนใหญ่ถ้าชุมชนไม่เอาจะไม่เอาตั้งแต่แรก ต้องลงไปประเมินชุมชนก่อนว่าที่ไม่เอาคนไข้เกิดจากอะไร หวาดกลัวคนไข้จะทำร้ายคนในชุมชน หรือคนไข้รักษายังไงก็ไม่ดีจริงๆ กลับไปก็มีแนวโน้มกระทำผิดซ้ำ อันนี้แย่แล้ว มีภาวะอันตราย แต่คนไข้ที่บางช่วงอาการทางจิตดี
ชุมชนเห็นว่าช่วงก่อนกับช่วงหลังรักษาต่างกัน แบบนี้จะมีความหวัง ชุมชนจะรู้ว่าพฤติกรรมนี้เกิดจากความเจ็บป่วย อาการดีขึ้นก็จะกลับไปเหมือนเดิมก่อนป่วย แบบนี้ส่วนใหญ่ชุมชนจะให้โอกาส ถึงแม้จะเป็นคดีรุนแรงอย่างฆาตกรรมคนในครอบครัว” สุพรรณี แสงรักษา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ เล่า
เมื่อตระเตรียมถึงจุดหนึ่ง ทีมสหวิชาชีพจะพาผู้ป่วยลงชุมชน กลับไปอยู่กับครอบครัวในลักษณะไปเช้า เย็นกลับ เรียนรู้กันและกัน หากทุกอย่างราบรื่นจะมีการเพิ่มระยะเวลาเยี่ยมบ้านขึ้นเป็นลำดับ ในที่สุด เมื่อครอบครัวและชุมชนยอมรับผู้ป่วย ทางโรงพยาบาลจะทำการจำหน่ายผู้ป่วยออก อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการติดตามอาการผู้ป่วยต่อเนื่องตลอดชีวิต ป้องกันการกระทำผิดซ้ำ
ที่กล่าวมาเป็นกรณีที่ผู้ป่วยมีบ้านให้กลับ มีครอบครัวที่พร้อมจะยอมรับ ทว่า ยังมีผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีหนทางไป ญาติไม่ต้องการ ที่ซุกหัวนอนไม่มี
“คนไข้ก่อคดีรุนแรงจะมีความยากในการดีลกับครอบครัวและชุมชน” ลัดดา จีระกุล นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการพิเศษ อธิบาย “เราจะรู้สัญญาณแล้วตั้งแต่ตอนที่คนไข้ถูกส่งมาแรกๆ เพราะเราต้องคุยกับญาติ เช่น เอาไว้โรงพยาบาลเลย ไม่อยากรับมันกลับแล้ว ให้มันตายๆ ไปซะ เราต้องประเมินผลกระทบที่คนไข้ได้รับ เพราะบางเคสทำร้ายคนในครอบครัวซ้ำๆ มีพฤติกรรมรุนแรงต่อเนื่อง พอเราได้ข้อมูลส่วนนั้นก็จะคุยกันในทีมสหวิชาชีพเพื่อวางแผนการดูแลต่อ
“กรณีที่คนไข้ยังสามารถทำงานได้ นักกิจกรรมบำบัดจะทำการประเมินความถนัดของคนไข้ว่าคืออะไร เช่นมีตำแหน่งธุรการ เราประเมินภายนอกว่าน่าจะทำได้ แต่นักกิจกรรมฯ ประเมินพบว่าคนไข้มีอารมณ์หุนหันพลันแล่น ไม่ชอบฟังคำสั่งจากผู้อื่น ทำให้ทำงานธุรการไม่ได้ นักกิจกรรมฯ จะปิดจุดบอดให้เรา บอกเราว่าคนไข้เหมาะกับงานประเภทไหน เราก็ต้องหางานที่เหมาะสมกับความสามารถของคนไข้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะหางานรอไว้ก่อน”
นักสังคมสงเคราะห์จะทำการพูดคุยกับสถานประกอบการและผู้จัดการฝ่ายบุคคลให้รู้ว่า พนักงานใหม่มีความพิเศษอย่างไร ต้องการการดูแลแบบไหน ควรสังเกตอาการอย่างไร เตรียมผู้ป่วยว่าหากพบเจอเพื่อนพนักงานที่มีความหลากหลาย บางคนเป็นมิตร บางคนชอบล้อเลียนปมด้อยผู้อื่น เขาจะต้องรับมือกับสภาวะอารมณ์อย่างไร ที่พูดนี่ใช่ว่าจะมีการป่าวประกาศให้พนักงานในสถานประกอบการรับรู้ความป่วยไข้ แต่มันคือการเตรียม เพราะไม่มีทางรู้ว่าผู้ป่วยต้องเผชิญกับมนุษย์แบบไหนในสังคม
สำหรับผู้ป่วยที่โชคร้ายกว่านั้น เช่น อายุมากหรือความเจ็บป่วยทางจิตทำลายความสามารถต่างๆ ลงจนไม่อาจคืนกลับ ซ้ำไม่มีใครต้องการ ที่พักพิงสุดท้ายคือสถานสงเคราะห์
การกลับบ้านของชิต และคำถามต่อจากนั้น
ทุกวันนี้ชิตกลับไปอยู่บ้านกับแม่ คอยดูแลบ้าน ดูแลน้องที่มีอาการออทิสติก ช่วยพี่ชายอีกคนขายอาหารบ้างเป็นบางครั้ง ชาติยังคอยกำกับเรื่องการกินยาไม่ให้ขาด ครั้งละ 3 เม็ดเช้า-เย็นและฉีดยาอีกเดือนละ 1 เข็ม เขาอยู่ร่วมกันกับชุมชนรอบข้างได้ตามอัตภาพ
“ผมจะบอกพี่ๆ หลายคนว่า ถ้าผมไม่อยู่แล้วให้ช่วยกันดูแลน้อง ฝึกเอาไว้ กระบวนการเป็นแบบนี้ๆ หนังสือที่ผมไปอบรมมาก็จะเอาให้หลานๆ คอยอ่าน เหมือนกับให้ถ่ายทอดต่อๆ ไป ถ้าน้าไม่อยู่ช่วยดูแลให้ที ถ้าวันหนึ่งหลานๆ ไปมีครอบครัว ไม่มีคนดูแลเขาแล้ว ผมไม่กลัวเรื่องนั้นเพราะเขายังมีสมบัติอยู่ก้อนหนึ่ง ถ้าเขาตัดสินใจขาย เขาก็น่าจะพออยู่ได้ถ้าเขามีเงิน เรื่องว่าเขาจะโดนหลอกหรือเปล่า ตอนนั้นเราไม่ได้อยู่ดูแล้ว ถ้าถูกหลอกก็ถือว่าเป็นกรรมเก่าของเขา”
คำถามสุดท้าย ชิตเป็นอย่างไรเมื่อรับรู้สิ่งที่กระทำลงไป
“เขาเสียใจ เขาไม่รู้ว่าทำไปได้ยังไง แต่เขาควบคุมตัวเองไม่ได้” ชาติตอบ
ยังอีกหลายคำถามที่ต้องถามต่อ ถ้าตอนนั้นชาติไม่ใส่ใจ ไม่รู้ ไม่เข้าใจความป่วยไข้ของน้องชาย เวลานี้ชิตจะอยู่ตรงไหนบนโลกใบนี้ บ้านหรือว่าคุก
มีผู้ต้องขังที่ป่วยทางจิตเวชอยู่เท่าใดในเรือนจำ พวกเขาได้รับการรักษาหรือไม่ รักษาอย่างไร พวกเขาควรอยู่ในคุกหรือในโรงพยาบาล
มีผู้ต้องขังกี่คนที่ไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่าป่วย หากคนกลุ่มนี้พ้นโทษโดยที่ความป่วยไข้ยังวนเวียนอยู่ในจิตใจ โอกาสก่อคดีซ้ำเป็นไปได้หรือไม่
ถ้าความสามารถในการต่อสู้คดีของผู้ป่วยจิตเวชไม่อาจฟื้นคืนกลับมาได้ ไม่มีญาติมาประกันตัวหรือรับเป็นผู้อนุบาล ชะตากรรมพวกเขาจะเป็นอย่างไร
งานศึกษาความชุกของปัญหาสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวชของผู้ต้องขังในเรือนจำของสถาบันกัลยาณ์ฯ ด้วยวิธีทางสถิติ พบว่า จากจำนวนผู้ต้องขังทำการเก็บตัวอย่างพบผู้ต้องขังที่มีปัญหาสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวชถึงร้อยละ 45.67 หรือเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ต้องขังที่สำรวจ
ชีวิตหลังกำแพงสูงของผู้ที่จิตใจแตกร้าวเป็นอย่างไร? ติดตามได้ในตอนหน้า
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย