28 ม.ค. 2024 เวลา 13:51 • สุขภาพ

คนบ้าหลังกำแพงคุก (3): คุกหรือโรงพยาบาล? ชีวิตป่วยๆ ที่ (ยัง) ไม่มีทางเลือก

ประชาไท / รายงานพิเศษ
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
-ระบบการดูแลรักษาผู้ต้องขังที่ป่วยทางจิตเวชที่ยังไม่สามารถดูแลได้เต็มประสิทธิภาพ
-ช่องโหว่ทางกฎหมายส่งผลให้ผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่มีทางรักษาถูกขังลืม
-ปัญหาคนล้นคุก การขาดบุคลากร ทำให้การตรวจหาผู้ป่วยจิตเวชในเรือนจำไม่ครอบคลุม ผู้ต้องขังไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยหรือไม่ ทำให้ขาดโอกาสรับการรักษา
ชิต (นามสมมติ) เป็นคนเดียวที่มองเห็นแสงสว่างวูบวาบล่องลอยบริเวณศีรษะของพ่อเลี้ยงที่กำลังนอนหลับ และคิดว่ามันคือภัยคุกคามพ่อเลี้ยงของเขา ชิตลั่นไกใส่แสงสว่าง หวังขับไล่ แต่จบลงด้วยข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา 6 ปีกับการเดินเข้าออกคุก-โรงพยาบาลจิตเวช อีก 9 ปีกับการไปกลับโรงพยาบาลจิตเวช-บ้าน-ศาล สุดท้ายผู้พิพากษาตัดสินให้ชิตมีความผิด แต่รอลงอาญา 3 ปี
คำพังเพยไทยพูดว่า ‘อย่าถือคนบ้า อย่าว่าคนเมา’ เพราะคนสองประเภทนี้อาจไม่รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ การเมาไม่ใช่ข้ออ้าง แต่การ ‘บ้า’ กฎหมายรับฟังและผ่อนปรน การยิงหัวพ่อเลี้ยง เอามีดไล่แทงเด็กนักเรียนหญิง เอาขวานจามหัวญาติที่ค้ายาเสพติดเพราะคิดว่าตนเองกำลังช่วยตำรวจ หรือการฆ่าคนแล้วควักตับออกมาดู แม้ในใจลึกๆ ของผู้คนจะยากยอมรับความโหดเหี้ยมทำนองนี้ แต่เป็นไปได้ว่ายังมีความเข้าใจหลงเหลืออยู่
ความเข้าใจของสังคมคือคนบ้าไม่ต้องรับโทษ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด มาตรา 65 ในประมวลกฎหมายอาญา ระบุว่า ผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
ประเด็นอยู่ที่ว่า คนบ้าหรือผู้ป่วยจิตเวชที่ก่อคดีควรอยู่ในคุกหรือในโรงพยาบาล พวกเขาควรได้รับการรักษาเยียวยาแบบใดเพื่อให้หายหรือทุเลาอาการจนไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อผู้อื่น ลองนึกอีกสิว่าถ้ามีผู้ป่วยจิตเวชที่ก่อคดีร้ายแรงแต่หลุดรอดการตรวจวินิจฉัย แล้วพ้นโทษกลับคืนสู่สังคม โดยที่ความป่วยไข้ยังสิงสู่ในจิตใจ โอกาสจะก่อความรุนแรงซ้ำจะมีสูงเพียงใด
อีกด้านหนึ่งที่ค่อนข้างแตกต่าง คุกคือการควบคุม ผู้ต้องขังไม่มีสิทธิต่อรอง มันยึดคืนอิสรภาพของมนุษย์เพื่อลงโทษ คุณไม่อาจเป็นคนเดิมได้เมื่ออยู่หลังกำแพง มิพักต้องกล่าวถึงสภาพผู้ต้องขังล้นคุกที่ยิ่งทำให้แรงบีบอัดหนักหน่วง ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดที่จิตใจของคุณจะผุพังลงเมื่ออยู่ในนั้น คุณอาจกลายเป็นคนซึมเศร้า เครียด เก็บตัว หรืออยากตายให้พ้นๆ
ประเด็นอยู่ที่ว่า ผู้ต้องขังกลุ่มนี้ควรได้รับการดูแลเยียวยาอย่างไร แน่นอน อาจมีเสียงตะโกนมาว่าทำไมต้องใยดีคนกลุ่มนี้ พวกมันทำผิด สาสมแล้วมิใช่หรือ คนกลุ่มนี้ได้รับความเข้าอกเข้าใจน้อยกว่ากลุ่มแรกที่ป่วยอย่างชัดเจนอยู่แล้ว ถ้าให้ตอบอย่างหยาบๆ คงตอบได้ว่า การถูกลงโทษตามกฎหมายกับการปล่อยให้ตายหรือสติแตก มันคนละเรื่องกัน อย่างน้อยๆ เขาก็ยังเป็นมนุษย์คนหนึ่ง
ตอนที่แล้ว คนบ้าหลังกำแพงคุก (2): ว่าด้วยความบ้าเชิงปริมาณ เราได้รับรู้ว่ากรมราชทัณฑ์มีระบบการดูแลผู้ต้องขังที่ป่วยจิตเวช แต่ด้วยสภาพคนล้นคุกและข้อจำกัดด้านทรัพยากร ระบบที่วางไว้จึงไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ครั้งนี้ เราจะไปสำรวจชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังที่ป่วยจิตเวชผ่านปากคำอดีตผู้ต้องขัง
ความเป็นอยู่ของคนบ้าหลังกำแพง
“เพชรเป็นโรคชอบลักขโมย เข้าคุกหลายครั้งเพราะขโมยของ จบปริญญาตรี พูดภาษาอังกฤษเก่ง แต่ชอบลักขโมย” แล้วทำไมไม่ส่งไปรักษา “ก็ศาลไม่ได้ส่งเขาไปรักษา ตัวเขาก็ไม่รู้ว่าเป็น หมอบอก แต่หมอในเรือนจำไม่มีอำนาจเท่ากับผู้พิพากษา แล้วโทษลักเล็กขโมยน้อยก็ไม่ได้สูง ติดแค่ไม่กี่เดือน จึงไม่จำเป็นต้องรักษา แต่เพชรเข้าคุกมา 20 กว่ารอบ”
คำบอกเล่าจากประสบการณ์ของจิ๊บ (นามสมมติ) อดีตผู้ต้องขังในเรือนจำหญิงแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ขณะที่เธอถูกคุมขัง แดนที่เธออยู่เป็นแดนที่รวมคนป่วยที่อาการยังไม่หนัก คนแก่ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ คนบ้า (เป็นคำพูดของเธอ) และคนที่โทษน้อยไม่เกิน 5 ปี
ผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มที่เป็นโรคซึมเศร้าหรืออื่นๆ ที่ไม่ก่อความวุ่นวายจะได้รับอนุญาตให้อยู่ร่วมกับผู้ต้องขังอื่นได้ โดยกระจายไปตามห้องนอนต่างๆ ประมาณห้องละ 3 คน สำหรับผู้ป่วยจิตเวชที่ก่อความวุ่นวาย ทำร้ายคนอื่น หรือส่งเสียงดัง จะมีห้องนอนแยกไปเฉพาะ ที่เรือนนอนของจิ๊บมีผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มที่ถูกแยกออกไปนี้ประมาณ 27 คน ให้อยู่รวมกันในห้องที่นอนได้ประมาณ 10-12 คน
การให้ผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มนี้นอนรวมกัน แล้วใครจะคอยดูแล? จิ๊บตอบว่าก็ต้องดูแลกันเอง แต่เนื่องจากห้องนี้อยู่ชั้นล่างของเรือนนอน ซึ่งเจ้าหน้าที่เวรนั่งอยู่ในบริเวณนั้น ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่เวรจะเห็นก่อน เว้นแต่เป็นช่วงผลัดเวรที่เจ้าหน้าที่คนใหม่ยังมาไม่ถึง ช่องว่างนี้ผู้ป่วยกลุ่มต้องดูแลกันเอง แต่จิ๊บบอกว่าช่วงกลางคืนไม่ค่อยมีปัญหา เพราะฤทธิ์ยาทำให้หลับ ช่วงที่มักมีปัญหาคือช่วงหัวค่ำหรือตอนเช้า เช่น แย่งกันเข้าห้องน้ำหรือบางคนหูแว่วคิดว่าเพื่อนด่าก็ปรี่เข้าไปตบเพื่อน เป็นต้น
ในแดนที่ผู้ต้องขังมีโทษสูงตั้งแต่ 25 ปีถึงประหารชีวิต จิ๊บเล่าว่ามีผู้ป่วยจิตเวชค่อนข้างมาก แต่จะไม่มีการแยกห้อง เธอตั้งข้อสังเกตว่าผู้ป่วยจิตเวชที่โทษสูงกับที่โทษน้อยมีลักษณะไม่เหมือนกัน ผู้ป่วยที่โทษสูงจะทานยาจิตเวชเพื่อกล่อมประสาทตัวเองไม่ให้ฟุ้งซ่าน เพื่อจะได้ไม่ก่อเรื่อง เพราะรู้ว่าต้องอยู่อีกนาน อีกทั้งการขยับขึ้นเป็นนักโทษชั้นดี ชั้นเยี่ยม มีผลต่อการอภัยโทษ ดังนั้น ผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มนี้จะทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองสงบมากที่สุด
“แต่สำหรับนักโทษจิตเวชที่โทษน้อยพร้อมจะก่อเรื่องตลอดเวลา อย่างที่เรือนนอนจิ๊บ ตีกันทุกวันเลย เพราะมันไม่มีผลอะไรกับการต้องอยู่นาน เขาให้กินยา แต่พวกนี้จะดื้อ จะอมยาไว้ในปากแล้วบ้วนทิ้ง บางคนก็เอาไปขายให้คนที่ไม่ได้ป่วยจิตเวชแต่ว่านอนไม่หลับ” นี่เป็นที่มาให้ภายหลังทางเรือนจำใช้วิธีละลายยาจิตเวชในน้ำและให้ผู้ต้องขังดื่ม
ขั้นตอนเพื่อเข้าถึงยา จิ๊บเล่าว่า ก่อนอื่นคุณต้องแจ้ง ‘แม่ห้อง’ หรือหัวหน้าห้องนอนก่อน แม่ห้องจะเขียนคำร้องขึ้นไป เจ้าหน้าที่ประจำเรือนนอนอ่านคำร้อง เรียกคุณมาคุย ถ้าเจ้าหน้าที่ประจำเรือนนอนเห็นควรส่งคุณไปสถานพยาบาล คุณก็จะถูกส่งตัวไป จากนั้นคุณต้องรอจิตแพทย์เข้ามาตรวจ.
ซึ่งจิ๊บบอกว่ามาบ้าง ไม่มาบ้าง ถ้าได้พบจิตแพทย์และวินิจฉัยว่าคุณป่วย คุณจึงจะเข้าถึงยา แต่ต้องรอยาอีกประมาณ 3 วัน จากนั้นคุณก็ต้องกินยาตลอดไป หรือถ้าคุณคิดว่าตัวเองอาการดีขึ้นแล้ว ต้องการหยุดยา คุณก็ต้องเขียนคำร้องไปที่แม่ห้องใหม่อีกครั้งตามกระบวนการเดิม
“กว่าจะได้เจอหมอก็เป็นเดือน ถึงตอนนั้นคงหายบ้าแล้ว ไม่ก็ไปซื้อยาจากพวกที่ป่วยประจำกิน ถ้าอาการหนักแบบอยากจะฆ่าตัวตายถึงจะเดินเข้าไปหาผู้คุมได้ แต่นักโทษไม่กล้าหรอก ไม่มีใครกล้ายอมรับว่าตัวเองบ้า เพราะกลัวถูกเพื่อนแกล้ง ไม่มีเพื่อนคบ ถึงผู้คุมจะไม่ค่อยถือสาคนบ้า แต่มันมีการรังแกจากนักโทษด้วยกัน ซึ่งผู้คุมก็ไม่สามารถคุมได้”
เมื่อให้จิ๊บประเมินการปฏิบัติต่อผู้ป่วยจิตเวชในเรือนจำว่าโดยรวมแล้วเป็นอย่างไร
“ไม่ดี สำหรับจิ๊บการมีพวกนี้อยู่ก็สนุกดี แต่เป็นธรรมกับพวกนี้หรือเปล่า ก็ไม่เป็นธรรม แล้วในคุกมันมีเรื่องทะเลาะกันเยอะ คนที่ไม่บ้าก็แก่งแย่งชิงดีกันอยู่แล้ว คนบ้าไม่ได้มีความอดทนเท่ากับคนอื่น แล้วก็มีคนที่ชอบแกล้ง ชอบรังแก ชอบยั่วคนกลุ่มนี้ พอเขาทำผิดก็ต้องรับยาที่แรงขึ้น
แต่มันไม่ได้เกิดจากเขาไง มันเกิดจากการยั่วยุของคนอื่น แต่ก็ตัดสินให้คนบ้าเพิ่มยา คนที่ยั่วยุก็ไปทำความสะอาด จิ๊บรู้สึกว่าการเพิ่มยามีผลต่อร่างกายทั้งระบบ ยาก็มีแบบเดียวคือยาง่วงหลับ ทำให้ซึมกระทือ เป็นอะไรก็กินยาเหมือนกัน กินแล้วง่วง หลับๆ ไปจะได้ไม่ก่อเรื่อง”
อีกเรื่องหนึ่งที่จิ๊บเล่าให้ฟัง ผู้ต้องขังที่ป่วยจิตเวชมักถูกแยกออกไปอยู่ร่วมกันตามลำพัง ไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องร่วมกิจกรรม ฟังผิวเผินรู้สึกคนกลุ่มนี้น่าจะได้รับความสะดวกสบายกว่าผู้ต้องขังอื่น ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะการร่วมกิจกรรม การสอบเลื่อนขั้น มีผลต่อการลดโทษ เมื่อไม่ร่วมกิจกรรมหรือการสอบ โอกาสที่พวกเขาจะได้รับอิสรภาพเร็วขึ้นเหมือนคนอื่นๆ ย่อมหมดไป
“เอาผู้ป่วยไปรวมกันไว้แล้วก็ไม่ให้ทำอะไร หรือเขาอาจทำกิจกรรม แต่ใช้ลดโทษไม่ได้ เช่น ไปดูคอนเสิร์ต กิจกรรมที่ลดโทษอย่างการเรียนนั่นนี่ พวกนี้ไม่ได้เรียน ส่วนการสอบ มันแล้วแต่วิจารณญาณของเจ้าหน้าที่ว่าจะให้สอบชั้นหรือเปล่า หรือจะเอาที่เขาบำเพ็ญประโยชน์มาใช้พิจารณาเลื่อนชั้นหรือเปล่า หรือสอบท่อง สอบร้องเพลงชาติ ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี หรือสวดมนต์ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของเจ้าหน้าที่ แต่ส่วนใหญ่ก็ให้สอบแหละ เขาสงสาร”
นอกจากประเด็นไม่ได้รับการลดโทษแล้ว การปล่อยให้ผู้ต้องขังที่ป่วยจิตเวช ‘ไม่ต้องทำอะไร’ ยังส่งผลเสียต่อตัวผู้ป่วย อินทิรา อะตะมะ นักกิจกรรมบำบัดชำนาญการ จากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ อธิบายว่า
“สมัยก่อนคนไข้จิตเวชจะถูกคัดมาอยู่ที่กองป่วย อยู่ในเรือนพยาบาล พอจิตเวชปุ๊บก็มองว่าทำอะไรไม่ได้ คนไข้ไม่ต้องทำอะไร ผู้ป่วยจิตเวชถ้าปล่อยให้อยู่นิ่งๆ โดยไม่ทำอะไร มีโอกาสที่จะกำเริบหรือฟุ้งซ่าน หรือการพัฒนาตัวเองจะไม่มี ผู้ป่วยจิตเวชต้องทำงานเพื่อให้สมองได้จัดระเบียบใหม่ จัดลำดับขั้นตอน ถ้าไม่ทำเลย สมองจะหยุดนิ่ง คนไข้ที่อาการสงบพอ
สามารถทำงานขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งของกองงานได้ แต่ก่อนจะไม่ยอม เพราะเป็นงานที่ต้องอาศัยความเร็ว มีการกำหนดปริมาณของ ต้องแพ็กส่งๆ จะไม่ค่อยให้คนไข้ไปยุ่ง แต่เราเข้าไปคุยว่าการทำงานช่วยให้คนไข้สงบ ทำงานได้จะช่วยลดภาระได้ ตอนหลังเริ่มมีส่งคนไข้เข้ากองงาน
“อีกอย่างคือผู้ป่วยจิตเวชจะขาดโอกาสเข้าร่วมโปรแกรมต่างๆ ในเรือนจำ พอไม่ได้เข้าร่วม โอกาสลดโทษไม่มีเลย ผู้คุมเลยมาปรึกษาว่าอยากให้นักโทษผ่านแพ็กเกจตรงนี้ เราก็สร้างโปรแกรมประมาณ 10-12 กิจกรรมเพื่อใช้ในเรือนจำนำร่องของเรา แต่เราต้องดูทรัพยากรที่เขามี ใช้อุปกรณ์เยอะไม่ได้ เชือกก็ไม่ได้”
ขังลืม
“คนที่บ้ามาจากข้างนอก เขาควรได้รับการรักษาจริงๆ จิ๊บไม่รู้กระบวนการที่บอกว่าให้คนนี้ไปอยู่โรงพยาบาลจิตเวช ให้รักษาตัวก่อน แล้วค่อยรับคำพิพากษา แต่มันไม่ค่อยเป็นธรรมเท่าไหร่ ก็เขาเป็นบ้า เขาจะหายได้ยังไง ถ้าได้รับการรักษาแบบนี้”
เป็นความคิดเห็นของจิ๊บต่อผู้ป่วยจิตเวชที่ก่อคดีแล้วเข้าไปอยู่ในคุก จุดนี้เป็นช่องโหว่ใหญ่ของระบบ มาตรา 36 ของ พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 ระบุว่า ‘ภายใต้บังคับมาตรา 14 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้สถานบำบัดรักษารับผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ควบคุมและบำบัดรักษาโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ต้องหาหรือจำเลย จนกว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหายหรือทุเลาและสามารถต่อสู้คดีได้ เว้นแต่พนักงานสอบสวนหรือศาลจะมีคำสั่งหรือมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
‘ให้จิตแพทย์ผู้บำบัดรักษาทำรายงานผลการบำบัดรักษาส่งให้พนักงานสอบสวนหรือศาลภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ ในกรณีที่จิตแพทย์เห็นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้รายงานผลการบำบัดรักษาทุกหนึ่งร้อยแปดสิบวัน เว้นแต่พนักงานสอบสวนหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
‘ในระหว่างการบำบัดรักษา เมื่อจิตแพทย์ผู้บำบัดรักษาเห็นว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการบำบัดรักษาจนความผิดปกติทางจิตหายหรือทุเลา และสามารถต่อสู้คดีได้แล้ว ให้รายงานผลการบำบัดรักษาต่อพนักงานสอบสวนหรือศาลทราบโดยไม่ชักช้า’
กฎหมายใช้คำว่า ‘จนกว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหายหรือทุเลาและสามารถต่อสู้คดีได้’ จุดนี้มีปัญหา 2 ประการ ประการแรก ผู้ต้องขังไม่ได้รับการบำบัดรักษาในสถานบำบัดตลอดเวลา แต่สลับไปมาระหว่างเรือนจำกับสถานบำบัด ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ การบำบัดรักษามีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำให้ผู้ต้องขังหายและอาการทุเลาหรือไม่
ประการที่ 2 หากความป่วยไข้ของผู้ต้องขังไม่มีทางรักษาหาย (ไม่ต้องพูดถึงว่าจะทุเลาหรือไม่) แล้วจะกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้อย่างไร เพราะกฎหมายระบุแค่ ‘หาย’ กับ ‘ทุเลา’ เพื่อให้สามารถต่อสู้คดีในศาลได้ แต่ไม่ได้บอกว่าถ้ากลับขึ้นศาลไม่ได้จะให้ทำอย่างไรต่อ
“มีคนหนึ่งชื่อยายประภา ศาลบอกว่าเป็นบ้าแต่ไม่เอาไปรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวช ขังลืมไว้ในคุก เขาไม่มีคำพิพากษา แล้วก็ไม่ระบุวันที่ปล่อย เพราะเขายังรักษาไม่หาย แต่เขาไม่ควรอยู่ในคุก ถ้าศาลบอกว่าเขาต้องรักษา เรือนจำก็ต้องส่งเขาไปรักษาที่โรงพยาบาล ไม่ใช่เอาไปไว้ในคุก” จิ๊บเล่า
กรณีแบบนี้มีไม่มาก แต่ไม่ว่าจะน้อยแค่ไหนก็ถือเป็นเรื่องร้ายแรง เพราะเท่ากับขังลืมคนคนหนึ่งโดยไม่มีกำหนด แม้ว่าผู้ป่วยจะไม่รู้ว่าตนเองกำลังถูกขังก็ตาม เรื่องนี้ทางกรมราชทัณฑ์รับทราบปัญหา เทพสุดา ฟูเมืองปาน นักจิตวิทยาคลินิกชำนาญการ กรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ในโครงการผู้ต้องขังสู้คดีพบว่ามีผู้ป่วยที่อยู่ในเรือนจำนานถึง 10 ปี 20 ปี แต่ก็ยังคงสู้คดีไม่ได้ ทั้งที่ถ้าพวกเขาสู้คดีได้คงได้รับการปล่อยตัวไปแล้วด้วยซ้ำ
สถิติของกรมราชทัณฑ์พบว่า สำหรับผู้ต้องขังที่ได้รับโทษสูงสุด 20 ปี โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ในเรือนจำจริงๆ ประมาณ 10 ปี เนื่องจากได้รับการลดโทษ พักโทษ หรืออภัยโทษ การจะได้รับสิทธิประโยชน์เหล่านี้ได้ต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดและมีกำหนดวันลงโทษชัดเจน แต่กรณีผู้ป่วยจิตเวชที่รักษาไม่หาย สู้คดีไม่ได้ จะไม่มีทางได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ นี้เลย
“ศาลให้ส่งไปบำบัดรักษาเพื่อให้กลับมาต่อสู้คดี แต่ในทางปฏิบัติคือโรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายตามระบบหลักประกัน เขาไม่สามารถให้อยู่นานแบบนั้นได้ สมมติคนไข้ถูกส่งไปบำบัดรักษา โรงพยาบาลก็จะดูแลคนไข้ให้ดีในระดับที่สามารถกลับมาใช้ชีวิตต่อในเรือนจำได้ คนไข้จะถูกส่งกลับมาอยู่ในเรือนจำ ดีในระดับที่เรือนจำดูแลต่อได้ แต่ก็ยังไม่สามารถสู้คดีได้ จึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ พออาการแย่ลง ก็ส่งกลับมาโรงพยาบาลใหม่ อาการดีขึ้นก็ส่งกลับมาเรือนจำ ก็จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ
“พอเป็นผู้ต้องขังระหว่าง (ต่อสู้คดี) จะไม่ได้สิทธิประโยชน์เหล่านี้เลย ถ้าอายุความ 20 ปี ก็อยู่ไปจนหมดอายุความ นี่คือปัญหาที่เราเจอ พ.ร.บ.สุขภาพจิต มาตรา 36 ระบุไว้แบบนี้ แต่ไม่มีมาตราที่ระบุว่าถ้าไม่หายแล้วจะให้ทำยังไง อยู่ในเรือนจำนานแค่ไหน
“ตอนนี้เรากลับมาดูว่าในกลุ่มที่ศาลสั่งให้ต่อสู้คดี จะมีมาตรการหรือแนวทางอะไร เพราะถ้าเป็นนักโทษเด็ดขาดเร็วก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เร็ว สอง-ดูว่าถ้าต่อสู้คดีไม่ได้ตลอดไป ไม่มีทางหาย เช่น โรคสมองเสื่อม ปัญญาอ่อน เราจะมีมาตรการอะไรให้เขาได้รับการรักษาดูแลอีกแบบที่ไม่ใช่ผู้ต้องขังทั่วไป เป็นมาตรการทางเลือกที่เรากำลังคุยกันอยู่ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป”
วิมลรัตน์ ตั้งมั่นวิทยศักดิ์ นักจิตวิทยาปฏิบัติการ กรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า
“กรณีแบบนี้มีไม่เยอะ แต่เราไม่รู้ว่าถ้าปล่อยไว้จะมีเพิ่มขึ้นแค่ไหน ความร้ายแรงของปัญหาอาจจะคนไม่กี่คน แค่หลักสิบ แต่เรารู้สึกว่าความรุนแรงของมันคือคนคนหนึ่งต้องอยู่ในคุกห้าปีสิบปีโดยไม่รู้อนาคตตัวเองว่าฉันกำลังจะไปทางไหนหรือฉันมาทำอะไรที่นี่ ประเด็นคือเจอกรณีที่ไม่หาย แล้วหมอก็ลงความเห็นว่ากรณีแบบนี้ไม่หายตลอดชีวิต เราไม่มีกระบวนการมารองรับ ศาลจะใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 ลดโทษให้ไม่ได้ เพราะแม้แต่ไปขึ้นศาลก็ทำไม่ได้”
อาจสงสัยว่า แล้วทำไมไม่ให้ญาติประกันตัวออกไปหรือขอศาลเพื่อรับผู้ต้องขังไปอยู่ภายใต้การอนุบาล เช่นที่ชาติดำเนินการจนสามารถรับชิตออกมาได้ คำตอบคือผู้ต้องขังกลุ่มนี้ไม่มีญาติมาประกันตัวหรือรับไปดูแล หรือถ้ามี ญาติก็ไม่พร้อมรับไปดูแลหรือไม่ต้องการดูแล
ความป่วยไข้ที่มองไม่เห็น
“บางคนป่วยแบบไม่แสดงอาการ บางคนดูก็รู้ว่าป่วย แต่เขาไม่ได้ก่อเรื่อง เขาก็จะไม่ต้องรับยา เขาก็เลยต้องใช้วิธีซื้อยาจากคนที่ถูกวินิจฉัยว่าป่วย เพราะบางทีเขาก็ไม่สามารถจัดการตัวเองได้ ไม่สามารถนอนเองได้ แล้วเขาก็ฟุ้งซ่าน แต่เขาไม่ถูกวินิจฉัยว่าป่วย” จิ๊บเล่า
เป็นอีกกลุ่มที่ระบบการบำบัดรักษาเข้าไม่ถึง จะเพราะกลัวถูกตีตราและกลั่นแกล้งจากผู้ต้องขังคนอื่นหรือไม่รู้ตัวว่าป่วยก็ตาม กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานชุดโครงการเพื่อพัฒนาระบบความมั่นคงทางสุขภาพสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำไทย กล่าวว่า จากงานศึกษาลงพื้นที่เรือนจำหลายแห่ง เธอพบผู้ต้องขังที่ ‘น่าจะ’ มีอาการทางจิตที่ควรได้รับการตรวจคัดกรองจำนวนหนึ่ง
ต้องใช้คำว่า ‘น่าจะ’ เพราะนี่ไม่ใช่การวินิจฉัยทางการแพทย์ เพียงแต่ผู้ต้องขังที่กฤตยาสัมภาษณ์บางรายควรได้รับการตรวจคัดกรอง เพราะหากป่วยจริงก็จะได้รับการรักษา เช่น กรณีผู้ต้องขังชายรายหนึ่งใช้ขวานจามหัวญาติของตนเอง เนื่องจากญาติรายนี้ค้ายาเสพติด และคิดว่าตนเป็นผู้พิพากษาและผู้ช่วยตำรวจ ขณะเล่าดวงตาของเขาสงบนิ่ง
เขาไม่เคยก่อความวุ่นวายใดๆ สวดมนต์ และเป็นคนธรรมะธัมโม หากผู้ต้องขังรายนี้ไม่ได้ป่วยทางจิตก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเขาป่วยแล้วพ้นโทษออกไปโดยไม่ได้รับการรักษาหรือระบบไม่สามารถคัดกรองได้ ย่อมมีโอกาสสูงที่เขาจะก่อคดีซ้ำ
“เราเจอเคสที่รุนแรง ผู้ต้องขังรายหนึ่งฆ่าเหยื่อแล้วควักตับออกมา เป็นคนคุยไม่ค่อยรู้เรื่อง คุยไปยิ้มไป แล้วขอร้องเพลง ถูกล่ามโซ่ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะผู้คุมก็ไม่ไว้ใจ ตามหลักการเขาไม่ควรอยู่ในคุก เพราะเขาไม่รู้เรื่องแล้ว มันมีความเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยบางคนไม่ควรอยู่ในเรือนจำ แต่เรายังให้เขาอยู่ในเรือนจำ เพราะเราไม่มีระบบที่จะวินิจฉัยเพื่อดึงคนเหล่านี้ออกมาแล้วส่งไปโรงพยาบาล” กฤตยา กล่าว
โดยทั่วไปผู้ต้องขังที่จะเข้าถึงการรักษาอาการทางจิตเวช มักเป็นผู้ป่วยที่ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายหรือเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น กับกลุ่มที่ไม่ก่อความวุ่นวายแต่แสดงอาการชัดเจน เช่น นอนไม่หลับ เก็บตัว เดินพูดคนเดียว พยายามฆ่าตัวตาย เป็นต้น แต่ในกรณีที่ไม่แสดงอาการ การตรวจพบและรักษาเป็นไปได้ยาก เพราะความป่วยไข้ทางจิตเวชบางชนิดไม่แสดงอาการให้เห็น
เทพสุดา กล่าวว่า กระบวนการส่งผู้ป่วยออกไปรักษาไม่ว่าจะเป็นอาการทางกายหรืออาการทางจิต พยาบาลมีสิทธิขอผู้บัญชาการเรือนจำเพื่อส่งอออกไปรักษาได้ แต่ที่ผ่านมาพบว่าโอกาสที่ผู้ต้องขังหนีมีสูงมาก การประเมินของพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่เรือนจำอาจไม่เพียงพอ ภายหลังจึงต้องมีความเห็นจากแพทย์ประกอบ ถ้า พยาบาลเห็นว่าอาการผู้ต้องขังน่ากังวล ผู้ต้องขังจะถูกส่งให้แพทย์ที่เข้ามาในเรือนจำตรวจก่อน ถ้าแพทย์เห็นว่าต้องส่งตัวออกไปรักษาก็จะเขียนใบส่งตัวให้ พยาบาลจะทำบันทึกถึงผู้บัญชาการเรือนจำตามความเห็นของแพทย์
“แต่ในกรณีผู้ป่วยจิตเวช ถ้าไม่ได้เรียน ไม่ได้คุย ก็ไม่รู้ เจ้าหน้าที่ก็ไม่รู้ หรือเจ้าหน้าที่เราไม่พอ ตรวจวันละ 100 คน คนละ 5 นาทีก็หมดเวลาแล้ว ไม่มีเวลามาซัก เราเองก็ไม่สามารถสุ่มได้ว่าจะประเมินใครดี ต้องอาศัยผู้คุมในแดนส่งต่อมา เช่น เขาอาจเห็นว่าคนนี้ดูแปลกๆ แต่เคสแบบนี้มีโอกาสหลุด โดยเฉพาะพวกอาการหลงผิด คนไข้กลุ่มนี้ใช้ชีวิตประจำวันได้ ไม่รบกวนใคร”
ทางออกที่ยังปิดตาย
ทางกรมราชทัณฑ์ตระหนักถึงสภาพการณ์เหล่านี้ พยายามหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหา เช่น การสร้างระบบ Tele Medicine หรือการปรึกษากับแพทย์ทางไกล การจับคู่ระหว่างเรือนจำกับโรงพยาบาลในพื้นที่ หรือการย้ายผู้ต้องขังไปยังเรือนจำที่อยู่ใกล้กับโรงพยาบาลจิตเวช เป็นต้น
งานศึกษาของสถาบันกัลยาณ์ฯ เสนอแนะว่า ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรอง เพิ่มทักษะการประเมินความเจ็บป่วยทางจิตเวชเบื้องต้นของพยาบาล เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัคร รวมถึงการฝึกอบรมอาสาสมัครเพื่อช่วยสังเกตและติดตามอาการ จัดทำฐานข้อมูลกรมราชทัณฑ์และกรมสุขภาพจิตให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน มีความเที่ยงตรง และเป็นปัจจุบันเพื่อการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังจำหน่ายออกจากเรือนจำ
จิตแพทย์หญิงกมลชนก มนตะเสวี สถาบันกัลยาณ์ฯ แสดงความเห็นว่า โดยส่วนตัวเห็นว่าปัญหาจิตเวชในเรือนจำเป็นสิ่งที่คนนึกถึงน้อย การถูกคุมขังเป็นกระบวนการลงโทษ แต่ขณะเดียวกัน คนป่วยมีสิทธิมนุษยชนเบื้องต้นคือต้องได้รับการรักษา ซึ่งเป็นการเพิ่มระดับความปลอดภัยของทั้งตัวคนไข้และสังคม
“แต่ทัศนคติของสังคมคือเรือนจำเป็นที่ที่เอาคนเลวมารวมกัน แล้วจบ ทุกคนมีความสุข แล้วก็ลืมไปว่าในนั้นคือแดนสนธยา แต่จริงๆ แล้วในนั้นคือ Correctional Facility คือการทำให้คนทำผิดกลับมาทำถูก บำบัดพฤติกรรม เป็นการแก้ไขระยะยาว ไม่ให้เกิดความเสี่ยงอีก แต่ความคิดแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับคนไทย”
สภาพคนล้นคุกส่งทอดแรงกดดันไปสู่ทุกองค์ประกอบในการมีชีวิตหลังกำแพง อาหารการกิน การอาบน้ำ การนอน บางเรือนจำที่ผู้ต้องขังแน่นมาก คุณต้องนอนตะแคงเท่านั้นหรือนอนเสียบ หมายถึงนอนเอาปลายเท้าชนกันโดยเสียบเข้าไปในช่องว่างแบบสลับฟันปลา ถ้าคุณตื่นไปเข้าห้องน้ำ ที่นอนของคุณจะหายไป ในห้องขังที่แออัดมีห้องส้วมแบบไม่มีประตูอยู่หนึ่งหรือสองห้อง ในวันและคืนที่โชคร้าย น้ำไม่ไหลหรือไม่พอ
กับการต้องอยู่ในห้องขังที่อบอ้าวหรือหนาวเย็น วันละ 14 ชั่วโมง ไม่มีแม้แต่หนังสือให้อ่าน ความรุนแรงข้างในที่เจ้าหน้าที่อาจดูแลได้ไม่ทั่วถึง และอื่นๆ อีกมาก คุณจะป่วยมาก่อนหรือไม่ก็ตาม ความเป็นอยู่หลังกำแพงคุกพร้อมบีบอัดให้คุณสติแตกหรือสติแตกยิ่งกว่าเดิมได้ตลอดเวลา
ซ้ำร้ายงบประมาณกับอัตราบุคลากรยังวิ่งสวนทางกับจำนวนผู้ต้องขัง เรือนจำแต่ละแห่งมีทางเลือกไม่มากในการปรับปรุงระบบการทำงานและสภาพแวดล้อมภายใน งานดูแลผู้ต้องขังที่ป่วยจิตเวชจึงเป็นงานตั้งรับเป็นหลัก
ดังที่กฤตยากล่าวไว้ คนล้นคุกคือปัญหารากฐานของเรือนจำไทย หากไม่ลดจำนวนผู้ต้องขังลง การดูแลผู้ป่วย คนแก่ แม่ลูกอ่อน การฟื้นฟูและปรับพฤติกรรมเพื่อคืนสู่สังคม ก็แทบเป็นไปไม่ได้
ผู้ต้องขังประมาณร้อยละ 80 เกิดจาก พ.ร.บ.ยาเสพติด ดังนั้น การแก้ไขกฎหมาย การสร้างกระบวนการทางเลือกต่างๆ แทนการจับคนเข้าคุก การยกเลิกความผิดทางกฎหมายในสิ่งเสพติดบางชนิด การแยกแยะผู้เสพออกจากผู้ค้า ฯลฯ เป็นประตูบานแรกๆ ในการบรรเทาปัญหาเรือนจำไทย
แต่กุญแจตัวใหญ่ที่สุดที่ลั่นดานประตูบานนี้เอาไว้ คือทัศนคติของสังคมไทยต่อยาเสพติด
โฆษณา