29 ม.ค. เวลา 05:20 • การเมือง

การเลือกตั้ง ปธน. ฟินแลนด์ “คนใหม่”

“ย้อนร้อยความสัมพันธ์กับรัสเซียก่อนหน้า” และ “มองไปข้างหน้านโยบายในอนาคต”
การเลือกตั้งรอบแรกสำหรับประธานาธิบดีคนใหม่ของฟินแลนด์จะมีขึ้นในวันที่ 28 มกราคม 2024 ชาวฟินแลนด์มีข้อเรียกร้องหลายข้อสำหรับประมุขคนใหม่ของประเทศ เขาจะต้องเป็น “คีย์แมน” ในการรวมสังคมเป็นหนึ่งเดียวกันและรับประกันความมั่นคงของประเทศในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดและมีความรับผิดชอบสำหรับนโยบายต่างประเทศ
ดังนั้นประเด็น “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งผู้สมัครทั้งเก้าคน มีตัวเต็งอยู่ 3 คนในการแข่งขัน คือ อดีตนายกรัฐมนตรี “อเล็กซานเดอร์ สตับบ์” อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ “เปคกา ฮาวิสโต” และ “จุสซี ฮัลลา-อาโฮ” นักการเมืองฝ่ายขวา
เปคกา ฮาวิสโต (ซ้าย) อเล็กซานเดอร์ สตับบ์ (กลาง) จุสซี ฮัลลา-อาโฮ (ขวา) เครดิตภาพ: Markku Ulander / sss.fi
  • อัพเดทการนับคะแนนหลังปิดหีบล่าสุดผลออกมาดังนี้ นำมาอันดับหนึ่งคือ “อเล็กซานเดอร์ สตับบ์” อดีตนายกฟินแลนด์มีแนวโน้มว่าจะได้ 27.3% ตามมาอันดับสองคือ “เปคกา ฮาวิสโต”อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศฟินแลนด์ได้ 25.8% ซึ่งทั้งสองจะเข้าสู่การเลือกตั้งรอบสองตัดเชือกในเดือนหน้า (11 กุมภาพันธ์ 2024) ส่วน จุสซี ฮัลลา-อาโฮ มาอันดับสามได้ 18.6%
2
  • ในช่วง 12 ปีของการดำรงตำแหน่งของ “เซาลี นีนิสเตอ” ประธานาธิบดีฟินแลนด์คนก่อนหน้า เขาได้ยกเครื่องนโยบายต่างประเทศของฟินแลนด์โดยสิ้นเชิงและได้เข้าเป็นสมาชิกนาโตในเวลาอันสั้น
1
ก่อนที่รัสเซียจะบุกเข้ายูเครนเต็มรูปแบบเมื่อปี 2022 นีนิสเตอดำเนินนโยบายของเฮลซิงกิรูปแบบดั้งเดิมต่อมอสโก คือเขามองหาการประนีประนอม ไม่ได้เร่งรีบที่อยากจะเข้านาโต เขาเจอกับ “วลาดิเมียร์ ปูติน” หลายครั้ง และแม้แต่เล่นฮอกกี้กับเขาด้วยซ้ำ ในระหว่างการเจรจาพวกเขาหารือประเด็นการค้าทวิภาคีและกิจกรรมร่วมกันในภูมิภาคอาร์กติก เขาคุยกับปูตินบ่อยจนได้รับฉายาว่า “พรายกระซิบของปูติน” ในสื่ออีกด้วย (อ้างอิง: Bloomberg)
1
เซาลี นีนิสเตอ (ซ้าย) วลาดิเมียร์ ปูติน (ขวา) เครดิตภาพ: kremlin.ru
ในปี 2014 ฟินแลนด์ประณามการผนวกไครเมียของรัสเซียและเข้าร่วมการคว่ำบาตรของยุโรปต่อรัสเซีย ในขณะเดียวกันแม้จะไม่เห็นด้วยเรื่องผนวกไครเมีย นีนิสเตอเชื่อว่าการเจรจากับมอสโกจะต้องดำเนินต่อไปแม้ว่าจะมีความแตกต่างกันทางความคิดของผู้นำก็ตาม ดังนั้นในสิงหาคม 2014 เพียงไม่กี่วันหลังจากที่รัสเซียเริ่มคว่ำบาตรสินค้ายุโรปเพื่อตอบโต้การคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป เขากล่าวว่า “เราต้องการช่องทางการสื่อสารที่เปิดกว้าง” หลังจากนั้นเขาก็ไปพบกับปูตินที่เมืองโซชี
1
ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของ “นีนิสเตอ” ในฐานะคนกลางระหว่างเครมลินและตะวันตกคือ เป็นโต้โผจัดประชุมระหว่าง “ปูติน” และ “ทรัมป์” ที่เฮลซิงกิในช่วงฤดูร้อนปี 2018
เครดิตภาพ: Alexey Nikolsky / Administration of the President of the Russian Federation / Reuters / Scanpix
ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อรัสเซียเริ่มบุกยูเครน นีนิสเตอได้ประณามการรุกรานดังกล่าวทันที เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2022 (อ้างอิง: https://twitter.com/niinisto/status/1496706934002626563) และเขาได้แจ้งให้เซเลนสกีทราบว่าฟินแลนด์จะให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครน (อ้างอิง: https://twitter.com/niinisto/status/1497132970313932829)
นีนิสเตอเริ่มพูดถึงการละทิ้งความเป็นกลางของฟินแลนด์ ในเดือนพฤษภาคม 2022 เขาในนามประธานาธิบดีได้แถลงการณ์ร่วมกับ “ซานนา มาริน” นายกฟินแลนด์ในตอนนั้น เกี่ยวกับความจำเป็นที่ฟินแลนด์จะต้องเข้าร่วมกับนาโตโดยเร็วที่สุด จากนั้นเขาก็มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการเจรจากับวอชิงตัน และจบลงด้วยการเข้าเป็นสมาชิกนาโตอย่างเป็นทางการเมื่อเมษายน 2023
ธันวาคม 2023 ฟินแลนด์ได้ลงนามข้อตกลงที่อนุญาตให้สหรัฐฯ สามารถประจำการกองทหารในฟินแลนด์ได้ ทำให้รัสเซียไม่พอใจและบอกว่าคุกคาม แล้วนีนิสเตอก็ตอกกลับว่า “มองในกระจกสิ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะคุณเอง” (อ้างอิง: yle)
1
  • ผู้สมัครชิงประธานาธิบดีฟินแลนด์คนใหม่ทุกคนเชื่อว่ายังไม่ถึงเวลาสำหรับการเจรจากับรัสเซีย สังคมฟินแลนด์เห็นด้วยกับสิ่งนี้
1
“สตับบ์” (คะแนนนำเป็นอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งรอบแรก) เป็นตัวแทนของแนวร่วมแห่งชาติฝ่ายขวา-กลาง มีประสบการณ์ทางการเมืองมายาวนาน เขาเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายตำแหน่ง และในปี 2014-2015 เขาได้เป็นนายกฟินแลนด์ ปี 2017 เขาประกาศจะออกจากเส้นทางการเมือง หลังจากนั้นก็หันเหไปทางด้านการศึกษาในมหาวิทยาลัยที่อิตาลี
ล่าสุด Petteri Orpo นายกฟินแลนด์คนปัจจุบันขอให้เขากลับมาช่วยฟินแลนด์ เนื่องจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยากลำบากในสหภาพยุโรป
อเล็กซานเดอร์ สตับบ์ เครดิตภาพ: LEHTIKUVA / Helsinki Times
“ฮาวิสโต” (คะแนนเป็นอันดับสองในรอบแรก) สมาชิกกรีนยูเนี่ยนฝ่ายเสรีนิยมฝ่ายซ้าย นี่เป็นความพยายามครั้งที่สามของเขาที่จะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี เมื่อปี 2012 เขาเปิดเผยเต็มตัวว่าเป็นเกย์และขอชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฟินแลนด์ แต่ก็แพ้นีนิสเตอไปในการเลือกตั้งรอบสอง เขาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศฟินแลนด์ช่วงปี 2019 – 2023
เปคกา ฮาวิสโต เครดิตภาพ: ts.fi
ผู้ชิงประธานาธิบดีฟินแลนด์ทั้งคู่ต่าง “แข้งกร้าว” กับรัสเซีย
“สตับบ์” มองเห็นความคล้ายคลึงโดยตรงระหว่างสงครามยูเครนกับประสบการณ์ของฟินแลนด์ เขากล่าวว่าผู้นำรัสเซียคนปัจจุบันได้รับแรงผลักดันจากความเกลียดชังประชาธิปไตยเสรีนิยม การคิดถึงความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิ และความปรารถนาที่จะรักษาอำนาจ ฟินแลนด์ควรสนับสนุนชาวยูเครนให้นานเท่าที่ทำได้ เนื่องจากพวกเขากำลังต่อสู้ “เพื่อโลกที่มีอารยธรรมและเสรีเพื่อต่อต้านการกดขี่”
“ฮาวิสโต” ดูจะแสดงออกซอฟท์กว่าสตับบ์ แต่โดยพื้นฐานแล้วก็มีมุมมองเหมือนกัน ตามที่เขาพูดพันธมิตรตะวันตกและฟินแลนด์ควรช่วยเหลือยูเครนต่อไปและในความสัมพันธ์ที่ถดถอยลงอย่างมากกับรัสเซียเขายังมองเห็นแง่บวก คือ การเป็นอิสระจากแหล่งพลังงานของรัสเซียจะเร่งการเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนในฟินแลนด์ (นโยบายพรรคกรีนที่เขาสังกัด) และจะเสริมสร้างความเป็นอิสระของฟินแลนด์
อย่างไรก็ตาม “ฮาวิสโต” ต่างกับ “สตับบ์” ที่วิพากษ์วิจารณ์รัสเซียมานานแล้วก่อนสงครามยูเครนเสียอีก ฮาวิสโตในสมัยก่อนมีท่าทีชื่นชอบต่อเครมลินมากกว่ามาก ก่อนหน้สงครามยูเครนเขาหวังว่าจะปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างมอสโกและบรัสเซลส์ โดยคัดค้านการเป็นสมาชิกของนาโตของฟินแลนด์ และยืนกรานเป็นเวลาหลายปีว่าต้องลดการใช้จ่ายด้านกลาโหม
  • นโยบายการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์และการเข้ามาของกองกำลังทหารนาโตในฟินแลนด์
“สตับบ์” เชื่อว่าการเคลื่อนย้ายและติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในฟินแลนด์สามารถให้ทำได้หากนาโตมีความจำเป็น ส่วนฮาวิสโตต่อต้านเรื่องนี้ เขาอ้างถึงกฎหมายปัจจุบันที่ห้ามการนำเข้า การผลิต และการครอบครองอาวุธประเภทนี้ ชาวฟินแลนด์ส่วนใหญ่มีจุดยืนเช่นเดียวกับฮาวิสโต คือมีเพียง 14% เท่านั้นที่สนับสนุนการติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ในฟินแลนด์ และ 27% สนับสนุนการลำเลียงอาวุธนิวเคลียร์ผ่านอาณาเขตของตน
“สตับบ์” ไม่ได้ต่อต้านการเข้ามาประจำการของกองกำลังทหารนาโตในฟินแลนด์แบบถาวร ในขณะนี้ “ฮาวิสโต” ยังไม่เห็นความจำเป็นในเรื่องนี้
เครดิตภาพ: Laura Merikalla / Yle
เรียบเรียงโดย Right Style
29th Jan 2024
  • แหล่งข่าวและข้อมูลอ้างอิง:
<ภาพปก: แผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีฟินแลนด์ในเฮลซิงกิ วันที่ 28 มกราคม 2024 เครดิต: Alessandro Rampazzo/Anadolu/Getty Images>
โฆษณา