29 ม.ค. เวลา 12:56 • ปรัชญา

ทำไมเราต้องรักความทุกข์

ทุกข์ เป็นสิ่งที่ใครหลายคนไม่อยากพบเจอในชีวิต แต่ว่าเพราะอะไรกัน เพราะมันนำพาความเศร้า และความรู้สึกบางอย่างในแง่ลบมาสู่ตัวเรา ไม่ว่าจะทางกายภาพ หรือ ภายในจิตใจก็ตาม ทั้งนี้ยังเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้าในปัจจุบัน ที่มีคนจำนวนราว 300 ล้านคน หรือมากกว่า 4% จากประชากรทั้งหมดของโลก ที่ป่วยเป็นโรคนี้ หลังจากนั้น ภายหลังสามารถนำไปสู่กระบวนการคิดที่จะฆ่าตัวตายได้ จึงเป็นโรคที่อันตราย และสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายมากในสังคมปัจจุบัน
ฉะนั้นมุมมองที่เรามีต่อความทุกข์ จึงเป็นความหวาดระแวง และกลัวที่จะทุกข์ ผู้เขียนจึงอยากจะนำเสนอในอีก 1 แง่มุมของความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวและการเปลี่ยนความทุกข์ให้เป็นเพื่อนสนิทที่สุดของเราในแต่ละวัน ด้วยความยินดีจากหัวใจของตัวเราเอง
ในพระพุทธศาสนาเราสามารถนิยามความทุกข์ได้ว่า ทุกข์ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา ทำให้เกิดความรู้สึกบีบคั้น บังคับให้เราต้องพยายามเปลี่ยนแปลงให้หลุดพ้นจากสถานการณ์ในตอนนั้นหากกล่าวแบบนี้ การแก่ย่อมเป็นทุกข์ เพราะร่างกายเราเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา แถมเรายังต้องหมั่นดูแลตรวจเช็คไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย เพราะกลัวที่จะต้องเจ็บ กลัวที่จะทรมาน และนำไปสู่ความตายซึ่งก็เป็นทุกข์อีกเช่นกัน เพราะ เรายังไม่สามารถที่จะยอมรับ การที่เราจะหายไปจากโลก และจางหายไปจากความทรงจำของใครสักคนนึง
และใช่ครับ แม้แต่การเกิดก็นับว่าเป็นทุกข์เช่นกัน เนื่องจากภายหลังจากเกิด ย่อมมีความทุกข์ตามมา เกิดจึงถูกนับว่าเป็นทุกข์ แม้แต่สิ่งที่เราไม่สามารถจะจับต้องได้อย่างอารมณ์ ความรู้สึก จิตวิญญาณ ความทรงจำ สิ่งเหล่านี้ก็ถูกรวมอยู่ในความทุกข์เช่นกัน เพราะทั้งหมดนั้น ย่อมเกิดขึ้น และ ดับไป มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่คงที่ และบีบคั้นให้เราทำอะไรซักอย่างนั่นเอง
มาถึงจุดนี้เรามาพูดถึงความทุกข์ในเลนส์ของปัจจุบันกันบ้าง ถ้าให้เปรียบง่าย ๆ ทุกข์ เปรียบเสมือนสิ่งที่ทำให้เราไม่สบายกาย ไม่สบายใจ รู้สึกเศร้า สับสน กังวล ซึ่งทั้งหมดจะเป็นความรู้สึกด้านลบทั้งสิ้น ความรุนแรงของทุกข์นั้น ก็จะขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์ หากสถานการณ์ไม่เป็นไปตามความต้องการของเราเท่าไหร่ ความทุกข์ก็จะรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น
ทำให้เราได้รู้อีก 1 สาเหตุของทุกข์ นั่นคือ ความสุข สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนเหรียญ 2 ด้าน ที่ใดมีสุข ก็ต้องมีทุกข์ และที่ใดมีทุกข์ ที่นั้นก็ย่อมมีสุข ยกตัวอย่างง่าย ๆ หากสถานการณ์กำลังเป็นไปตามที่เราต้องการ เราก็จะมีความสุขมาก ๆ รู้สึกไม่ทุกข์ร้อนอะไร แต่ที่จริงเราก็จะถูกความกลัวเข้าเล่นงานเช่นกัน
แล้วเรากลัวอะไรละ ? เรากลัวที่จะเสียความสุขนั้นไป กลัวว่าหลังจากนี้สถานการณ์จะไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ทำให้ทุกข์เกิดขึ้นมาในท้ายที่สุด กลับกัน หากเรากำลังทุกข์ เราก็จะพยายามเปลี่ยนสถานการณ์ให้เป็นไปตามที่เราต้องการเพื่อเรียกให้ความสุขกลับมา แต่อันที่จริงแล้วการจะมีความสุขได้นั่น ย่อมมีหลายปัจจัย ทั้งสิ่งรอบตัว สภาพแวดล้อม รวมถึงจิตใจของตนเอง
หากเราสามารถทำได้แน่นอนว่าเราก็จะมีความสุขอยู่ชั่วขณะหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าความทุกข์นั้นจะหายไป และถ้าเราทำไม่ได้ แน่นอนว่า ความทุกข์ไม่ได้ใจดีพอที่จะให้โอกาสโดยการยืนดูอยู่เฉย ๆ มันพร้อมที่จะเรียกพรรคพวกมาเพิ่ม เช่น ความอิจฉา ความท้อแท้ ความหดหู่ และ ความเศร้า ซึ่งถ้าเราไม่มีวิธีรับมือที่ดีพอละก็ มันสามารถทำให้เราหายไปได้ทั้งในชีวิต และในจิตวิญญาณ
ในสังคมปัจจุบัน เราทุกคนล้วนถูกสวมหน้ากากหน้ายิ้ม ที่บอกว่าเรากำลังมีความสุข เราโอเค เพราะสังคมรอบตัวไม่อนุญาตให้คุณมีความทุกข์ ลองนึกสถานการณ์ง่าย ๆ หากคุณเจอเรื่องที่หนักใจมาก ๆ ในชีวิตของคุณ คุณคงไม่สามารถโพสต์ลงโซเชียลเพื่อระบายอะไรได้ หากโซเชียลของคุณมีทั้งเพื่อนร่วมงาน หัวหน้าแผนก และ ลูกค้าของบริษัท เพราะนั่นคือโปรไฟล์ของคุณ ทุกสิ่งที่คุณโพสต์ลงจะแสดงถึงทัศนคติ และความอ่อนแอของคุณ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออาชีพการงาน และอนาคต
เว้นแต่ว่า โซเชียลของคุณจะมีแต่เพื่อนที่ไว้ใจ และสนิทสนมเท่านั้น แม้แต่ในชีวิตจริง ที่คุณระบายเรื่องราวของคุณให้กับคนอื่นฟัง แน่นอนว่าหากเค้าไม่มีทักษะของผู้ฟังที่ดี เค้าจะตัดสินเรื่องราวของคุณผ่านเลนส์ของเค้า ซึ่งย่อมส่งผลต่อการร่วมงานกันในอนาคตแน่นอน หนำซ้ำไม่แน่ เรื่องราวของคุณอาจจะถูกส่งต่อไปให้อีกหลายร้อยคนฟังก็เป็นได้ สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความกังวล จนทำให้ใครหลาย ๆ คนจำเป็นต้องเก็บความทุกข์ และอารมณ์ไว้ในใจ จนเกิดการทับถมไปเรื่อย ๆ ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า และในที่สุดก็ระเบิดออกมาในคราเดียว
แล้วเราจะสามารถป้องกันมันได้อย่างไร จะสามารถยับยั้งมันได้มั้ย หากผู้อ่านทุกท่านเกิดคำถามนี้ขึ้นมาในใจ ผมขอบอกตามตรงเลยว่า ไม่ได้ครับ เราไม่สามารถยับยั้งทั้งความทุกข์ ความรู้สึกต่าง ๆ ได้ แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้เพียงอย่างเดียว และได้ผลมากที่สุด นั่นคือ การยอมรับ อาจจะฟังดูเหมือนว่าไม่ได้ช่วยอะไรมาก แต่จริง ๆ แล้ว "มันสำคัญมากถึงมากที่สุดเลย"
แน่นอนว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นในชีวิต แต่หากเราลองเปลี่ยนเลนส์ของแว่น หรือ ปรับมุมมองต่อมันอีกสักนิด ทุกข์จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เราเติบโต และ เข้มแข็งอย่างสม่ำเสมอ ลองนึกสถานการณ์ง่าย ๆ อย่างเรื่องความรัก คนที่เคยอกหักมาแล้วอย่างน้อย 2 – 3 ครั้ง คงใช้เวลาในการทำใจหลังอกหักได้น้อยกว่าคนที่อกหักครั้งแรก เนื่องจากคนที่อกหักบ่อย ๆ เคยเกิดทุกข์มาแล้ว ได้ทำความเข้าใจทุกข์แล้ว ทำให้มุมมองต่อสิ่งนั้น เปลี่ยนไป รวมถึงกำแพงทางด้านจิตใจที่แข็งแรงมากขึ้น
และมีไม่น้อยเลย ที่ผู้คนมักจะตัดสินใจพัฒนาตัวเองหลังจากเกิดความทุกข์ เช่น การออกกำลังกาย การฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ทุกคนเชื่อมั้ยครับ สิ่งที่เราถูกปลูกฝังมาตลอด ว่าไม่ดี และไม่ควรทำ หากเราสามารถเปลี่ยนมุมมองกับมันได้ ขนาดสิ่งที่เรียกว่า ความอิจฉาก็สามารถนำมาใช้เป็นแรงผลักดันได้ เช่นเดียวกับความทุกข์ ทุกข์ก็สามารถผลักดันเราได้เช่นกัน หนำซ้ำ เผลอ ๆ ยังบ่อยมาก อีกด้วย แค่เราไม่รู้ตัวเท่านั้นเอง
ตั้งแต่เด็ก การอยากสอบให้ได้ที่ 1 เพื่อจะได้รับคำชมจากผู้ปกครอง และได้รับการยอมรับจากเพื่อน การออกไปทำงานเพื่อเก็บมาซื้อของแบรนด์เนมตามดาราชื่อดัง นี่ก็เป็นความทุกข์ แต่แค่มันก่อให้เกิดความสุขระยะสั้นเท่านั้นเอง
แต่หากทุกข์เกิดในจังหวะเวลาที่ไม่ดี ตอนที่เราต้องออกไปทำงาน มันอาจจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของเราลดลง เช่น งานที่ต้องอาศัยความสนุกสนาน งานที่ต้องเข้าไปพูดคุยกับบุคคลอื่น ซึ่งอาจจะทำให้บรรยากาศการทำงานเสีย ถ้าเป็นอย่างงั้นเราควรจะทำยังไงดี ?
ก่อนอื่นเลย เราต้องควบคุมอารมณ์ในแง่ลบให้ได้ หากพายุในจิตใจของเราสงบลงแล้ว เราก็จะสามารถมองเห็นปัญหาตรงหน้าได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ต่อมาเราจึงต้องพิจารณาว่า ทุกข์นั้นเกิดจากสาเหตุอะไร เราสามารถแก้ไขสถานการณ์ปัจจุบันอย่างไรได้บ้าง และทุกข์นั้นต้องการจะสอนอะไรกับเรา
หากยังไม่สามารถจัดการได้ เราอาจจะต้องหาความสุขระยะสั้นให้มาดึงความสนใจของจิตเรา เพื่อไม่ให้ไปฟุ้งซ่านกับความทุกข์จนเกินไป หลังจากนั้นจึงกลับมาพิจารณาอีกครั้งภายหลัง ให้เรามองว่า ทุกข์ คือ บทเรียนของชีวิต เปรียบเป็นคู่หู่ที่เดินทางร่วมกับเรามาตั้งแต่แรก เราไม่สามารถทิ้งมันไปได้ เพราะสุดท้าย ทุกข์เปรียบดั่งเงาสะท้อนที่สร้างตัวเราขึ้นมา
เห็นมั้ยครับทุกท่าน ทุกข์ไม่ได้มีแค่แง่มุมเดียว ทุกข์นั้นสามารถพัฒนาตัวเรา สามารถที่จะปรับเปลี่ยนมุมมองต่อบางสิ่งบางอย่าง และยังช่วยจำแนกคนบางประเภทออกจากชีวิตได้ หลังอ่านผลงานชิ้นนี้จบ ผู้เขียนหวังว่า ผู้อ่านทุกท่านจะสามารถเข้าใจในความทุกข์ และรับมือกับมันได้ดีมากยิ่งขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม งานชิ้นนี้ไม่มีเจตนาสนับสนุนให้ทุกท่านจมอยู่ในความทุกข์ แต่ต้องการให้ทุกท่านสามารถยินดีได้ทุกครั้ง ที่พบเจอกับความทุกข์ และคำนึงว่า นั่นคือ "เวลาที่จะเข้มแข็ง และแกร่งขึ้นกว่าเราในเมื่อวานนี้" สุดท้ายนี้ทุกสิ่งในโลก มากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ดี เช่นเดียวกับสุขและทุกข์ สุขไปก็ใช่ว่าจะดี ตกอยู่ในความหวาดกลัว ทุกข์ไปก็ไม่ดี ไม่สามารถที่จะควบคุมตัวเองได้ เราควรที่จะบาลานซ์ชีวิตของเราให้ดี เดินในทางสายกลาง ขอให้ทุกท่านยินดีกับตัวเองในทุกวันนะครับ
By เด็กเล็กในโลกใหญ่
โฆษณา