30 ม.ค. 2024 เวลา 07:30 • ประวัติศาสตร์

Caresse Crosby - วัยรุ่นสาวผู้ใช้ผ้าเช็ดหน้าประดิษฐ์บราชิ้นแรกของโลก

ย้อนกลับไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ยุคที่วิคตอเรียนแฟชั่นยังคงรุ่งเรือง ยุคที่การแต่งตัวของผู้หญิงเน้นความสวยงามเหนือความสบายตัว หญิงสาวในยุคนั้นที่เวลาเข้าร่วมงานสังสรรค์ พวกเธอต่างก็ต้องกลั้นใจใส่ชุดคอร์เซ็ตรัดๆที่ทำให้แทบหายใจไม่ออก
แต่ Caresse Crosby ไม่ใช่หญิงสาวผู้ชอบทำอะไรน่าอึดอัดแบบนั้น
Caresse Crosby เดิมมีชื่อตามกำเนิดว่า Mary Phelps Jacobs หรือมีชื่อเล่นว่า Polly เป็นหญิงสาวชาวนิวยอร์กที่มีฐานะค่อนข้างร่ำรวย เธอสืบสกุลมาจากอัศวินในสงครามครูเสด กับแม่ทัพยุคสงครามกลางเมืองอเมริกา และมีความเกี่ยวข้องทางสายเลือดกับ Robert Fulton วิศวกรผู้ประดิษฐ์เรือจักรกลพลังไอน้ำ
บางทีความอัจฉริยะของเธออาจจะได้รับการสืบทอดมาจากพวกเขาก็ได้
ช่วงเย็นวันหนึ่งในปี 1913 Polly ในวัยเพียงแค่ 19 ปี กำลังมีเรื่องให้กลุ้มอกกลุ้มใจเกี่ยวกับเสื้อผ้าที่จะใส่ไปงานเต้นรำคืนนั้น เพราะระหว่างที่เธอกำลังลองชุดกระโปรงอันหรูหรา เธอก็รู้สึกไม่ชอบชุดคอร์เซ็ตที่อยู่ข้างใต้เสียเลย เธอต้องใส่มันเพื่อให้หน้าอกเป็นทรงสวย แต่มันทั้งแน่นจนน่าอึดอัดและขยับตัวไม่สะดวก แถมยังทำให้ชุดกระโปรงสวยๆมีรอยนูนขึ้นมาด้วย
สาวน้อยเปิดตู้เสื้อผ้าออกและเริ่มคุ้ยหาสิ่งที่จะแก้ปัญหานี้ ก่อนจะจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ เมื่อเธอเห็นผ้าเช็ดหน้าที่มีลวดลายสวยงาม มันทั้งเบาหวิวกับนุ่มสบายเมื่อสัมผัส และที่สำคัญไปกว่านั้น เธอสามารถดัดแปลงมันให้มีรูปทรงตามที่ต้องการ
Polly เรียกสาวใช้ให้มาช่วยตระเตรียมอุปกรณ์ เธอจะไม่ใส่ชุดคอร์เซ็ตแน่นๆไปเต้นรำคืนนี้แน่
เธอตัดผ้าเช็ดหน้าให้มีขนาดพอดีหน้าอกของตัวเอง ก่อนจะใช้ริบบ้อน เส้นด้าย กับเข็มหมุด ในการเย็บพวกมันเข้าด้วยกันและสร้างชุดชั้นในแบบใหม่ที่ไม่น่าอึดอัดอีกต่อไป
โดยที่ตอนนั้นเธอไม่รู้เลยว่าสิ่งที่อยู่ในมือเธอคือต้นแบบชิ้นแรกของบราในยุคปัจจุบัน และเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่จะนำพาแฟชั่นของหญิงสาวไปสู่ยุคใหม่
Polly ไม่รอช้าที่จะสวมใส่ผลงานชิ้นนี้ ซึ่งเมื่อเธอรัดมันรอบหน้าอกของตัวเอง เธอก็รู้สึกโล่งสบายจนน่าตกตะลึง ไม่มีโครงรัดๆที่ทั้งน่าอึดอัดและน่ารำคาญของชุดคอร์เซ็ตอีกต่อไป มันถูกแทนที่ด้วยสิ่งประดิษฐ์สุดเบาหวิวที่ช่วยทั้งดันทรงและช่วยให้ขยับได้สะดวกสบาย
เธอใส่มันไปยังงานเต้นรำคืนนั้น และชุดใหม่ของเธอก็ได้รับความสนอกสนใจจากคนอื่น มันเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่แหวกธรรมเนียมวิคตอเรียเดิมๆอันแสนน่าเบื่อ แถมยังใช้งานได้จริงอีกด้วย
หญิงสาวคนอื่นๆต่างไหว้วานให้ Polly ช่วยผลิตชุดชั้นในรูปแบบใหม่ให้พวกเธอหน่อย และ Polly ก็เห็นว่าสิ่งประดิษฐ์ของเธอสามารถนำไปต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่ได้
3 พฤศจิกายน 1914 “Backless Brassiere” ก็ถูกจดสิทธิบัตรสำเร็จ โดยคำว่า Brassiere นั้นมาจากภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่าท่อนแขนส่วนบน
และมันก็กลายเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว เนื่องจากบราของ Polly นั้นมีน้ำหนักที่เบาและสวมใส่ง่าย นอกจากนี้มันยังช่วยให้หน้าอกของผู้สวมใส่แยกจากกันแบบธรรมชาติ ไม่ได้บีบเข้าหาจนเป็นก้อนเดียวเหมือนในชุดคอร์เซ็ต ทำให้มันเหมาะสำหรับคนทุกหุ่น โดย Polly ยังบรรยายสรรพคุณของมันเพิ่มอีกว่า “จะใส่เล่นกีฬาใช้แรงหนักๆเช่นเทนนิสก็ยังได้”
ต่อมาในปี 1922 Polly ก็เปิดบริษัท Fashion Form Brassiere Company เพื่อที่จะขยายการผลิตบราของเธอ ซึ่งในปีเดียวกันนั้น Polly ก็หย่าร้างกับสามีคนแรก ก่อนจะแต่งงานกับ Harry Crosby และ Polly ก็เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Caresse Crosby
และมันก็เป็นชื่อที่ประวัติศาสตร์จะจดจำเธอ
แต่ Caresse Crosby ไม่ใช่หญิงสาวที่ชื่นชอบสิ่งซ้ำๆน่าเบื่อ และการดำเนินธุรกิจก็ไม่ใช่ชีวิตที่เธอต้องการ เมื่อประกอบกับว่าเธอล้มเหลวกับการทำการตลาดให้บราเป็นที่รู้จักในวงกว้าง Caresse Crosby จึงตัดสินใจขายสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์นี้ให้กับ Warner Borthers Corset Company ในราคาเพียงแค่ 1,500 ดอลลาร์สหรัฐ (25,600 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 900,000 บาท หากเทียบกับมูลค่าในปัจจุบัน)
แต่หลังจากนั้นโลกก็เข้าสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และสหรัฐอเมริกาก็ขอร้องให้ผู้หญิงหยุดซื้อชุดคอร์เซ็ต เพื่อที่จะนำโลหะมาใช้ผลิตอาวุธสงครามแทน (ว่ากันว่าโลหะจำนวนนั้นถูกนำมาผลิตเรือรบได้ถึงสองลำ) ในขณะเดียวกัน ผู้หญิงยุคนั้นก็เริ่มเข้าทำงานในโรงงานมากขึ้น ทำให้ชุดชั้นในที่ใส่แล้วสะดวกสบายคล่องแคล่วจึงกลายเป็นที่ต้องการมากขึ้น
ภายในระยะเวลาแค่ 30 ปี สิ่งประดิษฐ์ของ Caresse Crosby ก็สามารถทำเงินได้สูงถึง 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เนื่องจากเธอขายสิทธิบัตรการผลิตไปแล้ว ทำให้ Caresse Crosby ไม่ได้เงินเพิ่มจากการขายบราเหล่านั้นแม้แต่นิดเดียว
แต่ถ้าถามว่าเธอรู้สึกเสียใจหรือเสียดายรึเปล่า? หลายคนที่ได้รู้จักเธอคงตอบว่า ไม่
“Caresse Crosby เดินเข้ามาพร้อมกับความสบายใจคล้ายกับแป้งพัฟ และน้ำเสียงอันอ่อนหวาน (caressing) หรือบางทีนั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่ Harry Crosby เรียกเธอว่า Caresse กันนะ? หมวกขนสัตว์ ขนตา และรอยยิ้มของเธอต่างเปล่งประกายอย่างมีชีวิตชีวา คำพูดติดปากของเธอคือ ได้สิ และเธอก็ตอบรับทุกอย่างที่กำลังเกิดขึ้น กับทุกสิ่งที่ถูกเสนอให้เธอ”
คือคำบอกเล่าเกี่ยวกับตัวตนของหญิงสาวคนนี้
คล้ายกับตอนที่เธอหนีจากโครงชุดคอร์เซ็ตอันน่าอึดอัด Caresse Crosby ไม่เคยปล่อยให้กรอบธรรมเนียมวัฒนธรรมกำหนดว่าทำอะไรได้หรือไม่ได้ เธอใช้ชีวิตในแบบที่ฉีกจากภาพจำของผู้หญิงในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปทั่วโลก หลับนอนกับชายอื่น ใช้จ่ายเงินเหมือนเทน้ำทิ้ง เขียนบทกวีมากมาย ทำความรู้จักเหล่าศิลปินที่โลกไม่ยอมรับ ซื้อปราสาทในอิตาลี หรือแม้กระทั่งขี่ช้างเข้าร่วมงานปาร์ตี้โดยไม่สวมเสื้อผ้าท่อนบน!
แต่ผลงานชิ้นเอกของเธออีกอันก็คงเป็น Black Sun Press สำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์ผลงานที่ถูกเจ้าอื่นปฏิเสธมีเพราะเนื้อหาไม่เหมาะสม ทำให้ผลงานมากมายที่มีเนื้อหาล่อแหลมของนักเขียนชื่อดังในยุคนั้นได้ถูกตีพิมพ์ออกมา แต่ละเล่มถูกผลิตขึ้นอย่างปราณีต จนปัจจุบันนักสะสมต่างแย่งกันประมูลหนังสือจาก Black Sun Press
และ Caresse Crosby ก็ถูกจดจำในฐานะผู้หญิงผู้ใช้ชีวิตโลดแล่นอยู่นอกกรอบเสมอ
การนำผ้าเช็ดหน้ามาประดิษฐ์ของเธอไม่ใช่แค่การพลิกโฉมแฟชั่นผู้หญิง แต่ยังเป็นการแสดงออกถึงการคิดนอกกรอบที่แสนจะน่าอึดอัด ถึงแม้เวลาจะผ่านมาเกินร้อยปี แต่สิ่งประดิษฐ์ของ Caresse Crosby จะคอยมอบพลังให้กับหญิงสาวในยุคต่อๆไป และช่วยให้พวกเธอได้แสดงออกความเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ตลอดไป
โฆษณา