30 ม.ค. เวลา 01:30 • หนังสือ

NOVELIST AS A PROFESSION นักเขียนนวนิยายเป็นอาชีพ

เขียนโดย ฮารูกิ มูราคามิ
แปลโดย อรรถ บุนนาค และ มุทิตา พานิช
สำนักพิมพ์ กำมะหยี่
พิมพ์ครั้งที่ 2 สิงหาคม 2566
ราคา 330 บาท
เมื่อมานั่งคิดดูใหม่การเขียนนวนิยายได้ไม่ดีนั้นเป็นของธรรมดาเพราะตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเขียนนวนิยายเลยสักครั้ง จะให้เขียนงานดี ๆ ได้ลื่นไหลตั้งแต่ครั้งแรกเลยย่อมเป็นไปไม่ได้
ผมคิดว่าการพยายามจะเขียนนวนิยายให้เก่ง หรือพยายามเขียนนวนิยายให้สมเป็นนวนิยายนั้นอาจไม่ใช่สิ่งสมบูรณ์
‘ถึงยังไงก็เขียนนวนิยายให้ดีไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าอย่างนั้นลองทิ้งความคิดติดกรอบแบบนวนิยายเป็นแบบนั้น วรรณกรรมเป็นแบบนี้ แล้วลองเขียนตามที่รู้สึกตามที่ผุดขึ้นมาในหัว หรือตามใจปรารถนาอย่างอิสระไม่ดีกว่าหรือ’
แต่การ ‘เขียนตามที่รู้สึก ตามที่ผุดขึ้นมาในหัว ตามใจปรารถนาอย่างอิสระ’ นั้นไม่ได้ง่ายเหมือนปากพูด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนไร้ประสบการณ์ การเขียนนวนิยายนั้นยากมาก เพื่อให้รากของจินตนาการพลิกผันได้ผมจึงต้องละทิ้งกระดาษเก็งโคโยชิกับปากกาหมึกซึมไว้ก่อน หากมีปากกาหมึกซึมกับกระดาษเก็งโคโยชิอยู่ตรงหน้าท่าทีของเรามักจะกลายเป็น ‘แบบวรรณกรรม’ จนได้
ผมจึงยกเครื่องพิมพ์ดีดภาษาอังกฤษยี่ห้อโอลิเวตตีออกจากตู้เลื่อนเก็บที่นอนแล้วลองเขียนบทนำของนวนิยายด้วยภาษาอังกฤษ ตอนนั้นคิดเพียงว่าทำอะไรก็ได้ที่ ‘ไม่ธรรมดา’
แน่นอนว่าความสามารถในการเขียนความเรียงภาษาอังกฤษของผมนั้นแค่พอถู ๆ ไถ ๆ ได้แต่เพียงใช้คลังคำและแพทเทิร์นรูปประโยคที่มีจำนวนจำกัด
แน่นอนว่าจึงทำให้ประโยคสั้นแม้ว่าภายในหัวอาจจะมีความคิดซับซ้อนมากมายขนาดไหนก็ตามแต่ไม่อาจสื่อออกมาได้เป็นรูปแบบตรงตามที่คิด เนื้อความผมก็ทดแทนด้วยคำง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถอดความให้เข้าใจเจตนาได้โดยง่าย ตัดความฟุ่มเฟือยออกจากการพรรณนา ให้ภาพรวมกระชับ ได้แต่ทำตามขั้นตอนในการบรรจุภาชนะที่มีข้อจำกัด เลยได้ประโยคที่ไร้โครงสร้างอยู่พอควร
แต่เมื่อเผชิญกับความยากลำบากนั้นในระหว่างที่เขียนไปเรื่อย ๆ แล้วมันก็ค่อย ๆ เกิดสิ่งที่เป็นเหมือนจังหวะของประโยคขึ้นมา
ผมเกิดในญี่ปุ่นและใช้ภาษาญี่ปุ่นในฐานะคนญี่ปุ่นมาตลอดตั้งแต่เด็ก ภายในซิสเต็มของตัวผมจึงอัดแน่นด้วยเนื้อหาแห่งคำศัพท์สำนวนต่าง ๆ เป็นภาษาญี่ปุ่น
ดังนั้นการนำเอาความรู้สึกหรือความคิดในใจมาถ่ายทอดเป็นคำพูด มักทำให้เนื้อหาดังกล่าววิ่งสลับไปมาอย่างสับสน จนบางครั้งเกิดจากระบบรวน แต่เมื่อเขียนข้อความเป็นภาษาต่างประเทศแล้วมีคำศัพท์หรือสำนวนอยู่จำกัดกลับไม่เกิดเหตุการณ์แบบนั้น
อีกอย่าง ผมค้นพบในตอนนั้นว่าแม้จำนวนคำศัพท์หรือสำนวนของเราจะมีจำกัดแต่ถ้านำมาประกอบสร้างอย่างมีความหมายให้เกิดผลซึ่งขึ้นอยู่กับวิธีการนำเอาการประกอบสร้างนั้นไปใช้ก็จะถ่ายทอดความรู้สึกหรือความคิดออกมาได้ดี กล่าวคือ
‘ไม่จำเป็นต้องเอาคำยาก ๆ มาร้อยเรียง’
‘ไม่จำเป็นต้องใช้สำนวนสวยหรูเพื่อให้คนประทับใจ’
หลังจากนั้นอีกนานพอสมควร ผมพบว่ามีนักเขียนชื่ออโกตา คริสตอฟ ใช้รูปประโยคซึ่งให้ผลแบบเดียวกันเขียนนวนิยายดี ๆ หลายเรื่อง เธอเป็นชาวฮังการี แต่ในปีค.ศ. 1956 ได้ลี้ภัยจากเหตุจลาจลในประเทศฮังการีไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงจำเป็นต้องเริ่มใช้ภาษาฝรั่งเศสในการเขียนนิยาย เพราะไม่สามารถดำรงชีวิตได้ด้วยการเขียนนวนิยายเป็นภาษาฮังการี
สำหรับเธอแล้วภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาต่างประเทศที่เธอจำเป็นต้องเรียนในภายหลัง ถ้าว่าการใช้ภาษาต่างประเทศเพื่อสร้างสรรค์ผลงานกลับทำให้เธอประสบความสำเร็จในการสร้างสำนวนแบบใหม่ จังหวะที่ดีในการนำประโยคสั้น ๆ มาประกอบสร้าง สัดส่วนของวิธีการใช้คำที่ไม่อ้อมค้อม การพรรณนาอันเหมาะเจาะไม่เวิ่นเว้อ และในขณะเดียวกันก็ไม่มีอะไรที่สำคัญยิ่งใหญ่ กลับอบอวลไปด้วยบรรยากาศลึกลับปริศนาซึ่งซ่อนอะไรบางอย่างอยู่ลึก ๆ
ครั้งแรกที่ผมได้อ่านนวนิยายของเธอหลังจากเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส ผมจำได้ว่ารู้สึกถึงความคุ้นเคยบางอย่าง แม้แนวทางผลงานของเรานั้นแตกต่างกันมากก็ตาม
อย่างไรก็ตามผมได้ ‘ค้นพบ’ ผลของความสนุกในการเขียนนวนิยายเป็นภาษาต่างประเทศ เมื่อคุ้นชินกับจังหวะและการร้อยเรียงเขียนเรื่องแล้ว
ผมเก็บเครื่องพิมพ์ดีดภาษาอังกฤษกลับเข้าตู้ แล้วนำกระดาษเก็งโคโยชิกับปากกาหมึกซึมออกมาอีกครั้ง หันหน้าเข้าหาโต๊ะเขียนหนังสือแล้วเริ่มแปลข้อความที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ 1 บทให้เป็นภาษาญี่ปุ่น
แม้จะใช้คำว่าแปลแต่ก็ไม่ได้แปลตรงตัวทื่อ ๆ จะว่าไปแล้วมันใกล้เคียงกับการปลูกถ่ายโดยอิสระ ซึ่งแน่นอนว่าทำให้เกิดลักษณะของรูปประโยคภาษาญี่ปุ่น และกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผม เป็นรูปประโยคที่ผมค้นพบด้วยตัวเอง ตอนนั้นผมคิดว่า ‘อ้อ มันเป็นอย่างนี้เอง ใช้วิธีการเขียนภาษาญี่ปุ่นแบบนี้ก็ได้’ เรียกได้ว่าตาของผมสว่างกระจ่างแจ้งในตอนนั้น: ฮารูกิ มูราคามิ
สำหรับใครที่เป็นแฟนคลับนักวิ่งของท่านเล่มนี้บอกเลยว่าถูกใจใช่เลย การวิ่งออกกำลังกายของท่านเกี่ยวเนื่องส่งผลกับการเขียนนวนิยายของท่านอย่างไร ทำไมท่านถึงต้องออกไปวิ่งทุกวัน และไม่ใช่การวิ่งเล่น ๆ หรือแค่การออกกำลังกาย แต่เป็นการวิ่งเพื่อลงสนามแข่งขันวิ่งด้วย แต่ละสนามก็โหด ๆ ทั้งนั้น ในเล่มนี้มีคำตอบค่ะ ท่านได้เล่าถึงความคิด ประสบการณ์ความรู้สึกของการวิ่ง สิ่งที่ท่านได้สัมผัสถึง แม้ว่าท่านจะกล่าวไว้ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนในความรู้สึกเหล่านั้นกับความมหัศจรรย์แห่งใจที่ท่านได้พบในระหว่างก้าว
ในเล่มนี้มีทั้งหมด 12 บท และบทส่งท้ายอีกหนึ่งบท ใน 6 บทแรกนั้นเคยลงในนิตยสารมั่งกี้มาแล้ว ส่วนอีก 6 บทหลังท่านเขียนขึ้นมาใหม่
ในบทส่งท้ายท่านได้กล่าวไว้อย่างถ่อมตนว่า “หนังสือเล่มนี้เป็นไกด์บุ๊คหรือหนังสือแนะแนวสำหรับผู้ที่ต้องการจะเป็นนักเขียนนวนิยายได้หรือไม่นั้นบอกตามตรงว่าผมเองก็ไม่รู้ ผมแค่คิดจะเล่าว่าในฐานะนักเขียนนวนิยายตัวเองเดินมาด้วยเส้นทางแบบไหนและย่างก้าวมาด้วยความรู้สึกใดจนมาเป็นอย่างทุกวันนี้ แน่นอนว่าถ้ามีนักเขียน 100 คนก็ย่อมมีวิธีการเขียนนวนิยาย 100 อย่างของแบบนี้ให้แต่ละท่านคิดตัดสินใจอย่างรอบคอบเองจะดีกว่าหากหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์อะไรขึ้นมาแม้เพียงสักนิดจริงๆผมก็จะดีใจมาก”
เวลาที่ได้อ่านผลงานของท่านฮารูกิ มูราคามิ เราจะได้รู้จักกับอีกหลากหลายผู้คนที่ท่านได้นำมากล่าวถึงในผลงานแต่ละเล่ม ไม่ว่าจะเป็นเล่มนี้ที่เป็นความเรียงบันทึกเส้นทางของนักเขียนนวนิยายเป็นอาชีพของท่าน หรือในเรื่องสั้น และนวนิยายเรื่องอื่น ๆ ด้วย ทำให้เราได้รู้ว่าท่านค้นคว้าข้อมูลเยอะมาก และเรายังสืบเสาะหาอ่านผลงานอื่น ๆ ตามที่ท่านได้ชี้ทางไว้ด้วย
ขอบคุณค่ะ
Lucky review
โฆษณา