30 ม.ค. 2024 เวลา 05:19 • การเมือง

เพื่อไทย-ก้าวไกลเห็นพ้องแก้ปัญหาคดีการเมือง ธงชัยย้ำเพื่อไทยต้องทำมากกว่านี้

วันที่ 24 มกราคม 2567 เวลา 19.00 น. ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (Foreign Correspondent's Club of Thailand: FCCT) มีการจัดงาน งานเสวนา “Prong-dong”: Political amnesty in a new era of Thai Politics” เพื่อพูดคุยถึงมุมมองเรื่องความ “ปรองดอง” ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 20 ปีที่ผ่านมา และการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมือง
มีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนได้แก่ ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน พลนชชา จักรเพ็ชร ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล และ พูนสุข พูนสุขเจริญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นผู้ร่วมวงเสวนา โดยมี ณภัทร คงสวัสดิ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
การพูดคุยมีเนื้อหาสำคัญที่กำลังจะเกี่ยวข้องกับสังคมไทยในอนาคตอันใกล้ เมื่อพรรคก้าวไกลและเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนกำลังพยายามผลักดันร่างนิรโทษกรรมสองฉบับ ขณะที่พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาลก็กำลังพยายามเสนอแนวคิดในการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางการนิรโทษกรรม รวมทั้งยังต้องมีการพูดคุยกันภายในพรรคเองให้ตกอีกเป็นจำนวนมาก ทุกฝ่ายต่างมองว่าคดีการเมืองเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย แต่การจะก้าวข้ามปัญหานี้ด้วยแนวทางใดได้บ้างกลับยังไม่ได้มีทิศทางเดียวกัน อ่านเหตุผลประกอบแนวทางของแต่ละฝ่ายได้ที่นี่
[พูนสุข: คดีการเมืองจำนวนมาก หลักฐานของความจำเป็นที่ต้องนิรโทษกรรม]
พูนสุขอธิบายว่า ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก่อตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร 2557 จนถึงปัจจุบันมีอายุประมาณเก้าปี ซึ่งคดีความที่รับผิดชอบนั้นกินเวลาเกือบครึ่งหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 ระหว่างปี 2557-2559 มีพลเรือนประมาณ 2,400 คนถูกดำเนินคดีในศาลทหาร เป็นคดีในฐานความผิด เช่น ประกาศและคำสั่งคสช. มาตรา 112 และมาตรา 116
“ทหารออกประกาศคำสั่งมาแล้วก็คนที่ดำเนินการจับกุม ส่งฟ้องคือทหารและก็อัยการทหารและถูกตัดสินที่ศาลทหาร นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมคนต่างๆ เหล่านี้ถึงควรจะได้รับการแก้ไขในเรื่องของความยุติธรรม”
คดีความจำนวนมากเกิดขึ้นอีกช่วงในปี 2563 จนถึงปัจจุบัน เป็นช่วงที่เยาวชนและประชาชนออกมาเรียกร้องสามข้อ คือ ให้ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก ร่างรัฐธรรมนูญใหม่และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2563 จนถึงปัจจุบันมีผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองประมาณ 1,900 คน ในจำนวนนี้มี 1,400 คนที่ถูกดำเนินคดีจากการไปชุมนุมทางการเมืองและถูกดำเนินคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นกฎหมายสำคัญที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัดหรือการจัดการคู่แข่งทางการเมืองมาตลอดระยะเวลามากกว่าสิบปี ก่อนรัฐประหารปี 2557 ศาลมักจะลงโทษผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ห้าปีต่อหนึ่งการกระทำความผิด หลังการรัฐประหาร 2557 คดีมาตรา 112 เป็นหนึ่งในประเภทคดีที่ต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ระหว่างปี 2557-2562 มีคดีประมาณ 169 คดี ศาลทหารลงโทษเฉลี่ยการกระทำละแปดถึงสิบปี เพิ่มขึ้นมาเท่าตัวเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนหน้ารัฐประหาร 2557
การดำเนินคดีมาตรา 112 มีช่วงที่เว้นระยะไปแต่ไม่ได้หมายความการแสดงออกที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันกษัตริย์จะไม่ถูกจับตา มีแนวโน้มการใช้มาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือใช้วิธีการนอกกฎหมายแทน ก่อนจะกลับมาใช้มาตรา 112 ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบันมีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ประมาณ 270 คน ถือว่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ระหว่างสมัยของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย มีคดีมาตรา 112 ที่พิพากษาแล้วประมาณ 30 คดี แทบทั้งหมดตัดสินให้จำเลยมีความผิด
“องค์กรที่ทำงานด้านความยุติธรรมและภาคประชาสังคมเห็นว่า สถานการณ์คดีทางการเมืองถ้าให้ปล่อยให้เป็นในลักษณะนี้ต่อไปจะมีผู้ต้องขังทางการเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และนำไปสู่ความขัดแย้งระลอกใหม่ก็เป็นได้ ปัจจุบันเรามีร่างกฎหมายเป็นร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายในวันที่ 1-14 กุมภาพันธ์นี้”
กรอบระยะเวลาของร่างฉบับนี้ย้อนไปถึงวันที่ 19 กันยายน 2549 หรือวันรัฐประหาร 2549 จะรวมเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่เช่น การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ และกปปส. กฎหมายฉบับนี้ไม่รวมเจ้าหน้าที่รัฐ ฐานความผิดที่ได้รับการนิรโทษกรรมทันทีรวมถึงมาตรา 112 (อ่านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเพิ่มเติม)
“เราไม่มั่นใจเหมือนกันว่า ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนจะไปได้ไกลแค่ไหน แต่ว่าเราต้องการการสนับสนุนจากประชาชนมากที่สุด เสียงทุกเสียงของทุกคนมีความหมาย แสดงให้เขารู้ว่าประชาชนยืนอยู่ข้างรัฐบาลถ้ารัฐบาลยืนอยู่ข้างประชาชน”
ส่วนประเด็นเรื่องคณะกรรมการที่เพื่อไทยระบุว่าจะตั้งขึ้นมานั้นจะทำอย่างไรให้คณะกรรมการชุดนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกกลุ่มทุกฝ่ายเข้ามาคุยได้ พูดถึงปัญหาจริงๆ และไม่ยืดเยื้อยาวนานเกินไปจนเป็นการ “เตะถ่วง” ระยะเวลาการออกกฎหมายอาจยาวไกล แต่สิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้เลยคือ การให้ประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี และอัยการอาจใช้ช่องทางในการสั่งไม่ฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
พูนสุขยอมรับว่าการนิรโทษกรรมเป็นเป้าหมายระยะสั้นเท่านั้น แต่ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำงานที่สุดของทุกฝ่ายในขณะนี้ ขณะที่ในระยะยาวก็ยังมีการพยายามต่อสู้ในด้านอื่นๆ ต่อไปอย่างแน่นอน
 
[ศศินันท์: เพราะนิรโทษกรรมที่ดีต้องมีส่วนร่วมมาจากทุกคน]
ศศินันท์ตอบคำถามที่ว่า เหตุใดในร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับก้าวไกลจึงมีการตั้ง “คณะกรรมการ” ในการพิจารณาฐานความผิดที่จะนิรโทษกรรม แทนที่ระบุฐานความผิดเพื่อนิรโทษกรรมไปเลยว่า คณะกรรมการเป็นขั้นตอนเบื้องต้นเพื่อให้มีการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับการเมืองผ่านคณะกรรมการก่อน
“จุดยืนของเราก็คือว่าเราต้องการเสนอตัวนิรโทษกรรมเพื่อคลายความขัดแย้งในสังคม คืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนทุกคน โดยที่เราไม่ได้ต้องระบุว่าเป็นใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพราะว่าพูดกันตามความเป็นจริงก็คือความขัดแย้งทางการเมืองมันยาวนานมาก ตั้งแต่ปี 49 ยาวจนถึงปัจจุบันแล้วก็ถ้าทุกๆ คดีที่เกิดขึ้นเป็นประชาชนที่ทุกคนต่างหวังดีกับประเทศทั้งนั้น
... คือเจตนาของประชาชนที่เข้าสู่การเมือง การชุมนุมมีวัตถุประสงค์เดียวกันคืออยากให้ประเทศพัฒนาไปในทางที่ดี ฉะนั้นพอวันหนึ่งที่สถานการณ์มันดีขึ้น เรามีรัฐบาลใหม่เราก็รู้สึกว่า เป็นนิมิตหมายอันดีที่เราจะคืนชีวิตปกติให้กับประชาชน เยาวชนหลายคนที่ต้องถูกดำเนินคดีในช่วงเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา”
คณะกรรรมการต้องการให้มีส่วนร่วมกับคนหลายฝ่าย ฐานความผิดจะไม่ได้ระบุแต่จะใช้คำกว้างๆ เช่น เป็นคดีที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองก็สามารถเข้าสู่กระบวนการนิรโทษกรรมได้ และให้สิทธิในการสละการเข้าสู่กระบวนการนี้ รวมทั้งยกเว้นไม่นิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการทุจริตและกระทำความรุนแรง ความผิดต่อชีวิตและการก่อกบฏ
นอกจากการพยายามผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมในรัฐสภาแล้ว พรรคก้าวไกลยังได้เข้าไปพูดคุยกับบุคคลหลายกลุ่ม ดังที่เคยปรากฏเป็นข่าวก่อนหน้านี้ว่า ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้พบปะพูดคุยกับสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือพุทธอิสระ อดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. เพื่อให้ทุกฝ่ายเชื่อว่ากฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้มีเป้าหมายเพื่อสังคมไทยอย่างแท้จริง
ทุกคนจะได้ประโยชน์จากการนิรโทษกรรมคดีการเมือง คล้ายคลึงกับที่ทุกคนจะได้ประโยชน์จากการมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมหรือการมีกฎหมายว่าด้วยคุณภาพของอากาศ
ความขัดแย้งตลอดระยะเวลาสิบปีทำให้ทุกๆ คนในสังคมไทยได้รับความบอบช้ำ เป็นเรื่องที่ไปไกลกว่าแค่คนรุ่นใดรุ่นหนึ่งโดยเฉพาะ ดังนั้นหากพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านสามารถร่วมมือกันผลักดันร่างนิรโทษกรรมได้ไม่ว่าจะเป็นฉบับของพรรคก้าวไกลหรือฉบับของภาคประชาชน ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเมืองไทย อีกทั้งยังเป็นการยืนยันความจริงใจที่จะสลายขั้ว การที่จะคืนความยุติธรรม ปรองดองอย่างแท้จริงของรัฐบาลนี้ได้อีกด้วย
สุดท้ายศศินันท์กล่าวว่า การผลักดันนิรโทษกรรมไม่ได้เป็นการเปิดทางไปสู่การก้าวล่วงดังที่บางกลุ่มหวาดกลัว แต่เป็นเพียงการ “คืนความปกติ” ให้แก่สังคมและประชาชนเพียงเท่านั้น
[พลนชชา: เพื่อไทยที่มีหลายขั้ว นิรโทษกรรมจึงควรพูดคุยกันผ่านกลไกรัฐสภา]
พลนชชาระบุว่า เชื่อว่าในการที่จะสร้างสังคมที่ปรองดอง การนิรโทษกรรมเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดีสำหรับไทยในการเดินหน้าต่อไป เขากล่าวย้อนไปในบริบทของการนิรโทษกรรมทางการเมืองในไทยที่คณะรัฐประหารมักจะนำมาใช้เป็นเครื่องมือมากกว่าการทำเพื่อสิทธิทางการเมือง
ในฐานะพรรคการเมืองที่เชื่อในเรื่องสังคมประชาธิปไตย ระบอบประชาธิปไตย ประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมควรเป็นความสำคัญแรกในบริบทของการนิรโทษกรรม หากมองในมุมอื่นเช่น ประเด็นมาตรา 112 และคดีคอร์รัปชั่น ในกรณีเหล่านี้เขาคิดว่าจะต้องพิจารณาอย่างรัดกุม คิดถึงความเห็นและการมีส่วนร่วมของสาธารณะ ตอนนี้พรรคเพื่อไทยได้ยื่นเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการในการศึกษาความเป็นไปได้ในการร่างนิรโทษกรรม
เขาอธิบายเพื่อความชัดเจนในกรณีที่พูนสุขระบุว่า มีคดีที่ตัดสินโทษหลังจากเพื่อไทยขึ้นเป็นรัฐบาล 30 คดีว่า เพื่อไทยไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจในการแทรกแซงคำพิพากษาของศาล เขาเชื่อว่า คดีความตามมาตรา 112 จำนวนมากถูกร้องทุกข์ก่อนหน้าที่เพื่อไทยจะขึ้นเป็นรัฐบาล และตัวเขาในฐานะกรรมการบริหารพรรคไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง
นอกจากนี้การเกิดกฎหมายนิรโทษกรรมในอดีตหลังเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหญ่เกิดขึ้นได้เพราะคนในสังคมเห็นด้วยไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด ขณะที่ในยุคปัจจุบันมีความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย
ในประเด็นเรื่องมาตรา 112 ในฐานะที่พรรคผู้นำรัฐบาล จึงเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำให้แน่ใจเสียก่อน มีกระบวนการปรึกษาหารือเพื่อพิจารณาอย่างรอบคอบเพราะว่า ถ้าเกิดเราเดินไปทิศทางที่ผิดอีกครั้ง เรากังวลว่าประเทศอาจกลับไปเหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเก้าปีที่แล้วและกลับสู่วังวนความขัดแย้งอีกครั้ง สุดท้ายจะนำทุกความเห็นและข้อมูลส่งต่อให้แก่พรรคเพื่อไทยอีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน
[ธงชัย: บริบทสังคมแตกต่างจากในอดีต แต่พรรคเพื่อไทยต้องมีท่าทีที่มากกว่านี้]
ในประเทศไทยนิรโทษกรรมถูกใช้ในการไปสู่การพ้นผิดลอยนวลของผู้ก่อการรัฐประหาร การนิรโทษกรรมไม่กี่ครั้งที่ทำผ่านระบบสภาคือ ร่างนิรโทษกรรมที่เสนอในตอนนี้และนิรโทษกรรมหลังการสังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นน้อยครั้งเพื่อแก้ไขความยุ่งเหยิงทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร
ธงชัยอธิบายถึงคำถามก่อนหน้าที่เกี่ยวข้องกับการวางกรอบนิรโทษกรรมอย่างกว้างว่า การนิรโทษกรรมจะต้องระบุคดีและเหตุการณ์ และการกระทำความผิดใดที่จะได้การนิรโทษกรรม โดยการระบุเช่นนี้เป็นทางที่ถูกต้องแต่มันยากที่จะร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมา
ยกตัวอย่างการนิรโทษกรรมเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม 6 ตุลาคม 2519 กฎหมายนิรโทษกรรมในช่วงเวลาดังกล่าวมีสามฉบับ สองฉบับเป็นคำสั่งของคณะรัฐประหาร (Coup order) อีกฉบับผ่านโดยสภา การผ่านกฎหมายนี้มีรายละเอียดที่ถกเถียง เนื่องจากการนิรโทษกรรมก่อนหน้ามีระยะเวลาในการนิรโทษกรรมที่ไม่ครอบคลุมแม้จะเป็นผู้ก่อการรัฐประหารก็ตาม ในท้ายที่สุดจึงเกิดการนิรโทษกรรม ‘เหมาเข่ง’ (Blanket amnesty) ที่นิรโทษกรรมให้ทุกคนรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ธรรมศาสตร์
โดยสรุปแล้วการนิรโทษกรรมหลังเหตุการณ์ดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้เป็นเพราะชนชั้นนำในสังคมไทยต่างได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรมไปด้วยเช่นเดียวกัน ปัญหาคือ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่เรียกร้องกันในวันนี้จะสามารถจูงใจชนชั้นนำในประโยชน์ที่พวกเขาจะได้รับจากร่างนี้หรือไม่
ธงชัยกล่าวถึงความแตกต่างในเชิงมุมมองทางกฎหมายที่มีต่อคดีการเมือง ในประเทศไทยที่ให้ความสำคัญที่สุดกับเรื่องความมั่นคงของรัฐ และระบบกฎหมายจะต้องปกป้องความมั่นคงของรัฐแทนที่จะเป็นเสรีภาพของประชาชน กระบวนการยุติธรรมปกป้องสิ่งนี้ในฐานะที่เป็นสิ่งสูงสุด ทำให้รัฐและผู้สนับสนุนพูด “ภาษาหนึ่ง” ขณะที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพูดถึงเรื่องหลักนิติธรรม เขาเชื่อว่า รัฐไม่ได้มองเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นแรกๆ ไม่ได้มองคดีที่เกิดขึ้นเป็นคดีการเมือง
เขากล่าวว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกหลังการเลือกตั้งที่ได้ยินเพื่อไทยพูดในสาธารณะว่าเพื่อไทยพยายามจะทำอะไรบางอย่างที่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมทางการเมือง แต่ไม่ได้ฟังจากรัฐบาล ในตอนท้ายเขาวิจารณ์รัฐบาลเพื่อไทยว่าเราต้องการให้รัฐบาลเพื่อไทยทำอะไรบางอย่างในการแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในปัญหานี้
ธงชัยอ้างถึงคำตอบของพลนชชาที่ระบุว่า “รัฐบาลไม่สามารถแทรกแซงอำนาจตุลาการได้” ซึ่งอันที่จริงแล้วรัฐบาลสามารถทำได้หลายอย่างในสถานการณ์นี้ เช่น การหยุดสอดส่องนักกิจกรรม รัฐบาลสามารถออกนโยบายบางอย่างเกี่ยวกับเด็กที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 เขากล่าวในทำนองว่า สมัยรัฐบาลประยุทธ์สามารถหยุดการใช้มาตรา 112 ไปช่วงหนึ่ง ถ้ารัฐบาลประยุทธ์สามารถทำได้ทำไมรัฐบาลเพื่อไทยจะออกนโยบายเช่นนั้นไม่ได้ โดยอาจจะพิจารณาในฐานเช่น ประเด็นใดที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
โฆษณา