Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
iLaw
•
ติดตาม
30 ม.ค. 2024 เวลา 09:40 • การเมือง
ศาลจังหวัดลำปางนัดอ่านคำพิพากษา มาตรา 112 “ป้ายผ้างบสถาบันกษัตริย์”
วันที่ 30 มกราคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดลำปางนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “ป้ายผ้างบสถาบันกษัตริย์” ของนักกิจกรรมและประชาชนรวมห้าคน
ประกอบไปด้วยจอร์จ-พินิจ ทองคำ บัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และนักกิจกรรมกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน จูน-วรรณพร หุตะโกวิท สมาชิกกลุ่มการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงภาคเหนือตอนล่าง (NU movement) บัณฑิตมหาวิทยาลัยนเรศวร โม-ภัทรกันย์ แข่งขัน นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง แอน-ยุพดี กูลกิจตานนท์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองมาตั้งแต่เหตุการณ์ขอคืนพื้นที่ในการสลายการชุมนุม นปช. ปี 2553 และประชาชนทั่วไปอีกหนึ่งคน
คดีนี้มีผู้กล่าวหาคือ ร.ต.อ.วิเชียร ดอนชาไพร รองสารวัตรสืบสวน สภ.เมืองลำปางว่า พวกเขาทั้งห้าคนมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ จากการไปแขวนป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “งบสถาบันกษัตริย์ > วัคซีนCOVID19” บนสะพานรัษฎาภิเษก จังหวัดลำปาง
เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 นอกจากนี้จอร์จยังถูกกล่าวหาแยกในข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพิ่มเติม เพราะตำรวจเชื่อว่าเป็นผู้นำรูปถ่ายป้ายผ้าไปเผยแพร่บนเฟซบุ๊กเพจ “พิราบขาวเพื่อมวลชน” ในคำฟ้องของอัยการตอนหนึ่งระบุว่า
การแขวนป้ายผ้าดังกล่าว เป็นการแสดงกิริยาจาบจ้วง ล่วงเกิน ลบหลู่ ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้าย ทำให้พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 และพระบรมราชินี เสื่อมเสียเกียรติยศ รวมทั้งทำให้ประชาชนบุคคลทั่วไปอ่านข้อความแล้วเข้าใจว่า งบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลนั้นมีจำนวนมาก ไม่เป็นไปตามหลักการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน และมากกว่างบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรเพื่อจัดหาวัคซีนป้องกัน COVID-19 ซึ่งเป็นการได้เปรียบหรือเอาเปรียบประชาชน
ในชั้นศาลทั้งหมดให้การปฏิเสธและสู้คดีว่า พยานหลักฐานของโจทก์ไม่เพียงพอในการยืนยันว่า จำเลยทั้งห้าคนกระทำความผิดตามฟ้องและอธิบายไม่ได้ว่าจำเลยแต่ละคนได้มีพฤติการณ์ร่วมกันอย่างไร อีกทั้งข้อมูลการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจผิดพลาดและไม่ตรงกับความเป็นจริง ที่สำคัญข้อความบนป้ายผ้าเป็นถ้อยคำทั่วไป มิใช่ถ้อยคำที่หมายความถึงกษัตริย์ ราชินี และรัชทายาท และเป็นการกล่าวถึงการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน และเป็นข้อความที่ไม่ได้ใส่ร้ายหรืออาฆาตพระมหากษัตริย์
วันที่ 31 มกราคม 2566 ศาลจังหวัดลำปางพิพากษายกฟ้อง
โดยสรุปว่า พยานฝ่ายโจทก์ให้การว่า การกระทำของจำเลยเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนเกิดความเสื่อมศรัทธาและเสื่อมความนับถือต่อพระมหากษัตริย์เป็นเหตุให้มีความเกลียดชัง แต่การให้การดังกล่าวไม่มีพยานฝ่ายโจทก์ปากใดยืนยันว่าข้อความบนป้ายผ้าเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย ศาลจึงพิเคราะห์ว่าการตีความดังกล่าวขึ้นอยู่กับความรู้สึกส่วนบุคคล ส่วนบัญชีเฟซบุ๊ก “พิราบขาวเพื่อมวลชน” ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ใดเป็นผู้ก่อตั้ง ทั้งยังไม่ปรากฏหลักฐานว่า จอร์จเป็นผู้โพสต์จริง จึงไม่มีความผิดฐานนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์
สำหรับการแขวนป้ายผ้านั้น จากการตรวจสอบพบว่า จอร์จเป็นผู้นำป้ายผ้าไปแขวนไว้บนสะพานจริง เป็นความผิดฐานโฆษณาด้วยการปิดทิ้งในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต พิพากษาให้จอร์จมีความผิดตามพ.ร.บ.ความสะอาด ฯ ลงโทษปรับ 5,000 บาท ส่วนข้อหาอื่นยกฟ้อง และยกฟ้องจำเลยที่เหลือ
ผ่านไปเกือบครบหนึ่งปี วันที่ 30 มกราคม 2567 ศาลจังหวัดลำปางนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาที่พวกเขากำลังเผชิญอาจไม่เป็นใจเหมือนกับศาลชั้นต้น ร่วมให้กำลังใจกับจำเลยห้าคนได้โดยการผูกโบว์ขาวและเข้าฟังคำพิพากษากับจำเลยทั้ง 5 คน หรือสามารถให้กำลังใจเพื่อน ๆ ในคดีอื่นได้ตามนัดฟังคำพิพากษาที่กำลังจะมาถึง เพื่อให้พวกเขาไม่รู้สึกโดดเดี่ยวและยืนยันในเสรีภาพการแสดงออก
การเมือง
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย