1 ก.พ. 2024 เวลา 02:00 • การเมือง

ทำไมต้องนิรโทษกรรมประชาชน?

นิรโทษกรรมประชาชนคือความจำเป็นของสังคมไทย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่คดีทางการเมืองจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกกำลังเดินหน้าส่งประชาชนเข้าเรือนจำ และเป็นหน้าที่โดยตรงของพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนในการผ่านกฎหมายเพื่อให้สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนดีขึ้น
นี่คือสามเหตุผลที่ต้องมีการนิรโทษกรรมประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง
1️⃣ นิรโทษกรรมเพื่อหยุด “คดีนโยบาย” มรดกบาปของระบอบประยุทธ์และ คสช
คดีที่เกิดขึ้นจากการใช้สิทธิเสรีภาพคือความไม่ปกติ เพราะเป็นผลโดยตรงจากระบอบที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ของประยุทธ์ จันทร์โอชาตั้งใจสร้างขึ้น การยึดอำนาจในปี 2557 ทำให้มีประชาชนถูกดำเนินคดีจำนวนมหาศาล หลากหลายข้อหา และแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2562 แต่การสืบทอดอำนาจของประยุทธ์ผ่านกลไกต่าง ๆ ก็การันตีว่าสถานการณ์การปิดกั้นการใช้เสรีภาพจะยังคงดำเนินต่อไป
คดีเหล่านี้คือ “คดีนโยบาย” ที่เดินหน้าตามความต้องการของรัฐบาลทหาร โดยฉวยใช้กฎหมายในนามของความยุติธรรมเพื่อปิดกั้นความเห็นต่างจากประชาชน การบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 กลายเป็นเครื่องมือให้รัฐบาลประยุทธ์ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมนับพันคดี
เช่นเดียวกับข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งจนถึงวันที่ 19 มกราคม 2567 มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 263 คน ใน 288 คดี ทั้งที่ประยุทธ์เคยกล่าวเอาไว้ว่ารัชกาลที่ 10 ทรงมีเมตตาไม่ให้ใช้กฎหมาย แต่ภายหลังการชุมนุมของนิสิตนักศึกษาในปี 2563 ก็เป็นประยุทธ์อีกเช่นเดียวกันที่ออกแถลงการณ์ว่าจะใช้กฎหมายทุกหมวดทุกมาตราเพื่อจัดการกับผู้ชุมนุม ทำให้มาตรา 112 กลายเป็นอาวุธร้ายแรงที่รัฐบาลใช้หลังจากนั้นเป็นต้นมา
ความไม่สม่ำเสมอเช่นนี้คือภาพสะท้อนว่าการดำเนินคดีในปัจจุบันคือคดีนโยบาย ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของความยุติธรรม แต่เป็นไปตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ การนิรโทษกรรมจึงเป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาปัญหาที่สั่งสมมาจากรัฐบาลประยุทธ์
2️⃣ ถ้าปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย นิรโทษกรรมคือทางออกต่อคดีที่เกิดขึ้นไปแล้ว
แกนนำของพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีสถานะเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลหลังการเลือกตั้งปี 2567 กล่าวในหลายโอกาสว่าปัญหาของคดีการเมือง โดยเฉพาะมาตรา 112 ไม่ได้อยู่ที่ตัวบทกฎหมาย แต่เป็นเพราะการบังคับใช้กฎหมายที่บิดเบี้ยวของผู้มีอำนาจ ด้วยเหตุนี้ทำให้พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลยังลังเลที่จะสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายที่เป็นปัญหาต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก
หากการบังคับใช้กฎหมายในรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นต้นเหตุของปัญหาจริง รัฐบาลก็ต้องสนับสนุนการผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนเพื่อยกเลิกคดีที่เกิดขึ้นไปแล้วเป็นขั้นแรก ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องใช้อำนาจที่มีในมือในการเปลี่ยนแนวทางการทำงานของบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมให้ยุติแนวทางการใช้กฎหมายปราบปรามการเห็นต่างทางการเมือง
โดยเฉพาะการสั่งการตำรวจและกรมราชทัณฑ์ ที่อยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้ใช้ดุลพินิจอย่างเคร่งครัดในคดีการเมืองและไม่ปฏิบัติกับนักโทษการเมืองเหมือนนักโทษทั่วไป
3️⃣ นิรโทษกรรมเป็นช่องทางให้ สส. ตัวแทนประชาชนถ่วงดุลอำนาจตุลาการที่บิดเบี้ยว
สส. เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจนิติบัญญัติ และมีหน้าที่ต้องถ่วงดุลอำนาจตุลาการในยามที่การตีความกฎหมายของเหล่าผู้พิพากษาเป็นปัญหาและส่งผลร้ายต่อประชาชน ที่ผ่านมา การตีความในคดีการเมืองต่าง ๆ ของศาลประสบปัญหาการตีความกฎหมายมาตรา 112 ที่กว้างขวาง ไม่สม่ำเสมอ และไม่เป็นไปเพื่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย การตัดสินลงโทษจำคุกจากการวิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจพอเพียงไปจนถึงกษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว คือตัวอย่างของการใช้อำนาจตุลาการที่บิดเบี้ยวผิดเพี้ยนไปจากหลักของกฎหมาย
สส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจึงต้องใช้อำนาจนิติบัญญัติในการคุ้มครองประชาชนจากปัญหาในวงการศาลดังกล่าว ด้วยการผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง การนิรโทษกรรมจึงเป็นการถ่วงดุลระหว่างผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ไม่ใช่เป็นการแทรกแซงอำนาจตุลาการ
โฆษณา