31 ม.ค. เวลา 04:30 • การเมือง

ศาลจำคุก 3 ปี โดยให้รอลงอาญา คดีลลิตาโพสต์คลิป TikTok พาดพิงพระมหากษัตริย์

29 มกราคม 2567 ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดอ่านคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ของลลิตา มีสุข ที่ดำเนินคดีจากการโพสต์คลิปวิดีโอสั้นบน TikTok วิจารณ์การใช้ภาษีประชาชนโดยมีข้อความบางตอนที่ถูกกล่าวหาว่าพาดพิงพระมหากษัตริย์ คดีนี้ลลิตาให้การรับสารภาพ ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาว่า ลลิตามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ลงโทษจำคุกสามปี แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้สองปี เพราะเห็นว่าจำเลยสำนึกในการกระทำแล้
จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีนี้อภิวัฒน์ ขันทอง ประธานคณะกรรมการตรวจสอบและดําเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี และการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค (คตส.) เป็นผู้ร้องทุกข์กับตำรวจ
ต่อมาอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องโดยคำฟ้องตอนหนึ่งระบุว่า ในคลิปที่เป็นปัญหา จำเลยพูดถึงงบประมาณที่นำมาแจกประชาชนและงบประชาสัมพันธ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ว่ามาจากภาษีประชาชน ไม่ได้เป็นบุญคุณของรัฐบาลหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ การกดขี่ประชาชนให้จนแล้วนำเงินมาแจก ให้ประชาชนรู้สึกเป็นบุญคุณ จะได้ง่ายต่อการปกครอง
ทั้ง ๆ ที่ประชาชนควรจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากเงินภาษีของตนเอง ช่วงหนึ่งของคลิป จำเลยได้ทำปากพูดคำว่า “พระมหา” โดยไม่ออกเสียง ก่อนตามด้วยด้วยการกล่าวคำว่า “กรุณาธิคุณ”
ในวงเสวนา Stand together เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 ลลิตาอธิบายเหตุผลของคำพิพากษาว่า
“คนที่รับสารภาพในคดีนี้ มันมีหลายคนก็จะบอกว่า เฮ้ยทำไมไม่สู้อะไรอย่างงี้ คุณรู้ป่าวว่า มันมีเงื่อนไขในชีวิตของแต่ละคนที่มันแบบค่อนข้างที่จะแตกต่างกันเยอะมากถ้าคุณรู้เงื่อนไขในชีวิตแต่ละคนควรจะคุณจะไม่ตั้งคำถามกับใครเลยว่า ทำไมถึงรับสารภาพ การรับสารภาพไม่ได้แปลว่าคุณไม่สู้หรือคุณยอมแพ้หรือคุณพ่ายแพ้ มันคือภาวะจำยอมอย่างหนึ่ง ด้วยเงื่อนไขชีวิตที่ทำให้เราต้องยอมมันคือการที่เราต้องเลือกระหว่างตัวประกันที่เรามีคือตัวประกันของเราที่เราต้องไถ่มานั้นคือคุณแม่เราที่กำลังเป็นมะเร็งอยู่”
“นึกออกไหมถ้าเราเข้าไปอยู่ข้างใน เรารู้สึกว่าถ้าเราเข้าไปแล้ว มันจะชะงักตรงนี้เลยแม่เรากำลังจะหายแล้ว ถ้าสมมติว่าเราต้องเข้าไปแล้วชะงัก มันไม่ได้อะไรขึ้นมา ที่นี้มันมีการปรึกษากับทนายหลายคนขึ้นมาก็อยากให้มันเอาเป็นไปแนวทางนี้ดีกว่า....อีกอย่างหนึ่งที่เราอยากบอกก็คือเราเป็นคนหนึ่งที่ค่อนข้างที่จะมีเสียงดังในสังคมอยู่แล้ว
เรารู้สึกว่าถ้าเราสู้ไปจนสุดทางแล้วเราต้องติดเรารู้สึกว่าเสียงเรามันจะหายไปเลย หนึ่งปีครึ่งคือหายไปเลยแต่ถ้าสมมติว่าเรายังอยู่ข้างนอกอยู่แล้วรู้สึกว่าเสียงของเรายังสามารถใช้งานได้ดีและมันก็จะทำให้ทุกคนสามารถที่จะรอดไปพร้อมๆกันชนะไปพร้อมๆ กันได้
เพราะว่าอย่างที่บอกว่าการขับเคลื่อนเรื่องกฎหมาย การขับเคลื่อนเรื่องของการเปลี่ยนแปลง การขับเคลื่อนเรื่องโครงสร้าง มันไม่ใช่เดินไปปุ๊บเคาะประตูแล้วบอกว่าให้เปลี่ยน มันต้องการการแบบตระหนักร่วมทางสังคมมันต้องการเปลี่ยนแปลงทางความคิดก่อนแล้วคนในสังคมคิดพร้อมกัน เพราะฉะนั้นเสียงที่มันดังมันยังสำคัญอยู่”
 
“คิดเยอะมากเลยนะว่า เราจะเอายังไงดีจนท้ายที่สุดเราเลือกออกมาในแนวทางนี้เรารู้สึกว่ามันคือการต่อสู้อีกทางหนึ่งเหมือนกัน”
โฆษณา