Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Spaceth.co
•
ติดตาม
31 ม.ค. 2024 เวลา 02:26 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
Northrop Grumman ส่งยาน Cygnus เติมเสบียง ISS ในภารกิจ CRS NG-20
เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2024 บริษัท Northrop Grumman ร่วมกับ SpaceX ส่งยานบรรทุก Cygnus ขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติด้วยจรวด Falcon 9 จากฐานส่ง Space Launch Complex 40 แหลมเคอนาเวรัล รัฐฟลอริดา
ภารกิจ CRS หรือ Commercial Resupply Services เป็นรูปแบบภารกิจที่ทาง NASA ให้บริษัทเอกชนเข้ามาแข่งขันยื่นประมูลทำยานอวกาศสำหรับขนส่งสิ่งของและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเติมเสบียงให้กับสถานีอวกาศนานาชาติในระยะยาว โดยในช่วงต้นได้มีผู้ชนะอยู่สองรายอย่าง SpaceX ด้วยยาน Dragon และ Orbital Sciences ที่มียาน Cygnus (ก่อนที่จะถูกซื้อและกลายมาเป็น Orbital ATK ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ Northrop Grumman)
และถูกขยายโครงการมาสู่ช่วงที่สองโดยมีบริษัทรายที่สาม Sierra Nevada Corporation มาเสริมด้วยยาน Dream Chaser ที่มีกำหนดปล่อยในปีนี้ครั้งแรกด้วยจรวด Vulcan Centaur เช่นกัน
สำหรับ Cygnus ในภารกิจนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า S.S. Patricia “Patty” Hilliard Robertson ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ยาน Cygnus แต่ละลำจะได้รับการตั้งชื่อตามบุคคลสำคัญต่าง ๆ โดยยานของภารกิจ CRS NG-20 ได้รับการตั้งชื่อตาม Patricia Robertson อดีตนักบินอวกาศของ NASA และนักฟิสิกส์ ผู้ล่วงลับจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกในรัฐเท็กซัสในปี 2001
โดยในภารกิจนี้ยาน Cygnus ได้ส่งอุปกรณ์และชุดทดลองร่วม 3.7 ตัน ที่ประกอบไปด้วยชุดทดลองเครื่องพิมพ์โลหะ 3 มิติ ชุดอุปกรณ์การผลิต Semiconductor ในสภาวะไร้น้ำหนัก อุปกรณ์สาธิตการผ่าตัดระยะไกล รวมไปถึงงานทดลองการปลูกเพาะเยื่อกระดูกอ่อนซึ่งเป็นเนื้อเยื่อเจ้าปัญหาที่มีข้อจำกัดและยังก่อโรคในกลุ่มผู้สูงอายุ
ภารกิจนี้เป็นภารกิจแรกที่ทาง Northrop Grumman เลือกใช้จรวด Falcon 9 ของ SpaceX ในการปล่อย แทนการใช้งานจรวด Antares 230+ ที่ถูกปลดประจำการไปเนื่องจากการระงับการใช้งานเครื่องยนต์ RD-181 ของรัสเซีย ซึ่งจะยังใช้จรวด Falcon 9 ไปจนถึงภารกิจ NG-22 ในช่วงกลางปีนี้ ก่อนที่จะเปลี่ยนไปใช้จรวด Antares 330 รุ่นใหม่ในปี 2025 พร้อมเครื่องยนต์ Miranda จากทาง Firefly Aerospace บริษัทจรวดเอกชนสัญชาติสหรัฐฯ
Website -
https://spaceth.co/
Blockdit -
https://blockdit.com/spaceth
YouTube -
https://www.youtube.com/spacethco
Facebook -
https://facebook.com/spaceth
Twitter -
https://twitter.com/spacethnews
IG -
https://instagram.com/spaceth.co
อวกาศ
เทคโนโลยี
ข่าวรอบโลก
บันทึก
3
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย